การผ่อนส่ง เป็นอีกความจำเป็นทางการเงิน ส่วนใหญ่เมื่อถึงวัยที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง การผ่อนชำระย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเงินส่วนตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีทั้งคุณและโทษในแบบที่หลายคนรู้ดี แต่ยังมีอีกความเข้าใจที่หลายคนมองข้ามว่า “การผ่อนหมด ไม่ใช่ หมดกัน…”
คนที่มีความใส่ใจเรื่องการเงิน ก็มักเข้าใจดีอยู่แล้วในหลายด้าน แต่คนที่ยังประมาท ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าไม่เข้าใจ หรือจงใจ ทำให้ตนเองมีปัญหาทางการเงิน นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ได้เป็นองค์ความรู้ยากเย็นอะไร แต่เป็นความใส่ใจที่สำคัญ ที่หลายคนมีปัญหากับเรื่องนี้
เริ่มจาก “ผ่อน” เท่ากับภาวะ “หนี้” เพราะมันคือการที่เรามีภาระผูกพันไปจนกว่าจะครบ “งวด” เมื่อใดที่ผ่อนหมด หรือครบงวด ก็หมายถึงการเป็นอิสระต่อหนี้ก้อนนั้น (ผู้มีเงินเหลือแต่เลือกผ่อนอาจถือเป็นอีกกรณี 😅)
ภาวะหนี้ที่ต้องผ่อนชำระสำหรับเรื่องนี้มองออกเป็น 2 รูปแบบกว้าง ๆ คือ หนี้ทางการเงิน กับ หนี้สิ่งของ/สินค้า แยกกันชัดเจน คือ การผ่อนของ/สินค้า คือเรามักรู้/เห็น ชัดว่าเป็นหนี้เพราะ “ของสิ่งนี้” แต่หนี้ทางการเงินมักจะจับต้องไม่ได้ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็น เช่นหนี้ด้านการศึกษา หมุนเวียนใช้จ่ายยามเงินขาดมือ ซึ่งมักอยู่บนความรู้สึกจะค่อนข้างต่างกัน…
ในตอนจ่ายหนี้ การจ่ายเพื่อสิ่งของอาจรู้สึกเต็มใจกว่าเพราะยังเห็นของอยู่ ส่วนหนี้ทางการเงินมักจะไม่ค่อยเต็มใจเพราะสิ่งนั้นมักจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็นหรือผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่เหมือนกันในเบื้องต้น เชื่อว่าเวลาที่เราผ่อนหมด หรือหมดหนี้ เราย่อมมีความสุข
ซึ่งในตอนหมดหนี้ของ 2 รูปแบบนี้ ก็อาจให้ความสุขไม่เท่ากัน หากเป็นหนี้ทางการเงินที่ไม่ว่าจะหยิบยืมไปใช้จ่ายเรื่องอะไรก็ตาม มันก็ทำให้รู้สึกดี โล่ง ส่วนกับสินค้าหรือสิ่งของ นอกจากโล่งแล้วส่วนใหญ่เราจะได้ความรู้สึกว่าเราได้มา ได้เป็นเจ้าของแล้วจริง ๆ แต่นี่เป็นด้านเดียว…
