มาต่อเรื่อง ทัศนคติเกี่ยวกับการเงินกันตอนที่ 2 บทความเกี่ยวกับการเงินที่ไม่คิดว่าจะยาว แต่เขียนไปก็พบว่าเขียนได้มากมายเลยแบ่งเป็นตอน ๆ ไปดีกว่า คนที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรก จะอ่านตอนนี้ก่อนแล้วไปอ่านตอนแรกก็ไม่เสียหาย แต่จะย้อนไปอ่านตอนแรกก่อนก็ได้เช่นกัน ที่นี่ครับ “เงิน” สำคัญหรือ? ยัง? (1) ตอน คนดีที่ไม่มีเงิน
“ผมเป็นคนมีเงินครับ.. แต่ไม่มาก” เป็นคำพูดเชิงเล่น แต่เป็นจริง ส่วนใหญ่ไม่มีใครไม่มีเงิน มีแค่บาทเดียวก็มีเงิน แต่ถ้าไม่มีเงิน หรือขาดเงินจริง ๆ เลยล่ะ มันเป็นไปได้ไหม เกิดได้อย่างไร เรามีโอกาสไหม แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร.. นี่อีกมุมที่อยากเตือน ตั้งข้อสังเกต และให้ไม่ประมาทกับการเงิน
คิดเล่น ๆ เรื่องเงิน
เคยไหมครับที่นั่งจินตนาการ คิดเล่น ๆ ว่า “ถูกล็อตตาลี่รางวัลใหญ่” แล้วจะใช้เงินทำอะไรบ้าง ผมเคยครับ บ่อยด้วยเมื่อก่อนและมันมีความสุขดีด้วยตอนได้ลองสมมติว่าเรามีเงินมาก ๆ ถ้าคุณเคยเช่นกัน คุณก็อาจนึกภาพออกบางทีถึงขั้นยิ้มลำพังทีเดียว สำหรับผมพอจินตนาการบ่อยเข้าก็เลยบอกตัวเองว่า เลิกเพ้อเจ้อเสียทีเถอะในที่สุด เอาเวลาไปหาเงินจริง ๆ ดีกว่า และชีวิตมันสอนว่าย่อมต้องเป็นเช่นนั้น ยิ่งหวังรวยทางลัดชีวิตยิ่งไปในทางตรงกันข้าม
คนยังกล้าประมาทเรื่องเงิน ก็เพราะมีคนอื่นเสมอมา จนกว่าจะไม่มี..
แล้วคุณเคยจินตนาการ หรือคิดเล่น ๆ ในอีกด้านบ้างไหม หากไม่มีเงินเก็บ, ทรัพย์สิน ทั้งไม่มีรายได้เลยจะทำอย่างไร? บางคนอาจจะพูดได้ว่าไม่ต้องจินตนาการหรอก เคยผ่านมาแล้ว ส่วนหนึ่งผมก็เช่นกัน ณ เวลานั้นเชื่อว่าส่วนใหญ่เราผ่านมาได้เพราะมี “ที่พึ่ง” ซึ่งไม่ใช่แค่ด้านเงินโดยตรง อาจเป็นที่พัก อาหาร หรือสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญในการดำรงชีวิตให้ผ่านพ้นไป แต่ถ้ามองย้อนไปเหล่านี้ก็อาจต้องใช้เงิน..
แล้วถ้า ที่พึ่งก็ไม่มีล่ะ..
มีคนจำนวนมาก “ประมาท” ทางการเงินอยู่ จะโดยรู้ตัวหรือไม่ ก็เพราะเรามีคนอื่นที่ให้ พึ่ง แม้กระทั่งคิดว่า “จะหยิบยืม” ใคร ก็เช่นกัน เพราะมันเป็นเงิน “คนอื่น” ต่อให้เป็นสถาบันการเงินแบบไหนมันก็ทำให้เราคิดว่ามีที่พึ่ง มีทางออก แต่ส่วนใหญ่มันก็เริ่มง่าย ๆ จากคนในครอบครัว ลองมองในบางครอบครัวสิจะพบว่า จะมีสมาชิกครอบครัวสักคนที่เสมือนแกะดำ นอกจากไม่ค่อยทำอะไร ยังใช้แต่เงินและเป็นปัญหาได้บ่อย ๆ เพราะที่สุดเขารู้แก่ใจว่า ยังไงก็มีที่พึ่ง
อยากให้ลองคิดเล่น ๆ จินตนาการ คล้ายถูกล็อตตาลี่รางวัลใหญ่ แต่เปลี่ยนไปเป็นลองจินตนาการว่า วันที่ไม่มีเงิน และไม่มีใคร เราจะทำอย่างไร? ถ้าไม่มีที่พึ่งเลย..
