จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งการเป็นปรึกษา และศึกษาเรื่องธุรกิจการตลาดมาตลอด พบว่าการที่ธุรกิจพัง เจ๊งนั้นมีอยู่แค่ 2 เรื่อง จึงเป็นที่มาของบทความธุรกิจในตอนนี้ ในเรื่องที่เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ ไม่ทันคิด หรือไม่เข้าใจ ในสิ่งที่ทำให้ธุรกิจไปไม่รอด โดยอย่างยิ่งคนเริ่มทำธุรกิจใหม่, SME ทั้งหลายเชื่อว่าต้องมีคนได้ประโยชน์แน่นอน
ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้
ซึ่งทั้งสองเรื่องมักมีเหตุผลหลักใหญ่ที่ทำให้ธุรกิจเจ๊งเพราะ “บริหารไม่เป็น!!” หรือ “ไม่เคยบริหาร” ที่ไม่ได้หมายความว่าต้องมีความรู้มีประสบการณ์มากมาย แต่หมายถึงไม่สนใจ หรือคิดใส่ใจ อ่านแล้วอาจรู้สึกแปลกๆ คนลงทุนทำธุรกิจจะไม่สนใจได้อย่างไร และคำว่าบริหารมันออกจะกว้างไปหน่อย ส่วนหนึ่งก็จริงอยู่คำว่าบริหาร มันกว้าง ซ้ำมีมุมที่ดูไม่น่าจริง ในเมื่อคนสมัยก่อนก็เหมือนไม่ได้บริหาร หรือมีหลักการอะไร ก็เติบโตได้ในธุรกิจมามากมาย
นั่นเพราะเราไม่เห็นภาพ หรือเคยได้ยินมาแต่ไม่ทันคิดให้เชื่อมโยง วิเคราะห์ถึงความสอดคล้อง ซึ่งถ้ามันมองแล้วเห็นกันง่ายๆ คงไม่มีใครเจ๊ง และ/หรือบางที “2 เรื่องที่ควรบริหาร” นี้ อาจเป็นอะไรที่เขาเหล่านั้น “เคยมองข้าม” แต่มันก็ส่งผลไปแล้ว (ที่จริงอาจเป็น 2+1 ก็ว่าได้ซึ่ง 1 ในตอนท้ายคืออะไรก็ติดตามอ่านกันหน่อย) โดยในตอนนี้ไปดูสาเหตุแรกกันเลยดีกว่า เพื่อว่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
…จากตัวอย่างที่กล่าวไปนั้นจะเห็นว่า ปัญหาการบริหารเงินนั้น เกิดขึ้นได้กับธุรกิจทั้ง เริ่มทำ ระหว่างทำ กระทั่งคิดว่าเติบโต ก็ตาม..
1. บริหาร “เงิน”
ผมไม่ได้หมายถึง ขนาดคิด WACC*, MIRR* วิเคราะห์หา Ratio* ต่างๆ นาๆ มันแค่เป็นเรื่องที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า ทำธุรกิจก็ต้องได้เงิน แต่แค่ “เงินออก เงินเข้า” นี่แหละที่ประมาทกัน ไม่คิดให้ถ้วนถี่ ผมเชื่อนะว่าส่วนใหญ่ก็คิดว่าคิดดีแล้ว อาจด้วยความไม่รู้ ไม่เห็นประโยชน์ในตอนแรกว่า ควรบริหาร แล้วกลายมาพูดเอาตอนแย่ๆ “ไม่คิดว่าจะ..” ที่ผ่านหูมาเยอะ และหวังว่าผมจะไม่ได้ยินจากคนที่ได้อ่านบทความนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ลองอ่านแต่ละกรณีต่อไปนี้ดู
(ชื่อเรียกสูตรคำนวณวิเคราะห์ทางการเงิน)
