คิดลบ “ให้ถึงที่สุด” (เมื่อคิดบวกมันเสื่อมถอย?)

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » คิดลบ “ให้ถึงที่สุด” (เมื่อคิดบวกมันเสื่อมถอย?) |


แรงบันดาลใจ แรงจูงใจ จิตใต้สำนึกที่ดี ควรที่จะ “คิดบวก” เป็นแกนหลักมิใช่หรือ และการคิดลบมันคือ Toxic พิษร้ายต่อความคิดและจิตใจนี่นา? หากมองแบบภาพในอดีตย่อมใช่ แต่ในปัจจุบันบางทีมันอาจสวนทาง…

ภาค “คิดบวก”

ในยุคหนึ่ง “การคิดบวก” ดูจะเป็นสิ่งสำคัญ จากการที่หนังสือ หรือนักพูดต่าง ๆ ชอบหยิบยกมานำเสนอ จนกลายเป็นวลีนิยมอยู่ในช่วงหนึ่ง และย่อมมีกลุ่มคนไม่เห็นด้วยอยู่เช่นกัน จนในยุคปัจจุบันเมื่อโลกถูกเปิดเผยมากขึ้น ไม่ว่าจะทางสังคมหรือตัวตนของผู้คน ผ่านการสื่อสารที่เปิดกว้างและรวดเร็ว คำว่าคิดบวก ดูจะด้อยความนิยมลงและขาดความเชื่อถือมากขึ้นไปทุกที ส่วนหนึ่งก็ถูกทับถมแทนที่ด้วยคำว่า “โลกสวย”

อันที่จริงคำว่า “คิดบวก” เป็นคำที่ดี และมีนิยามต่างจากแค่โลกสวย แต่มันก็เป็นเส้นแบ่งที่เข้าใจยากและมีบริบทของการตีความที่ไม่ชัดเจนตามปัจเจก ประกอบกับเหตุผลที่กล่าวไปว่า ตัวตนของเราหรือผู้คนต่างถูกเปิดเผยมากขึ้น หากใครอ้างอิงว่าตนเป็นคนคิดบวก ย่อมมีโอกาสเห็นมุมย้อนแย้งมากมาย ที่ทำให้คำนี้ยิ่งเสื่อมลงไปด้วยตัวเขาเอง เพราะมันจะเห็นได้ชัดว่าเขาไม่มีทางคิดบวกได้ตลอดเวลาดังที่ตัวเองว่าไว้

ทุกวันนี้ก็มีการแทนที่ด้วยคำอื่นในเชิงการพัฒนาตนเองหรือพัฒนาความคิด เช่น Growth mindset (กรอบคิดแบบพัฒนาได้) ไปจนถึงเริ่มมองว่า ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ต่างหาก คือสิ่งที่ขาดในปัจจุบัน เพราะ หลายครั้งการคิดบวกก็เหมือนถูกใช้เพียงเพื่อความรู้สึกตัวเองเท่านั้น

ประกอบกับในคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ และรุ่นเก่าหลายคน มีมุมมองต่อผู้คนแบบ “ยอมรับความแตกต่างและเปิดใจ” เพราะได้เห็นความเป็นจริงและการเปลี่ยนแปลงชัดเจนอยู่ในทุกวัน การพยายามคิดบวกจึงดูจำเป็นน้อยลง ต่างจากอดีตที่การเปิดใจยอมรับสิ่งต่าง ๆ เป็นไปได้ยากกว่า และเหตุเดียวกันนี้ คนรุ่นใหม่จึงไม่แยแสว่าใครจะคิดบวก หรือ คิดลบต่อตนเองนัก เลือกแสดงตัวตนพร้อมทั้งอยากเห็นความชัดเจนของตัวตนผู้คน ผ่านการแสดงออก รสนิยม หรือแนวคิดที่พร้อมจะเปิดเผยอยู่แล้วไม่ต้องผ่าน เลนส์ หรือมิติความคิดใดเพิ่มเติมบนโลกการสื่อสารยุคใหม่ ตัวอย่างก็เช่น คนพูดจาหยาบคายคือคนตรงไปตรงมา ไม่ใช่คนไม่มีมารยาทแบบในอดีต

