เมื่อขี้เกียจไม่มีจริง (เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหัวเรา)

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » เมื่อขี้เกียจไม่มีจริง (เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหัวเรา) |


อุปสรรคการพัฒนาตนเอง หรือการทำอะไรให้สำเร็จข้อสำคัญมาก ๆ ที่เกิดกับเราบ่อย ๆ คือ “ความขี้เกียจ” เมื่อใดที่มันเกิดขึ้นแล้วยากจะต้านทาน เหมือนเงามืดที่ค่อย ๆ ปกคลุมไปทุกอารมณ์ของเราให้พ่ายแพ้ นอนแผ่ และนั่นแหละ “ขี้เกียจอ่ะ..” 🥱

เดิมทีอยากให้บทความนี้ชื่อ “เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหัวเรา” แต่ก็เกรงว่าจะเป็นชื่อเรื่องที่สื่อสารน้อยไป ว่าเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็เลยคิดมาอีกชื่อว่า “เมื่อขี้เกียจไม่มีจริง” แต่ก็ยังแอบขัดใจ สุดท้ายขี้เกียจคิดก็เลย เอาสองชื่อไปเลย (แล้วไหนว่าขี้เกียจไม่มีจริง 🤣)

“ผมไม่คิดว่าคนเราขี้เกียจ” ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะไม่เชื่อว่า จะมีใครชอบนอนหายใจทิ้งไปวัน ๆ โดยไม่อยากทำอะไรเลย ลองคิดดูว่าภาวะขี้เกียจสุด ๆ เรามักจะบอกกับตัวเองว่า “อยากนอนนนนนน” (ที่ไม่ใช่ง่วงนอน) แต่พอล้มตัวนอน เราก็ดูโทรศัพท์มือถือ ดูซีรีส์ ดูทีวี หรือคิดถึงบางสิ่งบางอย่าง อยู่ดี

แต่ไม่นับตอนที่ “เหนื่อยกับบางสิ่งมามาก” แล้วอยากจะนอน อยากจะหยุดพัก ไม่อยากทำอะไร แบบนั้นไม่ใช่ขี้เกียจ แต่เรียกว่าท้อแท้ เหนื่อยใจ เกิดได้กับทุกคน ขยันแค่ไหนก็หมดแรงหมดใจได้นะ 😔

คนเราไม่ได้ขี้เกียจจริง ตัวอย่างอีกแบบ ก็ คือ บ่นว่ารู้สึกขี้เกียจ แต่อยากไปเที่ยว, อยากเล่นเกมส์, อยากทำในสิ่งที่อยากทำ ถ้าเป็นเช่นนี้ยิ่งชี้ชัดว่า คนเราไม่ได้ขี้เกียจ แค่ไม่อยากทำบางสิ่งในตอนนั้น แต่อยากทำสิ่งอื่นอยู่ ซึ่งจะถือว่า “ขยันเที่ยว ขยันเล่น ขยันสังสรรค์ ขยันอื่น ๆ…” ก็ได้ และในทางตรงข้าม บางคนเขาก็มองว่า ทำไมขยันเที่ยว ฉันขี้เกียจเที่ยว ขี้เกียจเล่นเกมส์ ขี้เกียจสังสรรค์ หรือขี้เกียจนอน ได้เช่นกัน

เมื่อขี้เกียจไม่มีจริง

ถ้าเริ่มมองตามมาในมุมนี้ ว่าที่จริงคนเราไม่ได้ขี้เกียจ แต่ “ไม่มีใครขยันทุกเรื่อง” คนขี้เกียจซักผ้า อาจเป็นคนขยันล้างจาน, คนขี้เกียจทำงาน อาจขยันดูซีรีส์, คนขี้เกียจออกกำลังกาย แต่ขยันกินเหล้า เดินไปหน้าบ้านไม่กี่ก้าวเพื่อแกว่งแขน 15 นาที ยากกว่า ขับรถไปครึ่งชั่วโมง หลายกิโล เพื่อกินเหล้า ไม่ได้กำลังจะตำหนิ แต่ก็เหมือนตำหนิไปแล้ว 😛 ที่จริงแค่จะให้เห็นในมุมหนึ่งว่า “คนเราขยันทุกเรื่องไม่ได้” หรือ “ไม่มีใครขยันไปทุกเรื่อง” ต่อให้เป็นคนที่ใครมองว่าขยันแค่ไหนก็ตาม

