โอกาส กับ แว่นตา และถุงมือ

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » การเปลี่ยนแปลงตัวเอง » โอกาส กับ แว่นตา และถุงมือ |


เคยคิดไหมว่า ทำไมเราไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่น? หรือ ที่เขาบอกว่า ทุกคนล้วนเคยมีโอกาส.. แล้วที่ว่า โอกาสคนเรามีเท่า ๆ กัน มันจริงเหรอ? บ้างก็ว่า โอกาสนั้นสร้างได้ แล้วไหนล่ะทำมาตั้งนาน?

เรามาไขข้อสงสัยเรื่องนี้ในมุมมองหนึ่ง หรือเปลี่ยนทัศนคติต่อคำว่า “โอกาส” กันดูกับบทความนี้ที่บางทีอ่านจบแล้วคุณจะ “มีโอกาส” ขึ้นมาบ้างก็เป็นได้…

จากคำถามข้างต้นคงตอบก่อนได้เลยว่า เรามีโอกาสเหมือนคนอื่น เพราะเราทุกคนล้วนเคยมีโอกาส ส่วนโอกาสมีเท่ากันไหมนั้น คงวัดกันยาก เพราะโอกาสคนเราแตกต่างกัน (ต้องการต่างกัน) รวมถึงเราสามารถสร้างโอกาสได้! เพียงแต่ที่เรายังสงสัยหรือไม่มั่นใจเพราะขาด “เครื่องมือช่วย” บางอย่าง…

ประการแรกการที่คนเราคิดว่าตัวเองไม่มีโอกาส เพียงเพราะมองไม่เห็นมัน.. ซึ่งการที่มองไม่เห็น ก็เพราะคนเรามองบางสิ่งบางอย่างไม่เหมือนกัน หรือไม่เท่ากัน…

เช่น ในภาวะวิกฤตบางคนมองเห็นโอกาสได้ จึง ‘เดินหน้า’ ไขว่คว้า แต่บางคนมองเห็นแต่หายนะ ย่อมมีแต่ตระหนกตกใจ ระวังตัว อยู่กับที่ หรือถอยหลังไปตั้งหลัก

แว่นตามองโอกาส

เครื่องมือแรกที่ต้องมีคือ “แว่นตามองโอกาส” แน่นอนว่านี่ไม่ใช่แว่นตาจริง ๆ ที่จะมีวางขายหรือหามาสวมใส่ เป็นเพียงอุปมา ที่หากคุณอยากเห็นโอกาสคุณต้องมองมันผ่านแว่นตานี้ คุณสมบัติของมันนั้น หลักใหญ่ ๆ มี 3 ข้อด้วยกัน คือ “มองบวก ใส่ใจ ใช้ปัญญา”

มองบวก : ในที่นี้ย่อมต้องประกอบไปด้วยสติ ไม่ใช่ทุกวิกฤตจะมีโอกาส แต่ถ้ามองทุกอย่างเป็นลบ เราก็คงทำเหมือนเต่าที่หดหัวเข้าไปหลบรอสิ่งเลวร้ายผ่านไป ซึ่งก็ใช่ว่าจะผิดอะไร แต่หากเป็นเช่นนี้เราจะเห็นอะไรที่เกิดขึ้นได้อย่างไร? ทั้งที่โอกาสแรกที่เราจะได้คือ การเรียนรู้ ประสบการณ์และการยอมรับในวิกฤตนั้น ๆ

โอกาสจากการมองบวกต่อมาบนตัวอย่างกว้าง ๆ เช่นว่า ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี แน่นอนไม่เหมาะกับการลงทุนอะไร แต่ถ้ามองทุกอย่างเลวร้ายก็คงจบไปแค่นั้น แต่ในอีกด้านบางคนรู้ว่าของบางอย่างจะราคาถูกมาก เพราะต้องลดราคา ระบายสินค้า อะไรก็ตาม การลงทุนตรงนี้ ไม่ใช่ซื้อมาเพื่อขายทันที แต่รอเวลาที่เศรษฐกิจดีค่อยเอามาออกขาย เพียงแต่ว่า ถ้าซื้อไว้ตอนนี้ต้นทุนเราจะต่ำมากนั่นเอง..

..อาจแย้งได้ว่า ก็ในตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี เราก็เลยไม่มีทุนเหมือนกันแม้ของมันจะถูกก็ตาม นี่ก็เพราะขาดคุณสมบัติข้อต่อมาคือ..

