พลังเงียบ

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » เปลี่ยนทัศนคติ » พลังเงียบ |


บางครั้งมันก็ต้องทำอะไรสักอย่าง!.. สักอย่าง ที่ทำนั้น ลองทำเป็น “เงียบ” ดีไหม บางทีมันอาจมีพลังมากกว่าพูด หรือทำอะไรก็เป็นได้นะ…

คำว่า “พลังเงียบ” ส่วนใหญ่มีที่มีมาในเชิงการเมือง ด้วยคำว่า “เสียง” ใช้แทนคำว่า “สิทธิ์” ในการโหวตหรือลงคะแนน รวมถึงการเรียกร้องต่าง ๆ กลุ่มที่มิได้ออกมาใช้สิทธิ์เรียกร้องหรือแสดงตัวจึงนับว่าเป็นกลุ่มพลังเงียบ อย่างไรก็ตามผมไม่ใช่ผู้สันทัดเรื่องการเมือง และบทความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นเคย…

กลับมาสู่ประเด็นที่เปิดไว้ในตอนต้น เมื่อเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น กระบวนการตอบสนองแรก ๆ ที่เรามักทำคือ “การพูด” ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเป็นดีหรือร้าย เช่น มีมีคนเดินสวนมา เราก็พูดทักทาย การถามคำถาม การชมเชย ถ้าเดินชนกัน ก็พูดคำขอโทษ หรืออาจหาเรื่อง? ก็เป็นได้ และด้วยเพราะเป็นเพียงลักษณะของการตอบสนอง เราจึงพูดโดยอาจไม่แน่ใจว่า จำเป็นหรือเปล่า?

แต่เมื่อใดก็ตามที่เหตุการณ์นั้น ๆ ทำให้รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับเราหรือมีผลลัพธ์กับเรา ความรู้สึกจะเริ่มเป็น “ต้องพูด” ไปจนถึง “ไม่พูดไม่ได้”

ภาวะที่เรารู้สึกว่า “ไม่พูดไม่ได้เนี่ย” ไม่ได้หมายความว่าเรารู้ตัวอยู่เสมอหรอกนะว่า “ต้องพูด” หรือเป็นการพูดที่จะเอาเรื่องใคร มีปัญหากับเขาเท่านั้นนะ ใจเย็น ๆ ก่อน แต่หมายความรวมถึงการที่เราพูดไปด้วยนิสัย ความเคยชิน ไปจนถึงอารมณ์ในตอนนั้น ๆ ด้วย… ลองจินตนาการตามกันดู…

ถ้าเรากำลังเดินเดินอยู่ แล้วมีคนที่เรารู้จัก เขาเห็นเราก่อน จึงเข้ามาทักว่า “อ้าว! ไปไหนมาเนี่ย?”

เขากำลังทักทายและตั้งคำถามกับเราโดยตรง แถมสีหน้าแววตายังชี้ชัดว่าต้องการการตอบสนองจากเรา.. เราจะตอบเขาไหม? ตอบว่าอะไร?

ส่วนใหญ่เราก็จะตอบไปในแนวทางความเป็นเรา ประกอบกับความสนิทสนมกับคนนั้น ในทันที เราไม่ได้มานั่งคิดหรอกว่า จะต้องปรับเปลี่ยนอะไรไหม รวมถึงไม่ได้คิดหรอกว่า “เงียบ” ไม่ตอบได้ไหม ไม่นับว่าคุณกับเขาอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติกันนะ เช่น งอนกัน ไม่ค่อยถูกกัน ในที่นี้กล่าวถึงในส่วนใหญ่ปกติทั่วไป

การตอบสนอง พูดไปทันที ธรรมดาง่าย ๆ ไม่ใช่ความผิดอะไร สมองคนเราทุกคนล้วนจัดเรียงอะไรให้อยู่ในระบบอัตโนมัติไว้ก่อนอยู่แล้ว เพื่อตอบสนองต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้รวดเร็ว เพราะถ้าสมองต้องทำงานแบบคิดทุกเรื่องก็จะหนักเกินไป เราคงปวดหัวแทบระเบิด แล้วที่มันอัตโนมัตินี่เองบางส่วนเราเรียกมันว่า “นิสัย”

