ณ วันนี้ หลายท่าน คงได้ลงทะเบียนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบไวรัสโควิท 5 พันบาท 3 เดือน ซึ่งลงทะเบียนอย่างไร จะตรงตามเงื่อนไขแล้วได้เงินหรือไม่ อันนี้ก็ต้องติดตามกันไป สำหรับผมแล้วไม่ได้ลงทะเบียน ไม่ใช่ว่าไม่ได้รับผลกระทบนะครับ เผลอ ๆ รับผลกระทบมากกว่าหลายคน คือ นอกจากแทบไม่มีงานแล้ว ยังต้องมีรายจ่ายเกี่ยวงานอีกด้วย เรียกว่า ติดลบกันไปทีเดียว
แต่สิ่งที่จะมาพูดคุยหรือเรียกว่า แบ่งปันประสบการณ์ คือ “5,000 เนี่ย พอไหม?” หรือจะอยู่ให้รอดกันได้อย่างไร?
ถ้าจะย้อนไปกล่าวว่า มันต้องมีวินัยการเงิน แง่นั้นถูกต้อง แต่ในสถาการณ์เช่นนี้ ความจำเป็นและปัจจัยต่าง ๆ คงไม่ใช่เวลาจะมาเท้าความกันถึงตรงนั้น เชื่อว่าผ่านวิกฤตินี้ไป เราหลายคนคงได้ประสบการณ์ และตระหนักถึงอะไรหลายอย่าง เอาเป็นว่า วันนี้ต้องรอดให้ได้กันก่อน
เพิ่มเติมนิดหนึ่งก็คือ ผมไม่เขียนใด ๆ เกี่ยวกับการเมือง และ เชื่อว่ามีคนหาเช้ากินค่ำ หลายคนลงทะเบียนไม่เป็น ใครช่วยเหลือได้ ก็สละเวลาช่วยสักหน่อยนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องปากท้องของหลายคน
มาตรการ 5 พันบาทที่อาจเรียกตามชื่อเว็บลงทะเบียนว่า “เราจะไม่ทิ้งกัน” เป็นมาตรการที่ดีสำหรับตอนนี้ เพราะที่จริงแล้วไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ แต่การแก้ปัญหาจากภาครัฐ จะดีหรือไม่ “เราก็ต้องช่วยเหลือตัวเองไปด้วย” เสมอ เพราะ 5 พันมันอาจไม่มาก มีคนมองว่ามันไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำ ว่ากันอย่างยุติธรรม เรื่องเงิน ยากที่จะมีคำว่าพอ ต่อให้ได้ 9 พัน มันก็ต้องมีคนบอกว่าน้อยกว่าเงินเดือนตั้งเยอะ มีรายจ่ายตั้งเยอะอีกอยู่ดี นี่คือสิ่งแรกที่ควร คิดและช่วยเหลือตัวเองไปด้วย ใช่ว่าจะหวังแต่ได้ จริงไหมครับ (บางคนก็ได้ 7,500 จากประกันสังคมก็ดีกว่าหน่อย)
5 พัน จะอยู่ยังไง?
เล่าแบบรวบรัดว่า ผมอาจมีความติสท์, อินดี้ ในภาษาที่เขาเรียกกัน คือ ทำอะไรตามแนวคิดตัวเองอยู่พักหนึ่งของการใช้ชีวิต ทุกช่วงของออกจากงาน หรือตกงานด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะเลือกไม่ทำอะไร อยู่เฉย ๆ ในที่นี้ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลยนะครับ ในตอนนั้นคือ พยายามหาว่า จะทำอะไร หรือทดลองโน่นนี่นั่นอยู่ ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ จะเรียกว่าค้นหาตัวเองก็ได้ ก็คล้ายกับกักตัวไปโดยปริยาย แต่โดยรวมแล้ว “ไม่มีรายได้” และมันก็ต้องใช้เงินเก็บ..
