ศีลเสมอ ทานเสมอ

by

| Home » บทความความรัก » ศีลเสมอ ทานเสมอ |


บทความนี้ในหมวดความรัก คู่ครอง มิใช่บทความธรรมะ หรือจะพูดในแง่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เพียงแต่มีมุมที่ “ศีล” และ “ทาน” นี้ อาจจะทำให้ชีวิตคู่-ชีวิตรักไปได้ดี และกล่าวถึงแบบที่ไม่เกี่ยวอะไรกับบุญ บาป หรือความดี แต่เป็นลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ที่มี ศีลเสมอ ทานเสมอ..

เราอาจเคยได้ยินคำว่า “ศีลเสมอกัน” แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบผมกลับคุ้นชินกับคำว่า “ศีลเสมอ ทานเสมอ” มากกว่า (เคยได้ยินกันไหมครับ วานบอก) ซึ่งความหมายก็เป็นไปในทางเดียวกัน… แล้วคำว่า ศีล กับ ทาน นี้เกี่ยวอะไรกับความรัก?

เริ่มด้วย “ศีล” ในที่นี้หมายความง่าย ๆ ว่า การปฏิบัติตน จำเพาะนิดหนึ่งก็คือ การปฏิบัติอันเป็นปกติประจำด้วย เพราะนาน ๆ ทำทีก็คงไม่ใช่ เช่น ปกติเป็นคนพูดจาหยาบคาย แต่บางวันพูดจาไพเราะขึ้นมา เช่นนี้ไม่ใช่ ศีลเขาเป็นแน่…

ส่วนคำว่า “ทาน” ในที่นี้คือการให้ (มิใช่รับประทานนะครับ :p ) ซึ่งก็ใช่แค่ “ให้” เฉย ๆ หากคือ เต็มใจหรือเสียสละที่จะให้ จึงเรียกได้ว่า ให้ทาน ซึ่งมุมหนึ่งต้องไม่อคติกับคำว่าทานในรูปแบบเพียงแค่ คนสูงส่งกว่าให้คนต่ำต้อยกว่า เช่นนั้นมันดูมิใช่สิ่งดี หากทำความเข้าใจสักนิด คิดตามสักหน่อยก็คงพอเข้าใจ

จึงตีความในบทความนี้ว่า “ศีลเสมอ” ก็คือคนที่มีการปฏิบัติตน หรือพฤติกรรมดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน จะเป็นศีลหรือวิถีชีวิตด้านใดก็ว่ากันไป และ “ทานเสมอ” ก็คือ คู่ที่มีการให้กันอย่างทัดเทียม ซึ่งการให้รวมถึง “การยอมให้” กันด้วย เมื่อนำ 2 สิ่งมารวมกันมันก็จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติตน และการให้ของคู่รัก คู่ครองนั้นมีให้กันอย่างไร หรือสรุปย่ออีกทีก็คือ “แสดงพฤติกรรมระหว่างกัน เป็นอย่างไร”

ยกตัวอย่างเช่น ในคู่ที่ฝ่ายชายชอบเป็นนักดื่ม ถ้าไปยึดติดเพียงคำว่าศีลแบบในธรรมะก็ผิดแล้ว แต่สำหรับชีวิตคู่ดีหรือไม่ดีนั้น มันก็ต้องดูว่าเขาเสมอกันไหม ชายนักดื่ม หากฝ่ายหญิงก็ชอบด้วย เช่นนี้ก็ไปด้วยกันได้ หรือไม่ดื่มแต่ในความคิดมองว่าเรื่องนี้เป็นธรรมดา ไม่เป็นสิ่งเดือดร้อนอะไร ก็ไปด้วยกันได้ เช่นนี้ ศีลเสมอ..

แต่ถ้าหากฝ่ายชายเป็นนักดื่ม แต่ฝ่ายหญิงไม่ชอบ ยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีปัญหากันเท่านั้น เพราะศีลไม่เสมอกัน นี่คือพื้นฐานง่าย ๆ ทีนี้หากบอกว่า บางเรื่องหากทำเหมือนกันมันจะไม่แย่หรือ? เหมือนแบบนี้ ต่างคนต่างชอบดื่ม เมาแล้วจะไม่ตีกัน มีปัญหากันมากกว่าหรือ? ตรงนี้ก็ต้องพิจารณาต่อไป เพราะถือว่าเป็นอีกศึลหนึ่ง (อีกการปฏิบัติหนึ่ง) เช่นอีกฝ่ายเมาแล้วนอน แต่อีกฝ่ายเมาแล้วอาละวาด ก็ถือว่ามิใช่ศีลที่เห็นพ้อง เพราะฝ่ายที่เมาแล้วนอน คงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องอาละวาด ทำไมไม่นอน! ย่อมยากที่จะไปด้วยกันได้ นับว่า ศึลไม่เสมอกัน…

เสมอกัน มิใช่ว่าต้องเหมือนกัน

แต่ศีลเสมอ ใช่เพียงแค่การทำตัวเหมือนกัน เพราะตัวอย่างเดิมแม้ว่าฝ่ายหญิงจะไม่ชอบ ไม่พอใจการเป็นนักดื่มของฝ่ายชาย แต่จุดหนึ่งคิดว่า “ยอมให้ได้” ถอยให้ได้ เช่นนี้ก็เหมือนมี “ทาน” เกิดขึ้น กรณีนี้ชีวิตคู่ก็ไปต่อได้ เพียงแต่ว่าหากฝ่ายชายเกินขอบเขตของ “การเต็มใจให้” เช่น เดิมแม้จะเป็นนักดื่มแต่ไม่เสียงาน ภายหลังเริ่มเสียการเสียงาน อีกฝ่ายย่อมไม่พอใจ ถือว่าเกินความเต็มใจ