จึงมีผลให้เราจะพูดไม่คิดกันบ่อย ๆ บ้างก็ไม่เสียหาย บางครั้งก็มีที่เสียหาย… แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ เวลาเราเจอประโยคยาก ๆ ที่ไม่เคยเจอ, คำถามแปลก ๆ หรือที่เราเรียกว่าตั้งตัวไม่ทัน เรามักจะพูดไม่ออก เพราะเราต้องใช้เวลา “คิดมาก” กว่าปกติ เราจึงค่อย “เงียบ” ได้นาน เช่น จู่ ๆ มีคนมาสารภาพรัก หรือบอกว่าชอบ โดยคาดไม่ถึง เราก็ต้องมีอ้ำอึ้งกันไปพักนึงล่ะ…

ถึงตรงนี้ที่อธิบายมาน่าจะคงพอเข้าใจว่าการ “เงียบ” ในช่วงเวลาที่ปกติเรา “ไม่เงียบ” ถ้าจะทำได้นั้น มันคือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง การเปลี่ยนนิสัย ไปจนถึงการพัฒนาตัวเองให้ได้ในรูปแบบหนึ่ง.. ซึ่งหลายครั้งการเงียบนั้นมันมีพลัง ที่หมายถึง “พลังเงียบ” ตามบทความนี้

พลังเงียบ

การพูดออกไปแน่นอนว่ามีประโยชน์อยู่แล้วในแง่การสื่อสาร การไม่พูดไม่จาอาจทำให้อะไร ๆ หยุดชะงักค้างคาอยู่ตรงนั้น แต่ในหลายสถานการณ์ การเงียบก็มีประโยชน์กว่าอย่างที่เราอาจไม่คาดคิด

เงียบเพื่อฉลาดขึ้นกว่าเดิม…

อย่างเวลาเราอยู่ในวงสนทนาที่มีหลายคน แล้วทุกคนก็ต่างออกความเห็นกันในประเด็นหนึ่งที่เราไม่ค่อยรู้เรื่อง หากเราไม่พูดอะไรบ้าง เราก็จะรู้สึก (ไปเอง) ว่าน่าอึดอัด บ้างก็คิดว่า “ถ้าไม่พูดเดี๋ยวเขาหาว่าโง่” ซึ่งบางทีการพยายามพูดแบบไม่ค่อยรู้นั่นแหละ ก็เลยเป็นการ “โชว์โง่” ให้เขารู้ไปเลยทั้งที่ยังไม่มีใครตัดสินสักหน่อย…

คนเราไม่จำเป็นต้องรู้ไปทุกอย่าง การยอมรับตัวเองว่าไม่รู้เสียบ้างไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และ “พลังเงียบ” ในกรณีเช่นนี้ มันจะช่วยให้เรา “ฟัง” เพื่อจะได้รู้ในเรื่องนั้น ๆ หากเราคิดแต่จะ “พูดด้วย” เราก็คงจดจ่อในความคิดว่า พูดอะไรดีนะ จนไม่ได้ตั้งใจฟังเรื่องดังกล่าว หรือฟังเพื่อหาช่อง (พูด) เสริม แทรกต่อ มิใช่ฟังเพื่อรู้ ส่วนใหญ่การโง่เรื่องไหน มันก็แค่ไม่รู้เรื่องนั้นมาก่อนเท่านั้นเอง..