ไม่มีเงิน ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีคนให้ยืม หลายคนก็อาจคิดว่า จะจินตนาการไปทำไมเป็นไปไม่ได้สำหรับเรา ยังไงเรามีสองมือเท้า ก่อนจะขนาดนั้นเราก็ต้องดิ้นรนหาอะไรทำแลกเงินก่อน คงเป็นเช่นนั้นในความเป็นจริง
แต่สิ่งนี้ก็บ่งบอกอีกว่า เราก็คิดพึ่งคนอื่นอยู่ดี คนที่จะให้งานเราทำ คนที่เขาจะรับเราเข้าทำงาน มันจึงเป็นความประมาทในทางหนึ่งได้เช่นเดิมว่า “เพราะยังมีคนอื่น” แต่มันก็ไม่ผิดอะไร ต้องขอบคุณโลกที่ยังมีคนดีอยู่มากมาย เขาย่อมให้โอกาส ให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อยู่แล้ว คนอื่นจึงยังมี แต่เดี๋ยวก่อน..
คุณเคยเห็นคนจรจัดไหมครับ ที่เขาเดิน ๆ ไปตามข้างทาง หยิบเศษอาหารจากถังขยะมากิน ครั้งหนึ่งสมัยวัยรุ่นผมเคยมองและคิดอย่างพิจารณา แล้วจินตนาการไปว่า ถ้าผมหมดสิ้นหนทาง ผมมาทำแบบนี้ เดินแบบนี้ กินแบบนี้ ผมจะรับตัวเองได้ไหม ที่มากกว่านั้น แล้วทำไมคนจรจัดคนนี้ “เขาไม่มีคนอื่น” หรืออย่างไร ทำไมชีวิตเขาต้องมาทำแบบนี้ แล้วเขาเคยจินตนาการไหม คิดว่าเป็นไปได้ไหม ที่วันนี้ชีวิตเขาจะต้องมาอยู่สภาพนี้
การจินตนาการไปในทางร้ายเป็นสิ่งไม่ดี ดูเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย แต่การคิดจินตนาการเล่น ๆ มุมไหนมันควรจะต้องไปว่ามีโอกาสคล้ายกัน และ “โอกาสมันยากที่เราจะกลายไปเป็นคนจรจัด พอ ๆ กับถูกล็อตตาลี่รางวัลใหญ่” นั่นแหละ แต่เราก็มักแอบคิดว่า เราอาจถูกล๊อตตาลี่มากกว่าซวยหมดตัว..
เมื่อเรื่องเงินไม่ใช่เล่น
กลับมาบนความเป็นจริง การที่แค่ไม่มีเงินนั้น ส่วนใหญ่เป็นไปได้ยาก การจะพูดว่าใครรวย-จนจริง ๆ ก็ยังยาก เพราะคนที่ดูว่ารวย หลายคนก็มีสถานะการเงินติดลบ มากกว่าคนที่มองว่าจน ด้วยซ้ำ ถ้าเราเข้าใจในทางบัญชีสักหน่อยก็จะนึกออก และนี่แหละปัจจัยคนทั่วไปในแบบหนึ่ง ซึ่งสถานะทำให้เรามองข้ามความเป็นจริง
การขาดเงินแบบไม่มีเงิน ไม่มีที่พึ่ง มันอาจผลักดันให้ต้องพร้อมนับ 1 ใหม่ได้ไม่ยาก (ไม่มีทางไปเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว) แต่ส่วนใหญ่ที่กลายเป็นปัญหาหนักให้ชีวิต คือ “หนี้” เพราะคนเรามักจะจินตนาการตัวเองไปในทางดี วันนี้มีเงินได้ประมาณหนึ่ง ก็คือ “มีเงิน” วันหน้าจะมี “รถ” มี “บ้าน” มีทรัพย์สินอื่น ๆ จะรอทำไมล่ะ เราก็ ผ่อนเลยสิ… ไม่ผิดนะครับ ใคร ๆ ก็ทำกัน ผมก็ทำ…
