8 สัญญาณบ่งบอกถึงผู้นำที่ยอดแย่

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » การบริหาร การจัดการ » 8 สัญญาณบ่งบอกถึงผู้นำที่ยอดแย่ |


8 สัญญาณบ่งบอกถึงผู้นำที่ยอดแย่

เป็นบทความการบริหาร ที่ผมอ่านแล้วเห็นว่าน่าสนใจจากเว็บไซต์ Entrepreneur จึงนำมาสรุปแบบอธิบายให้เข้าใจ(ไม่ได้แปลตรงๆ) ถึงลักษณะของบุคคลที่ไม่สมควรรับเลือกนำมาเป็นผู้นำ หรือหากคุณเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้นำอยู่ นี่คือสัญญาณบอกว่าคุณอาจเป็นผู้นำที่แย่อยู่นั่นเอง

  1. ขาดความเอาใจใส่
    แน่นอนว่าความเอาใจใส่เป็นลักษณะพื้นฐานที่ดีของผู้นำ แต่การขาดความเอาใจใส่ในที่นี้ ให้ความหมายลึกลงไปในแนวทางที่ ใจเขา ใจเรา เอาตัวเองลงไปดูในมุมมองของลูกน้องด้วย ซึ่งเอาใจใส่ในอีกแบบอาจหมายถึงแค่ความรับผิดชอบในหน้าที่ นั่นเป็นได้แค่รูปแบบของพนักงานที่ดี แต่การเอาใจใส่แบบใจเขาใจเรา เป็นเรื่องของผู้นำที่ดี นี่คือความแตกต่าง
  2. ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
    เราอาจได้ยินคำว่า กลัวการเปลี่ยนแปลง เราย่อมมีภาวะนี้กันหมด แต่คนเป็นหัวหน้าหรือผู้นำควรต้อง “กล้า” แม้จะกลัวหรือไม่ก็ตาม เพราะความกลัวนั้นก็มีแง่ดีคือทำให้ไม่ประมาท แต่ไม่หากไร้ความกล้าก็เท่ากับว่าไม่สามารถนำพาทีมไปไหนได้เลย
  3. ประนีประนอมเกินไป
    ความอ่อนโยนไปในแนวทางประนีประนอมนั้น เป็นเรื่องที่ดูดีต่อตัวบุคคล มันอาจทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาชื่นชม ชื่นชอบ แต่นั่นเป็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ทีม หรือส่วนรวม ดังนั้นความสมดุลต้องมีอยู่บนเหตุผลของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนนั่นเอง ในข้อนี้คนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานแต่สงสัยว่าทำไมไม่ได้เลื่อนขั้น เพราะผู้บริหารอาจมองว่าแม้คุณจะเข้ากันกับ “เพื่อนร่วมงาน” ได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะนำพา “งาน” ได้ดีเสมอไป
  4. จอมบงการ (เจ้ากี้เจ้าการ)
    ที่จริงแล้วการเป็นผู้นำ หรือหัวหน้าย่อมมีหน้าที่ออกคำสั่งเพราะผู้นำย่อมต้องนำพา แต่ในการออกคำสั่งจนถึงขั้นบงการในที่นี้คือ การสั่งไปทุกรายละเอียดจนเหมือนคุมหรือสั่งเองไปทุกขั้นตอน นี่ส่งผลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานด้วยอึดอัด ขาดการยอมรับหรือรู้สึกไม่ให้เกียติกัน จนไม่อยากพัฒนาตัวเอง เพราะเขารู้สึกว่า คิดไปทำไม ทำให้ดีไปทำไม ยังไง หัวหน้า(ที่แย่) ก็จะเอาตามที่เขาสั่งหรือเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการ นี่คือผลของการสั่งงาน แบบ จอมบงการ
  5. โลเล
    หน้าที่ประการสำคัญที่เป็นสิ่งที่ทำน้อยแต่ส่งผลมากคือ “การตัดสินใจ” ถ้าหากคนเป็นผู้นำมีความโลเลแล้ว ผลไม่เพียงเสียหายต่องาน หรือองค์กร แต่ยังขาดความยอมรับ เชื่อถือ ทั้งภายในและภายนอก ภาพพจน์เสียทั้งตัวผู้นำเอง และองค์กร เรียกว่ามันเสียไปหมดโดยที่ไม่รู้ตัวหรือไม่เห็นตัวเองเลยทีเดียว เพียงแต่อาจเป็นผลเสียแบบค่อยๆ กัดกินมากกว่าโจ่งแจ้ง
  6. อ่านคนไม่ออก
    ไม่ถึงกับว่าต้องเก่งจิตวิทยา หรืออ่านใจใคร แต่ผู้นำหากออกแนวหูเบา มองคนตื้นไป หรือเอาแต่คนแย่ๆ ไว้รอบตัว มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีใครส่งเสริมเขาให้นำพาทีมเดินหน้า เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เข้าใจว่าทำไมผู้นำต้องมี การอ่านคนออก ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกหรือกำจัดอย่างไร แต่มันก็คล้ายแนวทางที่จะได้จัดการคนให้ถูกงานเหมือน Put the right man on the right job นั่นเอง
  7. ไม่มีความสมดุล
    ตัวอย่างจากคนที่เข้างานเป็นคนแรก และกลับบ้านเป็นคนสุดท้าย อาจดูเป็นคนที่ดีทุ่มเทให้กับงาน แต่เมื่อมองลึกลงไป นี่อาจเป็นคนที่บกพร่องในเรื่องชีวิตตัวเอง นี่สะท้อนถึงว่าเขาไม่มีทักษะการ “จัดการ” เพราะไม่สามารถสร้างสมดุลที่ดีได้ นี่อาจเป็นได้เพียงพนักงานดีเด่นแต่หัวหน้าที่อ่อนด้อยก็ได้ เพราะมันได้สะท้อนว่าเขาทำอะไรได้ดีเพียงด้านเดียว
  8. ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน
    เป็นสิ่งที่ควรมีซ่อนอยู่เสมอ เพราะเมื่อใดที่ใครคนหนึ่งมีคุณสมบัติที่ดีมากๆ แล้วนั้น เขาย่อมต้องมีทั้งความคิด ความเก่งกาจ ความฉลาด ศาสตร์และศิลป์ ประกอบกัน และนั่นต้องมี “ความมั่นใจ” แต่หากมีมากเกินไปจนกลายเป็นความก้าวร้าว ลืมตน ย่อมส่งผลร้ายในภายหลัง ดังนั้นแล้วคุณสมบัติหนึ่งที่ไม่ใช่ว่าจะสร้างกันได้ภายหลังคือเรื่อง ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้วในตัวของคนๆ นั้น เหตุเพราะว่ามันอาจไม่เป็นไรในความมั่นใจของเขาภายในองค์กรแต่ต้องไม่ลืมว่า คนภายนอกไม่มีความจำเป็นต้องเคารพเขาเสมอไปและมันสะท้อนกลับมาได้ถึงภาพลักษณ์ขององค์กรนั่นเอง

แม้ว่าทั้งหมดจะมองเป็นเรื่องยากที่จะหาใครสักคนหนึ่งที่จะมีคุณสมบัติได้ครบพร้อม แต่อย่างน้อยหากเรามีหลักแกนในการยึดมอง ก็ยังพอที่จะปรับไปทีละส่วนทีละข้อ ให้นำมาสร้างนิสัยผู้นำที่ดีได้ต่อไป หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ..

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น