“ทำไมเพลงสมัยนี้ไม่เพราะเหมือนสมัยก่อนเลย?…” ทันทีที่เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้นมา ผมนึกยิ้ม แล้วตอบกลับเชิงหยอกไปว่า “เราเริ่มแก่แล้ว 🤣”
ถ้าเราผ่านช่วงวัยรุ่น หรือวัยมัธยม-มหาลัย วัยที่คนส่วนใหญ่ฟังเพลงเยอะสุด คงพอเคยได้ยินประโยคจากเหล่าผู้มีอายุสูงวัยกว่าทักถึงเพลงที่เราฟังในตอนนั้นทำนองว่า “เพลงอะไรไม่เพราะเอาเสียเลย…” , “เพลงสมัยนี้มีแต่อะไรไม่รู้…”
มากเข้าดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ที่คนรุ่นหนึ่งก็จะถูกคนอีกรุ่นหนึ่งทักเรื่องเพลงที่กำลังฟังในยุคปัจจุบันว่า ฟังเพลงอะไร ไม่เห็นเข้าใจ ไม่เห็นดี หรือเพลงสมัยนี้ไม่เพราะเอาเสียเลย ซึ่ง ณ วันนี้ หากเราอายุ 30 ขึ้นไปก็จะเริ่มรู้สึกขึ้นมากันบ้างแล้วว่า “เพลงสมัยนี้ ไม่เพราะเอาเสียเลย”
รสนิยมทางดนตรีเราจะเริ่มเป็นอัมพาตหลังจากอายุ 30
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนหรือทุกครั้งที่จะรู้สึกว่าเพลงสมัยใหม่ไม่เพราะ แต่โดยส่วนใหญ่ รสนิยมทางดนตรีเราจะเริ่มเป็นอัมพาตหลังจากอายุ 30 ปี และจะยิ่งเป็นหนักมากขึ้น ถ้าไม่นับว่าเราทำงานเกี่ยวข้องกับด้านดนตรี ซึ่งไม่เพียงแค่เรื่องของเพลง แต่อาจเรียกได้ว่า เราจะเริ่มเป็น “อัมพาตทางรสนิยม” ด้วยเลยก็ได้ เช่นเรื่องการแต่งตัว การไปตามสถานที่ อาหารการกิน ยิ่งอายุมากขึ้นเราจะชอบแต่อะไรเดิม ๆ หรือคิดถึงแต่สิ่งเก่า ๆ
โดยส่วนตัวแล้วในตอนที่ยังอายุไม่มาก ก็เคยคิดว่าเราคงไม่เป็นอะไรเช่นนั้น เราพร้อมที่จะเปิดรับแนวเพลง แฟชั่น หรืออะไรก็ตามที่เข้ามาใหม่ แต่พอถึงวัยจริง ๆ ก็เป็นกับเขาเหมือนกัน เริ่มชอบฟังแต่เพลงเดิม ๆ ดูหนังเก่า และเลิกสนใจอะไรที่ต้องติดตามไปหลาย ๆ อย่าง ทำไมกันนะ? (แม้ว่าเราจะฟังเพลงใหม่ ดูหนังใหม่ ๆ ด้วย แต่ “ส่วนใหญ่” เราก็ไม่ชอบมากเท่าของเก่าในอดีต – ส่วนหนึ่งปกติก็ชอบฟังเพลงเก่ากว่ายุคตัวเองอยู่ด้วย ก็เลยยิ่งย้อนเก่าไปอีก 😅)
เมื่อลองวิเคราะห์ดู ก็เห็นว่ามีหลายปัจจัย สำหรับคนที่ “ยึดติด” จริง ๆ ชอบแต่ของเดิมไม่อยากเปลี่ยนอันนั้นไม่ต้องพูดถึง แต่โดยทั่วไป การที่เราไม่อยากเปิดรับของใหม่ มีข้อสังเกตได้หลายประการ เช่น มีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า มีภารกิจที่ต้องทำ จึงไม่ให้ความสำคัญกับอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง หรือเป็นกระแสแฟชั่นมากนัก เมื่อไม่เปิดรับก็ไม่คุ้นชิน