เรื่องนี้คนไม่ได้ลงทุน หรือรู้เรื่องหุ้น ก็อ่านได้ ที่จริงมีอีกบทความที่เขียนค้างไว้.. ก็นั่นแหละครับ เขียนค้างไว้เต็มตามเคย เป็นนิสัยที่พยายามแก้ให้ได้ เพราะเมื่อใดเขียนค้างจะค้างจริง ๆ กำลังพยายามเปลี่ยนนิสัยให้เขียนแล้ว เขียนให้จบในทันที
เข้าประเด็น ราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าท่านจะสนใจหรือไม่ก็ตาม แต่ผ่านมาอ่านแล้วก็อยากให้สนใจสักหน่อย นับจากประมาณวันที่ 13 ก.พ. จนถึง วานนี้ 28 ก.พ. ปีนี้ 2563 คือวันศุกร์ วันสุดท้ายของการทำการตลาดหุ้นไทยประจำสัปดาห์ เพราะหยุดเสาร์ อาทิตย์ (สำหรับคนที่ไม่รู้) ดัชนีหุ้นไทย ตก หรือ ลบ มากว่า 200 จุด จาก (ประมาณ) 1540 เหลือ 1340
คงมีคำถามว่า มันเยอะขนาดไหน คำตอบที่น่าจะพอเข้าใจได้คือ “วิกฤติ” ระดับหนึ่งเลย คงพอทราบจากส่วนหนึ่งว่า ไวรัสโคโรน่า เดิมหรือ โควิท (covid 19) ชื่อทางการปัจจุบัน ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในระดับรุนแรง และวิกฤติในหลายประเทศ นี่ทำให้หลายคนมองว่า “ไม่แปลกใจ” ที่ตลาดหุ้นต้องสะท้อนความเป็นจริงของสถานการณ์..
ตลาดหุ้นนั้น แม้เราจะไม่ได้เป็นนักลงทุน หรือสนใจดัชนีตลาด แต่ควรจะทราบอย่างหนึ่งว่าตัวตลาดหุ้นสามารถสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจได้ ในความขึ้นลงของตลาดหุ้นแต่ละวัน อาจไม่กระทบต่อคนทั่วไป เพราะก็เป็นปกติของปัจจัยรายวันที่ย่อมมีขึ้น ลง แต่หากเกิดการขึ้นลงรุนแรง ย่อมมีบางอย่างเกิดขึ้น และสะท้อนบางสิ่งที่ตามมา ใช่เพียงว่า สถานการณ์ สะท้อนตลาดหุ้นเท่านั้น..
ย้อนไปไม่นานมาก เหตุการณ์ระดับวิกฤติชัดเจน และตลาดหุ้นดิ่งลง หลายคนอาจจะทันและนึกถึงผลกระทบออก ถ้าเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดโดยตรงจากประเทศของเรา ผลลัพธ์ก็จะเร็ว และชัดเจน ในอีกด้าน ครั้งของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ ซับไพรม์ ที่เกิดไปเมื่อไม่นาน อันนี้คือตัวอย่างที่น่ากล่าวถึง..
(สำหรับคนที่อยากรู้ว่าวิกฤติทั้งสองเกิดอะไรขึ้น ก็ตามลิงก์ไปเลยครับ https://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย_พ.ศ._2540 ,
https://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ )
นอกจากวิกฤตการเงินโดยตรง ก็ยังมีวิกฤติการเมือง และช่วงน้ำท่วมใหญ่ด้วย ที่ทำให้ตลาดหุ้นดัชนีแย่ลง แต่คล้ายที่กล่าวไป หากเป็นปัจจัยภายในประเทศ เราก็พอจะเห็นผล รับรู้ หรือคาดเดาสถานการณ์ได้..
แต่ถ้ามันไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยภายในประเทศโดยตรง หรือเพียงอย่างเดียว อย่างเช่นครั้งวิกฤตซับไพรม์ ในตอนแรกมีหลายคนคิดว่า.. “มันไม่เกี่ยวกับบ้านเรา” หรือไกลบ้านเรา ในขณะที่ตลาดหุ้นตอบรับก่อนทันที คนทั่วไปยังไม่ได้รับผล แต่หลังจากนั้นไม่นาน เศรษฐกิจก็เข้าสู่ภาวะซึมยาวนับปี จนภายหลังมาตรการแก้ปัญหาของสหรัฐ เข้ามาพอช่วยได้ภายหลัง..
กลับมาในยุคปัจจุบัน ที่จริงหลายคนก็มองและรู้สึกอยู่ว่า เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่ในภาพรวมนั้น ประเทศเรามีการเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอยู่เรื่อย ๆ เช่น เดิมภาคการเกษตร มาสู่อุตสาหกรรม มาสิ่งทอ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มาเป็นการท่องเที่ยว กล่าวคือ แม้จะมีการส่งออกในหลายอุตสาหกรรม แต่ตัวนำหลักนั้นย่อมสำคัญ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงภาครัฐ และการลงทุนก็จะชัดเจน จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เดี๋ยวจะเข้าใจยากเกินไป เอาเป็นว่า เมื่อจุดแข็งเปลี่ยนบ่อยเราก็ผลักดันจุดแข็งยาก และเศรษฐกิจด้านหนึ่งอาจไม่ดี แต่อีกด้านดีอยู่ มันก็เลยทำให้ภาคใหญ่ไม่ได้แย่ (แต่ก็ไม่เด่น) ไม่ต้องกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จะมากขึ้นเรื่อย ๆ
ตลาดหุ้นก็เลยยังไม่ได้สะท้อนออกมามากนัก ประกอบกับความนิยมในการลงทุน “กองทุน” และกองทุนมีหน้าที่ลงทุน.. นี่ก็อีกปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ราคาตลาดหุ้น ไม่ค่อยชัดเจน จนวันที่วิกฤตหนักขึ้น ถึงสะท้อนออกมา กูรูหลายท่านจึงบอกว่าแม้จะลงมาเยอะ ณ วันนี้หุ้นไทยก็ไม่ถือว่าถูก.. ประมาณว่า ก็สมควรแล้ว..
แต่ประเด็นก็คือ (เกือบพาไปนอกเรื่อง) การที่ตลาดหุ้นสะท้อนออกมา นี่สื่อถึงความจริงทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ไม่ทันที ทันใด และอย่าคิดว่าคนทั่ว ๆ ไปจะไม่ได้รับผลกระทบ จากอดีตหลายครั้งจะพบว่า ผลกระทบมันมี แต่จะมาเรื่อย ๆ ค่อยแย่ และแย่มากสำหรับบางคน ส่วนตัวมองว่า ตราบใดที่ไวรัสยังคุมไม่ได้ อะไรก็ยังไม่ชัดเจน และแม้ภาพรวมจะดีขึ้น ก็จะมีผลไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน ถ้าให้ว่ากันตามความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ก็หลังครึ่งปีอย่างน้อยถึงอาจจะค่อย ๆ ดีขึ้น (พ้นจุดแย่สุด) ก็ต้องลุ้นด้วยว่า ไวรัสคุมหรือจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงยัง..
ที่พยายามเขียนอธิบายมา ก็แค่เพื่ออยากเตือน การลงทุน การเงิน การใช้ชีวิตช่วงนี้ ก็ให้ระมัดระวังกันไปก่อน แต่ไม่ห้ามใครลงทุน ใช้เงินอะไร ใด ๆ นะครับ ปัจจัยโอกาสมันแตกต่างกัน ด้วยความปรารถนาดี เราจะผ่านพ้นช่วงนี้ไปด้วยกันครับ
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 01/03/2020