ในความเป็นวิทยากรอบรมพนักงาน งานหนึ่งของผม คือคิด วิเคราะห์ ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วนำองค์ความรู้เข้าประกอบ เพื่อทำเป็นหลักสูตรอันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและองค์กร สิ่งหนึ่งที่ผมพบและเชื่อคือ “ถ้าคนเรามีความสุข ย่อมทำงานได้ดีขึ้น” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ตรงไปตรงมา และในทางตรงกันข้ามคนที่มีความทุกข์อยู่ คงยากจะทำงานได้ดีกว่า แต่ทีนี้เราจะทำให้พนักงานเหล่านั้นมีความสุขได้อย่างไร? มันเป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว..
บนบทบาทวิทยากรจะมีเวลาบรรยาย, พูด หรืออบรมประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ใครมีความสุข พนักงาน 20-30 หรือเป็น 100 คนจะเปลี่ยนแปลงใครได้ในทันทีนั้น แน่นอนว่า ไม่มีทาง.. ทว่าถ้าไม่มีแรก วันต่อไปก็ไม่มีวันตามมา หรือถ้าไม่เริ่ม ก็ไม่มีวันเกิดขึ้น
ผมจึงทำหลักสูตรที่พยายามสร้างวันที่ 1 หรือวันแรกของการเริ่มต้น หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด เพื่อให้เขามีความสุขขึ้นกว่าเดิม ด้วยหลักสูตรที่มีหัวข้อ เปลี่ยนทัศนคติ และพัฒนาตนเอง (ไม่ใช่ชื่อหลักสูตรนะครับ ไม่อยากขายของตรงนี้) ซึ่งหลังจากเริ่มเปลี่ยนทัศนคติ, ความคิดแล้ว ที่เหลือก็ต้องแล้วแต่บุคคลนั้น ๆ แล้วล่ะ ว่าจะทำได้ไหม..
กระนั้นแล้วก็ไม่ง่ายอยู่ดี ก่อนจะเปลี่ยนทัศนคติไปในเชิงสร้างสรรค์ มันก็ต้องลบล้างทัศนคติในเชิงลบ หรือความเชื่อเดิม ๆ เชิงบ่อนทำลาย หรือให้เขามีมุมมองในการแก้ปัญหาชีวิตที่เวียนซ้ำ ให้ได้ก่อน จึงมีหัวข้อใหญ่ในหลักสูตรทำนองว่า “ถ้าเราจัดการปัญหาชีวิตได้ เราก็ไม่ทุกข์ และสุขจะตามมาเอง” คุณคงพอเห็นด้วยกับผมว่าถ้าไม่ทุกข์ เราก็สุขมากแล้วจริงไหม?
คนเราทุกข์จริง ๆ อยู่ 3 เรื่องใหญ่ 1. ความสัมพันธ์ 2. การเงิน และ 3. การงาน เพียงข้อเดียวก็ทำให้คนนั้นไม่มีความสุขได้ แต่เชื่อว่า ถ้าลำดับความหนักเบา มันก็น่าจะเป็น 1 – 2 – 3 ในที่นี้ว่ากันโดย “ส่วนใหญ่” นะครับ
และก็คนส่วนใหญ่เช่นกัน ไม่ได้ต้นเหตุทุกข์ทีเดียว 3 เรื่อง ทว่า การมีทุกข์ 1 ใน 3 นี้ สามารถไปกระทบ เชื่อมโยงไปยังอีก 2 ข้อได้ไม่ยากเลย..
