“ทำงานเป็นทีม” บนประกาศรับสมัครงาน

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » การจัดการคน » “ทำงานเป็นทีม” บนประกาศรับสมัครงาน |


เวลาเห็นคุณสมบัติในประกาศรับสมัครงานว่า “สามารถ ทำงานเป็นทีม ได้” เราตีความมันอย่างไร? ส่วนตัวสมัยยังหางาน หากเป็นผู้สมัครเห็นแล้วมันแทบไม่มีความหมายเลย!! คิดว่าเราทำได้… แต่แง่ผู้รับสมัครล่ะ มันมีความหมายแค่ไหนกัน?

ดูน่าจะเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น แต่ดังที่บอกไปหากมองในมุมคนสมัครงาน ประสาคนหางานทั่วไป อาจคิดว่าไม่น่าจะใช่คุณสมบัติสำคัญอะไร ก็เขาจะรู้ได้ไง? ถ้าเราอยากสมัครงานนั้น เชื่อว่าส่วนใหญ่ ย่อมบอกตัวเองว่าคุณสมบัติข้อนี้เรามีแน่นอน ซึ่งแท้จริงแล้วมันจะตรงตามที่ HR ฝ่ายบุคคล, เจ้าของกิจการหรือผู้ประกาศรับสมัครต้องการหรือไม่นั้น?… นั่นสินะ…

เมื่อสงสัยจึงได้ลองถามไปยังคนทำงานฝ่ายบุคคล, เจ้าของกิจการ และคนที่มีประสบการณ์รับผิดชอบที่จะกำหนดคุณสมบัติ หาลูกทีม ลูกน้อง ถึงความหมายของเขา แม้จะเคยระบุคุณสมบัตินี้หรือไม่ก็ตาม หากเป็นเขาแล้ว ให้กรอบคุณสมบัตินี้ว่าอย่างไร?

เมื่อได้คำตอบ ก็นำมาคิดวิเคราะห์ ได้ข้อมูลและข้อสังเกตที่นำมาแบ่งปันได้ว่า การทำงานเป็นทีม ในการรับสมัครงานอาจมีความหมายต่าง ๆ ดังนี้

  • ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ : คำตอบนี้ค่อนข้างเยอะ และบางแห่งก็เขียนคุณสมบัติไว้ทำนองนี้เลยว่า “สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้” อ่านแล้วก็ให้ความหมายที่แคบกว่าทำงานเป็นทีม เหมือนเข้าใจได้ง่ายกว่า โดยส่วนใหญ่อธิบายในทำนองสรุปได้ว่า เพราะเป็นงานที่ไม่ได้รับผิดชอบคนเดียว ต้องทำงานเรื่องนั้น หรือชิ้นงานนั้นกับคนอื่น ตัวอย่างง่ายที่สุด เช่น การมาช่วยกันล้างรถ ถ้าอีกคนล้างล้อ อีกคนก็ไปล้างประตู หากมีคนล้างประตูแล้วก็ไปล้างหลังคา ตามแต่โอกาส ไม่ใช่คิดแต่จ้องจะล้างที่จุดเดิมตลอดเวลาที่มีรถเข้ามา หรือล้างตรงนี้เสร็จแล้วก็ไปเลย ทั้งที่ส่วนอื่นยังไม่ได้ล้าง ไม่ช่วยกัน ทำนองนี้

    ข้อสังเกต : ในความเป็นจริงถ้าเป็นงานที่ง่าย ๆ มันก็อาจไม่เป็นปัญหา แต่หลายครั้งจะเป็นภาวะที่ เลือกทำ แย่งกันทำส่วนง่าย เกี่ยงกันทำส่วนยาก ส่งผลได้ด้วยว่าเมื่อมีปัญหาจะโทษใคร ซึ่งเบื้องต้นก็จะโทษคนที่ทำตรงนั้น ณ ตอนนั้น แต่หากวิเคราะห์ดู ก็ในเมื่อจริง ๆ เขาอาจไม่ถนัด ไม่ชอบ ส่วนนั้น แต่ต้องทำ เพราะคนอื่นทำส่วนอื่นไปแล้ว เช่นนี้ก็ดูไม่ยุติธรรมแม้จะเป็นคนทำผิดจริงก็ตาม เช่นนี้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มันมีความหมายประมาณหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่พอให้เรียกได้ว่าเป็น “ทีม”

