วิธีการเลิกบุหรี่ ที่ได้ผลของผม

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » A Life In A Day » วิธีการเลิกบุหรี่ ที่ได้ผลของผม |


การเลิกบุหรี่ให้ได้ผล หรือวิธีการเลิกบุหรี่ที่ดีสุด แต่ละคนคงไม่มีวันเหมือนกันหรอกครับ แต่ผมเชื่อว่ามันจะมีบางอย่าง ที่เป็นปัจจัยหลัก หลักการสำคัญที่จำเป็นต้องมีเหมือน ๆ กันไม่เช่นนั้นคงไม่สำเร็จ ส่วนวิธีการในบทความนี้ ถ้าใครคิดจะเลิก แล้วนำไปทำตามก็ได้ และดังที่บอกไม่ต้องเหมือนผมก็ได้ แต่อยากให้ลองสังเกต หรือไปประยุกต์ดู สำหรับคุณหรือคนใกล้ตัว (แอบคิดว่าคนที่ไม่ได้สูบอยากให้เลิก มากกว่าคนสูบอยากเลิก อ่านบทความนี้) เขาน่าจะเลิกได้อย่างไร

ส่วนหนึ่ง จะเลิกหรือไม่ จะมีมุมคิดเรื่องนี้อย่างไร ก็ถือว่าเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่แบ่งปันประสบการณ์บางเรื่องในมุมหนึ่งให้อ่านกัน แม้ว่าจะมีขั้นมีตอนเหมือนบทความ how to ก็ตาม

ถ้าเราไม่หัดก่อนอายุ 18 เราจะไม่ติด!!

เล่าให้ฟังคร่าว ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ของตัวเองก่อนว่า ผมก็เหมือนหลาย ๆ คนที่หัดสูบบุหรี่เพราะความอยากลองตั้งแต่วัยรุ่น ถ้าจำไม่ผิดลองครั้งแรกสมัย ม.2 แล้วก็เหมือนหลายคนที่ ไอ แสบคอ รู้สึกว่านี่ไม่ได้เรื่อง “สูบไมวะ?” คำถามที่ขึ้นมาในหัว ที่จริงถ้าลองครั้งเดียวแล้วจบไปตั้งแต่ตอนนั้น ผมก็คงเป็นคนไม่สูบบุหรี่เลยก็ได้…

ผมเคยอ่านประโยคหนึ่งนานมากแล้ว ขออภัยจำที่มาไม่ได้จริง ๆ ใจความประมาณว่า มีงานวิจัยพบว่าถ้าเราไม่สูบบุหรี่ก่อนอายุ 18 ปี แนวโน้มที่จะสูบบุหรี่จะยากมาก กล่าวคือ เกิน 90% ของคนที่ติดบุหรี่ล้วนหัดสูบ ลองสูบ ก่อนจะอายุ 18 ปี ประมาณนี้ เหตุที่ทำให้จำเรื่องนี้ได้ เพราะอ่านเรื่องนี้ตอนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ แล้วพอมองไปถึงเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกัน ก็พบเห็นว่ามันจริง เพราะถ้าเป็นคนอื่น เราจะไม่รู้ว่าเขาเริ่มสูบเมื่อไหร่ แต่ถ้าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เราจะรู้เพราะมักจะสูบมาด้วยกันตั้งแต่มัธยม สำหรับผมจากตอน ม.2 ก็ดันมาหัดอีกครั้งตอน ม.4 และก็แอบสูบเรื่อยมา นั่นหมายความว่าเริ่มสูบราวอายุ 15-16 ปี

ณ วันนี้ ผมเลิกบุหรี่ได้หลายปีแล้ว ไม่รู้ว่าคุณจะมาอ่านเจอบทความนี้เมื่อไหร่ อาจจะกลายเป็นว่าผมเพิ่งเลิกได้ 5 ปี หรือเลิกไปแล้ว 10 ปี ก็เป็นได้ แต่ที่แน่ ๆ กว่าผมจะได้เลิกบุหรี่ก็หลังจากสูบมาแล้ว 20 ปี มันเป็นเวลาไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะถ้าสูบมา 2-3 ปี อาจดูไม่น่าจะเลิกไม่ยาก แต่ผมก็เชื่อว่า ถ้าขึ้นชื่อว่าติดแล้ว กี่ปีก็เลิกยากเหมือนกัน มันจึงต้องมีหลักการบางอย่างที่ผมบอกว่าต้องเหมือนกันอยู่บ้าง ส่วนวิธีการเลิกบุหรี่เลยนั้น ก็ต้องตามความสะดวก ถนัดของแต่ละคนด้วย