ใส่ใจ : การสนใจ ใส่ใจในสิ่งที่ตนต้องการหรือใส่ใจที่เป้าหมายอยู่เสมอ ก็เหมือนคนที่ใส่แว่นตามองโอกาส เพราะไม่มีใครรู้ว่าโอกาสดี ๆ จะมาเมื่อใด แต่หากมีการใส่ใจอยู่ การเตรียมตัว การเตรียมพร้อมจะทำได้ไม่ยากเมื่อถึงเวลา

ซึ่งไม่ใช่แค่ในวิกฤต ในเวลาปกติในคนที่ใส่ใจในเรื่องของตัวเองหรือความต้องการของตัวเอง ก็จะ “เห็นทันทีเมื่อโอกาสมา” เห็นเพียงครู่ เห็นลาง ๆ หากเป็นสิ่งที่เราจดจ้องเฝ้ามองหา เราก็มีโอกาสหามันเจอจริงไหม?

แต่ถ้าไม่ได้ใส่ใจ มันอาจผ่านหน้าไปแล้วผ่านไปอีกด้วยซ้ำ เหมือนตัวอย่างเดิม ถ้าต้องพร้อมจะลงทุน แล้วเรามัวแต่เอาเงินไปใช้ในความอยากฉาบฉวย ไม่เหลือเก็บ (แถมมีหนี้) คิดเสมือนว่าทุกอย่างจะดีไปตลอด ครั้นพอถึงเวลาโอกาสมาก็จะบ่นบอกว่า “นี่ถ้ามีเงินนะ…”

หรือ ไม่จำเป็นต้องแค่เรื่องเงิน คนไม่พร้อมก็จะได้แต่พูดว่า “ถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้” ที่จริงสิ่งที่ควรจะบอกตัวเองคือ “ถ้าใส่ใจ…” เราก็อาจจะได้คิดเผื่อไว้ และ ทำเผื่อไว้บ้าง เว้นที่ เว้นเวลา มีทรัพยากรพร้อมเมื่อโอกาสมา  สุดท้ายเพราะความไม่เคยใส่ใจนี้เองบางทีจึงเป็นสาเหตุที่เราบอกว่า ไม่มีโอกาสเหมือนใครเขา..

ปัญญา : คือส่วนประกอบสุดท้ายของแว่นตาวิเศษอันนี้ ที่อาจจะสำคัญที่สุด และอธิบายยากที่สุดเช่นกัน เพราะปัญญาไม่ใช่ความฉลาด แต่คือการมองเห็นโอกาสจากความรู้ ประสบการณ์ มุมมองต่าง ๆ โดยย่อมต้องรวมกันกับ มองบวก และ ใส่ใจ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะหากมองลบคงไม่อาจคิดอะไรดี ๆ ออกมาได้ และเมื่อไม่ใส่ใจคงไม่มีประสบการณ์ความรู้ต่อสิ่งหนึ่งมาได้เช่นกัน..

ปัญญา บางครั้งมาในรูปความคิดสร้างสรรค์ การต่อยอด เห็นช่องทาง หรือแนวคิดการทำบางอย่าง ที่อาจเกิดขึ้นมาเอง และอาจไม่เกิดขึ้นมาเลยก็ได้ แต่การฝึกฝนช่วยเพิ่มปัญญาได้ เพียงแต่ว่าแต่ละวันที่ผ่านไป เราเรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง เราดำเนินชีวิตอย่างไร สนใจอะไร และมัวแต่คิดเรื่องอะไร?.. กินอะไรดี ซื้ออะไรดี เที่ยวไหนดี? ที่ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าวนอยู่แค่นี้ตลอดไป ปัญญาต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดคงไม่เกิด..

ตัวอย่างเช่นว่า มีร้านอาหารหนึ่งมาเปิดใกล้บ้าน ขายดีคนแน่นร้าน คน “มองลบ” จะคิดทันทีว่าจะขายดีสักแค่ไหน เดี๋ยวก็เลิกเห่อ คน “ไม่ใส่ใจ” ก็จะมองแค่ว่า อยากลองไปชิมบ้าง หรือไม่ก็ไม่ไปกินหรอกคนเยอะขี้เกียจรอ แต่ถ้าใช้ปัญญา อาจคิดสักหน่อยว่า ทำไมเขาจึงขายดี แม้จะขายดีแค่ช่วงแรก ก็จะ “มองพิจารณา” จนเห็นว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เผื่อวันหนึ่งเราทำร้านอาหารหรือกิจการ ก็จะมีสิ่งนี้เป็น “โอกาส” ทั้งส่งเสริม และป้องกันความผิดพลาดให้เราต่อไปได้