กรณีที่ 1 หลายคนตกม้าตายตั้งแต่คำว่า “จุดคุ้มทุน” มันไม่ใช่สูตร เทคนิคการเงินอะไรที่ยากหนักหนา แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลง่ายๆ ที่ว่า “คุ้มไหม” ยกตัวอย่างธุรกิจสปาที่ผมให้คำปรึกษามามากในช่วงหนึ่ง สิ่งแรกที่เจ้าของธุรกิจคิดคือ ตกแต่งร้านยังไง? ถ้าคิดตามทันจะพบว่า นั่นคือต้นทุน(คงที่) มหาศาล และเรื่องก่อสร้างส่วนใหญ่มักบานปลาย เพราะเราไม่ใช่สถาปนิก ไม่ใช่วิศวะ ไม่ใช่ช่าง ถ้ามันไม่เป็นตามแบบจะรู้สึกว่า ไม่สวย มันต้องแบบ(ที่คิด) นี้ และก็คิดว่า ไหนๆ ทำแล้วลงทุนไปแล้ว (เจ๊งเพิ่มอีกหน่อยจะเป็นไร) โดยไม่ทันคำนวณเลยว่า แต่งร้าน 2 ล้าน ได้นวดวันละ 2 ชั่วโมง (หรือเปล่า) กำไรได้ชั่วโมงละ 40.. คงไม่ต้องอธิบายต่อ แน่ละครับว่าไม่ได้เลวร้ายขนาดนั่ย แต่ก็ลองคิดดีๆ 2 ล้านต้องได้วันละกี่ชั่วโมง ต่อกี่คน และกี่ปี…ที่จะคืนทุน
ไม่ใช่แค่ธุรกิจนี้ มีอีกหลายรายที่คล้ายว่าสร้างฝันอันเป็นที่ปรารถนา หน้าตาร้าน, กิจการ, สถานที่ อะไรๆแบบนี้ นี่ไม่เรียกว่าทำธุรกิจเพราะมันคิดเหมือนแต่งบ้านตุ๊กตา ผมไม่ได้ว่าการตบแต่งร้านมันผิด หรือไม่จำเป็น แต่การแค่สนองใจตัวเองไม่ใช่การลงทุน หากบอกว่าแต่งเพราะ Physical Evidence เช่นนี้ก็ดูเป็นการลงทุนมากกว่า ทำไมน่ะหรือ เพราะถ้าคุณรู้จักคำว่า Physical Evidence หรือ Service Design ที่ไม่ใช่เรื่องลึกล้ำอะไร แต่ก็พอให้เห็นว่าคุณยังพอใช้เหตุและผลในการ “ลงเม็ดเงิน” อยู่บ้างนั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น กรณีนี้ใช่จะเกี่ยวกับเรื่องแต่งร้าน หรือลงทุนต่อสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ทุกการลงทุนโดยอย่างยิ่งในตอนแรกต้องรู้ว่าจุดคุ้มทุนอยู่แค่ไหน เมื่อไหร่ เพราะมันหมายถึงอนาคตกิจการได้อย่างแท้จริง ซึ่งคำที่ผมพูดจนติดปากในตอนนั้นคือ “มันเจ๊งในกระดาษได้ โดยไม่ต้องลงทุน” ผมหมายถึงถ้าสละเวลาคิดคำนวณมันเสียหน่อยก่อนจะทำอะไร เพราะผลลัพธ์มันเทียบกันไม่ได้เลยกับการที่ต้องเจ๊งจริงๆ
กรณีที่ 2 กระแสเงินสด เรื่องนี้อาจมานั่งอธิบายกันละเอียดได้ไม่หมด พูดมีหลักการนิดหนึ่งก็คือบริหารสภาพคล่องไม่ได้ หรือคุมต้นทุนผันแปรไม่ได้ แต่ถ้าพูด(เขียน) ให้คิดตามกันง่ายๆ ก็คือว่า ขายได้เยอะต้องไม่ลืมว่ารายจ่ายเยอะเช่นกัน ส่วนขายได้น้อยคงไม่ใช่ปัญหาในประเด็นนี้ เพราะนี่ว่าเฉพาะการเงิน
โดยในกรณีขายดี หรือธุรกิจพอไปได้ แต่กลับไม่รอดเพราะกระแสเงินสด เกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่ “เหลิง” เห็นเงินเข้ามากเลยใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายก็มี “รีบขยาย” แบบไม่คิดดีๆ (กลับไปเข้ากรณีที่ 1 ) ก็มี หนี้เยอะเกินไป “ไม่คุ้มจ่ายดอก” รวมทั้งคุมรายจ่ายอื่นๆ ไม่ดี ค่าเช่า ค่าแรง สารพัด ดังที่บอกธุรกิจพอขายของได้ แต่กำไรไม่มี แบบนี้เงินย่อมขาดมือเป็นธรรมดา ยังมียิบย่อยอีกนะ แต่อาจต้องว่าในตอนท้ายบทหน้าต่อไป
