5 แบบที่ ทำให้ตายก็ไม่สำเร็จหรอก!

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » การเปลี่ยนแปลงตัวเอง » 5 แบบที่ ทำให้ตายก็ไม่สำเร็จหรอก! |


บางทีก่อนจะคิด จะพูดกันว่า ความสำเร็จต้องทำอย่างไร ปัจจุบันเราอาจกำลังคิดหรือทำอะไรที่ส่งผลให้ มันพัง มันไม่สำเร็จ หรือกำลังทำให้มันยากกว่าเดิม โดยไม่รู้ตัวอยู่ ก็เป็นได้…

การไม่ใช่คนดัง แล้วก็ไม่ใช่กลุ่มอายุน้อยร้อยล้าน หรือวางแผนเปิดคอร์สสอนรวย การจะพูดเรื่องความสำเร็จอาจดูขัดเขิน แต่ถ้า “ทำให้ตายก็ไม่สำเร็จ” เนี่ย อาจพอมาบอกกล่าวให้ชวนคิดกันได้อยู่บ้างเหมือนกัน…

คงต้องเริ่มจากมองเห็นร่วมกันก่อนว่า ความสำเร็จ คงไม่เกิดจากการทำอะไรเพียงครั้งเดียว หรืออย่างเดียว แล้วจะสำเร็จ มันต้องทำอะไรมาหลาย ๆ อย่าง และบางอย่างต้องทำซ้ำหลายครั้ง ซึ่งในการที่เราต้องทำหลายครั้ง หลายเรื่อง และสารพัดวิธีนี้เอง มันจึงไม่มีสูตรตายตัวหรอกว่า ทำแบบนั้น แบบนี้ แล้วจะสำเร็จไปเสียหมด

แล้วในการทำซ้ำ ๆ นี่เอง บางทีผลลัพธ์ก็เป็นทั้งส่งเสริมให้ก้าวหน้า และถ่วงความสำเร็จได้เช่นกัน เราจึงควร “เลือกทำ” มิเช่นนั้นมันก็คือ การพยายามที่ผิดที่ ผิดทาง…

แต่การจะบอกว่าสิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ มันก็อาจตีกรอบให้ยากอีก เพราะนอกจากจะคาดเดาอนาคตไม่ได้แล้ว ยังไม่รู้ด้วยว่า แต่ละคนทำเรื่องอะไร และมีเป้าหมายความสำเร็จนั้นที่ตรงไหน ทั้งแง่การทำธุรกิจ, เป้าหมายชีวิต หรือหน้าที่การงาน ภาพรวมเรื่องนี้จึงเป็นเพียง แนวทาง วิธีคิด หรือกรอบคิด (Mindset) ในการทำสิ่งหนึ่ง ที่คงพอจะสะท้อนว่า ทำแบบนี้ต่อไป ให้ตายก็คงไม่สำเร็จ ดังนี้

5 แบบที่ ทำให้ตายก็ไม่สำเร็จหรอก

  1. ทำตามเขาตลอด
    “การทำตาม” มีหลายแบบ และไม่ใช่เรื่องผิด บางทีเป็นแนวคิดที่ดีด้วยซ้ำ แต่การ “ตามตลอด” นั้น คงไม่ดี เพราะนอกจากเราไม่อาจตามใครได้ตลอดจริง ๆ แล้ว อาจมีการตามแบบผิด ๆ ประมาณว่า เหมือนแต่ข้างนอก ข้างในไม่ใช่ อะไรทำนองนี้

    หรือถ้าวันหนึ่งเขาตัน เราก็ตันไปด้วย หรือถ้าเขาทำผิดเสียหาย เราก็เสียหายไปด้วย บางกรณีเขาอาจแก้ปัญหาได้ เพราะเขารู้ว่าทำเพราะอะไร แต่เราไม่รู้ เราอาจแก้ปัญหาไม่ได้เหมือนเขา รวม ๆ แล้ว การตามใครได้ตลอดจึงเป็นเรื่องยากและไม่การันตีความสำเร็จอีกด้วย

    แต่จะว่าไปข้อนี้ก็ถือว่าไม่ร้ายแรง เพราะหลายคนเมื่อตามเขาไป จนถึงจุดเลี้ยวที่ตามไม่ได้ หรือถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องยืนด้วยตัวเอง, แก้ปัญหาด้วยตัวเอง, ต้องไปต่อด้วยตัวเอง แล้วสามารถไปได้ อันนี้ก็ดีไป และมันเท่ากับว่า เราไม่ได้ตามเขาตลอดแล้ว นั่นเอง