เหมือนการมาแรก ๆ ของเพลงร็อคในยุคหนึ่ง เพลงแร๊ปในยุคต่อมา ซึ่งพอให้เห็นได้ว่า เพลง หรือสิ่งแวดล้อม หากเราได้ยินหรือต้องใช้ชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมเช่นนั้น เราก็จะรับหรือซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อไม่มีเวลาที่จะไปหาฟัง ไม่มีเพื่อน ๆ ที่มาปั่นกระแสเกี่ยวกับดนตรี ไม่มีแรงกดดันที่รู้สึกว่าจะเชย ไม่ทันสมัย ชีวิตที่มีกรอบ มีเรื่องต้องรับผิดชอบ มีวิถีที่แตกต่างจากวัยรุ่น (ที่มีเวลาฟังเพลงมาก สนใจเรื่องอื่นได้มากและสังคมแตกต่าง) ทำให้รสนิยมของคนมีอายุไม่ค่อยที่จะเปลี่ยนแปลงในด้านเหล่านี้
บางส่วนก็อาจคล้ายกับภาวะ “อิ่มตัว” เพราะไม่ว่าจะเพลง แฟชั่น หรือหลาย ๆ เรื่องล้วนเป็น “ข้อมูล” สมองที่จำกัดกับอายุที่รับข้อมูล เก็บข้อมูลมาไว้มากมายอยู่แล้ว ย่อมมีมากกว่าตอนวัยรุ่น ความรู้สึกอิ่มตัว พึงพอแล้ว ไม่อยากรับแล้ว กระทั่งหาจุดลงตัวของตัวเองได้แล้ว การต้องรับข้อมูล(รสนิยม) ใด ๆ ใหม่ จึงเป็นภาระ และน่าเหนื่อย ซึ่งจะสรุปว่า “ไม่จำเป็น” ก็ไม่ผิด ในการตาม หรือเปลี่ยนรสนิยมไปทางใดในเรื่องเพลง
อีกปัจจัยที่อาจเป็นไปได้คือ “ความผูกพัน” ด้วยเพลงเป็นการสื่อสารด้วยอารมณ์และมีผลต่ออารมณ์ ในช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก ย่อมเป็นช่วงวัยหนุ่มสาว เพลงหลายเพลงผูกพันกับภาวะอารมณ์ ฝังต่อความรู้สึก ณ ช่วงเวลานั้นไปแล้ว เวลาผ่านไปมันมากกว่าแค่ “จำได้” แต่กลายเป็น “ความทรงจำ” ดังนั้นมันไม่ง่ายเลยที่จะมีเพลงใหม่ ๆ แทรก หรือแทนที่ให้รู้สึกไพเราะ, ประทับใจ ได้เท่าเดิม ซึ่งความทรงจำจากเพลงไปสู่แนวเพลง สู่ตัวศิลปิน และส่งผลต่อคำว่า “เพลงเพราะ” ของหลายคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงตรงนี้ดูแล้วคงเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือธรรมดา เพียงแต่บางคนก็ “ปิด” ไปเลย บางคนยังคง “เปิด” แต่ย่อมน้อยลงมาก ในเรื่องรสนิยมของเพลง หรืออื่น ๆ…
ท้ายแล้วเรื่องนี้คงมี 2 มุม มุมหนึ่ง เพลงสมัยใหม่ไม่เพราะ.. สำหรับเรา คงไม่ผิด แต่จะไปสรุปว่าไม่เพราะสำหรับใครเลยคงไม่ได้ และอีกมุม หากมีใครกล่าวว่าเพลงสมัยนี้ไม่เพราะ ก็คงเข้าใจได้ เพราะนี่มันไม่ใช่สมัยเขาแล้ว..
และหลายคนก็คงคิดเหมือนกันว่า เพลงสมัยไหนก็เพราะได้ ถ้าเราไม่ได้ยึดติด และผูกพัน…
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 31/07/2023