รักต่างวัย เป็นไปได้แค่ไหนกัน…

by

| Home » บทความความรัก » รักต่างวัย เป็นไปได้แค่ไหนกัน… |


ความรัก มีทั้งความหลากหลาย และความละเอียดอ่อน แม้ยุคปัจจุบัน ความรักจะก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องเพศ เรื่องขนบต่าง ๆ มีสิทธิเสรีมากเพียงใด แต่ความสมหวัง หรือผิดหวัง ก็ยังมีพื้นฐานสาเหตุไม่ต่างจากเดิมเท่าไร ดังเช่น ความต่างวัยที่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งของบางคู่

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บทความความรักเรื่องนี้ มิได้กำลังสรุปใด ๆ หากคุณกำลังมีหรือคิดจะมีคู่รักที่ต่างวัย ด้วยเราทุกคนไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถคิดแทนใครว่าอะไรดีหรือไม่ เพียงแต่หากว่ากันตามเหตุผล และปัจจัยที่ทำให้ “ส่วนใหญ่” เป็นไป เราแค่ต้องไม่หลอกตัวเองด้วยว่า เราอาจไม่ใช่ผู้โชคดีที่ได้เป็น “ส่วนน้อย”

อนึ่งเป็นเพียงบทความที่แบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ มุมมอง เพื่อให้พิจารณา ไม่ได้นำเสนอแบบที่คิดว่าถูกต้องทั้งหมด เป็นจริงทั้งหมด เพราะยังมีอีกหลายบริบท หลายปัจจัยในชีวิตจริง โดยรวมแล้วต้องการให้เป็น ข้อคิด แง่คิดพิจารณากันต่อไป

แค่ไหนคือ “รักต่างวัย”

รักต่างวัย ก็ต้องเริ่มจากคู่รักที่มีอายุต่างกัน แต่ส่วนใหญ่คู่รักย่อมไม่ได้มีอายุเท่ากันจริง ๆ อยู่แล้ว เพราะอย่างน้อยต้องเกิดคนละวัน คนละเดือน แน่นอนห่างกันไม่ถึงปีคงไม่นับว่าต่างวัย แต่ 1-2 ปี หลายคนก็รู้สึกว่าไม่ได้ต่างอะไร และก็มีที่มองว่า 3-5 ปี ก็ถือว่ากำลังดี ซึ่งคนเราย่อมรู้สึกต่างกันไป ดังนั้นถ้าจะให้เรียกได้ว่า “ต่าง” ย่อมหมายถึงส่งผลให้มีความแตกต่างกันระหว่างคู่นั้น ทั้งประสบการณ์ ความคิด และการใช้ชีวิต…

ในที่นี้จึงมองว่า 3 และ 5 ปีขึ้นไป น่าจะเป็นจุดที่เรียกได้ว่าต่าง

โดยถ้ามองโดยรวมแบบสรุป อายุที่ห่างกัน 5 ปีขึ้นไปถือว่ามากพอที่จะเป็นรักต่างวัย แต่ส่วนหนึ่ง ณ ช่วงที่ยังอายุไม่มากนัก 3 ปีก็ถือว่าเป็นรักต่างวัยได้แล้ว เช่น…

ฝ่ายหนึ่งเป็นนักเรียน ม.ปลาย วัย 18 กับอีกฝ่าย เป็นนักศึกษาปี 3 วัย 21 เพราะทั้งคู่ต่างอยู่ในช่วงชีวิตที่มีเป้าหมายต่างกัน ประสบการณ์และการใช้ชีวิตเริ่มต่างกัน ม.ปลายยังต้องคิดเรื่องเข้ามหาลัยและถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตตอนนั้น ในขณะที่ฝ่ายนักศึกษาผ่านจุดนั้นมาแล้ว กระทั่งอาจไม่ได้เรียนมหาลัยอาจมีชีวิตวัยทำงานไปแล้ว เช่นนี้ ความคิด มุมมองค่อนข้างจะต่างกันอยู่มาก รวมถึง ม.ปลาย ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน ส่วน มหาลัย เริ่มออกมาใช้ชีวิตลำพังแล้ว

หรือ ฝ่ายหนึ่งเป็นนักศึกษาวัย 21 อีกฝ่ายอยู่ในวัยทำงานอายุ 25 ก็ทำให้มีความแตกต่างกัน ด้วยฝ่ายหนึ่งอาจทำงานมาแล้ว 3 ปี พบเจอและต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย แต่อีกฝ่ายยังอยู่ในวัยศึกษา