ผมไม่ใช่คนรวย ไม่ใช่ลูกเศรษฐีมีสมบัติ ในภาวะที่หยุดงาน ผมก็ใช้ได้แค่เงินตัวเองที่อดออมมาจากการทำงานมนุษย์เงินเดือนสมัยนั้น จึงมีไม่มากอะไร ไม่ได้พึ่งพาใคร เพราะถ้าไปกวนใครเขา เขาก็ต้องบอกว่าทำไมไม่หางานทำ ซึ่งป่วยการอธิบาย เอาเป็นว่า ช่วงชีวิต 2-3 ครั้งในตอนนั้นแหละครับ ก็เหมือนว่าต้องใช้ไม่ให้เกินเดือนละ 5 พัน ไปโดยปริยาย ทีนี้จึงจะมาเล่า และแบ่งปันประสบการณ์ดังที่บอก
แนวคิดการอยู่รอด เดือนละ 5 พัน
- วิเคราะห์เงินก้อนนี้.. สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจ เงินที่ได้มา (เมื่อไม่ได้ทำงาน) อย่าไปเทียบกับตอนที่เราทำงาน เพราะอย่างไรมันก็คนละเรื่อง สิ่งที่ควรจะมองเห็นอย่างแรกคือ แม้เราไปทำงานได้มันได้มากกว่าก็จริง เท่าไหรก็ตาม แต่มันก็มีรายจ่ายในการทำงานด้วยที่หายไป ซึ่งขอแยกเลยละกัน อาจไม่ไล่เรียงชัดเจนนัด แต่เชื่อว่ามีประโยชน์พอที่จะทบทวน วางแผนการใช้ชีวิตในช่วงนี้กันต่อไป
- ค่าเดินทางที่หายไป.. ไม่ว่าจะทำงานที่ไหน มักจะมีค่าเดินทาง มากน้อยไม่เท่ากัน ยิ่งในเมืองหลวงค่าเดินทางไปทำงานเดือน ๆ หนึ่งบางคน “หลายพัน” ค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า ค่าวินมอเตอร์ไซค์ ที่บางทีหลายต่อ เดือนหนึ่งก็หลายร้อยไปจนหลักพัน อีกประเภทที่ถ้าคิดวิเคราะห์กันจริงจัง รถที่ไม่ต้องขับ น้ำมันไม่ต้องเติม รถเสื่อมสภาพน้อยลง ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน กลุ่มคนมีรถเอง ประหยัดไปหลักพันแน่นอน
- ค่าอาหารที่แม้ยังมี.. แต่จะจ่ายถูกลงได้มาก.. คุณจะมองเรื่องนี้อย่างไรก็ตาม แต่ดังที่บอก เราต้องช่วยตัวเองในส่วนหนึ่ง ดังนั้นถ้าจะรอดก็เป็นช่วงที่ควร “เจียมตัว” ในเรื่องการกิน “กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน” เป็นข้อคิดในเวลานี้ ซึ่งไม่ได้แนะนำว่าต้องมาม่า ปลากระป๋องทุกมื้อนะครับ ดูแลสุขภาพกันบ้างด้วย ซึ่งถ้าละเอียดอีกหน่อย วางแผนเมนูแต่ละมื้อให้ดี ทำกินเอง ยิ่งช่วยประหยัดได้มาก แต่มันต้องทำปริมาณมากพอ ซึ่งการทำอย่างเดียวแล้วกินทุกมือ มันดูลำบากเกินไป แถมสารอาหารอาจไม่ครบถ้วน แต่ทำเมนูประเภทที่กินวันนี้เก็บไว้กินวันอื่น เอาไว้สลับกันให้ไม่เบื่อไม่เอียน มันก็ดีไม่น้อย
- ค่าสร้างภาพการกินอยู่.. อาจเชื่อมโยงกับข้อที่แล้ว แต่มีหลายเรื่องที่เป็น “พฤติกรรม” อันไม่จำเป็น เช่น หลายคนต้องถือกาแฟ/ขนม เข้าออฟฟิส ไม่ต้องพูดว่าแบรนด์อะไร แต่มีมากมายที่ ไม่ได้กิน.. กาแฟละลาย ขนมกินไม่หมด แต่ของมันต้องมีประดับโต๊ะทำงาน หรือแวะซื้อถือเข้าออฟฟิส เสมือนเป็นธรรมเนียม ซึ่งวันละ หลักร้อยได้ไม่ยากที่ต้องจ่ายไป รวมแล้วเดือนหนึ่งบางทีหลายพัน อยู่บ้านอยากกินกาแฟ ก็ชงกินเองเอาก่อนดีกว่า และหลายอย่างทำให้อ้วนเสียสุขภาพด้วยซ้ำไปนี่จึงเป็นโอกาสดีของร่างกายอีกด้วย
- ค่าสร้างภาพภายนอก.. ช่วงนี้ เครื่องสำอาง เสื้อผ้า หน้าผม อาจไม่จำเป็น รายจ่ายส่วนนี้ลดลงไป อะไรที่อยากได้ ก็เตือนตัวเองไปว่า ซื้อมาก็ไม่ได้ใช้ ไม่ต้องรีบ ปิดการมองเห็นเพจขายของบางเพจ unfollow ไปบ้าง จะได้ไม่ต้องคอยหักห้ามใจ ไม่เห็นเลยดีสุด..