เงินเป็นศูนย์ อาจไม่ตาย เงินติดลบเมื่อไหร่…
ทว่า ในหนี้หลายอย่างทำให้ความเป็นจริงเรา ติดลบ.. ไปแล้ว ถ้าในบัญชีคุณมีเก็บ 1 ล้านบาท แล้วไปผ่อนรถ 7-8 แสนบาท แบบนี้ไม่ติดลบ วันหนึ่งโชคร้ายไม่มีรายได้ขึ้นมา ต้องเอาเงินเก็บไปผ่อนจนหมด เงินเก็บหมดเหลือศูนย์ แล้วยังไง? คุณก็แค่ดิ้นรนหากินต่อไป ก็ยังพอมีแรงใจเดินหน้าได้ หรือ เอาเงินเก็บ 1 ล้านทำทุน สร้างรายได้มาผ่อนต่อ หรือสุดท้ายโป๊ะหนี้รถ คันนี้ให้พ้นภาระไปก็ได้ ไม่ได้จะบอกว่าวิธีไหนดีกว่า แค่กล่าวกันในแง่ความทุกข์ยากของจิตใจ
แต่ที่จะเป็นปัญหา และส่วนใหญ่ในที่นี้คือ คนมีหนี้ แล้วมีเก็บในบัญชี น้อยกว่าหนี้.. (ติดลบ)
ถ้าเป็นเช่นนี้เมื่อเกิดไม่มีรายได้ขึ้นมา วิธีแก้เบื้องต้นทุกคนไม่พ้น “พึ่งคนอื่น” แต่ก็มีดันเลือกแบบผิดวิธีอีก คือ สร้างหนี้ ไปโป๊ะหนี้ อ่านไม่ผิดครับ หนี้+หนี้ เท่ากับว่านี่ ติดลบ มากขึ้น ที่พึงก็จะน้อยลง หนี้มากใครก็ช่วยยาก ทางออกก็น้อยลง.. คนจรจัดอาจเดินริมถนนได้ปลอดภัยกว่าใครคนนี้เสียอีก…
การทำดีกับการมีเงินมันเชื่อมโยงกันได้อย่างไร ก็เขียนไปในตอนที่แล้ว แต่เมื่อขาดเงินล่ะ? ดังที่กล่าวไปแล้ว รวยจนชี้วัดยาก และมันยากจะรู้สึก ในยามที่เรายังมีข้าวกิน มีบ้านอยู่ มีรถขับ หรือพอได้ใช้ชีวิตปกติ แต่สถานะภายนอกแบบนี้แหละที่เห็นในข่าว ว่าเขาสิ้นหวังมากมาย ในแบบที่ใคร ๆ ก็มองว่าไม่ใช่คนจน และผมเรียกว่า ขาดเงิน..
ที่แย่ไม่ใช่คนจน แต่เป็นคนขาดเงิน
คนที่ลำบากยากจนมาก ๆ ก็จะดิ้นรนหากินเอาตัวรอดไปตามประสา ในคนทั่วไป ถ้าไม่ขาดเงิน การคิด จี้ ปล้น และโกง ก็คงไม่รู้จะทำไปทำไม ต่อให้เป็นโรคจิตแบบหนึ่งก็มักจะแค่ลักเล็ก ขโมยน้อย คุณคงเคยได้ยินข่าว แต่เขาไม่คิดทำร้ายใคร แต่สำหรับคนขาดเงินที่กดดันตัวเองมาก ๆ เข้า หากไม่ทำร้ายตัวเอง ก็มีโอกาสทำร้ายคนอื่น ไม่ทางร่างกายก็ทางทรัพย์สิน การโกง, ขโมย ก็ทำคนอื่นเขาเดือดร้อนได้มากไม่น้อยไปกว่ากัน และส่วนใหญ่ ไม่มีใครคาดหรอกว่าจะต้องมาตกสภาพนี้
หนี้ที่ (คิดว่า) จำเป็น?
หลายคนไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นเรื่องเล่นหรอก ผมเชื่อ แต่หลายครั้งเราก็คิดพลาดบางมุมไป “ความอยาก กับ ความจำเป็น” แม้จะพอแยกได้ แต่หลายครั้งก็คล้ายเราหลอกตัวเอง ซึ่งที่สุดแล้วผมไม่มีสิทธิตัดสินแทนใคร แต่ในหนี้ที่คนทั่วไปมองไว้ว่าจำเป็น หรือ ไม่จำเป็นก็ตามทีมันก็มีมุมที่ควรคิดให้ดี ๆ อยู่
- ผ่อน 0% : ดูเป็นเรื่องดีและเราไม่ต้องเสียอะไร ผมก็เห็นด้วยถ้าเป็นเช่นนั้น ต้องไม่ลืมว่า แม้ผ่อนไม่เสียดอกแต่ก็ต้องผ่อน กล่าวคือ ของที่อยากได้นั้น “จำเป็นจริง ๆ” นะ ทว่าในเบื้องหลังโดยส่วนใหญ่ ไม่มีฟรีในสิ่งเหล่านี้ 0% ที่ว่า แต่ร้านค้ามักต้องรับภาระแทน มันจึงมีข้อเสนอว่าถ้าจ่ายสด หรือรูดบัตรเต็ม(ไม่ผ่อน) คุณจะได้ส่วนลดไปส่วนหนึ่ง (มักต้องถามร้านค้า) และจะสังเกตได้ว่า สินค้าที่โปรโมชั่น 0% แต่ถ้าบัตรไม่ร่วมรายการ เขาจึงคิดดอกเบี้ยเพียง 0.6% นี่คือส่วนที่ร้านค้าต้องจ่ายแทน พอบัตรไม่ร่วมเขาก็ให้เราจ่ายเอง..
หลายคนก็มองอีกว่า 0.6% เอง แต่เดี๋ยวก่อน วิธีคิดเขาคิดต่อเดือนครับ ไม่ใช่ต่อปี เพราะรวมแล้วมันคือ 7.2% ต่อปี ผ่อน 10 เดือนก็เท่ากับ 6% ซึ่งก็ใช่ว่าจะผ่อนกันไม่ได้ ประเด็นคือต้องคิดให้ดีว่านี่ซื้อของถูกกว่า หรือแพงกว่าอยู่ โดยจำเป็นหรือไม่ เท่านั้นเอง ส่วนตัวถ้าสินค้าผ่อน 0% แล้วจ่ายสดก็ไม่ลดราคา หรือมีโปรลดราคาอยู่แล้วร่วม ผมก็ผ่อนครับ แต่ขอเลือก 3-6 เดือนเท่านั้นไม่ชอบเป็นภาระนานมันทำให้ลืมตัว..
- ดอกเบี้ย : มีสินค้าหลายอย่างที่เรามองว่าดอกเบื้ยนิดเดียวเอง แต่ในความนิดเดียวนั้นบางทีมันคือความเข้าใจผิด เบื้องต้นคล้ายข้อที่แล้วคือเขาคิดรายเดือนไม่ใช่รายปี ทว่า ของที่มันผ่อนนานหลายปีนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เรามักไม่ทันคิด…เช่น คุณผ่อนรถยนต์ 6 ปี รถราคา 6.5 แสน (อันนี้อาจต้องค่อย ๆ คิดตามนิดหนึ่ง)
คุณต้องวางเงินดาวน์ (อย่างน้อย) 15% (97,500) โดยทั่วไป จะเหลือยอดที่ต้องผ่อน 552,500 บาท สมมิตผ่อน 6 ปี 72 งวด ดอกเบี้ย 6 ปีนี้จะอยู่ที่ราว 3.2% (มีทั้งมากกว่านี้ และน้อยกว่านี้ แล้วแต่ราคารถ, โปรโมชั่น, หรืออัตราดอกเบี้ยกลาง ในที่นี้ยกตัวอย่างแบบกลาง ๆ) ผมคิดให้แบบสรุปคือ คุณต้องจ่ายดอกทั้งสิ้น 106,084 บาท คิดเป็น 16% ของราคารถ ไม่ใช่ 3.2% อย่างที่เราแค่มองในแว่บแรก ซึ่งคุณอาจรู้ เข้าใจอยู่แล้วก็ได้ และมองว่า แล้วไง เราไม่มีทางเลือก ใครจะมีเงินสดไปซื้อรถล่ะ?เป็นเรื่องที่ไม่ผิด
แต่ไม่ใช่ว่าเราเลือกอะไรไม่ได้เลย การผ่อนน้อยปีลงมาเช่น 4-5 ปี อัตราดอกเบี้ยจะต่ำลง การวางดาวน์มากขึ้นยอดจัดจะน้อยลง (เสียดอกน้อยลง) คุณอาจมองว่าต้องผ่อนเพิ่มอีกเดือนละเป็นพัน แต่มันก็ลดเวลาลงมา ถ้ามีประสบการณ์ผ่อนจบสักครั้งคุณจะพบว่า ยิ่ง “กัดฟัน” มีวินัย ผ่อนให้จบไว ชีวิตจะดีกว่ามาก เก็บเงินดาวน์เยอะ ๆ ให้ได้ก็เช่นกันนี่เป็นแค่ตัวอย่าง ให้มองในมุมหนึ่งซึ่งคุณลองคิดดูว่า หลายคนเงินดาวน์ 97,500 ไม่ใช่ว่าจะเก็บมาได้สบาย ๆ แล้วต้องหายไปกับดอก 1.06 แสนนะครับ มากกว่าเสียอีก มุมนี้ละคุณมองอย่างไร แล้วดอกก็ไม่ใช่ทุกสิ่งยังมีอีกอย่างนั่นคือ..