หรือบางคนอาจเห็นเป็นโอกาสทันที ว่า อาหารชนิดนั้นเป็นที่นิยม เราควรนำมาขายบ้าง หรือเปิดร้านขนม ร้านน้ำใกล้ ๆ เพื่อต่อยอดลูกค้าจากเขาก็ไม่เลว เป็นต้น…

แม้ไม่อาจยกตัวอย่างได้ครอบคลุม ละเอียดนัก แต่เชื่อว่าน่าจะทำให้พอ “มองเห็น” แล้วว่าโอกาสนั้น เริ่มต้นจากเรามองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวผ่านด้วยสายตาแบบไหน มี แว่นตามองโอกาส ใส่อยู่รึเปล่า

เท่านี้อาจยังไม่พอ เพราะยังเหลืออีก 1 เครื่องมือ นั่นคือ

ถุงมือจับโอกาส

จากเครื่องมือเปรียบเปรยอันก่อนเรื่องแว่นตามองโอกาสนั้น มันเริ่มต้นที่ว่าเรามองมันอย่างไร ย่อมมีคนส่วนหนึ่งอ่านแล้วก็คิดว่า ที่จริงเราก็มองเห็นนะ มองอยู่เสมอในการหาโอกาสต่าง ๆ  หรือการพัฒนา แต่ถึงเวลาก็ได้แต่มอง…

ก็อย่าเพิ่งท้อไป ถือว่ายังดีที่เรายังมองเห็น แม้เราไม่ได้โอกาสวันนี้ วันหน้าก็ยังมี แต่ก็ต้องระวังไว้บ้าง โอกาสดี ๆ ไม่ได้มีมาบ่อย ดังนี้อีกหนึ่งเครื่องมือที่ต้องมีไว้ใช้กับโอกาสคือ “ถุงมือจับโอกาส” ซึ่งอาจมีคำถามว่า ทำไมผมต้องเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมย เป็นแว่นตา เป็นถุงมือด้วย เขียนคุณสมบัติแง่คิดไปเลยไม่ได้หรือ?

ที่จริงก็ได้และคงเขียนง่ายกว่าด้วย แต่ต้องยอมรับว่า สมอง ความคิด โดยอย่างยิ่งสติคนเราเวลาอะไรมันหลาย ๆ อย่าง เราก็คิดไม่ทัน ระลึกไม่ทัน การเปรียบเปรยเป็น แว่นตา กับ ถุงมือ ผมว่า มันจำง่าย ระลึกง่าย เตือนตัวเองได้ง่าย ว่าเรามีแว่นตา ถุงมือที่มองไม่เห็นนี้ใส่ไว้หรือยัง…

สำหรับ ถุงมือจับโอกาส ก็เป็นสิ่งที่ต้องมีคุณสมบัติสำคัญเช่นกัน อันประกอบด้วย “ปกป้อง ทนทาน และ ถนัดมือ”

ปกป้อง : ในที่นี้ทั้งทางใจ และทางกายภาพ โดยปัจจัยแรกที่ทำให้เราพลาดการ “คว้าโอกาส” คือความ “กล้า” เราหลายคนกลัวความล้มเหลวมากเกินไป ซึ่งการกลัวความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องผิดโดยอย่างยิ่งหากต้องสูญเสียอะไรไป แต่หลายคนก็กลัวความล้มเหลวเพียงเพราะไม่กล้าเผชิญ สายตา และ ลมปาก จากคนอื่นที่คอยมองเหยียด หรือพูดทับถมเท่านั้น ในยามเราพลาด..

ถ้าคุณคิดตรองดี ๆ นี่คือการทำลายโอกาสแต่แรก การไม่ได้เริ่มต้นทำอะไร หรือคว้าโอกาสใด อาจไม่เสียหายในตอนต้น แต่มันอาจส่งผลให้ชีวิตถอยหลังไปช้า ๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าที่กลัวดูถูก กลัวล้มเหลวในวันนี้ ต่อไปก็ไม่พ้น โดนอยู่ดี และแท้แล้วคนที่คอยจ้องดูถูกเรา เขาก็ดูถูกเราวันยังค่ำ ไม่ว่าล้มเหลวหรือแค่ไม่ก้าวหน้า หนำซ้ำ เขาก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นได้ มีเพียงสองมือเราเท่านั้นที่ต้องทำด้วยตนเองให้ชีวิตดีขึ้นมา เช่นนี้ จะล้มหรือไม่ล้มก็ไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะกล้าลงมือหรือไม่