  • เข้ากับคนอื่นได้ : ความหมายจริง ๆ อาจเพียงแค่ว่า “ไม่ทะเลาะกับใคร” มาทำงานแล้วไม่มีปัญหากับใคร ถ้าเป็นไปได้คืออัธยาศัยไมตรีดีนั่นเอง

    ข้อสังเกต : ที่จริงก็เป็นพื้นฐานที่ดีในการทำงานเป็นทีม เพราะบรรยากาศของการทำงานถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ แต่มันก็มีไม่น้อยที่สานสัมพันธ์ดี แต่ไม่มีผลงาน ไม่ดื้อ ไม่เถียง แต่ไม่บอกก็ไม่ทำ หรือทำผิดประจำแต่ไม่มีใครอยากว่าอะไรด้วยเพราะสายสัมพันธ์ดี ดังนั้น แม้จะอัธยาศัยดี แต่ถ้ามาเพื่อมีหน้าที่เอาอกเอาใจ ชวนคุยสนุกไปวัน ๆ เรื่องไร้สาระไว้ใจได้ เรื่องงานไม่ต้องพูดกัน แบบนี้นั้น มันก็คงไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า ทำงานเป็นทีมที่ดี

  • ช่วยกันทำงาน : บางแห่งนิยามไว้คล้าย ๆ ข้อแรก คือ อยากให้เข้ามาแล้ว “ช่วยกันทำงาน” ไม่เกี่ยงงาน แต่สิ่งที่ต่างไปอาจเป็นเรื่องขอบเขต อธิบายแบบเจาะจงก็คือ ทำงานเป็นทีมในแบบที่ “รับมอบหมายได้ทุกงาน” เพราะถือว่าช่วยกัน มักเกิดจากปริมาณงานที่ไม่แน่นอน องค์กรที่เล็ก หรือกำลังเติบโต ย่อมไม่ผิดอะไรหากกล่าวกันตามความจำเป็น หรือสถานการณ์ขององค์กร

    ข้อสังเกต : แม้จะเป็นเรื่องเข้าใจได้ ในองค์กรที่กำลังขยับขยาย หรือมีทรัพยากรที่จำกัด ย่อมต้องการคนที่พร้อมจะสนับสนุนรูปแบบงานเช่นนี้ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เพราะความไร้ขอบเขต หัวหน้างานอาจไม่แยกแยะ หลงลืม เช่น คนที่ทำดี ทำเร็ว ทำได้ จึงกลายเป็นคนต้องทำมาก คนที่ทำช้า ไร้ทักษะอื่น ก็เลยสบาย หรือ ไม่เช่นนั้น พนักงานที่นี่ก็มักต้องได้รับมอบหมายงานแบบเกินขอบเขตของเงินเดือนไปมากก็มี ถ้าต้องทำงานเป็นทีมแบบนี้ ไปที่ที่ยิ่งขยัน เรายิ่งได้ผลงานดีกว่าไหม?

  • เข้าใจการทำงานเป็นทีม : นี่อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในเมื่อคุณสมบัติที่ต้องการคือ “ทำงานเป็นทีมได้” ดังนั้น ก็ควรเป็นผู้ที่เข้าใจการทำงานเป็นทีม แล้วการทำงานเป็นทีมจริง ๆ คืออะไร? ผู้ที่ให้คำตอบเขาก็บอกว่ามันก็ต้องรวมหลายคุณลักษณะเข้าด้วยกัน แล้วให้ทำแบบทดสอบ หรือสัมภาษณ์กันอีกที… ก็ดูดีทีเดียว เพียงแต่…

