Profit Or Passion? กำไรหรือด้วยใจ?

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » เปลี่ยนทัศนคติ » Profit Or Passion? กำไรหรือด้วยใจ? |


ทุกวันนี้มีคนมากมายที่มองหาการทำธุรกิจส่วนตัว อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากมีอาชีพอิสระ เป็นนายตัวเอง เวลามองหาธุรกิจหรือคิดว่าจะทำอะไรดี อาจเคยได้ยินว่า “ควรทำในสิ่งที่รัก” แต่ในอีกด้านก็จะมีเสียงสะท้อนว่าควรทำสิ่งที่ “ได้กำไร” เยอะ ๆ ดีกว่า ตลอดจนถึงคนที่กำลังทำธุรกิจ มีกิจการอยู่แล้ว หรือประกอบอาชีพอิสระกับคำถามที่ว่า ทำด้วยใจ หรือทำเพื่อกำไร อย่างไหนสำเร็จได้มากกว่ากัน? หลายคนมีคำตอบว่า ต้องให้มันมีความสมดุล มีทั้งสองอย่าง ฟังดูดี แต่เป็นคำตอบง่าย ๆ ที่อาจใช้ไม่ได้จริง..

ขี้เกียจอ่าน กดฟังแทนก็ได้นะ [Podcast]

ฟังบน Youtube

เพราะแท้จริงคำตอบมันมีอยู่เพียงด้านเดียว แต่มันควรจะเป็นทำด้วยใจหรือทำเพื่อกำไร ตรงนี้ลองมาดูกันต่อไป คำตอบที่คิดไว้อาจเปลี่ยนแปลงไป หรือไม่ก็ชัดเจนขึ้น..

กับดักคำว่าทำด้วยใจ

การทำงานหรือทำธุรกิจด้วยใจ รักในสิ่งที่ทำ ในสิ่งที่เขาบอกว่าต้องหลงไหล ต้องมี Passion แล้วจะประสบความสำเร็จ เงิน กำไรจะมาเอง ก็มีบ้างที่เป็นเช่นนี้ แต่เมื่อเงินไม่มากสักที ทำไปเป็นปีแล้วเริ่มเหนื่อย ทำด้วยใจก็จะเริ่มไม่มีความสุข!

เพราะทำด้วยรัก ทำด้วยใจ ไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จ หรือ ทำงานที่รักแล้วใช่ว่าอุปสรรคจะไม่มี สิ่งเหล่านี้แหละจะบ่อนทำลายคำว่าทำด้วยใจกลายเป็นทำไมไม่มีใครเห็นแก่เรา ไม่ใจกับเรา ก็ใช่นั่นแหละคนอื่นเขาไม่ได้ใจด้วยนี่นาเขาแค่มาหาเงิน หนักเข้าก็เลยหันไปหาเงินด้วยดีกว่า..

กับดักคำว่าทำเพื่อเงิน

ทำเพื่อหวังแต่กำไร มีเงินแล้วค่อยไปทำอย่างอื่นก็ไม่สาย ก็ไม่ผิดอะไรในความคิดนี้ แต่ก็มี(คิดว่าเยอะด้วย) กว่าจะได้เงินมากพอดังตั้งใจ หรือเมื่อไม่รวยดังที่หวัง แถมยังเหนื่อยกับปัญหา สิ่งต่าง ๆ มากมาย ร้ายหน่อยก็เจ๊ง เป็นหนี้ และมีมากที่ เหมือนจะรวย แต่ก็พัง ยังไม่ทันสุขสมใจ อะไร ๆ ประมาณนี้ ทีนี้ก็หนีไปหาอะไรทำที่แนวว่า พอเพียง ด้วยใจ..

ทั้งสองแบบนี้มีด้วยที่ พอทำด้วยใจไม่ดี หนีไปทำเพื่อเงิน ไม่รุ่งอีกที ด้วยใจใหม่ดีกว่า แล้วก็ไม่พอยาไส้ ไปด้วยเงินอีกรอบ วนเวียนในกรอบทุกข์ไปเรื่อย ๆ..