บุหรี่ติดที่ใจ มากกว่าร่างกาย

อย่างไรก็ดี ภายหลังผมมาทบทวนประโยคที่ว่าต้องเคยหัดก่อน 18 ปี ทำไมต้องเป็นเช่นนั้นก็พยายามไปหาข้อมูลแต่ยังไม่พบ (ใครพบมาช่วยชี้แนะได้ครับ) แต่ผมก็วิเคราะห์เอาในมุมคิดของตัวเองได้ว่า จริง ๆ แล้ว บุหรี่ติดที่ใจ มากกว่าร่างกาย ไม่ได้บอกว่าไม่มีผลทางกาย แต่คนส่วนใหญ่จะติดแค่ทางใจมากกว่า และแน่นอนคนที่ติดแล้วมีผลต่อทางกายมาก ๆ มันต้องเริ่มติดจากทางใจ ทางความรู้สึก ก่อนอยู่ดี…

ลองคิดดูว่า การหัดบุหรี่แรก ๆ ไม่ว่าใครก็ย่อมรู้สึกว่า มันแสบคอ แสบจมูก ไม่ได้ทำให้รู้สึกดีอะไรนอกจาก รู้สึกเท่ ๆ ประสาวัยรุ่น รู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่ หรือรู้สึกว่ามีตัวตนบางอย่างต่อพฤติกรรมนี้ บางคนยังสูบไม่เป็นแต่ยังพยายามสูบต่อไปในช่วงแรก ด้วยแรงขับเช่นนี้ ซึ่งหากเป็นผู้ใหญ่ขึ้นหน่อย เลยอายุ 18 หรือยิ่งมากกว่านั้น การจะมาหัดสูบบุหรี่จึงแทบไม่มีแรงขับเคลื่อนใด ๆ เหมือนวัยรุ่น เมื่อไม่ (ฝืน) หัด มันจึงไม่ติดเป็นนิสัยหรือพฤติกรรม ถ้าสงสัยว่ามีไหมที่ติดบุหรี่หลังอายุ 18 ก็ต้องบอกว่ามี เพราะเขาก็บอกอยู่แล้วว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันถือว่าเป็นส่วนน้อยจริง ๆ

หลักการสำคัญในการเลิกบุหรี่

จากข้อสังเกตข้างต้น เราเริ่มลองเพราะความรู้สึกบางอย่าง บนแนวคิดบางอย่างลึก ๆ แต่พอทำบ่อย ๆ ก็นำไปสู่พฤติกรรมอันเป็นนิสัย ประกอบกับการที่นิโคตินเริ่มส่งผลต่อร่างกายจึงกลายเป็นว่าติดบุหรี่กันไปจริงจัง จึงทำให้ผมมองว่า ถ้าคิดจะเลิกบุหรี่ต้องมีหลักการสำคัญดังนี้ ที่ผมนำไปปฏิบัติ

  • เป้าหมายอันสำคัญ : จะบอกว่าแรงจูงใจก็ได้เช่นกัน เพราะทุกคนที่เลิกบุหรี่ได้ ถ้าไม่นับอุบัติเหตุประเภทต้อง นอนให้เครื่องช่วยหายใจ ไอเป็นเลือดแล้ว ล้วนต้องมีเป้าหมายอย่างหนึ่ง หรือแนวคิดหนึ่งที่ชัดเจนพอ อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เลิกได้ ถ้าพูดให้สวย ตอนเริ่มมันมาจากใจติด  ตอนเลิกก็ต้องเริ่มจากใจเช่นกัน ซึ่งเราไปถามคนที่เลิกบุหรี่ได้แล้วทุกคน จะพบว่าล้วนมีเป้าหมาย เพียงแต่ว่าเป้าหมายนั้น เล็ก – ใหญ่ เข้าใจง่าย เข้าใจยากสำหรับคุณหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น เพราะมันเป็นเรื่องของคน คนนั้นจริง ๆ กระทั่งว่า วันหนึ่งรู้สึกว่า มันน่า “อาย” ก็เป็นแรงกระตุ้นให้เขาเลิกได้เช่นกัน แต่โดยทั่วไปก็มักจะเป็น เพื่อลูก เพื่อคนรัก เพื่อตัวเอง(สุขภาพ) ไม่เว้นว่าไอจนคอจะพังเลยตระหนักขึ้นมา ทว่าก็กลายเป็นแรงจูงใจให้มีเป้าหมายขึ้นมาอยู่ดี
  • ความตั้งใจ : เป้าหมายเกิดขึ้นได้ แต่ก็หายไปได้หากขาดซึ่งความตั้งใจ อันที่จริงจะบอกว่า วิธีการ หรือการลงมือทำ ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่วิธีการอาจผิด ลงมือทำแล้วอาจทำไม่ได้ก็ได้ ดังนี้จึงควรเรียกว่า ความตั้งใจ เพราะวิธีการไม่สำคัญเท่าความตั้งใจ ดังที่กล่าวไปแล้ว วิธีการอาจตามแต่บุคคลอีกทีได้ แต่ความตั้งใจคือการไม่ยอมแพ้