เพราะเราย่อมเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ หรือชอบทำก่อน ใครล่ะจะพยายามทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ จึงไปเรียกสิ่งนั้น “ความขี้เกียจ” มันก็ไม่ผิด แต่ถ้าคิดดี ๆ นั่นเพราะเราก็แค่กำลังอยู่ในสิ่งที่เราไม่อยากทำ

ถ้าคนไม่ได้ชอบสถานะ, ภาวะ, หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็น ยังไงก็ขี้เกียจ

อาจมองว่า บางคนก็ดูเหมือนเป็นคนขี้เกียจไปเสียหมด เอ๊ะไม่สิ เป็นคนที่ไม่ขยันอะไรเลย มันมีความเป็นไปได้ ก็ในเมื่อสิ่งแวดล้อมนั้นมันไม่ใช่ ลองนึกว่า ให้คนไม่ชอบทำงานบ้าน ต้องมาเป็นแม่บ้าน ก็จะกลายเป็นไม่ใช่แค่ขี้เกียจล้างจาน แล้วจะขยันถูบ้าน หรือขี้เกียจถูบ้านแล้วจะขยันซักผ้า ก็มันไม่ชอบสถานะ, ภาวะ หรือสิ่งแวดล้อมในแบบที่เป็นนี้เลย ย่อมถูกสามีตำหนิ ต่อว่า ว่าเป็นเมียที่ “ขี้เกียจ” เป็นแน่แท้ แต่ใครจะรู้ หากให้เขาไปทำงานนอกบ้านแทน อาจจะขยันจนหาเงินเก่งกว่าสามีก็เป็นได้…

ถ้าเรากำลังขี้เกียจสิ่งนี้ แล้วเราขยันสิ่งไหน?

“ขี้เกียจไม่มีจริง” ไม่ได้กำลังจะหมายถึงประโยคนี้ไม่มี ต้องลบออกจากสารบบคำ หรือที่จริง ขี้เกียจมันมีกันบ้าง เพียงแค่เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนทัศนคติมุมมอง ให้ทบทวนในแง่ตรงข้ามว่า ความขี้เกียจอาจเป็นเพียงภาวะ คล้ายเบื่อหน่าย หมดอาลัยตายอยาก ที่ส่งผลให้ขี้เกียจได้ แต่มันย่อมมีสาเหตุ มีที่มาที่ไปดลให้คนเราเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เป็นจากนิสัยหรือพันธุกรรม

ณ จุดหนึ่งหากมองในมุมที่ว่า “ขี้เกียจไม่มีจริง” มันอาจทำให้เรานึกไปได้ว่า “ถ้าเรากำลังขี้เกียจสิ่งนี้ แล้วเราขยันสิ่งไหน?” หรือไม่ชอบทำเรื่องนี้แล้วชอบทำเรื่องไหน ถ้านึกไม่ออกเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราขี้เกียจอยู่ดี เราแค่จิตใจอ่อนแออย่างแรง บนความท้อแท้, พ่ายแพ้, สิ้นหวังบางอย่าง หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ทำให้เราขยันได้เลยเท่านั้นเอง จุดเริ่มต้นก็ต้องลุกขึ้นมา พาตัวเองไปให้พ้นจุดนี้ แล้วความขยันนั้นย่อมกลับมาได้เอง

เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหัวเรา

ถึงตรงนี้จะเห็นว่า อันที่จริงความขี้เกียจมันก็ยังมีอยู่ในภาษาพูดหรือแง่การสื่อสารแบบตรงไปตรงมา แม้จะมองได้ในมุมว่า คนเราขยันไม่ได้ในทุกเรื่องก็ตาม แต่ที่มากกว่านั้น… บนความสำเร็จบางเรื่องของบางคน ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความ “ขยัน”

เราไม่ได้ขยัน ไม่ได้ชอบหรอก แต่เราขี้เกียจไม่ได้…

มีเหตุการณ์หนึ่งทำให้ผมเห็นมุมต่างของความขยัน คือ การเคยถามเพื่อนที่เรียนได้ที่หนึ่งของชั้นว่า “ทำไมนายขยันอ่านหนังสือจัง?”

เพื่อนตอบว่า “ที่จริงก็ไม่ได้ขยันหรอก ขี้เกียจจะตาย แต่ถ้าไม่อ่าน เราจะจำได้ไง (จะทำข้อสอบได้ยังไง)

เป็นบทสนทนาที่เขียนสรุปให้สุภาพกว่าจริงนิดหน่อย แต่ในตอนนั้นมันทำให้เปลี่ยนมุมคิดไปมาก (อาจเพราะการฝังหัวผิด ๆ ในวัยเด็ก ว่าขยันถึงจะสำเร็จ) โดยเห็นอีกมุมว่าคนที่เขาเก่ง ไม่ใช่ว่าจะขยัน, อยาก, ชอบทำในสิ่งนั้นเสมอไป หรือความขยันมันไม่ใช่เรื่องจำเพาะบุคคล เช่นว่า คนเรียนเก่งเพราะขยันอ่านหนังสือ แต่เขาแค่รู้ว่า “จำเป็นต้องอ่าน” ต่างหาก

และเมื่อโตขึ้นผ่านอะไรมากมาย ยิ่งทำให้เห็นมุมที่ว่า ขยัน และ ขี้เกียจ เป็นเพียงทัศนคติ ต่อสิ่ง ๆ หนึ่ง หรือพูดง่าย ๆ “เราเห็นความสำคัญ” ต่อสิ่งนั้นแค่ไหน?

แขกสำคัญจะมาบ้าน เราก็ต้องเก็บของถูบ้าน

ตัวอย่างง่าย ๆ หากเป็นวันหยุดของเรา ในวันว่างของคนที่ไม่ได้ชอบทำงานบ้าน เราจะทำอะไร? ซักผ้า ถูบ้าน ล้างจาน จัดข้าวของ? ถ้าคนไม่ชอบทำงานบ้านต้องทำล่ะ?

เราก็คงทำในสิ่งที่เห็นว่า “สำคัญ” หรือจำเป็นที่สุดในสายตาเรา เช่น ต้องซักผ้าเดี๋ยวจะไม่มีชุดทำงาน หรือล้างจาน เพราะกลัวจะเน่า ส่งกลิ่น ส่วนถูบ้าน จัดของนั้น อาจเป็นตัวเลือกสุดท้ายและอาจยังไม่ทำ เพราะเราอยู่ได้ไม่รู้สึกรก ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีปัจจัยเพิ่มเติม ดังเช่น แขกสำคัญจะมาบ้าน การเก็บของถูบ้านกลายเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” ขึ้นมาแม้จะขี้เกียจอยู่ก็ตาม เสื้อผ้าอาจอุดไว้ในตระกร้ามุมหนึ่งก่อนแทน…

คงทำให้เห็นในส่วนหนึ่งว่ามันมีเหตุผลเกี่ยวข้อง มีปัจจัยอยู่นะ ต่อความขี้เกียจ หรือขยันในบางสถานการณ์ ทว่าเวลาที่เราขี้เกียจขึ้นมา มักไม่ใช่เวลาของเหตุผล มันมักจะเป็นแค่ความรู้สึก…