- วางแผนจับจ่าย.. มีสิ่งของหลายอย่างที่เราจำเป็นต้องใช้ เช่น ทิชชู่ สบู่ ยาสีฟัน อื่น ๆ ตามแต่ละคน ถ้าในภาวะเช่นนี้ เคยซื้อยี่ห้อไหน ไซส์ ขนาดใหญ่ ที่เคยซื้อยกโหล ก็อาจปรับ บางทีก็อาจต้องพิจารณามุมที่ว่าใช้ภายในเดือน-สองเดือนหมด ก็พอ รอให้สถานการณ์ดีขึ้น พูดง่าย ๆ ใช้จ่ายให้คุ้มค่า “ซื้อมาต้องได้ใช้” ในทำนองนี้เอง
- หาความสุขที่ไม่ต้องเสียเงิน.. ในภาวะนี้ความเบื่อ เครียด สะสมเกิดขึ้นได้ จึงอาจนำพาเราให้ “อยากใช้เงิน” แต่มีวิธีอีกมาก ที่จะผ่อนคลาย หาความสุขในแบบที่เป็น แนะนำเรื่องหนึ่งตรงนี้ ยิ่งมีเวลามาก ยิ่งควรลดเล่น โซเชียลเน็ตเวิร์คให้มาก เพราะ “ส่วนใหญ่” มีแต่แรงกระตุ้นทางลบ หรือไม่ก็ชวนให้เสียเงิน ดีมาก ถ้าเปลี่ยนไปหาเรื่องราวพัฒนาตนเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ให้ตัวเอง จัดบ้าน ทำสวนไปอะไรทำนองนี้
ถึงตรงนี้ที่ยังไม่จบนะครับ และหลายคนเริ่มคิดแล้วว่า เรื่องที่กล่าวมาไม่เป็นปัญหาหรอก แค่กินอยู่ แต่รายจ่ายอื่น ๆ ที่เป็นภาระล่ะจะทำไง?
- วันละ 166 บาท?.. หากคิดกันตรง ๆ แล้วจาก 5 พัน 1 เดือน 30 วัน ก็จะตกที่ 166 บาทแบบปัดเศษลง เบื้องต้นก็คิดง่าย ๆ ว่าทำยังไงไม่ให้ใช้เกินนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันต้องเผื่อเหลือ เผื่อขาด สิ่งสำคัญสุดคือการกิน มื้อละ 30-40 บาท จะทำให้มีเงินเหลือไปส่วนอื่น ๆ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความต้องกิน และใช้ ให้พอดี วันหนึ่งอาจต้องเกินบ้าง และวันหนึ่งอาจไม่ถึงบ้าง ซึ่งบางค่าใช้จ่ายไม่เกิดทุกวัน ดังนี้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดทุกวันเช่นค่ากิน รวมแล้วต้องใช้ไม่ถึง 160 เด็ดขาด
- หนี้สิน.. ก่อนอื่นก็ใจเย็น ๆ เพราะตามโครงการที่รัฐเขาช่วยเหลือแล้ว ทั้งการเลื่อนชำระหนี้ ลดค่าชำระขั้นต่ำ ในส่วนนี้ก็ควรรีบดำเนินการตามแต่ละเงื่อนไขให้เรียบร้อย ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เหมือนจะลำบาก แต่นโยบายตอนนี้ทำให้สะดวกขึ้นมาก เช่นเดิมคือ ใช่ว่าจะรอรัฐจัดการให้ เราต้องติดตาม ศึกษา จัดการเองด้วย ใช่ว่าทุกคนจะอยากเลื่อนหนี้นะครับ บางคนเขามีพอที่จะจ่าย พอมีผ่อน เขาก็อยากให้มันจบไป..
