เงินกู้นอกระบบที่ว่าร้าย เงินกู้ในระบบก็ตัวดี

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » A Life In A Day » เงินกู้นอกระบบที่ว่าร้าย เงินกู้ในระบบก็ตัวดี |


เงินกู้นอกระบบ เป็นเรื่องที่สร้างปัญหาตามที่เห็นกันมามาก แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก แต่อันที่จริงสิ่งที่ควรระวังที่สุดคือ “หนี้ในระบบ!” อ่านไม่ผิดหรอกครับถือว่าเป็นเรื่องราวเล่าสู่และชวนให้คิดตามกัน….

คงมีไม่น้อยที่รู้สึกเหมือนกันกับผม เวลาเห็นข่าวปัญหาเงินกู้นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีทวงหนี้เดือด หรือโยงไปสู่การก่ออาชญากรรม ชิง ปล้น ไปจนถึงการจบชีวิตตัวเองเพราะสู้หนี้ไม่ไหว มันทำให้แอบคิดว่าทำไมต้องไปกู้นอกระบบ? แต่มองลึกลงไปบางที เงินกู้ในระบบ นี่แหละคือตัวร้ายคล้ายเป็น เพื่อนกันกับนอกระบบ เลยทีเดียว…

เป็นความจริงที่ขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินหรือปัจจัยบุคคลที่เป็นต้นตอของทุกอย่าง แต่เราจะไม่พูดถึงกันในบทความนี้ และการกู้ยืมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพียงแต่จะกู้มาเพื่อสิ่งใดนั้นก็เป็นปัจจัย ที่สำคัญสุดคงเป็น กู้มาจากไหน? และดอกเบี้ยเท่าใด? นี่ล่ะที่ทำให้ปัญหาตามมา

เงินกู้นอกระบบ

เหตุผลเดียวที่เงินกู้นอกระบบเลวร้ายคือ “ดอกเบี้ย” ที่มากเกินไป สมัยเริ่มทำงานด้วยเงินเดือนที่น้อยนิด ก็แอบคิดยิ้มเยาะกับเงินกู้นอกระบบบนความรู้สึกว่าต้องโง่มากแน่ ๆ ที่จะไปเสียดอกแพงขนาดนั้น แต่ยิ่งโตขึ้นมากลับกลายเป็นว่าเห็นคนรอบตัวมีปัญหาเรื่องนี้กันบ่อยครั้ง ทำให้เฉลียวใจต้องมาคิดใหม่ “ทำไมกันนะ?…”

“ความจำเป็น” คือคำตอบพื้นฐานที่พูดง่ายแต่เข้าใจยาก หากขยายให้เห็นความจำเป็นบางรูปแบบของหลายคน คือ “พลาดไปแล้ว หาทางออกไม่ได้…” เพราะในวัยเริ่มสร้างตัวโอกาสผิดพลาดทางการเงินยังน้อย โอกาสหาเงินก็ยังเปิดกว้าง แต่พอเข้าช่วงหนึ่งภาระมากขึ้น ปัญหาสะสมมากขึ้น ทางออกจึงน้อยลง ไม่มีสถิติเป็นทางการแต่ถ้าไปไล่ดูน่าจะพบว่า คนหนุ่มสาวน้อยนักที่จะเป็นหนี้นอกระบบ หากไม่เกี่ยวกับอบายมุขหรือการพนัน แต่วัย 30 ขึ้นไปมักเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของหนี้นอกระบบมากกว่า และอย่าไปถามว่าทำไมไม่ไปกู้ในระบบ เพราะคำตอบอาจจะพบได้ว่า “กู้แล้ว…”

ปัจจัยอีกประการของหลายคนคือ ด้วยวัยที่ล่วงเลยบนชีวิตที่ผิดพลาดจึงไม่อาจหางานประจำทำที่มีหลักฐานมั่นคงพอให้กู้ในระบบได้ เช่น ค้าขายมานานแต่มันไม่เคยดีขึ้น (ที่จริงควรเปลี่ยนตัวเองแต่ก็ทำไม่ได้) วันนี้จะไปกู้ในระบบจึงยาก เพราะไม่มีเงินเดือน รายได้ไม่เพียงพอ กลุ่มนี้ก็มีมากมาย แต่จะว่าไปแล้วนี่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง

เงินกู้ในระบบ

ธุรกิจย่อมต้องการกำไร เงินกู้ในระบบก็เป็นธุรกิจที่เรียกว่า “ธุรกิจสินเชื่อ” ย่อมต้องการกำไรไม่ต่างกัน ในธุรกิจทั่วไป อาจมีกลยุทธ์การตลาด ทำให้เราตกเป็นทาสการตลาด มีการออกโปรโมชั่น โฆษณากระตุ้นให้เราสนใจ อยากได้ อยากมีในสิ่งนั้น ๆ เพียงแต่หากเราหลงไปในสิ่งไม่จำเป็น ก็ถือว่าเต็มใจที่จะจ่ายมันไปเอง

แต่เงินกู้ในระบบบางส่วนเสริมแรงกระตุ้นให้คนหลงไป เช่น ผ่อนสินค้า 0% ด้านหนึ่งเป็นข้อดีของผู้ซื้ออย่างเรา (ฝั่งสินเชื่อได้ค่าธรรมเนียมจากฝั่งผู้ขาย) ผมเองก็ใช้บ่อย ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คล้ายขุดบ่อล่อปลา ถ้าไม่มีวินัย เมื่อสะดวกดี ก็มีโอกาสผ่อนกันง่าย ๆ แต่ถ้าขัดสนขึ้นมา ชำระช้าเพียงนิด 0% นั่นจะเพิ่มเป็น 20% ได้ไม่ยาก (ดอกเบี้ยปกติ+ค่าธรรมเนียมสารพัด) กลายเป็นมากกว่าแพงกว่าผ่อนแบบมีดอกปกติไปเยอะ และอีกส่วนคนที่มีบัตรประเภทผ่อนสินค้าบางคนไปซื้อ(รูด) สินค้าออกมาขายถูกกว่าตลาดเพื่อให้ได้เงินสดไปแทน ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรเพียงแต่มันเริ่มสะท้อนได้แล้วว่าผิดประเภท และดอกเบี้ยแฝงโหดพอดู

บัตรกดเงินสด ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ร้ายกาจกว่าบัตรเครดิต เพราะเงื่อนไขทำได้ง่ายกว่าบัตรเครดิต แต่หากพิจารณาจะเห็นว่า แทนที่คนฐานเงินเดือนน้อยจะเสียดอกเบี้ย/ค่าธรรมเนียมต่ำ กลายเป็นสูงกว่า (เข้าใจได้อยู่ว่าประเมินที่ความเสี่ยง) แต่เมื่อได้มาง่าย/ใช้งานง่ายกว่า ก็หลงไปได้ง่ายกว่า และปัญหาก็มีด้วยตรงที่ว่าฐานเงินเดือนเดียวแต่ออกบัตรได้หลายใบ น่าสนใจไหมล่ะ.

ที่เริ่มร้ายเข้าไปอีกทุกวันนี้หลายธุรกิจทำในสิ่งที่เรียกว่า ไมโครไฟแนนซ์ (Microfinance) นอกจากเงินกู้รายย่อยเข้าถึงง่ายแล้ว เหล่าแอพต่าง ๆ ก็มีวงเงินให้ผ่อน ให้ใช้ก่อน โดยแทบไม่ต้องอนุมัติอะไร แม้จะไม่หนักหนาในตอนนี้ (เพราะปี 2565 ถือว่าเพิ่งเริ่ม) แต่มันส่งผลต่อเนื่องไปได้ไม่ยากเลย

กลุ่มสหกรณ์ เป็นอีกที แต่จะกล่าวหาว่าร้ายคงไม่ได้ เพราะที่จริงแล้วกลุ่มสหกรณ์อยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ดีมาก เป็นแหล่งเงินทุนช่วยเหลือที่ดีที่สุดแล้ว ผมเองยังอิจฉาสมาชิกหลายกลุ่มสหกรณ์เพราะได้เข้าถึงเงินทุนที่ดอกเบี้ยดีสุด ๆ เพียงแต่… ที่สุดแล้วด้วยความที่ดอกเบี้ยถูก อนุมัติง่ายเพราะหักเงินเดือนได้ทันที (โดยอย่างยิ่งสหกรณ์ข้าราชการต่าง ๆ) มีส่วนส่งเสริมสวัสดิการหลากหลาย แต่หากไปดูเบื้องหลังจะพบว่า หลายคนกู้มาจนเดือนหนึ่งเงินเดือนเหลือไม่ถึง 3-5 พัน อยากให้ลองมองความเป็นจริงว่าดำรงชีวิตกันอย่างไร?

