ย้ายทัศนคติ!?

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » ย้ายทัศนคติ!? |


การมีปัญหา การถกเถียงแล้วไม่จบไม่สิ้น มักจะมาจาก “ทัศนคติ” ที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ ในการ “เปลี่ยนทัศนคติ” ของใคร แม้แต่ของตัวเราเอง และผมมองว่าการพยายามถกเถียงหรือแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของใครนั้น เป็นเรื่องที่ “ผิดสิ้นเชิง” และยากจะเกิดประโยชน์ บทความดี ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองวันนี้จะมาชวนคิดถึงสิ่งเหล่านี้กันดีๆ อีกครั้ง

ฟังบทความนี้แทนอ่านเอง ตามช่องทางเหล่านี้
ฟังบน Youtube

คำว่า “ทัศนคติ” นั้นตามความหมายอย่างเป็นทางการคือ “แนวความคิดเห็น” และเมื่อแยกคำออกมาดูความหมาย จะพบว่า…

ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา [ทัดสะนะ-, ทัด, ทัดสะ-] = น. ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น
คติ ๑ [คะติ] = น. การไป; ความเป็นไป
คติ ๒ [คะติ] = น. แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง

ถ้าอธิบายบนความเข้าใจในมุมหนึ่งจากการวิเคราะห์ความหมาย “ทัศนคติ” ก็คือ คติ อันเกิดจากการได้ “เห็นมา” (ทัศนา) ทั้งเห็นเป็นรูปธรรมและนามธรรม รูปภาพ และมโนภาพ นั่นคือ วิถี แนวทาง ที่ผู้นั้นเชื่อว่าเขาไม่ได้จินตนาการขึ้นมาเอาเอง เขาจึงเชื่อเช่นนั้น ยึดถือว่ามันเป็นเช่นนั้น ฟังดูไม่น่าจะผิด เพราะทัศนคติไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอย..

และเมื่อย้อนคิดเอาตามนี้ว่า “ทัศนคติ” คือความคิดตามสิ่งที่ได้ทัศนาหรือได้เห็นมา เราก็อาจตีความสมการความแตกต่างในทัศนคติได้ง่าย ๆ ว่า มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนชีวิต เห็นอะไรมา ผ่านอะไรมา ประสบอะไรมานั่นเอง ดังนี้แล้ว การจะไปเพียงพูด(ให้จินตนาการตาม) แล้วเขาหรือใครคนนั้น จะเปลี่ยนไปเชื่อสิ่งที่เจ้าตัวไม่ได้พบเห็น หรือไม่เคยประสบด้วนตัวเขาเองนั้น คงยาก..

นี่เป็นหลักคิดที่จริง ๆ ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไรในแง่ จิตวิทยา หรือใครเข้าใจเรื่อง Neuro Programing ก็คงตระหนักดีว่าสมองได้เก็บประสบการณ์มาจากหลาย ๆ ประสาทสัมผัสตลอดช่วงชีวิตหลายปี แล้วจึงเกิดทัศนคติ ท่าที หรือ Attitude เหล่านั้น แต่ในความเป็นพื้นฐานการคิดแบบธรรมดา ๆ แม้เราจะรู้เรื่องนี้ แต่บางทีเราก็ลืมและมองข้ามไป เวลาที่ เจรจา ช่วยเหลือ พูดคุย หรือทำสิ่งใดกับใครแล้ว ผลลัพธ์ทำไมคิด หรือคุยกันไม่เข้าใจ เพียงเพราะลืมไปว่า ทัศนคติ ต่างกัน และที่มาของทัศนคตินั้นมันยากที่จะเหมือนกันดังที่อธิบายไป

เมื่อลองกลับมามองที่เราก่อน หากเราไม่ใช่เป็นคนที่มองอะไรมุมเดียว หรือด้านเดียวล่ะ นั่นเท่ากับว่าเราจะได้ “เห็นอะไร” (ทัศนา) ในหลายมุม ทัศนคติ ของเรานั้น ย่อมจะมีการแตกแบ่งย่อย กว้างขึ้น ลึกขึ้น หรือปรับเปลี่ยนได้เสมอ เพราะจุดเริ่มต้นของการเกิดทัศนคตินั้นคือการ “มองเห็น” ไม่ใช่หรือ และใช่ถ้าคุณกำลังคิดว่า มันก็คือการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ และแม้จะเป็นสิ่งที่เรามองว่า เคยเห็นมาแล้ว แต่ เราเห็นไกลแค่ไหน ลึกแค่ไหน หรือเห็นในรายละเอียดแค่ไหน นี่ก็มีส่วนต่อทัศนคติทั้งสิ้น เช่น การมองอะไรผิวเผิน จึงเกิดทัศนคติได้อย่างหนึ่ง..