เมื่อหินก้อนนั้นมันเริ่มสำคัญ เราจะเห็นมันในอีกแบบ

หลายครั้งเราคงเคยเห็น หรือรู้สึกบ่อย ๆ ต่อความขี้เกียจ ซึ่งมักจะชัดกว่าเวลาเรามองคนอื่น เช่น ทำไมแฟนขี้เกียจซักผ้า ทำไมลูกขี้เกียจเก็บห้องนอน ก็เพราะในเมื่อเขาไม่เห็นความสำคัญในสิ่งนั้น ๆ เขาก็ไม่เดือดร้อนอะไรกับสิ่งนั้น หรือ มองเรื่องนั้นในอีกมุม เช่น เราอาจมองว่าซักผ้าเป็นเรื่องต้องทำ แต่หากเขามองในมุมว่า ก็ตอนนี้ยังมีใส่อยู่ไม่เห็นต้องรีบ แน่นอนย่อมไปขยันเรื่องอื่นก่อน และหลายเรื่องที่ไม่ใช่แค่มองว่าไม่จำเป็น แต่ไม่เคยอยู่ในสายตา และไม่อยู่ในหัวเรา(คิด)เราเลย ดังนั้นถ้าเพียงแค่รู้สึกต้องทำหรือโดนบอกให้ทำ ความขี้เกียจหรือแท้จริง คือ ความรู้สึกไม่อยากทำย่อมเข้ามาแทรกโดยง่าย…

สิ่งแวดล้อมกับพื้นเพการดำเนินชีวิตก็มีส่วนในบางเรื่อง เช่น คนที่โตมาในชุมชนแออัด ความทรุดโทรม ไม่เรียบร้อยของสิ่งของเป็นเรื่องที่ชินตา ดังนั้นเมื่อเขามีบ้าน การปล่อยบ้านรกไปบ้างจึงไม่รู้สึกอะไร หรือ วัยรุ่นอาจที่ไม่รู้สึกอะไรกับการใส่เสื้อผ้าที่ไม่รีด เพราะเขาไม่ได้แคร์สังคมอื่น และสังคมเขาเองก็ไม่มีใครมาใส่ใจกับการที่เสื้อจะยับไปบ้าง ดังนี้การต้องขยันรีดเสื้อ จึงไม่เกิดขึ้น ภาวะเช่นนี้หากเป็นเราก็คงรู้สึกเสียเวลา จะมานั่งรีดทำไมไม่มีใครสนใจ ไม่รีดก็ใส่ได้… (มุมนี้เป็นเพียงตัวอย่างไม่ได้สรุปว่าเป็นพื้นฐานของวัยรุ่น หรือคนที่เติบโตมาแบบหนึ่งไปเสียหมดนะครับ)

ลองคิด จินตนาการดูว่า… เวลาที่เราเดินผ่านก้อนหินก้อนหนึ่ง ไม่เล็กไม่ใหญ่ ที่สนามหน้าบ้าน เราอาจเดินผ่านไปโดยไม่มองมัน ก็แค่ก้อนหิน แต่เมื่อใดมันมาอยู่บนพื้นปูนเขตบ้าน หรือช่องทางเดิน มันจะเริ่มเกะกะ อาจทำให้เกิดอันตราย แน่นอนเราจะจัดการมัน

แต่ในอีกด้านของคนที่ในหัวมีเรื่องการจัดสวนหน้าบ้าน หรือชอบให้หน้าบ้านสะอาดตา หินก้อนนั้นบนสนามย่อมไม่ใช่ที่ที่มันควรอยู่ เขาก็ย่อมนำมันไปจัดการ จัดระเบียบไม่เพียงหินก้อนนั้น เศษใบไม้ กิ่งไม้ รวมไปทุกส่วนของสนามเป็นแน่ และเวลาใครผ่านไปมาก็จะรู้สึกว่า เขาขยันจัง…