- ค่าเสื่อมราคา : นี่คือการหายไปของเงินในมุมที่หลายคนไม่เคยคิด จากตัวอย่างเดิมนะครับ หากคุณมีเงินวางดาวน์รถ คุณตัดสินใจผ่อน มีกำลังที่จะผ่อน คุณรู้ไหมว่า การที่คุณเป็นเจ้าของรถคันนี้แล้วไป 10 ปี รถ 6.5 แสนคันเมื่อครู่นี้ จะมีมูลค่าเหลือเพียง 2 แสนบาทโดยประมาณ พูดง่าย ๆ ขายต่อได้ราคาเท่านี้ ตีง่าย ๆ ว่า 6.5-2 แสน ก็คือ 10 ปี เงินหายไป 4.5 แสน (ไม่รวมดอกตอนผ่อนด้วยนะ!!) แลกกับการได้ “มีรถใช้” ซึ่งรถจะไปช่วยประหยัดส่วนอื่น หรือทำให้สุขสบาย คุ้มหรือไม่ก็ตามแต่กันไป ว่ากันไม่ได้
แต่ว่ารถคันนี้มี “ค่าเสื่อมราคา” คิดแบบง่าย ๆ คือ 4.5 แสน (มูลค่าที่หายไป) หาร 10 ปี คิดในใจได้ทันที ตกปีละ 45,000 หรือตก เดือนละ 3,750 บาท คือเงินที่หายไปกับการมีรถ ไม่รวมค่าผ่อนรถ อ่อ ที่จริงคุณไม่ได้ซื้อมา 6.5 แสนบาทนะครับ เพราะมันยังไม่รวมดอก คร่าว ๆ ก็อาจตกเดือนละ 4 พันกว่าบาท ถ้ารถแพงกว่านี้ ก็มีโอกาสเสียค่าเสื่อมราคาแพงขึ้นไป แล้วไหนจะค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกัน ผมเคยคำนวณคร่าว ๆ ก็เฉลี่ยค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายรถ ราว 6 พันกว่าบาทในรถที่อยู่ช่วงราคานี้ ใช้น้อยก็อาจน้อยลง… ผ่อนรถคนหนึ่งควรมีเงินเหลือเท่าไหร่ดี
เป็นหนี้ให้ฉลาด
ทรัพย์สินหลายอย่างไม่เพิ่มมูลค่า โทรศัพท์มือถือ ก็เช่นกัน เงินหายไปในอากาศกับค่าเสื่อมราว 300-600 ต่อเดือน iphone ก็จะมากหน่อยเพราะราคาสูง ไม่รวมค่าใช้บริการขึ้นอยู่กับว่าคุณซื้อมันแพงแค่ไหน และอายุการใช้งานมันแค่ไหน ลองไปคิดกับสิ่งเหล่านี้ดูแล้วอาจตกใจ ทีวี ตู้เย็น มอเตอร์ไซค์ หากเอาไปคิดจะพบว่าเดือน ๆ หนึ่งเราจะเสียเงินไปกับค่าเสื่อมเท่าไหร่บ้าง แล้วทำไมต้องคิดล่ะ ก็เพราะว่าของเหล่านี้ไม่อยู่ค้ำฟ้าไงล่ะครับ 5-10 ปี คุณอาจต้องซื้อใหม่ แต่ถ้าพบว่าไม่ซื้อใหม่ ก็แสดงว่าไม่จำเป็น ก็ไม่ควรต้องซื้อมันแต่แรก เพราะเท่ากับว่าคุณเอาเงินไปทิ้งโดยเปล่า…
วิธีคิดเบื้องต้นก็คือ (ราคาซื้อ-ราคาซาก) / อายุการใช้งาน(เดือน) = ค่าเสื่อมเดือนละ