..ทั้งหมดนี่ผมไม่ได้แค่กำลังพูดถึงการบริหารเงินที่เป็นปัญหา แต่มันคือสาเหตุที่เจ๊ง กันมาแล้วจริงๆ
กรณีที่ 3 “รายได้ไม่พอ” มันก็แหงล่ะ ถ้าจะกล่าวลอยๆ ว่ารายได้ไม่พอ ธุรกิจมันก็ไปไม่ได้ ทว่าในกรณีนี้หมายถึง จริงๆ ธุรกิจยังพอไปได้แต่มันไม่พอเลี้ยงเจ้าของ โดยเป็นไปได้ทั้งกรณีมีหุ้นส่วนและไม่มีหุ้นส่วน เรื่องมีหุ้นส่วนคงไม่ต้องอธิบายมากหากทั้งเราทั้งหุ้นส่วนไม่มีรายได้ทางอื่น ลำพังกิจการมันไม่ขาดทุน แต่มันรายได้ไม่พอ กำไรไม่พอกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่นนี้ไม่ไหวมันก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เหมือนเปิดร้านขายได้กำไรเหลือเดือนละ 5 พัน ถ้าไม่ได้บริหารทางบัญชีที่มีเงินเดือนตัวเองเข้าไปด้วยก่อน ก็จะหมายความว่า กำไรตรงนี้คือสิ่งที่เจ้าของจะได้(เท่านั้น) มันน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก
“สายป่าน” ก็ถือว่าใช่ในกรณีนี้ เพราะหากวิเคราะห์ดีๆ ที่ธุรกิจวันนี้ยังไม่ขาดทุน ยังพอไปได้ แม้รายได้ยังไม่ดีนักแต่หากให้เวลาหรือปรับแก้ไขกลยุทธ์ธุรกิจ กลยุทธ์การตลาด มันก็อาจดีขึ้นได้เรื่อยๆ ทว่า “ไม่ได้บริหารวางแผนการเงินไว้” มันย่อมไปต่อได้ยาก เพราะหากหยิบยืม กู้ดึงทางอื่นมา(ยิ่งบางทีกู้อยู่แล้ว) มีโอกาสว่ากลายเป็นต้นทุนเพราะดอกเบี้ยเพิ่มเข้าข่ายกรณีที่ 2 ได้อีก
ซึ่งกรณีที่ 3 นี้ คนที่คิดทิ้งงานประจำ หรือทิ้งบางอย่างเพื่อมาตั้งธุรกิจเดียวต้องระวังให้รอบคอบว่า รายได้ของตัวเองที่จะได้มาต้องกินต้องใช้มันไหวแค่ไหน สายป่านธุรกิจให้ดีต้องมีเผื่อไว้บ้าง เท่านั้นเอง
จากกรณีต่างๆ ที่จริงแล้วอาจมีประเด็นหรือตัวอย่างยิบย่อยกันได้อีก แต่ทั้งนี้เราคงพอเห็นภาพกว้างๆ จากตัวอย่างที่กล่าวไปว่า ปัญหาการบริหารเงินนั้น เกิดขึ้นได้กับธุรกิจทั้ง เริ่มทำ ระหว่างทำ กระทั่งคิดว่าเติบโต ก็ตาม
เชื่อว่ามีหลายคนเข้าใจ เห็นภาพ หรือกำลังคิดตาม แล้วกำลังรู้สึกว่าต้องรู้แค่ไหน บริหารเป็นแค่ไหน มันก็ไม่ต้องเป็นวิชาการเสมอไป หรือบางทีรู้สูตร วิธีคำนวณทุกอย่างดีก็พลาดได้ เราอย่าลืมว่า คนในอดีต เถ้าแก่ หรือเจ้าสัวหลายๆ คนในปัจจุบันไม่ได้มีความรู้ร่ำเรียนสูงอะไร แต่จะเห็นได้ว่าเขา “ประหยัด, อดทน, รอบคอบ” หรือพลาดแล้วเรียนรู้ ที่เมื่อย้อนไปอ่านแต่ละกรณีอีกที จะเห็นว่าแค่ไม่ประมาทและรอบคอบมันก็พอช่วยให้พ้นภัยได้ทั้งในระยะสั้นและยาว ทั้งนี้อย่าลืมว่า ทั้งหมดนี่ ผมไม่ได้แค่กำลังพูดถึงการบริหารเงินที่เป็นปัญหา แต่มันคือสาเหตุที่เจ๊ง กันมาแล้วจริงๆ
สำหรับวันนี้ขอพักไว้เท่านี้ ยังมีอีกเรื่องที่ทำให้เจ๊ง มันคืออะไรพบกันใหม่ตอนหน้าเร็วๆ นี้ครับ