แต่ความกล้าก็ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องมีการ “ลงมือ” ที่ดีด้วย ซึ่งไม่ต่างจากความ “ใส่ใจ” คือมีความตั้งใจ ในตอนที่โอกาสยังไม่มาหรือกำลังมา ถุงมือนี้จะปกป้องได้ ก็ต้องลงมือ “ซ้อม” ก่อน ได้ “เรียนรู้” ได้ “ทดลอง” เพราะการได้ลงมือทำอะไรมาบ้าง ประสบการณ์จะช่วยป้องกันการ “พลาดโอกาส” อย่างน้อยก็ลดสิ่งผิดพลาดใหญ่หลวงที่จะตามมา

เช่น คุณอยากมีธุรกิจใหญ่โต แต่ไม่กล้าเริ่มจากเล็ก ๆ มันจะไปวันนั้นได้อย่างไร การกล้าลงมือทำและถ้าค่อย ๆ ทำมันอาจยังไม่ใช่เวลาที่เรียกว่า “โอกาสดี” แต่เพราะ “การลงมือทำ” ในวันนี้นี่แหละ คุณจะเรียนรู้และพร้อมเมื่อโอกาสใหญ่มา คุณจะไม่พลาดที่จะจับมัน (เพราะแวดล้อมไปด้วยสิ่งนั้นอยู่แล้ว) และแน่นอนไม่เพียงเป็นการรอให้โอกาสมา ส่วนหนึ่งจะเห็นได้ว่านี่เรากำลัง สร้างโอกาสให้ตัวเองได้อีกด้วย

เช่นเดิมไม่เพียงแง่อยากมีธุรกิจเหมือนที่ยกตัวอย่าง การลองลงมือทำ ทำได้ทุกเรื่อง ตามแต่เป้าหมายที่คุณต้องการ อยากเป็นนักเขียนจงหาที่เขียน อยากเป็นนักร้องจงหาที่ร้อง อยากเป็นอะไร “กล้า” พาตัวเองไปใกล้ ๆ จุดนั้น เพราะแม้คุณจะยังไม่ได้มันในวันนี้ แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรให้เห็นเลย.. (อย่างน้อยการเรียนรู้ การศึกษาเรื่องนั้น ๆ ตลอดเวลาก็มีค่าต่อโอกาสแล้ว)

ทนทาน : และเพราะไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ถุงมือจับโอกาสนี้จึงควรมีความ ทนทาน อยู่ด้วย โอกาสแม้จะเห็น และคว้าไว้ทัน แต่มันก็ยังหลุดลอยไปได้ หากจับไว้ไม่แน่นพอ ไม่อดทนพอ “ทนทานของถุงมือในที่นี้คือเพียรพยายาม” ในเมื่อกล้าจะลงมือทำแล้ว เราต้องอดทนได้มากพอ จนกว่าโอกาสดี ๆ นั้นจะมาถึง เพราะทุก ๆ สิ่งย่อมมีอุปสรรค

เปรียบคล้ายรูปภาพการ์ตูนที่ชอบแชร์กัน มีคนขุดดินไปลึกจนเกือบเจอสมบัติแล้วดันเลิกเสียก่อน บนชีวิตจริงไม่มีใครรู้ ระหว่างนี้ดีที่สุดคือ พัฒนา เรียนรู้ ปรับปรุง ต่อให้กำลังได้โอกาสมา อย่าคิดว่ามันจะอยู่กับเราตลอดไปหากไม่ทำอะไรเลย ซึ่งนั่นมันอาจยังเป็นเพียงแค่ “โอกาสได้เริ่มต้น” เท่านั้น จะต่อยอดไปได้หรือไม่ ยังไม่รู้ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ซึ่งทำให้หลายคนไม่สนใจโอกาสอีก เพียงเพราะคิดว่าแม้ได้มา เขาก็ทำอะไรกับมันไม่ได้เพียงเพราะเขาไม่เคยพยายาม หรืออดทนให้มากพอ…

ถนัดมือ : คือคุณสมบัติที่ใช้ยากแต่สำคัญ เช่นเดียวกับปัญญา แม้เรากล้าทำ และอดทน แต่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับสิ่งที่ตัวเองคิด ต้องรู้และมั่นใจว่าโอกาสที่อยากคว้า หรือคว้ามาแล้ว “ควรเป็นโอกาสของเราจริง ๆ” มั่นใจว่านี่คือสิ่งที่เป็นเป้าหมาย และต้องการในชีวิต เพราะหากคว้าผิดชีวิตก็เสียเวลา จึงเปรียบเหมือนว่า เมื่อมีถุงมือจับโอกาสแล้ว จะคว้าโอกาสใดมาควรรู้ว่ามันเหมาะกับเราหรือไม่…

ประการที่สำคัญยิ่งกว่า ถุงมือจับโอกาสนี้ควรจะรู้ดีว่าสองมือคุณนี้ตอนนี้จับอะไรอยู่?