เหล่านี้ที่กล่าวมาคือ “เงินกู้ในระบบ”

กู้ที่ไหนก็ไม่ต่างกัน…

จุดเริ่มต้นของความพังทางการเงิน หรือเวลาที่เราจะกู้จะผ่อนคือความประมาทที่คิดว่า จะหามาใช้คืนได้ หรือบอกตัวเองว่ามันจำเป็น แล้วภาวะที่จะกู้ไม่ว่าจากที่ไหนก็ไม่ต่างกัน เพราะส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าเดี๋ยวต้องแก้ไขได้ ซึ่งถ้าอ่านไล่มาถึงตรงนี้ แล้วเข้าใจความเป็นจริงจะพบว่าไม่มีใครอยากเลือกนอกระบบก่อนแน่.

อาจมีการโทษที่หนี้ในระบบที่เข้าถึงยาก ซึ่งจริงเพียงบางส่วน เพราะมองลึกอีกด้านยิ่งเข้าถึงง่ายปัญหามันก็บานปลายได้ง่ายกว่า ดังเช่นหนี้สหกรณ์ หรือบัตรกดเงินสด และสินเชื่อย่อย ๆ (Microfinance) ที่มาใหม่ ซึ่ง “จุดเริ่มต้นก็มาจากหนี้ในระบบเหล่านี้ก่อน เมื่อเต็มอัตราก็ต้องหันหาหนี้นอกระบบ” คล้ายเป็นธุรกิจที่เอื้อกันกลาย ๆ

จะโทษธุรกิจก็คงไม่ได้ เพราะเขาก็เลือกทำตามกฎหมาย (และช่องกฎหมาย) หากำไรประสาธุรกิจ ยิ่งมีผู้เล่นมากรายก็แข่งขันกัน ก็ยิ่งทำให้คนหลงได้ง่ายเพราะโปรโมชั่นต่าง ๆ ย่อมอยากให้คนซื้อ ใช้ จับจ่าย และเป็นหนี้ (ไม่งั้นจะเอากำไรจากไหน) และสุดท้ายทำให้คนมีช่องทางเป็นหนี้เกินความเป็นจริง…

เพราะระบบไม่ใช่เรื่องศีลธรรม

บนคำว่า “ในระบบ” จึงทำอะไรก็ดูไม่ผิด เพราะสิทธิ์พิจารณาส่วนใหญ่อย่างไรก็อยู่ในมือผู้ให้กู้ กรอบการเข้าถึงแม้จะมีอยู่แต่ก็เพียงส่วนเดียวและเบาบาง เช่น ฐานเงินเดือนทำบัตรเครดิต ดังที่กล่าวพอผ่านฐานเงินเดือน 15,000 แล้วสมมติว่าอนุมัติไม่เกิน 2 เท่า เป็น 30,000 ซึ่งอันที่จริงก็มากอยู่แล้วเพราะชีวิตจริงเงินเดือนได้มาก็ใช่ว่าจะใช้ได้ทั้งหมด มีรายจ่าย “ที่จำเป็น” อยู่ก่อนแล้ว แต่ประเด็นอยู่ที่ไม่มีกรอบบังคับให้เราทำได้เพียงบัตรเดียว สมมติสัก 3 บัตร(ต่างธนาคาร) วงเงินก็รวม 90,000 เดือนหนึ่งเรามีโอกาสสร้างหนี้ได้ 6 เท่าของรายได้ (15,000 เป็น 90,000) ทั้งที่เต็มวงเงินบัตรเดียว ก็ไม่มีทางจ่ายชำระแบบปลอดดอกเบี้ย (จ่ายเต็ม) ได้เลย ยอมเริ่มมีค่าดอกมาผูกพัน และถ้ามากกว่า 1 บัตรลองคิดดูว่า ค่าดอก ค่าธรรมเนียมจะถือเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน และนี่อาจยังไม่รวมหนี้ในระบบรูปแบบอื่นอีก

และเมื่อใดที่เราพลาดไป การผ่อนชำระขั้นต่ำนั่นคือภาวะที่ย่ำแย่แล้ว(เตือนไว้เลย) เพราะหมายถึงมีโอกาสสูงมากที่เราจะทิ้งเงินเกินครึ่งไปกับค่าดอกและค่าธรรมเนียม โดยต้นหนี้ไม่ลดลงเลย ยิ่งถ้าจ่ายช้าเจอค่าปรับเข้าไปอีก คำนวณดี ๆ ก็น้อง ๆ เงินกู้นอกระบบนั่นเอง เพราะมันคงไม่มีหรอกที่จะมาบอกว่า “ตอนนี้คุณแย่อยู่นะดอกเบี้ยมากไปแล้ว เรากลัวคุณจะไม่รอด เราลดดอกเบี้ยให้นะ” ก็โทษใครไม่ได้อีก ระบบคือระบบไม่ใช่เรื่องศีลธรรม…

ไม่ต้องใช้เงินดาวน์!