ข้อ 1 กับ 2 ในด้านความสัมพันธ์ และการเงิน หลายคนคงเห็นพ้องว่าถ้าจัดการไม่ได้มีปัญหา มันทุกข์แน่นอน แต่ข้อ 3 ในด้านการงาน เราอาจคิดว่าไม่น่าจะเรื่องใหญ่ เพราะถ้ามีเงิน (ข้อ 2) แล้ว ปัญหางานคงเป็นเรื่องเล็ก นี่ก็บ่งบอกถึงทัศนคติที่ผิดประการหนึ่ง…
ทุกข์เพราะความล้มเหลวจากงาน และทุกข์ในงานคือผลาญเวลาแห่งสุขมากมาย
มีหลายเรื่องราวที่พิสูจน์ให้เห็นว่า คนที่สำเร็จ ร่ำรวยไม่ได้มองแต่ความรวยเป็นเป้าหมายแรก จากสิ่งที่เขาทำ เขามองผลงานและความก้าวหน้าในงานนั้น เงินตามมาเองต่างหาก และบางทีก็ไม่รู้ว่าเงินจะตามมาไหม แต่เขาก็ต้องไปให้ถึงเป้าหมายก่อน ระหว่างทางสิ่งเหล่านี้เองหากไม่สำเร็จ มีอุปสรรค มันก็ทุกข์ได้ เรียกว่าทุกข์จากงานแบบแรก
แบบที่สอง ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือไม่ก็ตามว่า ณ จุดหนึ่งงานคือสิ่งที่เราต้องทำแล้วเงินคืออีกเรื่อง แต่ลองตรองดูง่าย ๆ ถ้ามีเงินเดือนประมาณหนึ่งแล้วไม่ได้ใช้ชีวิตผิดรูปแบบทุกข์จากเงินอาจไม่มี แต่ทุกข์จากการทำงานแต่ละวันมันก็มี เพราะชีวิตการทำงานของหลายคน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 1 ใน 3 ของเวลาชีวิตเชียวนะ ยิ่งถ้าตัดเวลานอนประมาณ 8 ชั่วโมงออกไป มันคือครึ่งของชีวิตแต่ละวันที่ตื่น ซ้ำบางคนอยู่กับงานมากกว่าให้เวลาครอบครัว ถ้างานไม่มีสุข เขาก็มีชีวิตที่ทุกข์.. ทุกวัน เพียงแต่ลืมคิดไปว่า แต่ละวันทิ้งเวลาไปเท่าไหร่กับทุกข์นั้น ทุกข์นี้คือการผลาญเวลาที่จะสุขไปมากมาย โดยอย่างยิ่งเมื่อไปบรรยายมันคือ “ทุกข์พนักงานแบบมนุษย์เงินเดือน” เรื่องงานนี่ปฏิเสธไม่ได้เลยเชียว
แม้ว่าเราจะทำให้ใครฉุกคิดเรื่องความสุข ความทุกข์ได้จริง แต่ก็พบได้ว่าคนเราก็พ่ายแพ้ตัวเองได้ใหม่ในเวลาไม่นาน
ตัวอย่างที่ผมบังเอิญประสบชัดเจน คือ ด้านการเงิน การสร้างภาระอย่าง “ความอยากเปลี่ยนมือถือ” เขาอยากผ่อนใหม่ ซึ่งมือถืออาจเป็นสิ่งจำเป็นในทุกวันนี้แต่ถ้ามีอยู่แล้ว แค่มันเริ่มตกรุ่น การจะต้องไปเป็นหนี้อีกกับสิ่งนี้บางทีก็ดูไม่เข้าใจ ทั้งที่ได้เรียนรู้ และน่าจะเข้าใจเรื่องการจัดการเงินไปมากพอ เหตุการณ์นี้ทำให้ตระหนักและเห็นปัญหาอะไรที่ผมไม่ได้พูดถึง หรือลืมนึกถึง นั่นคือ..
หลายคนชีวิตไม่อยู่ในขั้นทุกข์ หรือพอพ้นทุกข์ แต่ก็จะหาความสุขไม่เป็น..
การที่คนเราไม่มีทุกข์ หรือทันทีที่พ้นทุกข์ ก็ย่อมอยากหาความสุขมาชดเชย เสมือน เหนื่อยมาแล้วก็อยากพัก แต่ทว่า หลายคนกลับหาความสุขไม่เป็น..
และเมื่อหาความสุขไม่เป็น ความสุขนั้นจึงนำทุกข์กลับมาสู่เขาแบบวนซ้ำ เช่น การที่คนในตัวอย่าง ต้องการซื้อ-ผ่อนสิ่งของอย่างมือถือ ทุกคนย่อมมีความสุขเมื่อ “ได้มา” ในสิ่งที่ต้องการ แต่เขาลืมบางอย่างไป เช่น ครั้งก่อนที่เขาได้มือถือเครื่องปัจจุบันมา เขาก็อยากแบบนี้ แล้วก็สุขที่ได้มา แล้วมันก็เท่านั้น.. เพราะวันนี้เขาก็อยากเปลี่ยนอีกแล้ว ย้ำว่า เปลี่ยนโดยยังไม่จำเป็น และเขายังลืมอีกว่า ตอนนี้เขาคิดว่าการเงินเขา “กำลังจะคล่อง” จึงพยายามกำลังทำให้มัน “ไม่คล่อง” อีกครั้งหรือ? นี่เขากำลังทำอะไรกับตัวเองอยู่?
การเงินกำลังคล่อง ก็เลยทำให้มัน “ไม่คล่อง” อีกครั้ง!?