หรือในการสนทนาหนึ่ง มีการโต้แย้งด้านข้อมูลเกิดขึ้น เราก็มีความรู้อยู่บ้างแต่อีกฝ่ายอาจแสดงข้อมูลที่เราไม่เคยรู้มาก่อนออกมาในแบบที่เราขมวดคิ้วว่า “ใช่หรือ?”  หากเรายังเอาข้อมูลเดิม ๆ ไปแย้ง นั่นเราอาจเป็นฝ่ายผิดก็ได้ การเงียบไปก่อน ก็เป็นโอกาสดีกว่าที่จะดันทุรังแย้งไปในตอนนั้น เพื่อให้เราศึกษาหาขอมูลภายหลัง หากมันจริงดังเขาว่า เราก็ไม่เสียหน้าอะไร หากไม่จริงเราก็ยิ่งเป็นฝ่ายได้ เพราะทำให้มั่นใจในข้อมูลทั้งด้านถูกและด้านผิด

บางครั้งการเงียบ ก็คือการให้คำปรึกษา หรือปลอบใจได้ดีที่สุด..

เชื่อว่าต่อให้คนปลอบใจเก่งแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะทำได้ดีทุกครั้ง และก็มีหลายกรณี การปลอบใจหรือให้คำปรึกษาที่ดีกว่า คือ อย่าพยายามพูดอะไรถึงเรื่องนั้น พลังเงียบจากเรา คือ การสื่อสารให้เขาเงียบกับเรื่องนี้เช่นกัน…

ตัวอย่างเช่น สามีกลับจากที่ทำงานมา บ่นเครียดเรื่องงานให้ภรรยาฟัง แน่นอนว่าภรรยาควรตั้งใจฟัง แต่หากมีคำพูด แม้จะเชิงเข้าข้าง หรือใส่อารมณ์ร่วมไป โดยหมายให้เขารู้สึกว่า เธออยู่ข้างเดียวกันกับเขานั้น มันจะทำให้รู้สึกดีได้บ้างก็จริงอยู่ ทว่า มุมหนึ่ง การเงียบ การหยุดเขาไม่ให้คิด ไม่ให้ใส่อารมณ์กับเรื่องที่ทำงานเพิ่ม เงียบเพื่อวางทิ้งไว้ตรงนั้นให้สมองและร่างกายได้พักก่อน มันก็อาจดีกว่าในทำนองว่า ไม่เติมฟืนลงไปในกองไฟเพิ่มนั่นเอง..

เงียบเหมือนเก็บของมีค่าไว้ไม่ไปแลกให้เสียเวลา

มีกรณีที่แม้ว่าเราอยู่ในวงสนทนาหรือไม่ก็ตาม บังเอิญว่าได้ยินได้ฟังคนที่รู้จัก พูดถึงเรื่องที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงที่เรารู้ หรือมีความรู้เอามาก ๆ ย่อมอดไม่ได้ที่จะพูดแก้ไขออกไป อาจดูไม่ผิดอะไร…

แต่ประการแรก หากเราสวนแย้งขึ้นไปทันที อีกฝ่ายอาจไม่ทันฟังอะไรนักและมองว่ามันคือการ “หักหน้า” เราไปทำให้เขาเสียหน้า มองว่าเรามาอวดรู้ก็เป็นได้ เงียบแรกที่พึงมีคือ “เงียบรู้จักรอจังหวะ” การให้คำแนะนำหลังจากนั้นจะมีพลังมากกว่า

กระทั่งว่าหากเป็นเรื่องที่ไม่คอขาดบาดตาย การปล่อยให้เขาเข้าใจไปแบบนั้นมันก็ใช่ว่าจะเสียหายนักหนา เพราะแม้เขาไม่รู้จากเรา เดี๋ยวเขาก็รู้จากคนอื่น หลายเรื่องก็ไม่ใช่แค่เราที่รู้ การไม่ต้องไปเสี่ยงว่าหักหน้าหรืออวดรู้นั้น มันก็ดีไม่น้อย โดยอย่างยิ่ง จนกว่าเขาจะถาม..