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ถ้าคุณเริ่มจะเข้าใจ หรือยังไม่เข้าใจก็ตาม ย่อมมีความคิดก่อเกิดขึ้นมากับคุณ

มิติความนึกคิดตอนนี้ (เป็นทัศนคติอย่างหนึ่งเหมือนกัน) สมมติว่าเป็นความคิดเชิงคัดค้าน เช่นว่า บทความอะไรเข้าใจยากจัง การคัดค้านทางความคิดตรงนี้ เราก็จะลืมนึกคิดว่ากำลังเห็นต่าง “เพราะทัศนคติต่างกัน” หรือลืมทบทวนว่าทำไมเราไม่เข้าใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เพราะหลาย ๆ เหตุการณ์ในชีวิตที่ย่อมมีคนเข้าใจในแต่ละเรื่องมากกว่าด้านเดียว แน่นอนว่าอารมณ์เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก่อนจะเกิดภาวะอารมณ์ ถ้าเราระลึกถึงข้อสรุปที่มาของ “ทัศนคติ” ว่าเป็นอย่างไร เราก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้…

เราจะคิดทันทีว่าไม่ควร “เปลี่ยน” ความคิดเชิงทัศนคติใคร เพราะนั่นหมายความว่าคุณต้องไปลบความทรงจำส่วนนั้นออก! ให้เหมือน ไม่ได้เห็น ไม่ได้ประสบ ไม่ได้พบ มาก่อน เขาถึงจะไม่เชื่อในสิ่งนั้น ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ หากไม่ทำให้เขาพิการ ก็ต้องนั่งไทม์แมชชีนไปเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตเขากันล่ะ

สิ่งที่ง่ายกว่านั้นคือ ลองหาวิธีให้เขา “ได้เห็นสิ่งใหม่” มองมุมใหม่ หรือ เจออะไรใหม่ ๆ ให้ได้ แม้กระทั่งประสบบางอย่าง เช่น ความล้มเหลว ความผิดพลาด ก็ตาม เมื่อ “เห็นใหม่” ก็เกิด “ทัศนคติใหม่” แต่ครั้นจะบังคับให้ย้ายก็คงไม่ใช่ ดูจะกลายเป็นเอาชนะ แต่ถ้าเราตั้งโจทย์เป็นการแค่ให้ “ลองย้าย” มาดู ผมเชื่อว่าการมีปัญหาจากทัศนคติ ย่อมทุเลาลง ทั้งยังฝึกใช้กับตัวเองได้ด้วยซ้ำ เป็นการเปิดความเข้าใจใหม่ ๆ ให้มีการพัฒนาตนเอง ในทางความคิดได้หลายโอกาส

นี่คงเป็นบทความ 18+ ที่ไม่ได้หมายความว่ามีความวาบหวิว แต่เรื่องทัศนคติไม่ตรงกันแล้วมีปัญหามักจะมากับความเป็นคนมีอายุ ผู้ใหญ่ ที่ผ่านหรือแค่คิดว่าผ่านการเห็นอะไรมาด้วยตนเองพอแล้ว (ผมเชื่อว่าภาพยิ่งชัด) ที่ต้องตั้งโจทย์ในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ลอง “ย้าย” แต่ไม่ “เปลี่ยน” และไม่ใช่ “ปรับ” เพราะ “ปรับทัศนคติ” ก็คือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ “ทัศนคติเดิม ๆ” อยู่ดี ไม่ได้จงใจจะเป็นการเล่นคำ แต่มันคือการที่เราควรวางมุมเดิม หรือของเดิมไว้แยกออกไป แล้วย้ายออกมา เพื่อที่จะ “เพิ่ม” มิติใหม่ ๆ เข้าไป ซึ่งผลลัพธ์อาจจะออกมาเห็นซ้ำเหมือนเดิมหรือไม่ก็สุดแท้แต่อย่างน้อยก็เป็นการยืนยันมุมมองนั้น และบางทีทัศนคติใหม่ ๆ อาจกลายเป็นเราที่ได้ ด้วยซ้ำไป

และบทความเรื่องนี้ถ้าตอนนี้คุณเข้าใจ คุณก็อาจกำลังลองย้ายทัศนคติ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องทัศนคติ ให้กับตัวเองในเวลาเดียวกันนี้โดยที่ไม่รู้ตัว..

และสุดท้ายเมื่อคุณย้ายทัศนคติใครไม่ได้ คุณก็อาจย้ายของตัวเองไปเองอย่างง่ายดาย เพราะคุณก็คงไม่ให้ใครเปลี่ยนของคุณเองง่าย ๆ ได้เหมือนกัน..

อีกหนึ่งบทความเพื่อ การพัฒนาตนเอง บทความปรับปรุงแล้วโดย Sirichiwatt เขียนครั้งแรก 16/03/2558

เปลี่ยนทัศนคติ บทความดีๆ การพัฒนาตนเอง

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น