    ข้อสังเกต : บางทีคุณสมบัติว่า การทำงานเป็นทีม เช่นนี้ ก็อยู่ที่ใครกำหนดอีก มันก็ถูกที่การทำงานเป็นทีมย่อมประกอบด้วยคุณสมบัติหลายส่วน ทั้งแง่ความรับผิดชอบ ความสัมพันธ์ การสื่อสาร การให้เกียรติ รวมถึงมีความเป็นมืออาชีพอีกด้วย ทว่าแต่ละเรื่องก็มีมิติ และอาจให้ความสำคัญต่างกันในแต่ละองค์กร แต่ละผู้บริหาร แล้วคนมาสมัครงานจะรู้ได้อย่างไร หรือแน่ใจได้อย่างไรว่าจะตรงใจผู้ให้สัมภาษณ์แค่ไหน หรือมีนิยามเดียวกันหรือไม่? ต่อให้คนสมัครคิดว่าเข้าใจการทำงานเป็นทีม แต่อาจเข้าใจคนละอย่าง หรืออาจเข้าใจผิดไปคนละทิศทางก็เป็นได้

การทำงานเป็นทีมไม่จำเป็น…

จากข้อสังเกตต่าง ๆ ทำให้คิดว่าบางทีคุณสมบัติการทำงานเป็นทีมอาจไม่จำเป็น หรือไม่ควรกำหนดเป็นคุณสมบัติในการรับสมัครงาน เพราะยากจะแน่ใจว่าคุณสมบัตินี้คืออะไร แถมหลายแห่งนั้น แผนกบุคคล (HR) เอง ก็เป็นฝ่ายมีปัญหากับแผนกอื่นไปทั่ว หรือ เหล่าหัวหน้างาน ก็ไม่เคยทำงานเป็นทีมได้ให้เห็นเป็นตัวอย่างเลย

ไหนจะความไม่ชัดเจนของระบบงาน, ขอบเขตงาน, สายการบังคับบัญชา, การพิจารณาผลงาน เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเป็นทีมทั้งสิ้น ซึ่งพบเห็นมาบ่อยครั้งในฐานะที่ผมเป็นวิทยากรอบรมพนักงานหลักสูตรการทำงานเป็นทีม ดังนั้นองค์กรอาจต้องมีพื้นฐานที่ดีที่สนับสนุนการทำงานเป็นทีมให้ได้ก่อนด้วยซ้ำไป ก่อนที่จะไปประกาศรับคนที่มีคุณสมบัติทำงานเป็นทีม รวมถึงพัฒนาหรือนิยามความเป็นทีมสู่พนักงานให้มีความหมายไปในทางเดียวกัน

มิเช่นนั้นพนักงานใหม่พร้อมแค่ไหน อยากเป็นทีมแค่ไหน อยู่ไปมันก็ไม่ไหว ไม่รอด เช่น งานก็จับฉ่าย, หลายเรื่องไร้คนรับผิดชอบ, หัวหน้าเห็นแก่ตัว, เราทำดีเสมอตัว ทำชั่วโดนใบเตือน, เงินเดือนผลตอบแทนปรับกันงง ๆ อะไร ๆ เหล่านี้ ที่ถ้ามองออกมันเริ่มจาก “ระบบ” ขององค์กรมาก่อน หากเป็นเราแม้จะเข้าใจการทำงานเป็นทีมแค่ไหน เข้ามาทำงานแล้วเจอระบบ งง ๆ มึน ๆ แบบนี้คง ทำงานเอาตัวรอดไปวัน ๆ ดีกว่า หรือส่วนใหญ่ก็อาจอยู่ในรูปแบบ “ทีมใคร ทีมมัน” ซึ่งจริง ๆ ถือมันเป็นทีมไหม? คุณคิดว่าไงล่ะครับ

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 18/11/2021

"ทำงานเป็นทีม" บนประกาศรับสมัครงาน

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น