โดยที่ส่วนหนึ่งแม้เราจะเป็นกลุ่มคนที่เคยเห็นความสำคัญของการคิดบวก ก็อาจถูกปลดเปลื้องด้วยค่านิยมยุคหลังไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ในแง่ทั้งเปิดเผย และเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าแท้แล้วสิ่งนั้นจะดีหรือเคยไม่เหมาะสมตามมุมมองเก่า แต่ก็มองบวกให้กับมันได้นั่นเอง

ตัวแทนการคิดบวก คิดลบในอดีต คือ ภาพผู้หญิงใส่ชุดว่ายน้ำ

ภาพตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านการคิดบวก คิดลบ ที่น่าจะชัดเจนโดยอย่างยิ่งคนที่มีอายุมาพอสมควรแล้ว คือ มุมมองในอดีตของ “รูปผู้หญิงใส่ชุดว่ายน้ำ” เพราะในหลายปีก่อน ต่อให้เป็นดารา ก็ต้องเป็นประเภทดาวยั่ว ดาวโป๊ หรือดาราประกอบเท่านั้น ที่จะสามารถเผยภาพตนเองใส่ชุดว่ายน้ำ นุ่งน้อยห่มน้อยออกสื่อ และถ้าเป็นบุคคลทั่วไป ผุ้หญิงที่เผยแพร่รูปตัวเองใส่ชุดว่ายน้ำ น้อยคนนักจะมองในแง่ดี หรือมองว่าเป็นภาพพจน์ที่ดี มุมนี้คนยุคหลังอาจจะไม่เข้าใจ เพราะเห็นจนชินตา แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าเป็นอดีตสิงนี้จะถูกมองในแง่ลบ ต้องเป็นคนคิดบวกมาก ๆ เท่านั้นที่จะมองโดยไม่คิดอคติ หรือไม่วิจารณ์ใด ๆ พูดง่าย ๆ คนส่วนใหญ่ “คิดลบต่อสิ่งนี้”

ดังตัวอย่างที่กล่าวไป ก็ไม่ได้ต้องการสรุปว่า คิดบวกไม่จำเป็น ส่วนตัวในอดีตก็เป็นคนชอบเรื่องคิดบวก ขนาดขึ้นเป็น สถานะบนโปรแกรม msn ว่า Think positive อยู่หลายปี รวมถึงเป็นข้อความหลักบนปก blog เก่าเสมอมาอีกด้วย (สะท้อนความแก่เล็กน้อย 😅)

เพียงแต่ ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน คำว่า “คิดบวก” นั้น ย่อมไม่ควรเป็นความเพ้อฝัน หรือหลอกตัวเอง มันควรจะเป็น “การมองโลกบนความเป็นจริง แล้วเลือกมองหาในสิ่งที่ดีและมีประโยชน์” เสียมากกว่า ดังนั้นเมื่อความเป็นจริงของโลกเริ่มปรับเปลี่ยนไป หากเราคิดบวกจริง เราก็ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนตามในมุมที่สร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ และยอมรับได้ว่า คำว่า “คิดบวก” ปัจจุบันมันมีการเปลี่ยนไปมากแล้ว

ในด้านหนึ่งอาจมองว่า การคิดบวกน่าจะยังจำเป็นต่อทัศนคติแง่ลบจนร้ายของใครบางคน ที่ดูว่าเขาคิดลบเข้าขั้นบั่นทอน และเป็นผู้ที่ยอมรับหรือแก้ไขปัญหาได้ยาก เพราะเขามักจะมองภาพลบมาก่อนมากกว่าปกติ แน่นอนว่าหากเป็นสมัยก่อนเราอาจแนะนำว่าให้เขา “เป็นคนคิดบวก” เสียบ้าง แต่ก็เพราะ “การยอมรับ” ที่มากขึ้นอีกนั่นแหละในสังคมปัจจุบัน เราย่อมตีความได้ง่ายกว่าว่า เขาอาจเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาทางจิต การที่คนทั่วไปนั่งบอกกรอกหูว่าให้คิดบวก ๆ นั้น นอกจากช่วยอะไรไม่ได้ เขาไม่ดีขึ้น อาจผิดวิธีส่งผลร้ายเป็นของแถมให้กับคนที่มีปัญหาทางจิตใจได้อีกด้วย