แล้วต้องเลือกแบบไหน?

เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ผมที่เป็นคนเลือก ตัวคุณเอง หรือตัวคน ๆ นั้นเองต้องเลือก ว่าจะทำด้วยใจ หรือทำเพื่อกำไรเป็นหลัก เพียงแต่.. ต้องเลือกแบบไม่หลอกตัวเอง เพราะหากหลอกตัวเองเมื่อใด ความสำเร็จมันไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง

หลอกตัวเองนี่แหละสำคัญมากกว่าคิดว่าจะเลือกอะไร

หลอกตัวเองประการแรก คือ คิดว่ามีความสุขกับสิ่งนั้นทั้งที่มันไม่ใช่ มีบ้างที่คนเราจะต้องหันไปหาสิ่งอื่น ๆ ไม่สามารถหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเดียวได้ตลอด เพียงแต่ถ้าคิดว่าอยากสำเร็จในสิ่งที่รัก หรือการทำกำไร ยังไงก็ต้องไม่ลืมกลับมา Focus หรือ เพ่งเล็ง เรียกอีกอย่างว่าใสใจจริงจัง ในสิ่งที่ต้องการ แต่ถ้ามันยังไม่ใช่ ไม่นานมันก็หายไป สนใจเรื่องอื่น ๆ พอเริ่มดี ก็ดันทิ้งมันไปคล้ายเบื่อ ยิ่งฝืนไปก็ไปไม่รอด อันนี้เรื่องธรรมดา นี่แหละที่ว่าไม่ใช่เป้าหมายจริง ไม่ได้รักจริง

หลอกตัวเองประการต่อมา คือ “คิดว่ามันถูก” จากเหตุผลหรือประสบการณ์อันใดก็ตามแต่ จนทำให้คิดเอาว่านี่คือสิ่งที่ Passion หลงไหล หรือคิดว่ายังไงก็ต้องให้ได้เงินมาก่อนมันควรต้องเป็นเช่นนี้ พอทำไปได้จริง ๆ ทุกสิ่งย่อมมีอุปสรรค หรือเจออะไรบางอย่างที่มันควรจะรู้ตัวว่าไม่ใช่ แต่เมื่อ “ความเชื่อ” บางอย่างมันถูกสร้างไปแล้ว ก็จะพยายามต่อไปทั้งที่มันไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเลย แบบนี้สรุปอีกทีก็คือ แค่ถูกใจ แต่ไม่ใช่ถูกต้อง ในเรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่เลือกนั้นผิด แต่สิ่งที่ลงมือทำนั้นมันอาจไม่ถูก

เลือกถูกมันก็ต้องทำถูกด้วย

ตัวอย่างเป็นเรื่องเล่า นายสตีเฟ่นเป็นคนรักการถ่ายรูปแบบงานศิลปะมาก หรือที่เรียกกันว่าแนวอาร์ต ๆ เราก็คิดกันได้ทันทีว่าสิ่งที่น่าจะทำคือเป็นช่างถ่ายภาพ ประเด็นอยู่ที่ว่าเขาชอบถ่ายแนวอาร์ต แต่ในความเป็นจริง งานถ่ายภาพส่วนใหญ่จะไปทางงานพิธีการ งานจำเป็น เขาจึงจะจ้าง เมื่อสตีเฟ่นรับงานก็ถ่ายตามใจรัก งานออกมาเจ้าของงานไม่อาร์ตด้วย ก็ไม่ชอบใจ สตีเฟ่นเจอเช่นนี้หลายครั้ง แต่มุ่งมั่นไปแล้วว่าหากเปลี่ยนแปลงผลงานที่ออกไปจะไม่ใช่ความเป็นเขา เพราะเขามุ่งมันจะเป็นศิลปิน..

