ระวังเก่งในกะลา! The Dunning-Kruger Effect

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » การเปลี่ยนแปลงตัวเอง » ระวังเก่งในกะลา! The Dunning-Kruger Effect |


เคยได้อ่านเจอบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาสักพัก แต่เมื่อวานบังเอิญฟัง Podcast ช่องหนึ่ง (ขออภัยจำไม่ได้ ช่วงนี้ฟังวันละหลายตอน หลายช่อง) แล้วมีพูดถึงเรื่องนี้ ทำให้นึกขึ้นได้ จึงย้อนนำมาเขียน เสียหน่อย..

บทความตอนนี้อาจดูเหมือนเป็นเชิงตำหนิ ดูถูก แต่นี่เป็นเพียงการสะท้อนบางอย่าง มันอยู่ที่ผู้รับ ถ้ามองว่า เป็นการต่อว่า ก็ได้แต่อารมณ์ลบ ๆ แต่ถ้ามองเห็นสิ่งที่สะท้อนมันก็ได้ประโยชน์ พัฒนาตนเองกันไป ที่สำคัญประการหนึ่ง ผมนี่แหละครับ ได้เตือนตัวเอง..

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

ฟังบน Youtube

อะไรคือความ “เก่งในกะลา” สิ่งที่จะกล่าวนี้คือผลงานวิจัยเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ คนที่ไม่เก่ง อาจหลงคิดว่าตัวเองเก่ง บางท่านเรียกว่า “โง่ แต่คิดว่าฉลาด” ส่วนตัว ผมไม่ได้มองว่า เขาเหล่านั้นโง่ เพราะถ้าเขาโง่ มันคงไม่มีจุดที่ทำให้เขาคิดว่าตัวเอง เก่ง หรือฉลาด ผมจึงสรุปเอาในแบบของผมโดยเรียกว่า เก่งในกะลา มากกว่า..

งานวิจัยที่ว่าเป็นผลงานของ ศาสตราจารย์ จิตวิทยา เดวิด ดันนิง (David Dunning) เเละศาสตราจารย์จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) ทั้งคู่เป็นนักจิตวิทยาที่ทำวิจัยนี้ด้วยข้อสันนิษฐาน ประมาณว่า คนที่ไม่มีความเก่งเนี่ย จะไม่รู้ตัว เพราะว่า การที่จะรู้ตัวได้ ก็ต้องเก่ง นั้นแหละ ฟังอาจเข้าใจยาก แต่รวมๆ คือ ถ้าเขาเรียนรู้ว่าตัวเองไม่เก่ง เขาก็จะเก่งได้ เพราะมันเป็นทักษะแบบเดียวกัน (บางคนงงยิ่งกว่าเก่า ฮ่า) เอาเป็นว่า คนเก่งในกะลา ถ้าไม่ออกนอกกะลา ก็จะหลงคิดว่าตัวเองเก่ง เช่นนั้น..

โดยรวมแล้ว จากการทดลอง งานวิจัยนี้ทดลองให้คนประเมินตนเองว่าจะทำคะแนนได้เท่าใดในการทดสอบหนึ่ง ผลลัพธ์คือ มีเพียง 25% ของคนที่เก่งจริงเท่านั้น ประเมินว่าตัวเองน่าจะทำคะแนนได้ต่ำกว่าความเป็นจริง หมายความว่า ส่วนใหญ่หรือราว 75% คิดว่าตัวเองทำได้สูงกว่าคะแนนจริง พูดง่าย ๆ คิดว่าเก่งเกินจริง!!

ยกตัวอย่าง คนไม่เก่งจะคิดว่าตัวเองทำคะแนนได้ 60-70 เต็มร้อย ก็ไม่เยอะ อะไร แต่ทำจริง  ๆ แล้ว กลับทำได้ไม่ถึง ในขณะ ที่คนเก่งจริง (25%) ก็คิดว่าตัวเองทำได้ เท่ากับหรือมากกว่า เช่น 70-80 แต่ผลออกมา 80-90 ทำได้ดีกว่าที่ตัวเองคิด หรือประเมินไว้

ในที่นี้ผมอธิบายแบบสรุป รวมความ ให้เข้าใจง่ายนะครับ ใครสนใจเนื้อหาเต็มๆ ก็ค้นหาได้ไม่ยาก ซึ่งส่วนนี้หากผมเข้าใจตรงไหนผิดชี้แจง แนะนำได้เลยครับ

