เคยไหม? เวลาเห็นคนอื่นทำอะไรแล้ว เขาสำเร็จ, ได้เงิน, หรือดูมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การทำงานอดิเรก หรือท่องเที่ยว แว็บแรก เราก็อยากทำเหมือนเขาบ้าง แต่พอไป ๆ มา ๆ เราก็ขี้เกียจไม่อยากเริ่มต้น ทั้งที่ก็อยากได้แบบเขาอยู่นะ
ถ้าเคยคิด หรือรู้สึกเช่นนี้ แล้วเราเคยได้ลองทบทวนตัวเองกันหรือไม่ว่า ในเมื่ออยากได้แล้วทำไมไม่ทำ?
เชื่อว่า ถ้าลองทบทวนดูจริง ๆ ผลลัพธ์ก็จะเป็น เหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ที่เราบอกตัวเองว่า ติดตรงนั้น ไม่มีตรงนี้ เหตุผลง่ายที่สุด ก็คงบอกตัวเองว่า เราไม่มีเวลา…
ซึ่งในภาวะ “อยากได้ แต่ไม่อยากทำ” นั้น มีทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว กล่าวคือ บางคน มัวแต่พร่ำบ่น เอาแต่มองผู้อื่น เปรียบเทียบ และอิจฉาในใจ แต่ไม่เคยคิดจะลงมือทำเสียที เช่นนี้ เรียกไม่รู้ตัว หรือ อยากได้แต่ไม่เคยคิดทำ
แต่ที่รู้ตัวบ้างคือ เข้าใจว่าอยากได้ก็ต้องทำ แต่ทำไม่ทำก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งดังที่กล่าวไป อาจมีเหตุผลเพราะ… นี่ นั่น โน่น ก็ว่ากันไป…
อยากได้เหมือนเขา แต่ไม่ทำเหมือนเขา?
เป็นข้อคิดอย่างหนึ่ง ที่บางทีผมเองก็สงสัยและทบทวนอยู่เหมือนกันว่า เราอยากได้ แต่ไม่อยากทำเนี่ย ถือว่า เราตัดสินใจผิด, ขี้เกียจ, หรือเป็นคนไม่ได้เรื่องไหม? ในเมื่ออยากได้ ก็ควรหาวิธีลงมือทำสิ…
เมื่อลองตกตะกอนความคิดแล้ว จึงได้หลักคิด หรือจุดตัดสินใจตรงที่
- อยากได้จริงหรือไม่?
นี่เป็นแง่หนึ่งที่สำคัญมาก เหมือนบุคคลประเภทจอมโปรเจคมักช่างสังเกต หัวไว เมื่อเห็นอะไรมาก ๆ ก็อยากได้บ่อย บางทีมันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากได้จริง ๆ ดังนั้น การที่คิดแล้วทำทันทีก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะมันไม่ทำให้เรา focus หรือตั้งใจจริงกับอะไรเลย หลายเรื่องหากจะสำเร็จ หรือได้มาย่อมต้องใช้เวลา แล้วการที่เดี๋ยวทำนั่น เดี๋ยวทำนี่ ทุกทีที่เห็นว่าดี ย่อมกลายเป็นสิ่งที่ผลาญเวลาแต่ได้ประโยชน์กลับมาไม่คุ้ม และเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ แย่กว่าการไม่ทำอะไรเสียที ซะอีกดังนั้นเมื่ออยากได้เหมือนเขา ตรองสักนิด คิดให้ดีว่านี่คือสิ่งที่อยากได้จริงหรือไม่
- สิ่งที่เห็นไม่ได้เป็นจริง
นี่ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญ เพราะในยุคปัจจุบันสังคมออนไลน์ Social Network ทำให้คนเราเห็นแต่ภาพดี ๆ เพราะทุกคนมักจะแสดงตนในด้านดี ๆ ซึ่งมันก็เป็นปกติ จะอวดความล้มเหลว ย่ำแย่กันไปทำไม ดังนั้นความสำเร็จ หรือเรื่องดี ๆ ของคนอื่นที่เราได้เห็น อาจไม่เป็นจริงตามนั้น หรือดีจริง แต่ไม่ได้มากมายขนาดนั้นก็ได้ รวมถึงมันอาจไม่ถาวรด้วย เช่น ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุดคือ คนที่อวดผลการลงทุนต่าง ๆ ว่าได้เท่านี้ บวกเท่านั้น มันก็ใช่ว่าจีรัง และลับหลังเวลาเขาเสีย เขาจะมานั่งบอกเราทำไม (ผมก็ไม่บอก 😁) - วิธีการไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ขอยกตัวอย่างเลยว่า