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้น แต่โดยรวมอาจมองได้ว่า สำหรับคู่รักที่อายุทั้งสองฝ่ายยังไม่ถึง 25 – 30 ปี อายุที่ห่างกัน 3 -4 ปี อาจมีความต่างระหว่างวัยได้ แต่ถ้าต่างฝ่ายเกิน 30 ปีขึ้นไปแล้ว เช่น อายุ 30 กับ 33 ปี หลายสิ่งอย่างต่างผ่านพบกับมาได้มากพอ จนอาจไม่เกิดความต่างมากนัก แต่ถ้าห่างกัน 5 ปี เช่น 35 กับ 30 ย่อมมีมิติของประสบการณ์ ความคิดที่ต่างกันได้อีก

ย้ำอีกทีว่าอายุหรือช่วงอายุไม่ใช่สิ่งตัดสินทั้งหมด เป็นเพียงภาพรวมดังที่บอกไปนี่ไม่ใช่การสรุปเรื่องของทุกคู่ หรือทุกคน

ปัญหารักต่างวัย

จากที่ได้อธิบาย อาจเริ่มเห็นพื้นฐานว่า อะไรอาจทำให้รักต่างวัยเป็นปัญหา? แต่หากมองละเอียดขึ้นอีกหน่อย รวมความแล้วก็คงประกอบด้วย 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ

  1. ประสบการณ์และความคิด : ด้วยประสบการณ์ที่มีมาไม่เท่ากัน มุมมองหลายอย่างย่อมต่างกัน ส่งผลไปยังความคิดจะโดยพื้นฐาน หรือประสบการณ์ก็ตาม โดยอาจไม่สำคัญว่าใครจะมีประสบการณ์มากกว่า หรือความคิดที่ดีกว่า เพราะในคนที่อายุน้อยกว่าแล้วมีความคิดก้าวไกล อาจเป็นฝ่ายผิดหวังในความคาดหวังตรงนี้ก็ได้ และแน่นอนในวัยที่มากกว่า ย่อมประสบปัญหาความคิดที่ยังไร้เดียงสาในบางเรื่องของอีกฝ่ายไม่ยากเลย
  2. การดำเนินชีวิตและเป้าหมาย : รูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน คงพอทำให้นึกออกว่าจะส่งผลต่อความวุ่นวายต่อชีวิตรัก ชีวิตคู่ได้ขนาดไหน ซึ่งอาจประกอบกับเป้าหมายชีวิตที่ต่างกันทำให้ความสำคัญต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่ยากจะมองเห็นกันในช่วงแรกของการคบหา เพราะในเบื้องต้นจะคิดว่าเข้ากันได้ดี ดูมีความคิดความเชื่อที่คล้ายกัน แต่ ณ จุดหนึ่งก็จะเห็นในความเปลี่ยนแปลงของต่างฝ่าย เมื่อวันที่เป้าหมายแต่ละฝ่ายชัดเจนขึ้น นี่คืออีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความต่างระหว่างวัยไปด้วยกันได้ยาก

โดยรวมแล้วอาจจะมองว่า นี่เป็นเรื่องทัศนคติ และความคิด ที่ทั้งสองเรื่องนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคู่ ใช่เพียงคู่ที่มีความต่างระหว่างวัยเพียงเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เพียงแต่ก็เพราะเหตุผลเดียวกันนี้เอง คู่ที่ต่างวัยมีโอกาสที่จะมีความคิดประสบการณ์แตกต่างกันได้มากขึ้น โอกาสเกิดปัญหาเหล่านี้จึงมากกว่า การปรับตัวก็ยากกว่าคู่ที่อายุใกล้เคียงกัน เพราะจะอยู่ในช่วงวัยที่เรียนรู้อะไรบางอย่างไปพร้อมกันได้ แถมด้วยว่าในคู่รักต่างวัยพอเป็นปัญหาทางความคิดหรือการดำเนินชีวิตจะเห็นได้ชัดกว่า และดูเป็นปัญหาที่หนักกว่าไม่ยากเลย

ส่วนลึกของความต่างวัย

จากภาพรวมของปัจจัยปัญหาความต่างวัย ยังมีเบื้องลึกหรือในด้านที่อาจมองไม่เห็นได้อีกหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเกิดบนความไม่รู้ตัว รวมถึงจะยอมรับตัวเองหรือไม่ก็ตาม อยู่อีกหลายมุม