อนึ่ง การคิดบวก อาจเป็นสิ่งสำคัญที่แทรกเข้าเพื่อใช้ในการแยกแยะและตัดสินสิ่งต่าง ๆ ผ่านมุมมองลบของตน หรือทุกวันนี้หลายคนมองผ่านเลนส์เดียวที่ชื่อว่า โซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ดูอันตรายมาก เพราะเมื่อมีมุมคิดลบในใจขึ้นมา มันก็มีกลุ่มมากมายพร้อมที่จะสร้างกระแสจากเรื่องลบ ๆ ระบบคัดกรองเนื้อหา (algorithm) ก็ยัดเยียดแต่สิ่งเหล่านั้นมาให้ดู และเราเองก็ชอบที่จะเสพสิ่งที่ตอบสนองกับความเชื่อนั้น (Confirmation bias) ดังนั้นในการเสพสื่อ หรือรับข้อมูลใด ๆ ควรมีการคิดบวกแทรกเข้ามาในความคิดบ้างชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อลดอคติลง

โดยรวมแล้วจากสังคม สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป “ไม่ใช่ว่าการคิดบวก เป็นเรื่องที่ไม่ดี หรือไม่จำเป็น” เพียงแต่มันไม่ได้เป็นหลักใหญ่ใจความ หรือเหมาะกับการที่เอามาเป็นแกนคิดหลักอีกต่อไป เพราะสังคมทุกวันนี้เปิดกว้าง และยอมรับในหลายสิ่ง ที่บางครั้งก็เปิดไกลกว่าที่เราจะยอมรับด้วยซ้ำ จนบางครั้งมันเริ่มสุดโต่ง การคิดบวก จึงยังจำเป็นในรูปแบบเป็นมุมคิดเล็ก ๆ เพื่อยับยั้งแรงลบจากความคิดทั้งภายนอกและภายในใจไม่ให้เอนเอียงจนเกินไป เพราะหากยึดแต่คิดบวกมากไปเมื่อใด เราก็อาจกลายเป็นคนที่เอนเอียงสุดโต่งไปได้อีกทางอย่างไม่ยากเลยเช่นกัน

ภาคคิดลบ

พื้นฐานของการคิดลบ มักจะมาจากสิ่งแวดล้อม ขอยกตัวอย่างที่น่าจะทำให้นึกตามได้ทันที ถ้าเราเล่นน้ำอยู่ในคลองแล้วพูดถึงจระเข้ หรือ ถ้าคุณอยู่บ้านร้างกลางคืนคนเดียวแล้วพูดถึงผี เช่นนี้สิ่งแวดล้อมย่อมส่งให้นึกถึงเรื่องลบได้ง่าย มีแรงส่งให้คุณกลัว ระแวง หรือรู้สึกขึ้นมา แต่ถ้าคุณอยู่ในห้างสรรพสินค้าตอนกลางวันที่ผู้คนมากมาย ผีหรือจระเข้ พูดถึงอย่างไร ก็คงยากที่จะระแวงตื่นกลัว

เมื่อพอเห็นได้ว่าสิ่งแวดล้อม หรือช่วงเวลาส่งผลได้ คำว่าคิดบวกเองที่ไม่ใช่คำใหม่ แต่เมื่อย้อนมองไปคำนี้ เริ่มนิยมมากขึ้นหลังจากวิกฤติธุรกิจปี 40 มีนักธุรกิจฆ่าตัวตาย การล้มลงของผู้คนแบบยากที่จะทันตั้งตัว (ต่างจากวิกฤติไวรัส) สังคมและสิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยปัจจัยลบ สถานการณ์ช่างเอื้อให้คนคิดลบได้ง่าย “การคิดบวก” จึงเข้ามาเป็นพระเอกทางความคิดที่สำคัญ ผ่านไป 10 ปี (ที่รอบเศรษฐกิจก็ไม่ได้นานนัก) ก็เกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์อีก สิ่งแวดล้อมลบ ๆ ก็กลับมาอีกครั้ง…

เวลาผ่านไปเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงมากขึ้น นอกจากการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วแล้ว การรับรู้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเกิดการแลกเปลี่ยนต่อกันได้ง่ายกว่าเดิม ทั้งแง่การบ่นระบาย การหาทางออก หรือหาข้อเท็จจริง แม้ว่าความเชื่อผิด ๆ ยังมีอยู่ ข่าวลวงก็มากมาย แต่สภาวะการคิดเองคนเดียวโดยไร้ข้อมูลเกิดยากขึ้น และการมีกลุ่มก้อนทางโลกออนไลน์ที่แม้ไม่รู้จักกัน ทำให้ความรู้สึกคิดลบไปลำพังแทบไม่เกิด แม้อาจจะพากันคิดผิด เข้าใจผิด แต่ก็ไม่ใช่ความรู้สึกคิดลบ ผู้คน จึงมีวิถีความจริงในแบบของคนนั้น ๆ เองได้ (แม้บางทีไม่ดีไม่ถูกต้องก็ตาม) แต่นำมาให้เห็นว่าการฝังหัวเรื่องคิดบวก มาตีกรอบ มากลั่นกรอง ค่อนข้างไม่เป็นผล และกลายเป็นว่า “คิดบวกหรือมองบวก” อาจส่งผลร้ายได้ด้วย

