ทำไมการขับรถหรือนั่งรถจึงเหนื่อยง่วง และตบก้นกล่อมเด็ก?

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » A Life In A Day » ทำไมการขับรถหรือนั่งรถจึงเหนื่อยง่วง และตบก้นกล่อมเด็ก? |


เหตุเกิดจากการที่ผม ขับรถส่งทีมงานไปจัดกิจกรรมทีมบิ้วดิ้งให้กับโรงแรมแห่งหนึ่งในหัวหิน การเดินทางจากบ้านไปยังโรงแรมนี้ ใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง ถึง 40 นาที ถือว่าเป็นเวลาที่ไม่ได้นานนัก ปกติขับไปบรรยาย 3-4 ชั่วโมงเป็นเรื่องเคยชิน

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

ฟังบน Youtube

หลังจากที่ส่งทีมงาน เตรียมงานเรียบร้อย ผมก็ขับรถกลับมายังบ้าน เพื่อทำภาระกิจส่วนตัวต่อไป ทว่าระหว่างการขับรถกลับนั้น เกิดอาการง่วงเพลีย ไม่มากถึงขั้นจะหลับ ถ้าแบบนั้นคงต้องแวะนอนข้างทางไม่เสี่ยงอันตราย อย่างไรก็ตามเมื่อถึงบ้าน ผมก็เปิดคอมฯ หมายจะทำงานต่าง ๆ ตามตารางของตัวเอง..

แต่อาการง่วงทำให้รู้สึก มึน ๆ สมองไม่แล่น นั่งมองคอมพิวเตอร์แบบอึน ๆ นั่งไป นั่งมา ก็แว่บคิดได้ว่า..

ทำไมการขับรถ จึงทำให้เราเหนื่อย ง่วงกันนะ?

ว่าแล้วก็ลองเสิร์ช google โดยพลัน ในภาษาไทยมีกระทู้ 2-3 อันในพันทิป ผมเข้าไปอ่าน ส่วนใหญ่ความเห็นบอกว่า เพราะการขับรถเราต้องเปิดประสาทอย่างมาก เสมือนสมองต้องทำงานเยอะ จึงเกิดอาการเหนื่อย เพลีย ง่วง ไปตามกัน บางความเห็นบอกว่าเพราะรถสั่นสะเทือนร่างกาย และกล้ามเนื้อเราถูกเขย่า บางส่วนเป็นเรื่องวิธีแก้ง่วงขับรถกันไป ดูก็น่าสนใจ แต่ยังรู้สึกไม่มีอะไรยืนยันชัดเจนว่าสาเหตุอะไรแน่ จึงเปลี่ยนไปค้นเป็นภาษาอังกฤษ

ด้วยทักษะภาษาอังกฤษแบบเกรด 2 จึงเจอบทความหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นการวิจัยของมหาลัยชื่อ RMIT ใน ออสเตรเลีย

เขาได้ค้นพบว่า “การสั่นสะเทือน มีผลต่อความเหนื่อย” ศาสตราจารย์สตีเฟ่น โรบินสันภาควิชาจิตวิทยาของ RMIT กล่าวว่าการค้นพบอย่างหนึ่งคือ การสั่นสะเทือนเบา ๆ ของ(ที่นั่ง)รถ ตอนรถวิ่ง มีผลให้สมองและร่างกายของคุณเสมือนถูกกล่อม..

ทันใดนั้น! ความคิดหนึ่งแว่บเข้ามา นี่มันคงคล้ายที่เรา ตบก้นเด็กเบา ๆ เพื่อให้เขาหลับ.. ใครคิดเรื่องนี้เนื่ย!!