ฐานะทางการเงิน : ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะเลือกคู่ครองโดยดูจากฐานะทางการเงินด้วย เพียงแต่การที่แท้จริงแล้วไม่ได้ชอบ หรือพึงพอใจนักกับการที่มีคู่รักที่สูงวัยกว่า แต่ “พยายามยอมรับ” เขาให้ได้ เพียงเพราะหวังพึ่งให้เขามาเติมเต็มด้านฐานะ มันก็อาจดีในเบื้องต้น แต่ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของคน หรือที่อาจยังไม่ชัดเจนของชีวิต จุดหนึ่งก็จะยังรู้สึกขาดอยู่ดี เพราะเงินแก้ไขปัญหา “การดำเนินชีวิต” ได้ แต่บางครั้งนั่นเป็นเพียง “ปัจจัยลำพัง” หมิ่นไปทางความเห็นแก่ตัว เงินมีผลต่อชีวิตคู่จริงแง่สร้างปัญหา แต่หากเพียงแค่ไม่ขัดสน ยากไร้ เงินก็ไม่ใช่ปัจจัยการเติมเต็มชีวิตคู่เลย

ซึ่งในมุมนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะคบคนต่างวัยโดยอีกฝ่ายต้องร่ำรวยมหาศาล เพียงแค่ฐานะที่คิดว่าพึ่งพาได้ ก็เพียงพอให้เป็นปัจจัยในการเลือกคบ ซึ่งสิ่งที่จะเห็นได้คือ เมื่อปัญหาทางการเงินส่วนตัวหมดไป ปัญหาทางใจ หรือในด้านอื่นจะผุดออกมาได้ไม่ยากเลย สุดท้ายก็จะไม่พึงพอใจในคู่ของตน บ่นเรื่องนั้น เบื่อเรื่องนี้… ดังที่บอกที่สุดแล้วอาจจะรู้ตัว, ยอมรับหรือไม่ ผลลัพธ์สุดท้ายก็หนีไม่พ้นอยู่ดี

เพียงการทดลอง : มีไม่น้อยที่เปิดใจยอมรับคู่รักต่างวัยเพียงเพราะเบื่อหน่ายกับรักในวัยเดียวกันจากที่ผ่านมา โดยอย่างยิ่งในการคิด คาดหวัง ว่า คู่รักที่สูงวัยกว่าจะตอบสนองความต้องการหรือที่จริงอาจเป็นเพียง ความเอาแต่ใจ ของตนได้มากกว่า เมื่อหลายคนมีประสบการณ์แย่ ๆ จากคู่รักวัยเดียวกันมาโดยเฉพาะเรื่องความคิดความอื่น จึงทำให้อยากเปลี่ยนไปลองคบคนอายุมากกว่า หรือน้อยกว่าก็ตาม ที่มีความคิดในระดับเดียวกัน พูดง่าย ๆ คือ อยากคบคนที่คุยกันรู้เรื่อง แง่หนึ่งอาจตอบสนองได้ในบางคู่ แต่บางคนนั้นอายุมันก็ไม่การันตีความคิด ทัศนคติที่ดี หรือจะทำให้มีความเห็นตรงกันได้ เช่นนี้แล้ว คนที่อายุมากกว่าก็ใช่ว่าจะยอมรับ, หรือเข้าใจ อีกฝ่ายทุกเรื่องได้เสมอ หรือคนสูงสัยกว่าจะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ทุกคน และในคนอายุน้อยกว่าอาจคิดเอาว่าตัวเองคิดเป็นผู้ใหญ่แล้ว รู้มากแล้วทั้งที่จริงอาจยังเด็กมากนักก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความที่คาดหวังไว้มากกว่า ย่อมผิดหวังรุนแรงกว่าตามไปด้วยนั่นเอง