- บิลรายเดือน.. ที่ไม่ใช่หนี้สิน แต่เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ในส่วนนี้ หลายคนรวมแล้วก็อาจมีเป็นพันบาท ซึ่งอันไหนประหยัดได้ก็ประหยัด ค่าน้ำ ค่าไฟ หลายคนอาจลดได้ไม่มาก (มีมาตรการจะลดให้ด้วย) แต่เชื่อว่า ค่าโทรศัพท์และ อินเตอร์เน็ตนี้ยืดหยุ่นได้มาก กรณีอยู่คนเดียวหรือ 2 คน ก็ต้องดูว่า เน็ตบ้านจำเป็นแค่ไหน (ใช้เน็ตมือถืออยู่แล้ว) หรือ มีเน็ตบ้านอยู่แล้ว เปลี่ยนโปรโมชั่นมือถือให้ลดลง รักษาเบอร์เดิมไว้ติดต่อ แต่เติมเงินโปรอื่นเอาอะไรทำนองนี้ รวมถึงค่า subscription ต่าง ๆ เช่น spotify, netflix มัน “เหมือน” จำเป็น แต่หันไปเสพสื่อบันเทิงทางอื่นชั่วคราวก่อนบ้างก็ได้ ก็แค่สะดวกน้อยลง ไม่ได้ดังใจบ้าง แต่อย่างน้อยไม่เสียเงิน
- ค่าเช่าที่พักอาศัย.. สำหรับผมมองว่า นี่น่าจะยากลำบากที่สุดสำหรับบางคน มีเจ้าของหลายคนใจดียกค่าเช่าให้ ตรงนี้ก็จบปัญหา แต่หลายที่ก็ไม่ ซึ่งมันจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 3 พันบาทเลยทีเดียว การ “อยู่รวมกัน” เป็นสิ่งจำเป็น กรณีนี้คนละเรื่องกับควรห่างกัน social distance นะครับ รวมกันกับคนในครอบครัว กลับไปอยู่บ้าน แม้หลายคนจะบอกว่าไม่ควรกลับ แต่จำเป็นก็ต้องไป เพียงแต่ สำรวจตัวเอง สำรวจอาการก่อนกลับ กักตัวเองก่อนกลับด้วย กลับไปแล้วกักตัวอาจช่วยอะไรได้น้อยกว่าด้วยซ้ำ กล่าวคือถ้าอยู่ลำพังแล้วไม่มีอาการ กลับไปเจอคนที่บ้านก็น่าจะปลอดภัยกว่ากลับไปเจอแล้วค่อยกักตัว..