  2. ทำสิ่งที่ควบคุมยากไป / ไม่รู้
    ไม่มีความสำเร็จใดไร้ซึ่งอุปสรรค และไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างจึงจะสำเร็จ นั้นเป็นความจริง แต่การไม่รู้อะไรเลย รู้น้อยมากไปจนถึง การที่เราจัดการอะไรไม่ได้เลยนั้น มันก็พอเห็นอยู่ว่าจะสำเร็จได้อย่างไร

    ข้อนี้พึงระวังตั้งแต่ “ยังไม่เริ่มทำ” อันที่จริงทั้งในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และความไม่รู้สองเรื่องนี้จะแยกหัวข้อกันก็ได้ แต่ในแบบหนึ่ง หากเรามองทุกอย่างแง่ดีเกินไป คือ ทำไปก่อน คิดว่าจะควบคุมสิ่งที่ทำได้ แก้ปัญหาได้ พอเอาเข้าจริงก็จนปัญญา เช่นนี้ก็เพราะความ “ไม่รู้” อยู่เหมือนกัน

    อาจเป็นจริงในแง่ที่ว่าจะรอให้ทุกอย่างพร้อม รู้ทุกเรื่อง คุมได้ทุกอย่าง คงไม่ได้ทำกันพอดี แต่อย่างน้อยก็ควรพอรู้ พอเข้าใจ ให้เราประเมินได้ว่า นี่มันไหวหรือไม่ไหว รวมถึงเหมาะหรือไม่เหมาะกับเรา
    และหลายครั้ง ต่อให้รู้เรื่องที่ทำมากพอ แต่อาจไม่เคยรู้ว่า “ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา” มุ่งหน้าดันทุรังทำไปก็คงไม่สำเร็จ เพราะปัจจัยภายนอกหลายอย่างนั้น มันควบคุมไม่ได้…

    อีกประการของสิ่งที่บอกว่า ควบคุมยากนั้น ก็ไม่ใช่แค่ความไม่รู้ เพราะไม่รู้เราก็ยังไปศึกษาหาความรู้ได้ แต่หลายเรื่องถึงรู้ แต่ก็ทำเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น สิ่งอื่น ซึ่งถ้ามากเกินไป มันจะกลายเป็นยากทันที  หรือหากมองเป็นการลงทุน แล้วจะลงทุนให้เองหมดเพื่อควบคุมได้ ก็ต้องลงทุนมากกว่าคนอื่น ต้นทุนสูง และ มีไม่น้อยที่เข้าข่ายบานปลาย

    ทั้งคุมยาก และความไม่รู้นี้ ต่อให้ทำอะไรขึ้นมาได้ ก็จะเจอแต่ปัญหาเพราะเราไม่เข้าใจ แล้วแต่ละปัญหาก็แก้ยากเพราะต้องพึ่งคนอื่น แถมโดนโกง โดนหลอกก็ง่าย พอถึงตรงนี้บางทีเราจะนึกออก เพราะรอบตัวคงมีให้เห็นว่า ทำในสิ่งที่ไม่รู้ ทำในสิ่งที่ไม่มีปัญญาควบคุมนั้น มันไปได้ยากจริง ๆ

  3. ทำเรื่องที่เราขาดเขาไม่ได้
    ข้อนี้อาจมีความคลุมเครืออยู่บ้างในแง่ว่า เราไม่ควรพึ่งพาใครงั้นหรือ? ยกตัวอย่างแบบนี้ดีกว่า หากเรามีเป้าหมายทำอะไรสักอย่าง เช่น เขียนหนังสือการ์ตูนสักเรื่อง แต่เราเป็นนักวาด แต่งเรื่องไม่เก่ง จึงหาคนแต่งเรื่องเก่ง ๆ ที่วาดไม่เก่งมาทำร่วมกัน แล้วเขาแต่งมาหนึ่งตอน เราก็วาดเสร็จ แล้ว แต่เขายังไม่แต่งต่อมาให้สักที คงนึกออกว่าสถานการณ์แบบนี้แย่แค่ไหน เพราะกลายเป็นว่าความสำเร็จนั้น มีปัจจัยอยู่ที่คนอื่นเสียครึ่งหนึ่ง…

    หรือกรณีเป็นธุรกิจ ก็เช่น การพึ่งพาวัตถุดิบแหล่งเดียว ช่องทางจำหน่ายหลักแห่งเดียว เหล่านี้อำนาจต่อรองมักเป็นปลายทาง หากถามว่ารวม ๆ แล้ว หากเป็นตอนเริ่มต้นไม่ผิดอะไรเลย อาจเป็นเรื่องจำเป็นด้วยซ้ำ แต่ดังที่บอกมันเป็นแนวคิด ถ้าอนาคตไปยัง “ขาดเขาไม่ได้” ก็ให้ระวังเพราะพังกันมาเยอะ…