บางคนจะเอาทุกอย่างในชีวิต จับเรื่องนั้นอยู่ จับเรื่องนี้อยู่ แล้วอยากคว้าโอกาสไว้ให้ได้ด้วย หรืออยากเอามันทุกโอกาส มันย่อมไม่ถนัดมือเพราะมีสิ่งที่ถืออยู่ก่อนกั้นขวาง เราต้องเลือกทิ้งบางอย่างไปบ้าง ตัดบางสิ่งทิ้งบ้าง ดังประโยคหนึ่งที่ไม่แน่ใจที่มาว่าผู้พูดคนแรกเป็นใคร แต่จริงเหลือเกิน “ถ้าอะไรก็สำคัญหมด แสดงว่าไม่มีอะไรสำคัญเลย”

เราล้วนมีข้อจำกัด ทั้งความสามารถ เวลา ทุนทรัพย์ การเลือกสรร จึงจำเป็น หากมือเราถือสิ่งไม่จำเป็นใดไว้ เราก็จะไม่มีมือจับสิ่งที่ต้องการได้ถนัดนัก

ถุงมือคือลงมือ

เรื่องถุงมือนี้ อาจเปรียบมากไปจนเข้าใจยาก ย่อ ๆ ให้ได้ว่า ถุงมือก็คือการลงมือ หากไม่กล้าก็ไม่ได้ทำอะไร หากทำไปนิดหน่อยท้อถอย ก็อย่าไปโทษอะไร และที่สำคัญ แต่ละวัน ลงมือทำอะไรอยู่ เรื่องตัวเอง เรื่องของใคร สร้างสรรค์หรือทำลายโอกาส มันด้วยมือเราทั้งสิ้น แบกถืออะไรไว้ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปลงมือทำในสิ่งที่เป็นโอกาสของเรา เหล่านี้คือคุณสมบัติแห่งการได้มา และรักษา “โอกาส”

คิดไม่ดีคงไม่ได้ทำ ทำไม่คิดคงไม่ได้ดี

แว่นตาและถุงมือ

รวมแล้วคือ “ความคิดและการกระทำ” คิดไม่ดีคงไม่ได้ทำ ทำไม่คิดคงไม่ได้ดี ไม่เคยคิดถึงเป้าหมายก็คล้ายไม่มีแว่นตาหาโอกาส ไม่เคยกล้าลงมือทำ หรือลองลงมือทำ ก็ไม่ต่างอะไรจากคอยโอกาสลม ๆ แล้ง ๆ แม้จะผ่านมาก็ไม่มีค่าอะไร ได้มาก็อาจเป็นโอกาสที่ไม่คุ้มค่า หัวใจสำคัญก็ตรงที่เรานึกถึงตัวเองแค่ไหน รักตัวเองแค่ไหน ใส่ใจตัวเองจริง ๆ แค่ไหน…

หากตายังมองแต่เรื่องคนอื่นชีวิตคนอื่น สองมือนี้ยังจัดการจัดสรร “การกระทำ” ไม่ได้ หรือ ทำงานให้คนอื่นไปวัน ๆ หมดวันแล้วไม่เอาอะไรเลย ไม่ทำเพื่อตัวเองจริง ๆ เลย แบบนี้เมื่อไหร่จะได้โอกาส..

โอกาสที่เราอ้างว่าอยากได้ แต่อาจไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไร และใครจะรู้ดีไปกว่าเรา รวมถึงเราอาจไม่เคยเข้าใจโอกาสของตัวเองจริง ๆ เลยก็ได้ที่ผ่านมา…

หาแว่นตาให้ได้ ใส่ถุงมือให้เป็น น่าจะเป็นสิ่งเตือนใจให้เข้าใจในโอกาสได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 03/11/2020 และ 05/11/2020

โอกาสและแว่นตากับถุงมือ

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น