ถ้าเราเห็นใครทำอะไรได้เงินมาก เราย่อมอยากได้บ้าง ใครล่ะไม่อยากรวย ความอยากได้เช่นนี้คงไม่ผิด แต่สิ่งที่ควรคิดก็คือ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีวิธีการเหมือนเขาเสมอไป โดยอาจมีความรู้สึกที่ว่า ก็ที่ทำอยู่ไม่รวยเสียที ทำแบบเขาอาจจะรวยก็ได้…คงไม่อาจสรุปได้ว่าถูกหรือผิด แต่ทบทวนดี ๆ มันก็แค่สิ่งที่ชี้ชัดว่า ที่เราทำอยู่ยังไม่ดีพอ คงต้องปรับ ต้องพัฒนา หรือควรต้องเปลี่ยนก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า ควรปรับให้เหมือนเขา เปลี่ยนเป็นเหมือนเขา แล้วเราจะเหมือนเขาเสียเมื่อไร
- ปัจจัยที่แตกต่าง
ข้อนี้ก็ช่วยบ่งชี้ได้อยู่ว่า ไม่ผิดที่ “อยากได้ แต่ไม่อยากทำ” เพราะทำไปเราก็ทำไม่ได้เหมือนเขา ด้วยต้นทุนทางโอกาส และปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่มันก็มีข้อควรระวังอยู่ที่ มันเป็นปัจจัยจริง ๆ หรือ “ข้ออ้าง” ในการที่เราไม่เลือกทำ วิธีสังเกตคือ หากนานไป เราก็ยังมีแต่ความอยากคล้ายเดิม แต่ไม่ได้ทำ หรืออยู่บนเป้าหมายอะไรสักอย่าง เช่นนี้อาจเรียกว่า “มีแต่ข้ออ้าง” ตลอดมา - ลองทำเสียที
ที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ ถ้ามีความคิดว่าอยากได้แบบเขา คล้ายข้อที่แล้วที่ ณ วันนี้ยังไม่มีเป้าหมายหรือทำอะไรที่ใกล้เคียงสักอย่าง เราก็ควรลองทำดูเสียหน่อย เริ่มจากการวางแผนจริงจัง ประเมินความเป็นไปได้ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ๆ เพราะมันต่างจากการคิดฟุ้ง ๆ โดยสิ้นเชิงการวางแผน เขียนแผน ก็ถือว่าเป็นการเริ่มลงมือทำอย่างหนึ่งแล้ว และมันจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าควรทำ หรือไม่ควรทำมากกว่าแค่จินตนาการลอย ๆ แน่นอนส่วนต่อมาก็ต้องให้มันเป็น Fast fail Fast forward ล้มเร็ว ลุกเร็ว ในแบบที่เขาเรียกว่า ลองดูไม่เสียหาย ทำได้ก็เดินหน้า ไม่ไหวก็ได้ลองแล้ว เช่นนี้ ย่อมมีแต่ข้อดีต่อเรา
ทั้ง 5 ข้อนั้นเป็นเพียงข้อคิด หรือมุมคิดที่มุ่งประโยชน์นำไปเพื่อช่วยทบทวนในเวลาที่เรา โดนแรงกระตุ้นจากผู้อื่นให้ อยากได้ อยากมี เหมือนเขา ไม่ว่าจะเห็นแล้ว เกิดไอเดีย แนวคิด หรือเพื่อนำตัดสินใจอย่างไรต่อก็ตาม
หยุดอยากได้-อยากมี?
บางส่วนอาจคิดได้ขึ้นมาว่า “ก็อย่าอยากได้ อยากมี ดีที่สุด” มุมมองเช่นนี้ เบื้องต้นอาจดูดี โดยอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ทำให้โลภ หลง หรือผิดศีลธรรม แต่มุมหนึ่งนั้น ความอยากได้ก็เป็นปัจจัยให้เราดิ้นรน พัฒนา เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้เช่นกัน การหยุดอยากได้-อยากมี บางทีอาจเป็นเพียงการปิดกั้น หรือสะสมปมความสิ้นหวังภายใต้จิตใจ จนในที่สุดไม่ทำ ไม่พัฒนาอะไรเพื่อตัวเองเลย
ถึงตรงนี้อาจสรุปได้ว่า “แค่อยากได้” ไม่เหมือน “ต้องได้” และ “แค่อยากทำ” ไม่เหมือน “ได้ลองทำ” หากเข้าใจว่าทุกวันสามารถเป็นกำไรชีวิต ไม่ใช่การคิดสั้นบั่นทอนตัวเอง เท่านี้ก็คงเป็นวันดี ๆ อีกวัน ที่ได้แค่ลองคิด หรือได้ลงมือทำ มันคงไม่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สูญเปล่าอะไร