- ภาระอื่น และภาระเลี้ยงดู.. นี่ก็อีกเรื่องเช่นกัน ที่สร้างความลำบากใจให้หลายคนถ้าไม่มีเงินสำรอง เช่นคนที่มีลูก มีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ถ้าเป็นครอบครัวที่หารายได้มากกว่า 1 คน ก็ต้องจัดสรรเงินรวมกันให้ดี ค่าใช้จ่ายที่แชร์กันก็ช่วยลดบางส่วนได้ แต่ทว่า 5 พันสำหรับ 1 คนอาจพอรอดได้ แต่ถ้ามากกว่านี้เป็นไปได้ยาก กระทั่งมีรายจ่ายที่สุดวิสัย เช่นข้าวของจำเป็นเกิดชำรุดเสียหาย ทางเลือกที่เหลือก็คือมาตรการรัฐ กู้ฉุกเฉิน รายละ 1 หมื่น รายละเอียดเงื่อนไขอันนี้ต้องศึกษากันไป ทำไมต้องกู้? ในเมื่อจำเป็นก็ควรกู้ตามมาตรการรัฐที่เขามีให้ ดอกต่ำสุดแล้วครับ และไม่จำเป็นไม่กู้ดีกว่าอยู่แล้ว
- เงินสำรอง(ถ้ามี).. หลายคนก็อาจมีเงินสำรองใช่ว่าจำเป็นต้องพึ่งแต่ 5 พันบาท ชีวิตก็จะยืดหยุ่นขึ้นสักหน่อย แต่ก็ไม่อยากให้ประมาท เป็นไปได้ก็เอาไว้สำรองไปก่อน เรายังไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งกับสภาพการณ์ภายนอก และตัวเราเอง
- หนี้นอกระบบ คือสิ่งที่ใครก็ยากจะช่วย และไม่ควรยุ่งเกี่ยวโดยสิ้นเชิง ไม่มีข้ออ้างใดถ้ามีอยู่แล้ว หากไม่มาก ก็อาจกู้ฉุกเฉินจากรัฐโป๊ะหนี้เสียให้หมด เหมือนโอนหนี้ คงทำได้เพียงเท่านี้ เพราะหนี้นอกระบบ เท่ากับว่าคุณอยู่นอกระบบที่ควรจะเป็น ตั้งแต่ไปกู้มาแล้ว
- หารายได้อื่น นอกจากพยายามลดรายจ่ายแล้ว การมีรายได้เพิ่มคือทางออกที่ยิ่งดี ถ้ายังพอหารายได้ ได้ก็ควรหารายได้ต่อไป และระวังไว้ อย่าไปคาดฝัน คาดหวังกับการหาเงินผิดวิธี เช่น พนันออนไลน์อะไร หรืออะไรอื่น ๆ ชีวิตแทนที่จะรอดไปได้ และดีขึ้นเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น อาจกลายเป็นว่า สถานการณ์ดีขึ้นแล้วคุณจะแย่ลงกว่าเดิมก็ได้ หากไปสนใจสิ่งเหล่านี้
สำคัญที่สุดคือ วินัย และ อดทน
ถ้าในตอนนี้มันเป็นสถานการณ์ปกติก็เรื่องหนึ่ง แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ หากไม่คิดจะอดทน ใครก็คงช่วยอะไรเราไม่ได้ หลายเรื่องที่เขียนในบทความนี้ อาจเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้ว คิดได้กันอยู่แล้ว แต่การลงมือทำให้เข้มงวดนั้นสำคัญกว่า และจะเต็มใจหรือไม่ คนที่ไม่เคยทำได้ จะทำได้ในตอนนี้และอาจมีประโยชน์ในระยะยาวด้วยซ้ำไป กลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ประหยัดอดออมไปอีก
อีกประการคือ อย่าได้ไปคิด หรือรู้สึกว่า อดสู ลำบาก การทำบางสิ่งพือวันข้างหน้านั้น ควรจะนับถือความอดทนเพียรพยายามของเราด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นช่วงปกติ การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก การมุ่งมั่นอ่านหนังสือสอบ การซ้อมกีฬา การขยันเพื่อที่จะรวย สิ่งต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อวันข้างหน้า ก็จะผ่านภาวะคล้ายนี้อยู่ดี
ณ วันนี้ ผมพยายามคิดว่า จะช่วยอะไรได้บ้างในภาวะเช่นนี้ นอกจากช่วยตัวเองและคนรอบข้างไปพลาง บทความนี้ก็เป็นอีกสิ่งที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์และเป็นสิ่งที่ผมทำได้ บนความถนัด หรือจากสิ่งที่มีอยู่ ใครมีไอเดีย มีความสามารถ มีกำลังด้านใด ก็ต้องช่วยกันครับ หรือเอาแชร์กัน แม้ว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แต่ระหว่างนี้แหละครับ ก็ต้องพากันผ่านไป ไปด้วยกัน