นี่คือความแตกต่างของโอกาส ในการที่เราจะตอบสนองต่อสิ่งหนึ่งบนความขยัน หรือขี้เกียจ เพราะเมื่อเราเห็นหินก้อนนั้นสำคัญ หรือที่จริงอยู่ในองค์ประกอบของสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เราจะเห็นมันในอีกแบบ ดังที่ยกตัวอย่างก็ไม่ได้หมายความว่า หินก้อนนั้นสำคัญที่สุด หรือเรื่องที่เราขยันทำมันต้องสำคัญที่สุด เพียงแต่มันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่อยู่ในหัวเรา หรือเรื่องที่เราใส่ใจหรือไม่เท่านั้นเอง และหากมันเข้ามาอยู่ในหัวเราแล้ว จะเล็ก จะใหญ่ มันจะค้างคาใจ วนในหัวจนทำให้ขี้เกียจแค่ไหนก็ต้องไปจัดการ…

แรงจูงใจ

สรุป หรือโดยรวมเราอาจตีความกันได้ตั้งแต่ส่วนแรก ๆ แล้วว่า นี่อาจเป็นเพียงเรื่องของ “แรงจูงใจ” ซึ่งการจะสร้างแรงจูงใจใส่สิ่งที่ “ขี้เกียจ” หรืออีกความหมายคือ สิ่งที่ไม่สนใจ รู้สึกไม่สำคัญ มันย่อมยาก เพราะคนเรามีทั้งพื้นฐานชีวิต, ความอยาก, ความต้องการ ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา วัยเด็กย่อมใส่ใจบางสิ่งมากกว่า หรือวัยผู้ใหญ่เหมือนกันแต่ภาวะ สถานการณ์ต่างกัน ย่อมให้ความสำคัญบางเรื่องไม่เหมือนกัน

แต่ที่มากกว่าแรงจูงใจ คือการ “ตัดสินใจ” ที่ผิดเพี้ยน หรือแปลกประหลาดของเราเอง เบื้องต้นก็คือ ขยันในสิ่งที่ไม่ควรขยัน อยากมีเงินเยอะ ๆ ทั้งที่รู้ว่ามันยาก แต่แทนที่จะขยันเก็บออม ก็มักตัดสินใจ ใช้เงินเพื่อซื้อความสุขเบื้องหน้าเอาแทน เหมือนประชดตัวเองไปก่อนแล้ว

หรือ เมื่อไม่มีแรงจูงใจให้ขยันออกกำลังกาย จึงขยันหาอะไรที่ทำลายสุขภาพกินแทน… ขี้เกียจเก็บของจัดของในบ้าน แต่ขยันซื้อของออนไลน์เข้าบ้าน อะไรทำนองนี้ ที่พอทบทวนได้จะเห็นว่า คนเราตัดสินใจอะไรกันแปลก ๆ อยู่บ่อย ๆ ก็ในเมื่ออยากมีเงินก็อย่าขยันใช้สิ ขี้เกียจออกกำลังกายอย่างน้อยก็ไม่ควรขยันกิน และแน่นอนขี้เกียจเก็บของ ก็ต้องไม่ขยันสะสม… 🤔

เพราะสุดท้ายความขี้เกียจอาจไม่มี หรือไม่สำคัญเท่ากับว่า ทำไมเราถึงขยันกับเรื่องที่มันไม่ทำให้ชีวิตไม่ดีขึ้น หรือเป็นภาระกว่าเก่านะ เราคิดอะไรอยู่? นั่นสิไม่เข้าใจ ณ ตอนนั้น อะไรอยู่ในหัวเรา? 

ปล.นอกจากเรื่องนี้ที่จะให้มองความขี้เกียจในมุมหนึ่งที่อาจไม่มีอยู่จริงแล้ว เรายังปรับทัศนคติไปใช้พัฒนาตัวเองได้จากบทความ การพัฒนาตนเองแบบขี้เกียจๆ

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 17/01/2022

เมื่อขี้เกียจไม่มีจริง (เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหัวเรา)

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น