เพราะสิ่งของมักมีอายุของมัน เบื้องต้นถ้าผ่อนยังไม่ทันหมดของนั้นพัง เสียหายใช้ไม่ได้ไปก่อน การผ่อนนั้นย่อมแย่สุด ๆ แต่แม้ไม่ได้พังทันที ก็ควรรับรู้ว่ามันมีการเสื่อมค่าลงไป เช่น มือถือที่บางคนผ่อน 3 ปี (ส่วนตัวแล้วนับถือมากทนได้ไง) สินค้าเทคโนโลยีทุกวันนี้ 3 ปีเริ่มตกรุ่นชัดเจน (เว้นแต่ไม่สนใจ 😁) แม้จะพอใช้ได้อยู่ในวันนี้แต่ไม่นานเราก็คงจำเป็นต้อง “ผ่อนใหม่” ทั้ง เครื่องซักผ้า ทีวี ตู้เย็น ก็ไม่ต่างกัน วันหนึ่งนั้นเราอาจต้องผ่อนมันใหม่ ขึ้นอยู่กับมาตรฐานและการใช้งานของสิ่งนั้น ๆ ตรงนี้เองที่เรา “เคยประเมิน” มันก่อนซื้อหรือไม่ แง่ “ราคาต่ออายุการใช้งาน”
รถยนต์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เพราะผ่อนกันเงินไม่น้อย ยิ่งเงินมากก็ยิ่งเสื่อมมูลค่าไวมากหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น 10% ต่อปีของมูลค่า รถ 1 ล้านก็หายไปปีละ 1 แสน การที่เราผ่อน 5 ปี 7 ปี ผ่อนหมดแล้วเหมือนจะดีใจ แต่ส่วนใหญ่อายุรถเท่านี้ก็ต้องมีรายการให้ซ่อมให้เปลี่ยนอีกหลายตัง เพราะกว่าจะผ่อนหมด หลายสิ่งก็หมดสภาพ
ถึงตรงนี้ถ้าทบทวนดูดี ๆ การผ่อน “หนี้ทางการเงิน” ผ่อนหมด คือหมดจริง ๆ เว้นแต่เราหาเรื่องใช้เงินผิด ๆ หมุนไม่ได้ จัดการไม่เป็น ก็จะวนเป็นวัฏจักรที่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่บางหนี้กับสิ่งจับต้องไม่ได้บางทีมันไม่เคยเสื่อมค่าหายไปไหน เช่น หนี้การศึกษา แต่กับสิ่งของที่เราขยันเป็นหนี้นั้น หลายอย่างเหมือนมันจะต้องผ่อนกันตลอดไป เพราะผ่อนหมดแล้วแต่มันก็กำลังจะเสียไปต้องไปผ่อนของใหม่มาถ้ามันจำเป็นต้องใช้ วนไปคล้ายเช่าใช้
ซึ่งหลายคนไม่เคยคิดมุมนี้ เวลาจะผ่อนหมดหรือยังไม่ทันจะหมดก็ชะล่าใจผ่อนของอื่นใหม่ต่อทันที เช่นผ่อนมือถือ ได้ 3 เดือน ผ่อนทีวีเครื่องใหม่มาอีกแล้ว ซึ่งถ้าของมันจำเป็นหรืออายุการใช้งานมันนานมากจริง ๆ ก็อาจจะไม่แย่ แต่ถ้าไม่ประกอบกันหลายสิ่งมากเข้า เมื่อถึงเวลาของเก่าอันนั้นเสีย อันนี้ใช้ไม่ได้ อันใหม่ยังผ่อนไม่หมด ตรงนี้ปัญหาถ้าของที่เสียมันจำเป็น แต่ของที่ติดผ่อนใหม่อยู่เป็นของไม่จำเป็น ยิ่งมากเท่าใด ปัญหาก็มากตาม
ถึงตรงนี้ถ้าเราเรียนรู้และตระหนักได้ว่า “ผ่อนหมด ไม่ใช่ หมดกัน” กับหนี้จากสิ่งของต่าง ๆ เราคงเลือกประเมินความจำเป็น และความสำคัญได้ดีขึ้น โดยไม่ใช่คิดแค่จะซื้อหรือไม่ แต่ซื้อรุ่นไหน แบบไหน เมื่อเทียบกับอายุการใช้ ก็ช่วยได้มาก อีกประการก็คือในตอนที่ผ่อนไหว ผ่อนหมด หยุดผ่อนสักพักมันก็ดีเพื่อให้หลายสิ่งมีพอซื้อเงินสด แล้วชีวิตจะจัดสรร จัดการง่ายขึ้นมาก ทั้งหมดนี้หากไม่เคยคิดไม่ตรองอะไรเลย สุดท้าย ‘ผ่อนหมด ก็หมดกัน กับเงินที่ผ่อนไป’ ได้เค่นั้น 😅