การวิจัยบอกไว้ประมาณว่า ผลของการสั่นสะเทือนคงที่ บนความถี่ต่ำ (4-7Hz) เหมือนที่เราพบบนรถต่าง ๆ ขณะวิ่งมีผลทำให้เกิดการง่วงนอน เพียงแค่ 15 นาทีก็เกิดผลได้แล้ว โดยทีมวิจัยทดสอบให้ผู้ร่วมการทดลองเสมือนอยู่ในรถที่เดินทางบนถนนมอเตอร์เวย์ 60 นาที เมื่อเวลามากขึ้น ก็ทำให้ง่วงมากขึ้นตามมา

สิ่งที่วัดคือความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ ที่บ่งชี้ความเหนื่อยล้า โดยเขาบอกว่าสิ่งนี้ไม่มีปัจจัยของสภาพร่างกายว่าพักผ่อนมาแล้ว หรือสุขภาพร่างกายดีเกี่ยวข้อง รวม ๆ ก็ประมาณนี้ หากสนใจอ่านบทความเต็ม ที่เครดิตด้านท้าย ทั้งนี้หากผมเข้าใจ แปลอะไรผิดรบกวนแนะนำ

เรื่องดังกล่าว ทำให้ผมคิดตาม ในตอนแรก ผมแอบเชื่อว่า การที่ขับรถต้องเปิดประสาทมาก ก็เหมือนคนต้องทำงานหนัก จึงเหนื่อยเพลีย แต่พอได้อ่านก็คิดอีกทีว่า ที่จริงใช่เฉพาะคนขับ คนนั่งรถไม่จำเป็นต้องเปิดประสาทอะไร เว้นนั่งกับคนขับไม่น่าไว้ใจ (ฮ่า) คนโดยสารก็เพลียง่วงเช่นกัน และบางทีน่าจะเป็นในเชิงตรงกันข้าม คนขับคงจะง่วงยากกว่า เพราะประสาทต้องตื่นตัว

ดังที่ได้กล่าวเสริมไป เรื่องนี้ทำให้คิดไปอีกได้ว่า การตบก้นเด็กเบา ๆ เพื่อกล่อมนอนนั้น มันควรจะได้ผลจริง ซึ่งต้องปรบมือคนคิด อันน่าจะมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ผ่านการวิจัยของยายเมี้ยน แม่นมยุคต้นรัตนโกสินทร์เป็นแน่ เพียงแต่ว่า มือที่ตบให้เกิดแรงสัมผัสบางเบา 4-7 Hz นั้นคงต้องผ่านการฝึกฝนกันบ้างพอควร (ฮ่า)..

เรื่องนี้ในยุคใหม่ พ่อแม่หลายคน พาลูกเล็กที่หลับยาก กล่อมนอนด้วยวิธีการนั่งรถ ไม่ว่าจะรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ไม่แปลกที่ได้ผล อีกส่วนที่น่าจะมีผลคล้ายกันคือ เสียงที่สม่ำเสมอของเครื่องยนต์ ก็น่าจะมีผลคล้าย White noise ที่เขาว่าเป็นเสียงรบกวนที่ทำให้สมองสงบ ตรงนี้ยังไม่ได้หาข้อมูลจริงจัง

ผมคิดไปอีกด้วยว่า การออกกำลังกายประเภทเครื่องสั่นสะเทือนก็ต้องมีผลกระตุ้นให้เหนื่อยอ่อนเพลียได้สิ? สิ่งนี้ก็ยังเป็นเพียงสันนิษฐาน ประโยชน์จริง ๆ งานวิจัย คือเขาบอกไว้ด้วยว่า การออกแบบที่นั่งที่ลดการสั่นสะเทือน จะมีผลต่อผู้ขับขี่ให้ง่วง เพลียได้น้อยลง ซึ่งก็คงตามนั้น

จากที่สงสัยเรื่องหนึ่ง จนไปเจอหลักการของเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ สงสัยเรื่องนั่งรถ ไปได้แง่คิดการตบก้นเด็ก ทั้งหมดนี่ คิด ค้น เสร็จแล้ว ก็หายง่วงจากที่ขับรถไปส่งทีมงานเลยทันที..

ที่มาข้อมูล https://www.irishexaminer.com

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 12/6/2019

ทำไมการขับรถหรือนั่งรถจึงเหนื่อยง่วง และตบก้นกล่อมเด็ก?
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น

Leave a Comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.