ใครบ้างไม่เคยเจอความล้มเหลว? ดูเป็นคำถามที่เพียงอยากให้ปลง หรือฮึกเหิมก็ได้ในทำนองว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา จะไปกลัวอะไร แต่เมื่อตอนเจอความล้มเหลวเข้าจริง ๆ ก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้สึกดี คงจะดีกว่าถ้ามีวิธีที่ทำให้ไม่ต้องเจอกับมันกันบ่อย ๆ…
วิธีที่ดีที่สุด ถ้าไม่อยากเจอความล้มเหลว หรือประสบความล้มเหลวน้อยที่สุด คือ การวางแผนอย่างรอบคอบ และลงมือทำอย่างจริงจัง ย้ำตรง “รอบคอบ” และ “จริงจัง” แต่ในเมื่อความสำเร็จก็ไม่มีสิ่งใดการันตีได้เช่นกัน มันก็มีความหมายไม่ต่างกับว่าเรายังมีโอกาสล้มเหลวอยู่ดี เพราะปัจจัยหลากหลายที่คาดไม่ได้ยังอาจมีอยู่ การทำอย่างจริงจังและรอบคอบจึงดีที่สุดแง่ลดโอกาสความผิดพลาด ที่อาจทำให้ล้มเหลวได้ นั่นเอง
ในเรื่องนี้ หรือบทความนี้ จะบอกถึงปัจจัยหนึ่งของความล้มเหลว อันหมายถึงทำให้เราหลีกหนีความล้มเหลวได้ถ้าเราเข้าใจปัจจัยนี้ แต่จะไม่สรุปว่ามันคืออะไร มีกี่ข้อ และต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ขอเขียนเป็นเรื่องเล่าบรรยายให้ลองไปคิด ไปเปรียบเทียบกับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตของเราดู
เรื่องราวแง่คิด
ตอนผมยังเด็ก ในวิชาลูกเสือ เนตรนารี ทุกปีจะมีสิ่งที่เรียกว่า กิจกรรมเข้าฐาน เพื่อวัดหรือทดสอบอะไรนั้น ผมจำไม่ได้จริง ๆ โดยเป็นกิจกรรมรูปแบบหนึ่งซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงบ้างในรายละเอียด แต่ส่วนที่เหมือนกันหมดทุกครั้ง คือ การที่เราต้องข้าม บ่อน้ำ คูน้ำ หรือลำคลองเล็ก ๆ อะไรทำนองนี้ จะด้วยเชือก ท่อนไม้ เดิน โหน ไต่ อะไรก็ตาม ที่สำคัญคือ “อย่าตกน้ำ”
การต้องตกน้ำในตอนนั้น แม้มันไม่ค่อยจะโอเค เพราะเสื้อผ้าเราต้องเปียก แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือ ผู้ชมที่อยู่รอบ ๆ เพราะทันทีที่มีใครตกน้ำ เสียงโห่ฮา หัวเราะเยาะ จะดังไปทั่ว เป็นความสนุกของผู้ชม และเป็นความน่าอายของผู้พลาด…
บางทีสิ่งที่น่ากลัวกว่า “ความล้มเหลว” คือ “คนที่เฝ้ามองเรา” ล้มเหลว
อาจถือได้ว่าปัจจัยหนึ่งของความล้มเหลว คือ ภาวะกดดันที่มาจากคนรอบข้าง หลายคนทราบดีว่า สิ่งนี้สามารถทำให้คนมากมายไม่กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรเลยด้วยซ้ำ หรือเรียกว่า “ล้มเหลวเพราะไม่เริ่มต้น”
ซึ่งในกิจกรรมนั้น จะว่าไปแล้วการตกน้ำยังไม่ทำให้เรารู้สึกแย่ได้มากเท่าการถูกหัวเราะเยาะ หรืออาจกล่าวได้ว่า บางทีสิ่งที่น่ากลัวกว่า “ความล้มเหลว” คือ “คนที่เฝ้ามองเรา” ล้มเหลว…
ข้อคิดหรือมุมคิดแรกของเรื่องนี้ อาจทำให้เราพอนึกได้ว่า ควรหลีกเลี่ยงคนที่ชอบทับถม หัวเราะเยาะ หรือเฝ้าจับจ้องความล้มเหลวของคนอื่นไปเสีย ซึ่งที่จริงเรารู้ได้ไม่ยากว่าเราแวดล้อมด้วยผู้คนเช่นไรในเวลานั้น คงดีกว่าในหลายกรณีที่ตั้งใจทำอะไรของเราไปให้ดีที่สุดก่อนก็พอ โดยไม่ต้องให้ใครรับรู้
ยังมีอีกมุมที่น่าสนใจ ที่จะเล่าต่อไปนี้…