การเลือกเช่นนี้มันก็ไม่ผิด แต่ผลลัพธ์มองลึกแล้ว มันมีแต่ภาพลบเกิดกับสตีเฟ่น เพราะเมื่อมีคนไม่ชอบผลงานมากเข้า คนทั่วไปจะสนใจไหมว่าสตีเฟ่นถ่ายแนวไหน? คำเดียวที่ใคร ๆ ต่างได้ยินคือ สตีเฟ่นถ่ายรูปแย่..

จนวันหนึ่งสตีเฟ่น แสดงผลงานตัวเองออกไป ว่านี่ไงแนวทางของเขา คุณว่าผลลัพธ์จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน? อาจไม่เลวร้าย แต่หากสตีเว่นไม่รับงานถ่ายภาพทั่วไป จะประกอบอาชีพอื่นหรือไม่ก็ตาม แต่เสียงวิจารณ์ด้านลบก็คงไม่มีมาก่อนจนถึงในตอนนี้ และคิดอีกที ถ้าสตีเฟ่นเปลี่ยนทัศนคติด้วยการถ่ายงานทั่วไปให้ลูกค้าดี ๆ ก็ย่อมมีแต่คนชม คนทั่วไปพอใจผลงานมากขึ้นจนระดับหนึ่ง

คุณเคยเห็นไหมคนทำอะไรไว้ดีจนเป็นที่ยอมรับแล้ว ทำอะไรใหม่ใครก็คิดว่าดีไว้ก่อน ทัศนคติแบบนี้มันมีเสมอ

ถ้าตามตัวอย่างมุมนี้ เมื่อถึงวันที่สตีเฟ่นแสดงภาพอาร์ตออกไป บนพื้นฐานที่ใคร ๆ ชื่นชม แม้ว่าเป็นผลงานจากการทำเพื่อเงิน เพื่อกำไร จากรับจ้างถ่ายภาพทั่วไปของเขา ผลลัพธ์ที่เกิดมันก็น่าจะเป็นต้นทุน หรือมีภาษีดีกว่าแบบแรกว่าไหม? หรืออย่างน้อยหากไม่เคยแสดงภาพ ผลงานมาก่อน ออกมาแย่ มันก็แปลว่าฝีมือเขาแย่จริง ๆ ควรปรับปรุงก็ว่าไป แต่อย่างน้อยก็ยอมรับได้ว่ามันไม่ได้เกิดจากทัศนคติหรือปัจจัยอื่น ก็ย้อนมองแบบไม่หลอกตัวเองได้ว่า นี่เหมาะสมหรือไม่ หรือพัฒนาตัวเองต่อไปได้อย่างถูกต้อง

เลือกเงินเลือกกำไรเพราะคิดว่าเป็นฐานต่อไปให้เรื่องอื่นได้

นี่ก็อาจไม่จริงเลย หากมุ่งหน้าเพื่อเงินจริง ๆ เพื่อธุรกิจอันเป็นกำไรไปโดยเพียง คิดว่ามันถูก ผมอยากให้ไปศึกษาประวัติคนสำเร็จ ที่ดูมั่งคั่งทางการเงิน ถ้าลองดูให้ดี ๆ คนเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเอาเงินมาใช้สักนิด แต่มันเป็นสิ่งที่เขาคิดเชิงผลลัพธ์ เสมือนคะแนน เสมือนตัวเลข เขาชอบที่จะมีเงินมากกว่าใช้เงิน บ้างก็มีเพื่อหนีคำว่าจน ความลำบากในอดีต แต่ใช่ว่าอยากได้มาเพื่อใช้ไปหาความสุขอื่น ๆ อีกทีเป็นหลัก นั่นมันเป็นเพียงผลพลอยได้ในความสำเร็จเขา นี่อาจยากเข้าใจในหลาย ๆ คน แต่เชื่อเถอะว่า หากอยากทำเพื่อเงินมันก็คือความสุขในการได้เงิน ไม่ใช่ใช้เงิน