เหล่านี้คือสิ่งที่มากกว่า “หนี้ที่คิดว่าจำเป็น” ผมก็เข้าใจว่าหลายอย่างมันก็จำเป็นต้องเป็นหนี้ เพียงแต่การเป็นหนี้ ก็ต้องเป็นหนี้ให้ฉลาด เราจะได้ไม่เสียอะไรมากกว่าที่ควร และได้ประโยชน์สูงสุด จ่ายน้อยสุด บนความจำเป็นที่เราเล็งเห็นดีแล้ว มีกำลังที่จะผ่อนได้ เพราะหนี้เป็นตัวการหลักทำให้เราหลายคนลำบาก มีเงินแต่ไม่เหลือเงิน ขาดเงินได้ก็เพราะสิ่งนี้
ทางออกมี แต่เคยคิดไว้ล่วงหน้าหรือเปล่า
อนึ่งการขาดเงิน หรือการติดลบ อาจไม่ใช่ความผิดของเราไปเสียหมด มีหลายครั้งของหลายคนในชีวิตที่เกิดวิกฤติจากสิ่งที่ตนไม่ได้ทำ ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย ภัยพิบัติ การถูกคดโกง อะไรก็ตาม แต่ในส่วนหนึ่ง ถ้าคิดดี ๆ คนเราจะมารู้ดีกันตอนเกิดไปแล้วเสมอ การป้องกันย่อมต้องมีการวางแผน และแน่นอน ถือว่าไม่ประมาท หลายครั้งของคำว่าอุบัติเหตุ ก็เกิดจากความประมาท เช่นกัน
ภัยพิบัติ ถ้าต้องเจอ เหมือนสถานการณ์ไวรัส หากมีสายป่านรองรับ(ทุนสำรอง) ซึ่งควรต้องมีก็จะรอดไปได้ อุบัติเหตุ สุขภาพ เขาก็มีประกันให้เราทำ และใช่มันต้องใช้เงิน แต่เป็นการจัดการเงินที่น้อยกว่าเพื่อลดความเสี่ยง อะไรก็ตาม ผมแค่อยากแสดงให้เห็นว่าที่จริงมันมีทางออก เพียงแต่ เคยคิดหรือเปล่า และบทความนี้ เขียนเพื่อชวนคุณให้มีมุมมอง ทบทวน เหมือนชื่อบทความว่าเงินสำคัญหรือยัง..
การจะจัดการบริหารอย่างไรนั้น มีบทความการเงิน มีกูรู มีช่องทางมากมายที่แนะนำ ให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนการเงิน สำหรับบทความนี้ไม่ใช่ ดังที่บอกแค่ชี้ให้เห็นในมุมที่อาจไม่เคยคิด แล้วการไม่คิดล่วงหน้าในเรื่องนี้ก็คือหนึ่งในความประมาทที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุด
ด้วยบทสรุปมุมคิดง่าย ๆ อย่าให้ชีวิตประมาทจนเสี่ยงอยู่ในสภาพ “ต้องขาดเงิน” คิดเล่น ๆ ดูอีกทีก็ได้ แม้ส่วนลึกในใจมีที่พึ่ง แต่เขาเต็มใจหรือไม่ หรือพึ่งได้เสมอไปหรือเปล่า? คิดเล่น ๆ ว่าถูกหวย ถูกจริงก็คงสุขใจ คิดเล่น ๆ ว่าซวยขาดเงิน เกิดจริงเมื่อไหร่ก็ทุกข์ใจไม่แพ้กัน
ฝากไว้ให้คิดกัน ถ้ายังเพลินจะย้อนอ่านตอนที่ 1 หรือต่อ ตอน 3 ก็ติดตามได้จากลิงก์ด้านล่างนี้เลยครับ
ตอน 1 คนดีที่ไม่มีเงิน
ตอน 3 อีกมุมของการ “มีเงิน”
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 8/6/2020