กิจกรรมอย่าตกน้ำนั้น ทำมาหลายครั้ง เหมือนจะเจอกันทุกปีที่ต้องเรียนวิชาลูกเสือ ถ้าจำไม่ผิดสมัยนั้นคือ ป.4-ม.3 จนครั้งหนึ่งตอนมัธยมแล้ว ในกิจกรรมที่คล้ายกันนี้ ตอนที่ทุกคนลุ้นเชียร์ว่าใครจะตกน้ำ โดยอย่างยิ่งใครเป็นคนแรก ผมเกิดสังเกตและนึกขึ้นได้ว่า ถ้ายิ่งนานแล้วไม่มีใครตกเสียที ก็ดูจะตกกันยากขึ้น ในทางตรงกันข้าม พอมีคนแรกตกลงไป คนต่อ ๆ ไปก็จะมาถี่ขึ้นเช่นกัน…
เหตุผลที่เห็นได้ ก็เพราะมันไปกระทบความมั่นใจในการกระทำของคนอื่นที่ต้องทำต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการตก หรือไม่ตกก็ตาม ในเมื่อที่ผ่านมาไม่มีใครตก เราก็คงไม่ตก ในเมื่อคนนั้นยังตก เราก็คงไม่รอดแน่ ๆ เลย…
ในมุมนี้เราอาจได้แง่คิดว่า นอกจากสิ่งแวดล้อมกดดันเราได้แล้ว การที่แค่เราไปเป็นฝ่ายสนใจ หรือเฝ้ามองแต่ความล้มเหลวคนอื่น มันก็ส่งผลต่อภายในใจเรา กระตุ้นความล้มเหลวได้เช่นกัน
แน่นอนว่า การมองความล้มเหลวคนอื่นแล้วเรียนรู้ ต่างกับ การเฝ้าดูว่าเขาจะล้มเหลวหรือไม่โดยสิ้นเชิงในแง่กรอบคิด Mindset และทัศนคติ ตัวอย่างเหตุผลเดียวกันนี้คือ คนที่ชอบติ ชอบขัด ระแวง ทักท้วง รู้สึกชอบใจกับคำว่า “เห็นไหมบอกแล้ว” มักเป็นคนไม่กล้าที่จะริเริ่มทำอะไร เพราะลึก ๆ ขาดความมั่นใจ
โดยรวมแล้ว หนึ่งวิธีหลีกหนีความล้มเหลว คือ การปรับสิ่งแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะจากคนอื่นที่เฝ้ามองเรา หรือการที่เราไปเฝ้ามองคนอื่นก็ตาม ในสิ่งที่อาจกระทบความเชื่อมั่น หรือไม่สร้างสรรค์ต่อเป้าหมายที่เรากำลังกระทำ
แต่ เรื่องนี้ยังไม่จบ…
อีกครั้งหนึ่ง ในกิจกรรมอย่าตกน้ำเหมือนเคย ขณะที่ทุกคนเฝ้ารอว่าใครจะตกบ้าง ก็ได้มีเพื่อนคนหนึ่ง แทนที่จะไต่ โหนเชือกข้ามน้ำให้ได้ เขาเลือกที่จะกระโดดน้ำลงไปดื้อ ๆ เลยทันที แล้วโผล่ขึ้นมายิ้มแฉ่ง รับเสียงโห่ฮาจากเพื่อน ๆ ภาพที่ผมเห็นมันคือความกล้าอย่างหนึ่งสำหรับคนที่ไม่สนอะไร
การตกน้ำหลังจากนี้เป็นเรื่องที่ดูจะไม่สนุกฮาเสียแล้วสำหรับคนดู นอกจากทำให้คนตกไม่ค่อยอายอะไร บางคนยังเลือกตัดจบด้วยการกระโดดลงไปเลยเหมือนเขาก็มี จนครูต้องหยุดปรามว่าทำแบบนี้จะไม่ผ่าน… (ขอไม่วิจารณ์กิจกรรมแล้วกัน)
แต่นี่ก็เป็นอีกแง่หนึ่ง ถ้าเรามองความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องน่าอาย แม้มันไม่ใช่เรื่องสนุก เรื่องน่ายิ้ม แต่มันก็เป็นอีกเรื่องที่เราต้องผ่านไป คล้ายเพื่อนผมคนนั้น ที่เขาน่าจะคิดว่านี่ก็แค่ให้มันจบ ๆ ไป…
มุมนี้มันอาจเรียกไม่ได้ว่าเป็นการหลีกหนี, หลีกเลี่ยงความล้มเหลว แต่มันก็เป็นกรอบคิดที่ดีอย่างหนึ่ง เราต้องไปให้พ้นความกลัวในใจ หรือไม่ก็คิดไปเลยว่า ถ้ามันจะต้องผ่านตรงนี้ ก็ทำให้มันผ่านไปให้เร็วที่สุด…
แม้ชีวิตจะต้องเดินเปียกปอน เหม็นกลิ่นโคลน เปรอะเปื้อน แต่มันก็ล้างได้ ทำความสะอาดได้ หรือไม่ สุดท้ายก็ต้องเหือดแห้ง จางหายไปในช่วงเวลาหนึ่งอยู่ดี…
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 01/12/2021