ดังที่กล่าวไป หากมองอย่างเข้าใจเขาแค่ “อยากมีความสุข” กับสิ่งที่เขาจะได้ มันไม่ผิดเลย คนเราใคร ๆ ต่างอยากมีความสุข เพียงแต่หลาย ๆ กรณีเรา “หลอกตัวเองว่าจำเป็น” หรือหลงว่าสิ่งนั้นเป็นความสุข แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไม่ใช่สุข? ก็ถ้าหากความสุขนั้นมันไม่จริง มันก็คือสิ่งที่จะมีผลตามมา..
ที่หนักหน่อยคือความสุขฉาบฉวยประเภทที่คิดว่า “ก็ไม่ได้ทำใครเดือดร้อน” เช่น การดื่มเหล้าเป็นกิจวัตร การเที่ยวสังสรรค์ การมีกิ๊ก การซื้อของเกินตัว การพยายามมีชีวิต เพียงเพื่ออวดคนอื่น และเขามองแค่ว่า ตราบใดที่เขาสุขโดยไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน… มันไม่ผิดอะไร ซึ่งถูกต้องอยู่เหมือนกัน และที่จริงก็นับว่าเป็นคนดีที่แคร์สังคมรอบข้าง…
ทว่า บ้างครั้งคนที่เดือดร้อนคือตัวเขาเอง เขาทำร้ายตัวเอง เขารักตัวเองไม่มากพอ แม้จะไม่ทำร้ายคนอื่นก็ตาม แต่ก็ไม่ผ่านปมลึกตัวเองบางอย่าง จึงต้องหาความสุขด้วยการบ่อนทำลายตัวเอง วนซ้ำไปเรื่อย ๆ..
ปัญหาไม่ใช่แค่พ้นทุกข์ แต่เพราะยังหาสุขไม่เป็น..
ถ้าคุณมีฐานะมากพอ การซื้อของจะไม่เรียกว่าเกินตัว นี่ย่อมไม่ทำร้ายตัวเอง ถ้าคุณยังโสด คุณมีสิทธิ์เลือกความสัมพันธ์ เพราะเรื่องความสัมพันธ์ซับซ้อน บางทีมันก็พิเศษจริง ๆ ก็อาจยกเว้น หรือกรณีคุณมีชีวิตที่ดี แต่มีคนอิจฉา อันนั้นมันก็อีกเรื่องหนึ่ง โดยรวมถ้าคุณไม่มีวันเดือดร้อนจากสิ่งที่คุณทำ(จริง ๆ) ย่อมไม่เรียกว่าทำร้ายตัวเอง
แต่ถ้าสุขนั้นมันไม่แน่.. มันอาจหลอกตัวเองเพียงเพราะอยากได้ “สุข” ชั่วคราวมาทดแทน “สุขแท้” ที่ยังหาไม่เจอ การเป็นเช่นนี้ไม่เพียงไม่เจอครับ สุขชั่วคราวผ่านไป เราก็จะได้ทุกข์วนซ้ำกลับมาเสมอ และพอพ้นทุกข์ ก็อยากหาสุขผิดวิธี วนต่อไป จะเอาเวลาที่ไหนไปเจอสุขแท้.. ด้วยความปรารถนาดี นี่คือบทสรุปที่ผมพบว่า ปัญหาไม่ใช่แค่พ้นทุกข์ แต่เพราะยังหาสุขไม่เป็น..
แค่อย่าลืมว่า ไม่ทุกข์ มันก็สุขแล้ว สิ่งที่ดิ้นรนหาคือสุขหรือทุกข์ที่จะตามมา?
ในคำว่า สุขแท้ ในที่นี้ไม่ได้กล่าวเพื่อให้นึกถึงธรรมะอะไร คล้ายที่บอกตอนต้น ที่มาจากเรื่องการทบทวนหลักสูตร ในยามที่เราไม่ทุกข์ เราก็สุขแล้ว เราไม่ต้องพยายามมีชีวิตที่ดีนักหรอก เพราะส่วนใหญ่ ชีวิตหลายคนนั้น.. ดีมากอยู่แล้ว และดีกว่าอีกหลายคน อยู่ที่เรามองเห็นค่ามันหรือเปล่า เพราะหากไม่เห็นค่า เราก็ทิ้งขว้างทำลายมันง่าย ๆ เหมือนของที่แค่อยากได้มา เมื่อได้มาแล้ว ก็รอวันเปลี่ยนวนไป ไม่คิดรักษา ไม่คิดพอใจ เว้นเสียแต่ว่า เข้าใจแท้จริงว่าทุกสิ่งมันก็แค่ชั่วคราวเท่านั้นเอง..
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 04/03/2020