ธรรมชาติของคน-1 : กรณีคู่รักหญิง-ชาย ที่ฝ่ายหญิงอายุมากกว่าอาจมีปัญหาในรูปแบบหนึ่ง โดยธรรมชาติหรือสัญชาตญาณของเพศชายย่อมมีความเป็นผู้นำ มีภาวะหน้าที่ปกป้อง แม้จะมองว่ายุคสังคมปัจจุบันไม่จำเป็นต้องกำหนดแบบนี้แล้วก็ตาม แต่ภาวะภายใต้จิตใจที่ยากควบคุม ลึก ๆ แล้วย่อมอาจทำให้เกิดปัญหาเมื่อฝ่ายชายมีความรู้สึกขาดภาวะผู้นำในการดำเนินชีวิต เพราะอีกฝ่ายมีวัยวุฒิที่มากกว่า ยิ่งหากฝ่ายหญิงมีหน้าที่การงานหรือฐานะสังคมที่ดูดีกว่ายิ่งส่งผลต่อปัญหาภายใต้จิตใจได้โดยไม่รู้ตัว โดยอาจจะแสดงออกบนความงี่เง่า เอาแต่ใจ บนทิฐิ ศักดิ์ศรี หรือ เรียกร้องความสนใจ ให้อีกฝ่ายต้องตามใจ จริง ๆ คือต้องการได้ข่ม ได้ให้อีกฝ่าย ยอม เพื่อชดเชยภาวะผู้ตาม ที่ดูอ่อนแอและไร้ค่า ซึ่งมันขัดแย้งกับสัญชาติญาณ หรือจิตใต้สำนึกของเขานั่นเอง

ธรรมชาติของคน-2 : เพราะความห่างของอายุ ภาวะทาง ร่างกาย ย่อมมีโอกาสเกิดความไม่สอดคล้องกัน ทั้งเรื่องความต้องการทางเพศ, ฮอร์โมน และการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเพศใด ฝ่ายใด เมื่อโรยวัย ภาวะทางร่างกายอาจเริ่มเป็นอุปสรรคของความต้องการจากอีกฝ่าย เช่นปัญหาที่ชัดเจนอย่างเรื่อง เซ็กส์ ที่ไม่อาจเติมเต็มกันได้ หรือรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ยังต้องใช้ร่างกายอีกหลายด้าน ไม่เพียงตอบสนองไม่ได้ แต่อาจกลายเป็นภาระหรือตัวถ่วงของอีกฝ่ายไปด้วย เช่นการไปท่องเที่ยว หรือการทำงานร่วมกัน

ธรรมชาติของคนยังมีมุมของสภาวะจิตใจ เช่น ฝ่ายชายแม้จะมีความเป็นผู้นำผู้ปกป้อง แต่ในช่วงปลายของวัยก็มักกลับเป็นฝ่ายที่อยาก “ถูกดูแล” มากกว่าเป็น “ผู้ดูแล” เมื่อฝ่ายหญิงแก่กว่าย่อมทำให้ฝ่ายชายอาจต้องกลายเป็นฝ่ายดูแลเอาใจ ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการลึก ๆ ในใจได้ แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่บรรทัดฐานเสมอไป แต่ก็เป็นมุมหนึ่งที่ให้สังเกตลักษณะของชีวิตคู่ในระยะยาวที่วันนี้อาจมองไม่เห็น แล้วกลับกลายมามาเป็นปัญหาระหว่างวัยที่มีความต้องการไม่ตรงกันในภายหลัง

การขาดพร่องทางจิตใจ : เป็นส่วนลึกที่สะท้อนจากหลาย ๆ ปัญหา จากที่กล่าวไปแล้วว่า ถ้าคู่รักต่างวัยมีปัญหาทางความคิดหรือการดำเนินชีวิต มันจะแสดงผลได้ชัดเจน ซึ่งหากปัญหาเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะเห็นได้ชัดว่า ไปด้วยกันไม่ได้ กลับมีความดึงดันต้องการในความสัมพันธ์เช่นนั้นมีต่อไป เป็นไปได้ว่า อยู่ในภาวะ ขาดพร่องทางจิตใจ

ยกตัวอย่างว่าในชายสูงวัยที่ต้องการคบเด็กสาว ถ้าเบื้องลึกเพราะรสนิยมทางเพศ แน่นอนย่อมมีปัญหาการรับมือทางความคิดแบบเด็กของอีกฝ่าย ไม่ว่าจะหึงหวง การอยากควบคุม และอีกหลายปัญหา ถ้าเราคิดกันดี ๆ หากต้องการมีคู่ที่ดี เราจะทนกับปัญหาความไม่เข้ากันนี้เพื่อแลกเรื่องเพศเพียงอย่างเดียวไหม? หรือจะทนแบบนี้ไปเพื่ออะไร? เสมือนอยู่ในสถานะความต้องการ เอาชนะในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายมีคุณสมบัติเช่นนั้น นี่จึงยากที่จะเป็นความรัก หรือการต้องการมีชีวิตคู่ เป็นเพียงความต้องการบางสิ่งที่รองรับให้กับการขาดพร่องทางจิตใจในด้านเดียว