    ส่วนหนึ่งข้อนี้ถือว่าควบคุมไม่ได้เหมือนกับข้อที่แล้วไหม? ส่วนหนึ่งก็ใช่แต่กระบวนการ แนวคิด หรือเรื่องราวมักจะต่างกัน เพราะควบคุมไม่ได้มีหลายปัจจัย พื้นฐานมาจากความไม่รู้ แต่ขาดเขาไม่ได้ เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ถ้าดี ก็อาจดีเลยอยู่กันต่อไป แต่ถ้าไม่ดีเมื่อไหร่ยังไงก็รอดยากนั่นเอง

  4. ทำเพื่อคนอื่น
    ข้อนี้อาจรวมการ “ทำเพราะคนอื่น” อยู่ด้วยก็ได้ แต่การทำเพราะคนอื่นเชื่อว่าส่วนใหญ่พอจะนึกออกว่ามันยากจะสำเร็จ แม้จะทำออกมาได้ดี แต่มันก็ดูจะไม่ใช่ความสำเร็จที่เราต้องการสักเท่าไร

    สำหรับการ “ทำเพื่อคนอื่น” มันเป็นข้อที่ละเอียดอ่อน และอาจยากจะเข้าใจจนกว่าจะได้เรียนรู้บางอย่าง หลายคนมีปมในใจชอบไปอยู่ในความสำเร็จคนอื่น แล้วสุดท้ายเขาก็ไปต่อโดยทิ้งเราเอาไว้ ซึ่งบางทีเขาไม่ได้ทิ้ง เขาก็ต้องไปต่อตามปกติ เราไปผูกตัวเราไว้กับเขาแต่แรกเอง หรือก็เพราะบางทีเขากลัวว่าต้องพึ่งพาเราไปตลอด ถ้าเราไม่อยู่แล้วล่ะ? (เหมือนข้อ 3) ก็เป็นได้

    ซึ่งการทำเพื่อคนอื่นในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การทำเพื่อสังคมอะไรทำนองนั้น เพราะถ้าทำเพื่อคนอื่นในแนวนั้นจริง ๆ เราจะไม่ต้องการความสำเร็จ เพราะแค่ได้ทำก็ถือว่าสำเร็จแล้ว…

    แต่ความหมิ่นเหม่ก็อยู่ตรงนี้แหละ เช่น หลายคนบอกว่าทำเพื่อคนรัก ทำเพื่อครอบครัว ทำเพื่อเพื่อน ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จ เพราะเราไม่มีวันเติมอะไรให้ใครได้เต็ม… ไม่มีวัน

    ยกตัวอย่างที่น่าจะเห็นได้ชัด เช่นที่บอกว่า เราทำงานเพื่อครอบครัว ซึ่งที่จริงเราแค่ทำงานเพื่อ หาเงิน มาให้ครอบครัว อันนั้นจะถูกต้องกว่า เพราะผลลัพธ์มันไม่เคยการันตีว่า เงินนั้นจะพอ หรือจะทำครอบครัวมีความสุข มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แถมเวลา สามี ภรรยา ทะเลาะกันขึ้นมา ต่างก็มักอ้างว่าตัวเองทำเพื่อครอบครัวแล้ว ถ้าอีกฝ่ายรู้สึกได้รับเพียงพอหรือเห็นค่า ก็ไม่น่าทะเลาะกัน…

    ประเด็นอยู่ที่บางเรื่องเป็นหน้าที่ ความรับผิดชอบ ถ้าเราไม่แยกออกให้ดี ๆ นอกจากมันไม่ใช่ความสำเร็จแล้วยังเป็นตัวถ่วงความสำเร็จได้ด้วย อย่าวางความสำเร็จว่า ทำตามหน้าที่คือสำเร็จ รับผิดชอบแล้วคือสำเร็จ มันคนละเรื่องกัน หรือถ้าจะเรียกว่าสำเร็จคุณต้องมีผลลัพธ์มาให้ชัดเจนเสียก่อน ว่าเขาเหล่านั้น โดยที่เขาเหล่านั้นเป็นคนบอกเราได้ว่าเราทำเพื่อเขาสำเร็จ ซึ่งคงยากมากจริง ๆ…