มันเป็นเรื่องยากที่จะไปบอกให้ใครเลิกบุหรี่

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่า ก็แน่ล่ะสิ ถ้าไม่มีเป้าหมาย ไม่มีความตั้งใจคงเลิกไม่ได้หรอก แค่นี้ใครก็รู้..

จริงครับว่าใครก็รู้ แต่แค่รู้ไม่พอ เราก็ต้องมีจริง ๆ เป้าหมาย หรือไม่ก็ต้องลองหาดู ความตั้งใจก็ต้องสร้างขึ้นอย่างแน่วแน่ไปตามเป้าหมายที่เรามี จึงนำไปสู่วิธีการต่อไป เพราะหากขาดซึ่งวิธีการ ก็เหมือนคิดได้แต่ไม่ลงมือทำอีกนั่นแหละ ในทางกลับกัน ถ้าจะไปบอกให้ใคร “เลิกบุหรี่ต้องทำอย่างไร” มันเป็นเรื่องที่มาทีหลังความตั้งใจ มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกใครให้เลิกบุหรี่ เพราะเขาไม่ได้มีเป้าหมาย มันก็จะรู้สึกว่าทำไปทำไม และหรือ หาเป้าหมายให้แทนเขา แต่เขาไม่ตั้งใจ มันก็ไม่อยาก มันก็กลายเป็นบังคับคนให้ทำในสิ่งที่ไม่อยาก นอกจากไม่สำเร็จแล้วยังรู้สึกน่ารำคาญอีกด้วย..

วิธีการเลิกบุหรี่

อย่างไรก็ดี หากอ่านข้ามมาก็จะบอกว่า วิธีการเลิกบุหรี่ เป็นสิ่งที่จริง ๆ บอกกันไม่ได้ควรย้อนไปอ่านหลักการด้วย แต่ในที่นี้ผมแค่บอกว่า ตอนผมเลิกบุหรี่ผมมีวิธีการอย่างไร เพื่อนำไปเป็นแง่คิด มุมคิดเผื่อนำไปปรับเป็นทางของตัวเอง กันต่อไป ซึ่งวิธีการของผมมีดังนี้