เชื่อหรือไม่ การแสดงความรู้เฉพาะเวลาที่มีคนถามนั้น มันมีพลังมากกว่านัก เพราะส่วนหนึ่งหากเขา “ถามเรา” ขึ้นมาแล้ว แสดงว่านั่นสำคัญกว่า คนจะยอมรับฟังกว่า ซึ่งมันมีคุณค่ากว่ามาก และคำพูดเราจะมีน้ำหนักมากขึ้น ต่อ ๆ ไป น่าเชื่อถือในระยะยาว เพียงแต่ “ต้องรู้จักเงียบให้ได้เสียก่อน”

อีกประการสำคัญคือ แม้เราบอกความรู้ หรือความจริงไปแล้ว หากอีกฝ่ายมีการแย้ง หรือยังเชื่อในตรรกะที่ผิดเพี้ยน การที่เรายิ่งเถียงแย้งด้วยนั้น มันยิ่งบ่งบอกว่าเรากำลังเอาสิ่งมีค่าเข้าแลก เพราะภาพที่สะท้อนต่อคนอื่นไม่ใช่แค่เพียงว่า ใครจะเป็นฝ่ายถูก หรือฝ่ายผิด ฉลาดหรือโง่ มิใช่วัดเพียงความถูกต้อง แต่คือ สติและปัญญา ที่ทำให้เห็นได้ว่า จัดการกับสถานการณ์อย่างไร เพราะใคร ๆ ก็รู้ผิดคิดผิดกันได้ แต่น่าคบไหมดูเป็นคนอย่างไร มันวัดกันที่สิ่งอื่น นี่ก็อีกหนึ่งช่วงเวลาที่ควรใช้ “พลังเงียบ”

พลังเงียบจากรอบตัว

การเงียบนอกจากเป็นการสื่อสารจากตัวเราได้แล้ว ถ้าเราทบทวนเราจะสังเกตได้ว่า “ความเงียบ” จากคนรอบตัวก็สื่อสารบางอย่างกับเราได้เช่นกัน เพราะในหลาย ๆ สถานการณ์มันกำลังเตือนว่า เราพูดผิด ทำบางอย่างผิด แม้แต่วางตัวผิด ๆ อยู่ก็เป็นได้ แต่ส่วนใหญ่เวลาเราเจอสถานการณ์เช่นนี้เรามักจะ อึดอัด หงุดหงิด หรือขาดความมั่นใจไปในทันที…. แต่มันก็พิสูจน์ได้ดีนะ ว่านี่แหละ ความเงียบมีพลัง..

หากเรามีสติได้ตอนที่ความเงียบแบบนี้มาเยือน เราอาจได้ทบทวนว่า ได้พูด ได้ทำอะไรที่ผิดพลาดหรือไม่เหมาะสมไปหรือไม่ รวมถึงสิ่งที่เราทำมีค่ามีความหมายเพียงพอหรือไม่ ได้เช่นกัน แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้พลังเงียบจากรอบตัวช่วยเตือนสติ แต่กลายเป็นทำให้เราระแวง วิตก กระทั่งโวยวาย อะไรที่เผลอไม่ดีไปก่อนหน้านี้ ก็คงไม่ได้ดีขึ้น หรือถ้าที่จริงมันไม่มีอะไรก็กลายเป็น คิดไปเองฝ่ายเดียว…

ส่งท้าย

ความเงียบ แม้จะมีพลังแต่ไม่ได้หมายความว่าใช้ได้ดีในทุกสถานการณ์ หลาย ๆ สถานการณ์ควรมีคนพูด ควรมีการออกเสียงสะท้อนไปบ้าง เพียงแต่คล้ายที่เขียนไปในตอนต้นว่า การไม่เคยเงียบก่อน หรือพูดออกไปเพียงเพราะเป็นนิสัยหรือความเคยชิน เพียงอารมณ์ และสถานการณ์พาไป หลายครั้งไม่เคยได้ผลลัพธ์ที่ดีอะไร เราจึงอาจไม่เคยได้สัมผัสกับพลังเงียบที่มีในตัวเรา… เริ่มจากลองหาที่เงียบ ๆ นั่งทบทวนบทความนี้ดูสิ…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 01/02/2021

บทความดีๆ พลังเงียบ

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น