    อีกแบบก็จะเป็นแนวว่า “การเอาความสำเร็จของคนอื่นมาเป็นของตนเอง” ซึ่งมิใช่ว่าทำไม่ได้เลย เพียงแต่ต้องระวังการไปนึกว่านี่มันเป็น “บุญคุณ” เช่น โค้ชนักกีฬาต่อให้พานักกีฬาเป็นแชมป์ เขาก็มีโอกาสเปลี่ยนโค้ช เพื่อพัฒนาขึ้นไป เช่นจากระดับจังหวัด ไปประเทศ ไประดับโลก แม้แต่ได้แชมป์โลกแล้วก็ยังมีเปลี่ยนเลย ทั้งที่นั่นคือโค้ช ผู้นำพาเขาไปให้ได้แชมป์โลกนะ ถ้าไม่แยกแยะว่า ความสำเร็จของโค้ชก็คือทำให้เขามีศักยภาพสูงสุดเท่านั้น ส่วนตอนแข่งหรือการลงมือทำก็เป็นของนักกีฬา แม้บางส่วนจะดูเป็นความสำเร็จร่วมกัน แต่ที่สุดแล้วก็ความสำเร็จของใครของมัน…

    ดังที่บอกข้อนี้ละเอียดอ่อน บ้างก็คงเข้าใจ บ้างก็อาจขัดใจ ถ้าให้พยายามสรุปก็คือ ถ้าพูดเรื่องความสำเร็จ มันก็ต้องชัดก่อนว่า อะไรคือความสำเร็จ? “สำเร็จที่ทำให้เขาสำเร็จ” นั้นเป็นได้ แต่ส่วนใหญ่จะน้อยใจตั้งแต่ยังไม่สำเร็จ หรือเมื่อสำเร็จแล้วต้องเป็นบุญคุณตลอดไป อันนี้คงไม่น่าใช่อีก ลึก ๆ ทำเพื่อคนอื่น หรือเพื่อปมบางอย่างในใจต้องทบทวนให้ดี ๆ เพราะคนที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้ มักมีวันสำเร็จ

  5. ทำดีที่สุดแล้ว (คนเดียว)
    นี่ก็เป็นอีกกรอบคิด (mindset) ที่ขัดขวางความสำเร็จของหลายคนบนความไม่รู้ตัว ด้วยคำว่า “ดีที่สุดแล้ว” ตัวอย่างที่น่าจะสะท้อนเรื่องนี้ได้ ก็ ลองนึกถึงเวลาเรามองเรื่องของคนอื่นแล้วมีความคิดว่า “ทำไมเขาไม่ทำแบบนั้น” ซึ่งมักจะเป็นเวลาที่เรามองเห็นทั้งโอกาส ศักยภาพของเขา พอมันก็ย้อนกลับมาที่ บางทีคนอื่นเขาก็มองเราเช่นนั้นเหมือนกัน ว่าทำไมไม่ทำบางอย่างบ้าง ในมุมคล้ายกัน ส่วนใหญ่เราก็คิดว่าเรา “ทำดีที่สุดแล้ว”

    ก็ต้องทบทวนดูว่า เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ทำดีที่สุดแล้วจริง ๆ หรือยังไม่จริง วิธีการที่ดีที่สุดในข้อนี้คือ “มีแผนและตัวชี้วัด” เพราะเมื่อเรามีแผนในการลงมือทำ เราจะรู้ว่า “ต้องทำอะไร” ถ้ายังทำไม่ครบ ไม่หมด ไม่จบได้ตามแผน จะบอกว่าดีที่สุดแล้วนั้น คือเราคิดไปเอง และเท่านั้นยังไม่พอ เพราะแม้ทำครบตามแผนมันอาจกลายเป็นว่า “แค่ทำ” ถ้ามีตัวชี้วัดด้วยเราก็ไม่รู้สึกไปเองว่า “ทำพอแล้ว” และหากทำตามแผน มีผลชี้วัด ดีที่สุดหรือยังนั้น มันจะชัดเจนขึ้น…

ส่งท้าย

ทุกความสำเร็จมีหลากหลายปัจจัย คนย่อมมีความเป็นปัจเจก นี่เป็นเพียงอีกหนึ่งบทความเพื่อการพัฒนาตนเอง ที่เขียนไว้แล้วว่า ไม่การันตีความสำเร็จให้ใคร แต่เชื่อว่าเป็นมุมคิดที่มีประโยชน์ ให้นำไปทบทวน ไม่ต้องวนอยู่กับความ ล้มเหลว ซ้ำซาก และ เช่นเคยครับ อยากดีกว่าเมื่อวาน วันนี้ก็ต้องเปลี่ยน…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 14/07/2021

5 แบบที่ ทำให้ตายก็ไม่สำเร็จหรอก!

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น