  1. หาเป้าหมาย : การมีเป้าหมายในการเลิกบุหรี่เกิดได้จาก 2 ทาง อย่างแรกคือจากปัจจัยภายนอก กล่าวคือเพราะคนอื่น เช่น เลิกเพราะมีลูก เลิกเพราะมีแฟน เลิกเพราะรู้สึกเข้าสังคมไม่ได้ อย่างที่สอง ปัจจัยภายในตัวเอง คือ อยากสุขภาพดี อยากร้องเพลงดี อยากออกกำลังกาย, เพาะกาย, วิ่ง, แม้กระทั่ง “แค่อยากเอาชนะตัวเอง” หรือ ร่างกายกระตุ้นในทางลบ เช่น ไอจนเจ็บหน้าอก ปากดำ ฟันดำ เหล่านี้เกิดจากภายในตัวเราทั้งสิ้น และไม่ว่า เป้าหมายนี้จะมาในตอนที่มีผลเกิดขึ้นกับเราแล้วหรือไม่ก็ตาม ล้วนต้องมีเป็นจุดเริ่มต้น
  2. วางแผน : ผมมีเป้าหมายที่จะเลิกบุหรี่ได้แล้ว ผมรู้ว่ามันไม่ง่ายแน่ ๆ จึงต้องวางแผนจริงจัง ผมใช้เรื่อง 3-7-21 เข้าช่วย (ลองย้อนไปอ่านได้ครับเขียนไว้เช่นกัน การพัฒนาตนเอง ด้วยเทคนิค สูตร 3 – 7 – 21)
  3. รับมือวันแรก : วันแรกคือวันที่ยากที่สุดครับ แต่ในทางตรงกันข้ามอาจไม่ยากเพราะความตั้งใจเราก็มีมากสุดเช่นกัน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรก็ได้ในวันแรก แต่เตรียมใจไว้รับมือ ผมนับชั่วโมงเลยครับ สายแล้ว บ่ายแล้ว เย็นแล้ว (แอบดีใจ) มืดแล้วนอน.. เล่าดูเป็นเรื่องง่าย แต่ในวันจริง กระวนกระวายใจ และต้องตั้งใจสุด ๆ จริง ๆ พยายามให้ผ่านวันแรกให้ได้ ก็เหมือนก้าวแรกที่สำคัญ… ที่สำคัญ วันแรกไม่เกิดเพราะผลัดวันประกันพรุ่งก็เยอะมาก พอเริ่มได้ไม่ถึงครึ่งวันเราจะอ้างตัวเองว่า พรุ่งนี้ค่อยเริ่ม.. และมันก็พรุ่งนี้ไปเรื่อย ๆ
  4.  3 วันอันตราย : ในแผนผมคือ 3 วันแรก ผมต้องไม่ออกจากบ้านเด็ดขาดครับ ไม่งั้นเราอาจไปซื้อ อ่อ ไม่ควรมีบุหรี่ในบ้านแล้วด้วย การเสี่ยงไปเจอคนที่สูบมันจะกระตุ้นเราให้ลำบาก และต้องไม่ทำอะไรที่เครียด หาอะไรที่ชอบทำ จะดูหนังเล่นเกมส์ อะไรก็ตาม ที่จะได้ไม่ต้องอยากบุหรี่ (โชคดีสมัยนี้ หนัง และสื่อ รณรงค์ให้ไม่มีฉากสูบบุหรี่ มันมีผลจริง ๆ นะครับสำหรับคนจะเลิก) และเตรียมรับผลทางร่างกายครับ เช่น น้ำลายไหล อาจมีปวดหัวบ้างในบางคนก็ทานยาพารา ดื่มน้ำเยอะ ๆ พักผ่อน ไปครับ ในกรณีคนที่มีผลทางกายมาก ๆ อันนี้อาจต้องใช้ตัวช่วยนิโคตินในช่วงแรก ๆ หรือใช้วิธีการที่แพทย์แนะนำเป็นขั้นเป็นตอน แต่สำหรับผมไม่ขนาดนั้น (เน้นใจสู้)
  5. 7 วันไม่ปลอดภัย : ถ้าผ่าน 3 วันไปได้ ถือว่าเก่งครับ แต่ยังไม่ปลอดภัย อาจกลับไปได้ง่ายมากครับ “ความรู้สึกอยาก” ยังมีอยู่แน่นอน ทีนี้จะให้คงสภาพ 7 วันไม่ให้ออกไปไหนเหมือน 3 วันแรก เป็นเรื่องยาก แต่ต้องไม่ทำอะไรที่เสี่ยง งดแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือพฤติกรรมที่เคยชินต่อบุหรี่ บางคนเข้าห้องน้ำชอบสูบ ก็เปลี่ยนเป็นอ่านหนังสือ เล่นโทรศัพท์ไป แม้ที่จริงจะไม่ดีต่อการขับถ่ายก็ตาม เจอคนสูบบุหรี่ เดินหนีก่อนเลย อย่าไปดมกลิ่น อย่าไปได้กลิ่น รวม ๆ คืออย่ารับแรงกระตุ้นใด ๆ ให้ตัวเราลำบากขึ้นภายใน 7 วันนี้ ครับ ให้กำลังใจตัวเองมาก ๆ นึกถึงเป้าหมายเอาไว้มาก ๆ และบอกตัวเองว่า อุตส่าทำได้เกิน 3 วันแล้ว สู้ ๆ ครับ