หลายครั้งเวลาที่เราได้ยินคนที่เขาพูดหรือเข้าใจอะไรผิด เราก็มักไม่กล้าไปเตือนเขา

ประเด็นสำคัญกว่าคือ เรื่องนี้ สิ่งนี้สอน หรือ เตือนอะไรเรา ในสิ่งที่เราหลงคิดว่าเก่งแล้วนั้น มันอาจยังไม่ใช่ เราอาจแค่ยังอยู่ในกะลาของเรื่องนั้นก็ได้ ด้วยความเคารพ ผมเห็นมาพอควร ในลักษณะ อวดอ้างเต็มปากเต็มคำ บางทีเรื่องที่เขาพูด เป็นเรื่องที่ผมนั้นรู้อยู่บ้าง จึงเห็นว่า นั่นเป็นแค่ส่วนเดียวของทั้งหมด หรือบางที เขาอธิบายตีความผิดด้วยซ้ำ ที่กล่าวนี้ไม่ใช่เชิงตำหนิ หรืออวดอ้างว่าผมเก่งหรือรู้มากกว่า แต่มันก็คล้ายเช่นนั้น สิ่งที่ต่างกันคือ ผมยังไม่แสดงความมั่นใจว่ารู้ดีแล้วในเรื่องแล้วเลย..

ที่จริงแล้วคนเราผิดกันได้ ผมก็เช่นกัน แต่เชื่อหรือไม่ ในหลายครั้งถ้าผมหรือใคร พูด, เข้าใจอะไรบางเรื่องผิดไป ทว่า เราหรือใครที่รู้มากกว่า กลับไม่กล้าไปเตือน หรือบอกความจริง  ปล่อยให้เขาผิดต่อไป

นี่จึงเป็นเชิงกลับกันว่า บางอย่างก็ทำให้เราอาจหลงว่าเราเก่ง แล้ว เพราะพูดมีแต่คนฟัง ไม่มีคนแย้ง

สิ่งที่ผมเห็นมากอีกอย่างในปัจจุบันคือ เหล่าโค้ช มีมากมายเหลือเกิน (ไม่ใช่ทุกคน) แต่ส่วนหนึ่ง ใช้คำว่า “จิตวิทยา” กันเป็นว่าเล่น รวมถึงพวกเหล่าบทความด้วย จนช่วงหนึ่งก็เห็นว่า คนเรียนจิตวิทยาจริงๆ เขาก็เป็นห่วง ผมก็ว่างั้น..

สำหรับผมแล้ว จิตวิทยาเป็นเรื่องที่ชื่นชอบ พฤติกรรมมนุษย์ก็เช่นกัน ดังที่เคยกล่าวไป ผมสนใจการตลาด และจบการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค สำคัญอย่างยิ่ง มันคือเรื่องเดียวกันกับจิตวิทยา พฤติกรรมมนุษย์ และต่อยอดไปการบริหารบุคคล ด้วย และก็ใช้ หลักการ จากที่เคยเรียน หรือศึกษามา อ่านตำรา ด้านนี้ ใช้สำหรับบรรยายเหมือนกัน.. ทุกวันนี้ก็ยังศึกษาเพิ่มเติม..

แต่ก็ไม่เคลม หรือยกตนประหนึ่งว่า เป็นนักจิตวิทยา กับคนทั่วไปให้เข้าใจผิด โค้ชที่เก่ง ควรเอาชีวิตตัวเองให้ดีพร้อมเสียก่อน หลายคนผมเห็น “ปม” มากมายในตัวเขา ซึ่งเป็นไปได้ว่า เขาไม่เห็นตัวเอง เพราะมุ่งแต่จะช่วยคน สอนคน บางทีคนเหล่านี้อาจเจอ Dunning-Kruger Effect อยู่ก็ได้

มุมหนึ่งก็ไม่เสียหายอะไร เพราะในฐานะผู้เรียนรู้ พึงจะรับแต่สาระและสิ่งดี ๆ นำไปปรับใช้ แต่ที่น่าห่วงคืออนาคต ผู้สอนเองนั่นแหละครับ วันหนึ่งจะไปไม่ได้ไกล ถ้ายังไม่พัฒนาการมองเห็นตัวเอง เพราะคนที่ไม่สนใจ เห็นแย้ง ก็ไม่ได้ติดตามเขา(จึงไม่มีใครค้าน) ส่วนคนที่ติดตามก็ย่อมชื่นชม อยู่แล้ว

“ความมั่นใจ” ใช้สำหรับการเริ่มต้น การกล้าเผชิญ และความพยายาม แต่ผมว่าไม่น่าใช้กับความรู้ ผมเองวันนี้ก็พยายามดูตัวเองให้ดีทุกวัน มันมีกะลาครอบเรื่องไหนอยู่อีกไหม เพราะยอมรับว่าเคย ไม่ใช่ไม่เคย..

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 18/05/2019

ระวังเก่งในกะลา! The Dunning-Kruger Effect

 

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น