โดยอาจเป็นปมภายใต้จิตใจที่ซับซ้อน เช่น ขาดความอบอุ่นจากวัยเด็ก การขาดความมั่นใจทางเพศ การต้องการถูกดูแล หรือความต้องการเป็นผู้ดูแล เพื่อชดเชยสิ่งเหล่านี้จึงเข้าหาคู่ที่วัยต่างกันมาก ที่สุดแล้วคงยากสรุปแทนใครได้ว่า ใช่ หรือ ไม่ หากเจ้าตัวรู้เหตุผลแท้ของใจในการเลือกเช่นนี้คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องไม่ลืมว่าอีกฝ่ายก็ต้องคิดได้และเข้าใจในมุมเดียวกันด้วย ซึ่งตรงนี่เองที่อาจยากลำบาก

ความต่างวัยใน LQBTQ+ : เชื่อว่าบางส่วนที่เขียนไป เป็นปัจจัยจากความต่างวัยได้ไม่ต่างกัน แต่ก็อาจมีอีกหลายมิติที่ยอมรับว่า ผู้เขียนมีประสบการณ์ หรือความรู้ไม่มากพอ แต่จากข้อสังเกต ด้วยความสัมพันธ์ที่อยู่บนความเท่าเทียมเป็นพื้นฐาน ดูเหมือนว่าจะได้เปรียบ กล่าวคือ นอกจากมุมมองความคิดที่เกิดขึ้นได้ในทุกคู่แล้ว เรื่องอื่นดูจะเป็นปัญหาน้อยกว่าคู่รักชายหญิง ซึ่งในส่วนนี้ใครมีประสบการณ์ แชร์ หรือแบ่งปันจะยินดียิ่ง

รักต่างวัย เป็นไปได้ไหม?

มีคู่รักต่างวัยหลายคู่ที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นมันเป็นไปได้ และเมื่อมองความเป็นจริง ความรักมีทั้งผิดหวัง สมหวัง อยู่แล้วเสมอ เพียงแต่หากพิจารณาตามปัจจัยแล้ว ทำให้คู่รักต่างวัยเสี่ยงกว่า และโอกาสน้อยกว่าที่จะยั่งยืน โดยอย่างยิ่งสำหรับ หญิงที่สูงวัยกว่าชาย

ความต่างวัยของตัวเราเอง ก็เป็นปัจจัยใหญ่ที่ไม่แพ้กัน

แม้จะดูเป็นเรื่องหนักใจ แต่ที่สุดแล้ว เรื่องของวัย ปัจจัยหลักคือสะท้อนความคิด และประสบการณ์ ที่ “ความต่างวัยของเราเอง ก็เป็นปัจจัยใหญ่ที่ไม่แพ้กัน” เพราะเราในวัยนี้ วันนี้อาจมีมุมมอง ความคิด ความต้องการที่ยังไม่ชัดเจน แม้จะเลือกคู่ที่วัยเท่ากัน คิดว่าเข้าใจกันแค่ไหน อาจมีเหตุให้เปลี่ยนได้เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป เพราะตอนนั้นตัวเราเองก็เป็นคน “วัยใหม่” ที่ไม่ใช่วัยเดิมในอดีตแล้วเช่นกัน ซึ่งอาจความต้องการใหม่ ๆ เข้ามา วันนั้นไม่เกี่ยวว่าคู่ที่คบมาเป็นวัยไหน ตัวเราเองนี่แหละที่เปลี่ยนไป ไม่พึงพอใจก็เป็นได้ไม่ยากนัก

สุดท้ายรวม ๆ แล้วมันคงไม่ได้สำคัญที่ความห่างของอายุ แต่สำคัญที่เรามีมุมมองต่อความรักตอนนั้นอย่างไร อนาคตหรือเป้าหมายต่อความรักวันข้างหน้านั้นมันยังอยู่บนเส้นทางเดียวกันไหม และที่สุดแล้วไม่ใช่เรื่องของใครฝ่ายเดียว มันก็ต้องทั้งสองฝ่าย หากบนวัยที่ต่างกันการเปลี่ยนผันนั้นอาจผันผวนได้ง่ายกว่า ก็เท่านั้นเอง ดังนั้นคู่ไหนที่ผ่านกันมาได้ ครองคู่กันไปได้ ถือว่าเป็นคู่ที่เปิดใจ และต้องให้ใจกันได้มากพอจริง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม…

รักต่างวัยเป็นไปได้แค่ไหนกัน

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น