  6. ปากอยากแต่อย่าตามใจ : ภาวะ 7 วันนี้ปากเราจะเหมือนว่างอยากนั่นนี่ ส่วนตัวผมไม่เชื่อเรื่องการอมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่งนะครับ(แล้วแต่คน) ผมมองว่าถ้าเราไม่ได้เคี้ยวหมากฝรั่งเป็นปกติอยู่แล้ว การหลอกตัวเองด้วยสิ่งเหล่านี้มันคือการกระตุ้นสำนึกตัวเองทางอ้อมครับว่า “ทำเพื่อแทนบุหรี่” ซึ่งมันแทนกันไม่ได้เลยเรารู้ดี กลายเป็นว่านี่เราบอกตัวเองซ้ำ ๆ ครับว่า ลูกอม=บุหรี่ อมไปก็นึกถึงบุหรี่ไป สุดท้ายเลยโยนลูกอมไปคว้าบุหรี่ ส่วนความอยากอีกอย่างคืออยากกิน กินได้ครับ แต่ระวังเราจะไม่อิ่ม เพราะหลายคนติดภาวะ สูบบุหรี่หลังทานอาหารจะรู้สึกอิ่มสมบูรณ์ (คนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่เข้าใจ) แต่สำหรับการกินจริง ๆ การกินอิ่มเกิน ทำให้เราอยากบุหรี่หนักขึ้นนั่นเอง ส่วนตัวคิดว่าตัวช่วยดีที่สุดคือ ของเปรี้ยว มันทำให้ไม่อยากได้เหมือนกัน
  7. ให้รางวัลตัวเอง : การเลิกได้ถึง 7 วันติดต่อกัน เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากครับ คุณควรให้รางวัลตัวเองอย่างแรก ไม่ได้ล้อเล่นนะครับ ควรอยู่ในแผนด้วย เพื่อประโยชน์หลาย ๆ อย่าง และมีกำลังต่อไป..
  8. ทำให้ได้ 21 วัน : ถ้าคุณอดทน พยายามทำตัวเหมือนเช่น 7 วันที่ทำได้ ความอยากจะย้อนมาประปราย สำหรับผมแล้ว แม้จะ 10 วัน 15 วัน ถือว่าสบายตัวแล้ว แต่ใจมันยังไม่นิ่ง ผมจึงต้องบอกตัวเองครับว่า “เราก็คือคนไม่เคยสูบ” ไม่งั้นภาพจำมันหลอกหลอนครับ ทำลืม ๆ ไปว่าเราคือคนที่กำลังเลิกบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่ ใช้ชีวิตเหมือนไม่รู้จักมันครับ อะไร ๆ มันดีขึ้น และยังคงเป็นช่วงที่ความตั้งใจ และใจต้องเข้มเข็ง มองย้อนวันแรกครับ ผ่านได้แล้วตั้ง 7 วันอันตราย เมื่อสัก 10 วัน เราจะไม่อยากย้อนไปอีก..
  9. ครบ 21 วัน : จะมีรางวัลใหญ่ให้ตัวเองอีกรอบก็ได้ครับ แต่หากครบแล้วควรบอกใคร ๆ เลยครับ ว่าเลิกบุหรี่ได้แล้ว แต่ถ้ายังไม่ถึง อย่าไปบอกใคร ถ้าคุณเลิกไม่ได้จริงครั้งหนึ่ง โอกาสมาเลิกใหม่มันจะยากขึ้น ที่ให้ประกาศบอกใครเมื่อได้ 21 วัน เพราะคนเราเหมือนมีอีโก้ พอพูดแล้วทำไม่ได้ก็จะบ่ายเบี่ยงเรื่องนั้นไป การประกาศเช่นนี้ เพื่อให้สังคมช่วยผลักดันคุณต่อไปครับ ว่าคุณทำได้และดีอย่างไร คุณจะพบว่าเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ชื่นชม และเลิกบุหรี่ได้ เท่กว่าสูบบุหรี่เป็นร้อยเท่า ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปอย่างน่าประหลาดหลังจากนี้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่…
  10. เดินหน้าต่อไป : ตอนที่ผมเลิกได้เกิน 21 วัน และได้ป่าวประกาศออกไป เพื่อนผมคนหนึ่งที่ผมเคยปรึกษาหาเป้าหมาย (เขาเลิกเพื่อลูก) เขาบอกผมว่า อย่าประมาท จนกว่าจะ 6 เดือน ผมตกใจ มันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ มันจริงครับแต่ไม่ได้ลำบากอะไร แค่เรายังไม่ลืมมันสนิท อาจเผลอกลับไปได้ พอผ่านไป 6 เดือน เราจะลืมมันสนิท ทีนี้เผลออีกที ก็เลิกไปเป็นปี และรู้สึกอีกทีก็หลายปีแล้ว..

อย่าลืมครับว่า นี่ไม่ใช่วิธีที่ต้องเหมือนกัน ไม่มีอะไรควรทำหรือต้องทำตามผม เป็นเพียงการแชร์แนวทาง แง่คิดจากประสบการณ์ตรง จากการเลิกบุหรี่ให้ฟัง ซึ่งผมยังมีอีกเรื่องคือ “การเลิกกาแฟ” ไว้เล่าอีกด้วย อันหวังว่าจะเป็นประโยชน์ เป็นความเข้าใจของคนที่อยากเลิกบุหรี่ หรือคนที่อยากให้ใครคนหนึ่งเลิกบุหรี่ ได้มีแนวทาง แนวคิดในการทำมันได้จริงจัง และผมก็สนับสนุนทั้งชื่นชมทุกคนนะครับที่ทำได้ คุณแน่มาก และคุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อีกหลายอย่างเลย

วิธีการเลิกบุหรี่ ที่ได้ผลของผม

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น