ดังเช่นการเปิดเผยตัวตนที่มากขึ้นของผู้คน ที่คนส่วนใหญ่ล้วนแสดงตนเองในด้านดี ด้านมีความสุข หากคิดในเชิงบวกเอาว่า พวกเขานั้นสุขมากจริง ๆ มันอาจย้อนกลับให้หลงไปว่า คนส่วนใหญ่ไม่มีความทุกข์ แล้วเราทุกข์กว่าใคร เหมือนความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้นทุกวันแต่ต้องเก็บกดไว้เพราะคิดบวก ซึ่งนี่อาจไม่ใช่การคิดลบจากภายในตัวผู้นั้น แต่สิ่งแวดล้อมนำพาให้เปรียบเทียบ เพราะหากคิดลบเสียหน่อยว่า เขาก็ล้วนสร้างภาพ ที่จริงส่วนใหญ่เราก็ไม่ต่างกัน มันอาจทำให้รู้สึกดีกว่าก็เป็นได้…

“ด้านสังคม” ที่ในอดีต “สื่อ” มีช่องทางจำกัด เราถูกชวนเชื่อได้ง่ายจากหลายสิ่งอย่าง ทำให้เกิดเผด็จทางความคิด ทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ นอกจากช่องทางจำกัดแล้ว สื่อใหญ่ ๆ ยังมีไม่มากและแอบถูกควบคุมได้ง่าย หากยังคงยึดติดให้คิดบวกต่อบางเรื่อง ต่อขนบบางอย่าง นั่นไม่ใช่การคิดบวก แต่เรียกว่าหลงไปเพราะถูกฝังหัวมานาน และในทางตรงกันข้าม หากหลงกระแสความเสรีบางอย่างที่เปิดชัดในปัจจุบัน โดยมองว่ามันบวกมากเกินไป มองว่าเป็นยาวิเศษ เราก็อาจถูกกระแสนำไปจนเกินพอดีหรือผิดทางได้เช่นกัน ผลพวงของกระแสการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ก็จะมีความขัดแย้งให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ระหว่างค่านิยมเก่าที่ยึดติดเกินไป กับค่านิยมใหม่ที่เปิดกว้างจนหลุดความสมดุล

“ด้านเศรษฐกิจ” ในอดีตเราอาจไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ทันตั้งตัว แต่ส่วนหนึ่งหลายคนเสียหาย เพราะคิดบวกเกินไปชัดเจน ถ้าย้อนไปศึกษาเรื่องราว ก่อนวิกฤติมักจะอยู่ในจุดที่ทุกคนมองทุกอย่างดีไปหมด คนที่คิดลบกลับกลายเป็นผู้รอดและได้ผลประโยชน์

แม้กระทั่งในครั้งวิกฤติโควิด-19 หลายคนคิดบวกว่าจะไม่นาน ไม่แย่ หรือคิดแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา สุดท้ายผ่านไป 2-3 ปี ขนาดไม่ได้คิดบวกมากมาย มองแง่ร้ายไว้แล้วบ้าง วางแผนหลายตลบยังจบไม่เป็นท่าหลายราย

ถึงตรงนี้คงไม่น่าจะต้องมาอธิบายว่า “คิดแต่แง่ลบมันก็ไม่ดี” เพราะมันถูกต้องแล้วที่คิดลบมากไปก็ไม่ใช่เรื่องดี เพียงแต่มันต้องมีการปรับวิธีคิดกันบ้าง “ไม่ใช่ต้องคิดบวกแล้วดี คิดลบไม่ดี เสมอไป” และบางครั้งมันก็ต้องคิดลบให้ถึงที่สุด

