เปรียบกับน้ำยาปรับผ้านุ่ม

by

| Home » บทความดี ๆ สั้น ๆ » เปรียบกับน้ำยาปรับผ้านุ่ม |


ในการเลือกใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มทุกวันนี้ เราเลือกเพราะอะไร? ขอย้ำว่านี่คือ “น้ำยาปรับผ้านุ่ม”

เท่าที่จำความได้กับน้ำยาปรับผ้านุ่ม เดิมทีคนทั่วไปยังใช้บ้างไม่ใช้บ้าง ยุคที่โฆษณาเน้นทางโทรทัศน์ (TVC) หนังโฆษณาน้ำยาปรับผ้านุ่มส่วนใหญ่ ยังไงก็ต้องได้เห็นผ้าขนหนูนุ่มเด้ง หรือไม่ก็เป็นผ้าเบาบางปลิวพลิ้วไหว และต่อมาก็จะมีแนวเปรียบเทียบสีเสื้อสองตัวที่สดใสต่างกัน เพราะในช่วงนั้นต้องการให้คนเข้าใจถึงคุณสมบัติโดยตรงที่มี คือทำให้ ผ้านุ่ม ลื่น รักษาเนื้อผ้า และรักษาสีของผ้า ที่รวม ๆ แล้วก็มีประโยชน์หลายด้านอยู่ทีเดียว

โดยทั่วไปแล้วน้ำยาปรับผ้านุ่มจะมีสารที่มาเคลือบเส้นใยลดการพันกันของเส้นใยขนาดเล็กของเนื้อผ้า อันทำให้เกิดการดึงกันจนผ้ากระด้าง ตึงตัวและมีส่วนทำให้สีหม่นไม่เสมอกัน หรือสารบางตัวก็ช่วยลดไฟฟ้าสถิตได้ ขึ้นอยู่กับสูตรและส่วนผสมของแต่ละยี่ห้อ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากคุณสมบัติของผงซักฟอกหรือกระบวนการซัก

ปรับผ้านุ่ม แต่ไม่ได้สนใจความนุ่ม

ปัจจุบันหากถามว่าเราเลือกน้ำยาปรับผ้านุ่มจากอะไร ค่อนข้างจะมั่นใจว่าเลือกจาก ความหอม ส่วนใหญ่ และที่เหลือก็จะตัดสินใจด้วย ราคา ส่วนตัดสินใจเพราะคุณสมบัติเสริมอื่น ๆ นั้น คงเป็นส่วนน้อย ซึ่งไม่มีผิดถูกใดในการเลือกใช้ เพราะเป็นเรื่องความพึงพอใจส่วนตัว

เพียงแต่เมื่อคิดทบทวน ย้อนมองและเปรียบเทียบ ก็พบแง่คิดในมุมที่ว่า คนเราเมื่อได้สิ่งหนึ่งจนเคยชิน สิ่งนั้นจะเริ่มไม่มีความหมาย เหมือนเรื่องนี้ จากเดิมที่เราแค่เพียงอยากให้ผ้าสะอาดจากการซัก เมื่อมันสะอาด เราก็อยากคืนความนุ่มให้มัน จนจุดหนึ่งความนุ่มก็เป็นพื้นฐานที่ไม่ต้องใส่ใจแล้ว กลายเป็นความหอมที่เราต้องการแทนที่ แล้วเปลี่ยนเป็นความเคยชินให้หลายคนรู้สึกว่า ถ้าหอมคือสะอาด ถ้าซักผ้าแล้วไม่มีกลิ่นหรือมีเพียงกลิ่นผงซักฟอกจาง ๆ ไม่อาจทำให้พึงพอใจได้อีกต่อไป และ… ในขณะที่เสื้อบางตัวที่เรายังไม่ได้ซัก หากฉีดสเปรย์ดับกลิ่นหรือใส่น้ำหอมเข้าไป กลายเป็นรู้สึกดีขึ้นได้ ทั้งที่ยังไม่ได้ซัก นี่คือนิยามใหม่ของความสะอาดไปแล้ว

คงพอคิดตามได้ว่า ค่านิยม และความรู้สึกบางประการพาเราไปสู่การกระทำที่ “ไม่ใช่เหตุผลแท้จริง” เราตอบสนองต่อบางสิ่งเพิ่มขึ้นบนความไม่จำเป็นไปเรื่อย ๆ ได้อีก เช่น แค่ผ้าหอมขึ้นก็ยังไม่พอ ต้องหอมในแบบที่ไม่ต้องดมก็ได้กลิ่น เรียกว่าหอมฟุ้งกระจายออกไป แล้วก็ยังไม่พอต้องหอมติดทนนาน พอเราเป็นเช่นนี้ เราก็จะซื้อสูตรเข้มข้นมาแล้วใช้ในปริมาณเดียวกันกับสูตรปกติ และเมื่อเราเคยชินกับกลิ่น(อยู่คนเดียว) เราก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ค่อยหอมได้อีก นี่คือตัวอย่างของการกระทำในแบบที่ มิใช่เพื่อได้สิ่งที่ดีกว่า แต่จ่ายออกไปคล้ายเพื่อสะใจในความรู้สึกเรา จึงเป็นเหตุผลให้คนที่ไม่ได้มองมุมนี้ หรือไม่ได้รู้สึกแบบนี้เลือกยี่ห้ออะไรก็ได้ ที่ขายถูกกว่า เพราะเขานั้นมองว่าก็แค่ “ปรับผ้านุ่ม” ที่มันก็หอมประมาณหนึ่งพออยู่แล้ว…

ความเป็นจริงคงไม่มีใครเดือดร้อน เสียหายอะไรนักหนาแค่เรื่องน้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือสุดท้ายเป้าหมายคือ “น้ำยาปรับผ้าหอม” ก็ตาม แต่หากเป็นบางเรื่องในชีวิต อาจมีที่เราหลงไป ลืมไป ไหลไป ได้จนเคยชิน จนลืมตัว ก็แค่อยากให้ทบทวนสักนิดว่า กับบางสิ่งเราลืมไปหรือเปล่า ว่าเราเคยพอใจมันแค่ไหน หรือเปรียบกับเรื่องนี้บนคำถามที่ว่า ต้องหอมสักแค่ไหนกันเชียว?…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 17/05/2022

เปรียบกับน้ำยาปรับผ้านุ่ม

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น