“ทานเสมอ” ก็ใช่ว่าต้องยอมเรื่องเดียวกัน ในการที่ฝ่ายหญิงยอมที่ฝ่ายชายเป็นนักดื่ม โดยที่ตนไม่ดื่มนั้น ฝ่ายหญิงก็ย่อมต้องรู้สึกว่าได้รับการให้ การเสียสละจากฝ่ายชายในด้านอื่นมาเช่นกัน เพราะหากฝ่ายใดต้องเป็นฝ่ายยอมเสมอนั้นคงพอนึกออกว่าวันหนึ่งจะเป็นอย่างไร เพราะคนเราอาจยอมเป็นฝ่ายให้ได้มากกว่าในช่วงหนึ่ง “เมื่อวันเวลาผ่านไป หากไม่ได้รับสิ่งใดคืนมาบ้าง สิ่งที่ให้ไปย่อมรู้สึกตัวได้ว่าไร้ค่าลงทุกวัน” เมื่อถึงวันนั้น ทานไม่เสมอ…

เสมอกันมิใช่ว่าต้องเท่ากันเชิงปริมาณ

อันที่จริงแล้วสิ่งสำคัญประการหนึ่งก็อยู่ที่คำว่า “เสมอกัน” ด้วย และเสมอกันมิได้หมายความว่าต้องเท่ากันในเชิงปริมาณหรือนับได้ แม้ใน “ความรู้สึกเราก็ตาม” เพราะว่า การให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งคุณค่าต่อผู้รับยากจะวัดเทียบกันได้ เช่น เราให้เงิน 100 บาทกับคน 2 คน แต่ละคนก็จะซาบซึ้งหรือเห็นคุณค่าต่างกันได้ ดังนี้แม้แต่ผู้ให้ก็ยากจะรู้ด้วยซ้ำ ว่าผู้รับเห็นคุณค่าแค่ไหน..

มันจึงเป็นเหตุที่หลายคนสงสัยในคู่บางคู่เสมือนกับว่า คนหนึ่งแสนดี อีกคนดูทำตัวไม่เอาไหน ทำไมจึงอยู่ด้วยกันได้นาน ก็เพราะเขาอาจไม่ดีกับใครเลยยกเว้นกับคนของเขา หรืออีกฝ่ายเห็นคุณค่าบางอย่างในตัวเขา ที่คนอื่นไม่จำเป็นต้องเข้าใจ หรือได้รับ ก็เพราะเป็นคนนอกก็ได้

แต่ก็มีในอีกรูปแบบคือ คนที่ไม่ค่อยเห็นค่าตัวเอง มองตัวเองว่าไม่สมควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านั้นในชีวิต คนนอกจึงมองว่า “เขาน่าจะได้ดีกว่านั้น” แต่เจ้าตัวจะมองว่า “เสมอกัน” กับตนแล้ว เหมาะสมแล้ว ก็เลยอยู่ได้กับคนที่ไม่เอาไหน..

ทว่าหากวันหนึ่งเห็นบางสิ่งเปลี่ยนไป เกิดการพัฒนาตนเองขึ้น มีมุมมองที่ดีขึ้น มั่นใจตัวเองมากขึ้น ศีล การปฏิบัติตนย่อมเปลี่ยน ทาน การให้ และการยอมรับ ย่อมเปลี่ยนไป อาจไม่เสมอกันแล้ว…

หรือในประเภทที่เพียงอดทน คาดหวังรอสิ่งดี ๆ ที่อีกฝ่ายจะมอบให้ หรือหวังว่าเขาจะดีขึ้น รวมถึงกลับมาดีเหมือนเดิมก็ตาม เช่นนี้มิใช่ เสมอกันแต่แรก แต่คาดหวังว่าจะเสมอกันเท่านั้น หากอีกฝ่ายไม่เปลี่ยนแปลง เช่นนี้ มันก็คงแยกทาง เลิกร้างในวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว

และเสมอกันไม่จำเป็นว่าต้องตั้งแต่วันแรก

สุดท้ายหากพอเห็นพ้องหรือเข้าใจ ศีลเสมอ ทานเสมอในที่นี้ ก็ไม่จำเป็นว่าต้องมีให้กันแต่แรก และมีความเป็นไปได้ด้วยว่า เราอาจจะพบเจอคนที่ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักพอ คือ ศีลก็ไม่มั่นคง ทานก็บกพร่อง พูดประสาทั่วไป ก็คือคนโลเล ทำตัวไม่นิ่ง ชีวิตไม่นิ่ง และยังหาความต้องการของตัวเองไม่เจอ คนที่ยังไม่รู้จักพอ เช่นนี้มันก็ยากที่ศีล ทาน นั้นจะเสมอกับเรา หรือกับใครก็ตาม จะเสมอได้อย่างไรในเมื่อเขายังแกว่งไปมาอยู่ ณ วันนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วคนเราก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มาก ก็น้อย ถึงตรงนี้อาจกล่าวสรุปไปเลยก็ได้ว่าหากคนสองคน “ยอมรับและให้อภัยกัน ปรับเข้าหากัน” ที่สุดมันก็เสมอกันได้ อยู่ด้วยกันได้ยาวนาน

วันนี้เราปฏิบัติต่อกันอย่างไร มอบสิ่งดีให้กันแค่ไหน และยอมรับกันได้มากเท่าใด และมิใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงเป็นที่มาซึ่ง ศีลเสมอ ทานเสมอ อาจไม่ใช่วันนี้ อาจไม่ใช่คนนี้ อาจไม่ใช่เขากับเรา อย่างไรก็ขอให้เจอคนนั้นกันนะครับ

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 19/01/2021

ศีลเสมอทานเสมอ

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น