ให้ถึงที่สุด คืออะไร

คิดลบมันก็ต้องไม่ใช่อคติ แต่คือการคิดไปในด้านลบ แล้วไปให้สุดทางมุมนั้น ตัวอย่างแรกที่น่าจะเข้าใจง่ายสุดคือทางธุรกิจ ที่นิยมคำว่า worst case scenario กล่าวคือแย่ที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร เมื่อคิดได้ถึงที่สุดแล้วก็มองว่าจะรับมือมันอย่างไร กรณีนี้ช่วยธุรกิจมาได้มากมายแล้ว

หรือกล่าวโดยสรุป ถึงที่สุด คือ ถามให้ถึงที่สุด หาคำตอบให้ถึงที่สุด เช่น คิดลบสงสัยว่าแฟนนอกใจ ก็ต้องคิดต่อไปว่า มีหลักฐานอะไร? ถ้าจริงแล้วจะทำไง? จะไปต่อหรือพอแค่นี้? ถ้าไปต่อแล้วเขามาง้อทำอย่างไร? มีทางเลือกอะไรบ้าง? ปรึกษาใครดี? เรายังเหลือใครอยู่บ้าง? ถ้าคิดลบถึงที่สุดได้จริง เราก็จะก้าวข้ามอารมณ์ไปด้วยเพราะต้องหาเหตุผลมากมายมาตอบคำถามเหล่านั้น แต่ถ้าอยู่บนอารมณ์แสดงว่ายังไม่ถึงที่สุด

หรือการแอบคิดว่าหัวหน้าลำเอียง… ก็คล้ายกัน ลำเอียงแล้วยังไง? เราทำอะไรได้บ้าง? พิสูจน์อะไรได้บ้าง? หากเป็นจริงแล้วมีตัวเลือกอะไรบ้าง? ทางเลือกไหนดีที่สุด? เมื่อคิดถึงที่สุดผลลัพธ์อาจพิสูจน์ได้ว่า ก็ไม่เห็นลำเอียงอะไร หรือมันชัดเจน ก็ควรหางานใหม่ทันที สุขภาพจิตดีขึ้นทันที เป็นไปได้กระทั่งพบว่าความลำเอียงของเขามันไม่ได้มีผลอะไรต่อชีวิตนัก เพราะต่อให้เขาไม่ลำเอียงเราก็ไม่ได้รวยขึ้น ก้าวหน้าขึ้นได้อยู่ดี

เหล่านี้คือตัวอย่างของ “ที่สุด” ที่ไม่ได้บอกว่าสุดท้ายเราจะตัดสินใจได้ดีที่สุด แต่ถ้าหากเราคิดลบแบบแวบคิดเป็นระยะ ๆ ไปไม่สุด มันก็จะจิตตกวนเวียนไม่จบสิ้น เป็นทุกข์ไปตลอด หรือพยายามคิดบวกมันก็ไม่อาจทำให้ความจริงบางอย่างหายไป วนหนักเข้ากลายเป็นวิตกจริตได้เหมือนกัน หรือหลอกตัวเองไปวัน ๆ ซึ่งในกรณีผู้ที่มีปัญหาจิตตกหนัก ๆ แล้ว การจะให้คิดบวก หรือคิดลบถึงที่สุด ก็ไม่เป็นผลดี ควรพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น บทความนี้เรากล่าวกันในเชิงผู้คนส่วนใหญ่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

และถึงที่สุดแล้ว…

ไม่ว่าจะคิดลบ หรือบวก สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ สติ บวกบนสติ ลบบนสติ หากมีสิ่งที่ทำให้เรามีภาวะต้องคิดลบ หรือคิดบวก แสดงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วนยังไม่แน่นอน จะคิดบวกเพื่อรับมือ หรือคิดลบให้ถึงที่สุดเพื่อรับมือ ก็ต้องเริ่มจากสติเสมอ สติที่จะไม่คิดบวกจนหลงตน สติที่จะไม่คิดลบจนหลงทาง สติที่จะรู้ว่า ใด ๆ ก็ต้องผ่านไป หลังฝนพื้นย่อมเปียก เมื่อพื้นเปียกเดี๋ยวก็แห้งไป และมีวันเปียกปอนใหม่เมื่อฝนตก เป็นธรรมดา คิดบวก คิดลบนั้น บางทีมันก็แค่เรื่องสมมติขึ้นมา เพียงเพื่อผ่านไป

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 26/04/2022

การพัฒนาตนเอง คิดบวก คิดลบให้ถึงที่สุด

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น