บางคนก็เลือกไม่ได้

ดังที่บอกไป เลือกแบบไหนก็ดี แต่ก็มีบางคนที่เลือกไม่ได้ เงินก็อยากได้ สิ่งที่ใจรักก็อยากทำ ก็คล้ายกันถ้ามันมีสองอย่าง แล้วคิดว่าจะสำเร็จนั้นมันยากเกินไป แต่จะเอาแค่สบายใจมันก็ไม่ผิด

ทว่าบนความเป็นจริงพอติดด้านหนึ่งขึ้นมามันก็พาอีกด้านหนึ่งร่วงไปด้วย เช่น คนหนึ่งทำงานประจำเพื่อเงิน จะได้มีเวลาไปเตะฟุตบอลตอนเย็นในสิ่งที่รัก ครั้นงานนั้นมันหนักเข้าก็เลยต้องเอาเวลาไปให้งาน นี่ก็ไม่ได้ตามต้องการแล้ว หรือหากไม่ใส่ใจงานยังไงก็ต้องเลิกงานไปเตะบอล วันหนึ่งก็อาจเสียงานไป จะหันไปเตะบอลอย่างเดียวตอนนี้คงไม่มีอะไรดีแน่

และที่มากกว่าในการที่เลือกไม่ได้ ภายในจิตใต้สำนึกก็คือแรงกดดัน ภาวะไม่พอใจทำให้ทำอะไร ๆ ออกมาแย่ ๆ แต่ไม่รู้ตัวได้เสมอ ตัวอย่างง่าย ๆ เข้าใจได้ไม่ยากว่า การไม่เลือกอะไรสักอย่าง ก็ใช่ว่าจะดี บางทีนี่ก็แค่ภาวะไม่กล้าตัดสินใจ

ท้ายนี้อาจยังมีหลายคนมองว่า บทความนี้ไม่เคลีย ไม่ถูก ความสมดุลมันต้องมี ในทำนองที่เรียกว่า ความรักกับความจำเป็นมันก็ต้องแยกกันและไปด้วยกันได้ กรณีนี้ก็แล้วแต่จะมองกันให้ดี เพราะที่ผมเขียนนี้ชี้ไปที่การใฝ่หา “ความสำเร็จ” ในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง กล่าวคืออยากทำในสิ่งที่รักให้สำเร็จ ก็ควรตัดแง่ความมั่งคั่ง ความสบายไปก่อน แต่ถ้าอยากมุ่งกำไร ก็อย่าเอาสิ่งที่รักมาเป็นตัวขัดขวาง อย่าลืมว่า มุ่งสำเร็จ ไม่ได้กำลังหมายถึงการใช้ชีวิต

แต่หากคุณเป็นผู้ซึ่งคิดว่า ไร้อัตตา ไม่ได้หาความสำเร็จอันใด ชีวิตมุ่งความสมถะ บทความนี้ก็ไม่จำเป็นเลยจริงๆ เพียงแต่ที่ต้องถามย้ำอีกทีไว้ “นี่ไม่ได้เลือกอะไรแบบหลอกตัวเองอยู่นะ..”

ปล. เรื่องนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับการบริหารจัดการโดยตรง แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดคนทำธุรกิจได้ไม่มากก็น้อยในการเปลี่ยนทัศนคติ การพัฒนาคนเอง เพื่อการบริหารจัดการธุรกิจที่กำลังจะเริ่มต้น หรือมีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นต่อไป หวังว่าคงเป็นอีกหนึ่ง บทความดี ๆ ที่มีประโยชน์ต่อใครหลายคน

การพัฒนาตนเอง เปลี่ยนทัศนคติ การบริหารจัดการ บทความดี ๆ Profit or passion ด้วยรัก หรือกำไร

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น