ไม่มองหา จะมองเห็น ได้ยังไง? นั่นสินะ โดยทั่วไปแล้ว หากเราอยากจะ “พบ-เห็น” เราก็ต้องมองหาสิ่งนั้น ในสิ่งที่ต้องการ แต่ยังมีบางเรื่องเพราะมัวแต่มองหาจึงมองไม่เห็น..
เวลาที่คนไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ต จะมี 2 ลักษณะใหญ่ ๆ แบบแรกรู้อยู่แล้ว มีความตั้งใจอยู่แล้ว ว่าจะเข้าไปซื้ออะไร ก็จะเดินมุ่งไปยังส่วนนั้น ชั้นวางสินค้านั้น หรือเลือกดูเฉพาะสินค้าที่ตั้งใจมาซื้อ เมื่อเลือกได้หรือได้ครบก็ออกไปจ่ายเงิน นี่คือตัวอย่างคือพฤติกรรม “มองหา”
แบบที่สอง คือ ไม่แน่ใจนักว่าจะมาซื้ออะไรกลับบ้านบ้าง หรืออาจมีบ้างที่มองหาในสิ่งเบื้องต้น เช่นว่าทิชชู่หมด ซึ่งตั้งใจไว้อย่างเดียว แต่พอเดินเข้าไปก็กวาดตาเดินดูไปเรื่อย ดูทุกช่อง ดูทุกชั้น จนพอใจ แน่นอนว่าก็ได้มาหลายอย่าง ก่อนจะออกไปจ่ายเงิน เช่นนี้คือ “ไม่มองหา”
สองแบบนี้คนที่มักจะ “ได้อะไรมามากกว่า” คือ แบบสอง เพราะ “ไม่มองหา จึงเห็นอะไรไปเรื่อย” ซึ่งคนในแบบแรกก็จะคิดว่า มันอาจเสียเวลามากกว่า อาจเสียเงินมากกว่าโดยไม่จำเป็น…
ส่วนหนึ่งในสองแบบนี้ ถ้าเราเป็นคนแบบหนึ่ง แล้วได้เคยมีช่วงเวลาร่วมกับคนอีกแบบหนึ่ง อาจมีช่วงเวลาที่ต้องยอมรับว่า “ดีเหมือนกัน” กล่าวคือ…
คนในแบบแรก แม้จะไม่เสียเวลา ไม่เสียเงินโดยไม่จำเป็น แต่ย่อมมีโอกาสที่ของที่ตั้งใจนั้นอาจไม่ดีพอ ไม่เพียงพอดังตั้งใจ ย่อมเสียเปล่าได้เหมือนกัน หรือที่ที่มุ่งไปนั้นมันไม่มีของ จึงเป็นเหตุให้เสียเวลาไปโดยไม่ได้อะไรมาซักอย่าง ในขณะที่…
คนแบบสองบางทีก็ได้สิ่งที่ลืมคิด ไม่ทันคิด หรือได้ประโยชน์กว่าที่คิด แต่ก็จะยอมรับว่าส่วนใหญ่มันก็เสียเงิน เสียเวลาโดยไม่จำเป็นไปสมควร…
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างของ “มองหา” และ “ไม่มองหา” ที่แน่นอนว่าเบื้องต้นทำอะไรแล้วมีจุดประสงค์ เป้าหมาย ย่อมดีกว่า ทว่าก็ไม่ใช่กับทุกสถานการณ์ โดยอย่างยิ่งเมื่อต้นทุนนั้นมันอาจเท่าเดิม…
ยกตัวอย่างการไปเรียน เพื่อหวังเพียงใบปริญญา สิ่งที่ “มองหา” คือ การจบการศึกษา ดังนั้นอะไรที่ยาก ไกลตัว สิ่งนั้นย่อมน่าเบื่อ กวนใจ และเป็นอุปสรรค แต่หากการไปเรียนรู้ เพียงเพื่อ “เรียนรู้” แม้ไม่ได้ทุกอย่าง แต่ย่อม “เห็น” และ “ได้” อะไรมามากกว่าแค่ ปริญญา
หรือบางคนไปเรียน MBA (ปริญญาโท บริหารธุรกิจ) เพียงเพราะอยากเก่งการตลาดมาสู้กับคู่แข่ง จะมองข้ามเรื่องการจัดการ, เศษฐศาสตร์ คิดว่าเสียเวลา ใช้ไม่ได้ ไม่ชอบ ต่าง ๆ นา ๆ หรือแม้กระทั่งวิชาพื้นฐานการตลาด ที่อาจรู้สึกว่า ตื้นเขิน เสียเวลา จับต้องไม่ได้ที่แท้แล้ว เมื่อเข้าใจอย่างแท้จริงหลายสิ่งก็พัฒนามาจากพื้นฐาน และสุดยอดการตลาดเหนือชั้นนั้นมันคงไม่มีในชั้นเรียน จนกว่าจะถูกพิสูจน์ซ้ำ เขาจึงนำกลับมาให้เรียนกัน เช่นนี้ มองหายังไงก็ไม่เห็น แต่คนที่เรียนแบบไม่มองหา เขาก็มีโอกาสนำหลายสิ่งไปใช้วันข้างหน้าได้ ซึ่งไม่ผิดอะไรสำหรับคนที่มองหา เพียงแต่ว่าไปมองหาผิดที่ กรณีนี้ควรลงคอร์สจำเพาะเรื่อง จำเพาะด้าน เช่น การยิงแอด (Ads) โฆษณา การสร้างคอนเทนต์ (contents) ทำนองนั้นไป นี่ก็ตัวอย่างหนึ่ง
อีกตัวอย่าง เสมือนการเดินทางไปท่องเที่ยว หลายคนยอมเดินทางหลายชั่วโมงเพียงเพื่อไปถ่ายรูปมุมเดียวกับที่เขานิยมถ่ายกันมา “มองหา” ไปแต่มุมนั้น ระหว่างทางก็ก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือ นั่งหลับ หรืออื่น ๆ ไป ซึ่งใช่จะผิดอะไร แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้เห็นสิ่งสวยงามระหว่างทาง บรรยากาศในการเดินทาง แม้กระทั่งช่วงเวลาแห่งความสุขของการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมทาง ที่มันอาจสวยงามกว่ามุมหรือวิว ที่ไม่ได้ต่างจากรูปภาพบนอินเตอร์เน็ต และมีโอกาสมากมายที่ไปแล้วไม่เหมือนดังคิดอีกต่างหาก
นี่คือตัวอย่างของการแค่ ไม่มองหา แต่เลือก(เปิดใจ)มองเห็น กับสิ่งที่ผ่านมา ทุกสิ่งที่ผ่านไป ในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเรามีต้นทุนกับมันอยู่แล้ว การที่ยิ่งมุ่งมองหา เรายิ่งมองไม่เห็น และที่สุดวันหนึ่งเราอาจจะพบว่า เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไร เราไม่จำเป็นต้องเข้าเป้าหมายไปในทุกเรื่อง เราไม่จำเป็นต้องได้มาในทุกอย่าง กระทั่งสิ่งที่เรา “เชื่อ” แล้วพยายามมองหานั้น มันไม่ถูก มันไม่ดี มันไม่ใช่ ก็เป็นได้ หรืออาจจะพบว่าแท้จริงแล้วระหว่างทางที่ไม่มองหานั้นมันก็ดีพอ เพียงแต่เราพลาดไป ผ่านไปโดยที่เราดัน “ไม่เห็น” มันเสียแล้วนั่นเอง