อีกสิ่งที่เป็นต้นตอความพังคือด้านยานยนต์ เอาแค่ มอเตอร์ไซค์ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมไทยโดยอย่างยิ่งต่างจังหวัดที่ขนส่งสาธารณะไม่ทั่วถึง แต่ดอกเบี้ยมหัศจรรย์มาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าใจผู้ทำธุรกิจคือความเสี่ยงสูง เพราะหายหรือกลายเป็นซากได้ไม่ยาก แต่กระนั้นถ้าพอมองเห็นคนทำธุรกิจนี้ก็ร่ำรวยเกินความเสี่ยงกันไปมาก และแข่งขันกันรุนแรงเพราะผลตอบแทนมันสูงไงล่ะ แต่เอ๊ะ มันเสี่ยงสูงขนาดนั้นไหมที่ให้ดอกเบี้ยต้องแพงขนาดนี้ ผู้เล่นรายใหญ่อาจประเมินความเสี่ยงจริงจังหน่อย แต่รายย่อยก็ประเมินเสี่ยงน้อยหน่อยแต่ก็หากำไรมากหน่อยตามปกติของเขา แต่ถ้าในมุมเราในคนที่ไม่เคยคิดคำนวณ รถ = ลด อยู่แล้วต่อให้ซื้อสด ยิ่งผ่อนดอกแพงมากเท่าไร รถก็ยิ่งลด มูลค่าลงมากเท่านั้น และการไม่ต้องใช้เงินดาวน์นี่เอง ก็เป็นการสะท้อนว่า การจัดการการเงินคุณแย่ขนาดไหน จงให้มันมาพังที่เรา เพราะคนที่ไม่มีเงินดาวน์แสดงว่าเก็บเงินไม่อยู่อยู่แล้วจริงไหม แล้วพยายามมาเป็นหนี้ที่ดอกแพงกว่าปกติอีก.. ก็ว่ากันไป

ซึ่งหากคิดว่าก็ดอกต้องแพงเพราะเขาก็ต้องเสี่ยงมาก ลองบวกลบดี ๆ บางทีอัตราส่วนกำไรเป็นไปได้ว่า ขาย 2 คัน หาย 1 คันก็ไม่ขาดทุนด้วยซ้ำไป (มอเตอร์ไซค์นะ) ตัวชี้วัดคือ ถ้ามันเสี่ยงมากจริงทำไมธุรกิจนี้มีมาก และตั้งขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบไม่มีทางรู้จักชื่อบริษัทไฟแนนซ์มอเตอร์ไซค์ได้หมด…. และนี่คืออีกหนึ่งหนี้ในระบบ

อย่าเป็นหนี้ในระบบ

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่หลายคนก็เริ่มจากหนี้ “ในระบบ” แบบหนึ่ง สู่หนี้ “ในระบบ” อีกแบบหนึ่ง เหมือนบัตร 1 ไป บัตร 2 และ 3 ซึ่งยังไงมันก็แย่ลงไม่ต้องไปถึงนอกระบบด้วยซ้ำ แน่นอนว่าพอไม่ไหวก็ “จำเป็น” ขึ้นมา ก็ต้องหันหา “นอกระบบ” ไหนจะกลัว “เสียเครดิต” กลัว “ไม่มีรถ” ใช้ทำมาหากิน หรือเหตุผลอื่น ๆ หรือหวังเอาว่าจะกลับมาดีขึ้นได้ แม้เราจะรู้กันดีว่า ก็ต้องโทษตัวเองก่อน แต่ถึงเวลานั้นมันก็ต้องแก้ไขเท่าที่แก้ได้

ภาครัฐก็เหมือนเข้าใจพยายามมีโครงการต่าง ๆ แต่มันช้าและปลายทางเอามาก ๆ และก็ยังกลายเป็นว่าปล่อยให้ต้นทาง คือ ธุรกิจกู้ในระบบ “สร้างทางเลือก” ซึ่งบางอย่างมองว่าจะได้ลดปัญหานอกระบบ โดยอาจลืมไปว่ายิ่งเป็นการ “เพิ่มหลุมพราง” เข้าไปอีกในขณะที่วิธีให้อยากเป็นหนี้ในระบบก็มีมากพออยู่แล้ว และพอเป็นหนี้ในระบบมากขึ้นมา “เพดาน” ดอกเบี้ยมันก็ไม่เคยมีจริง

ก็คิดดูว่า การรณรงค์ให้คนไม่เป็นหนี้นอกระบบนั้นมันส่งผลจริงแค่ไหน ดังที่เราเห็นกันอยู่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ไม่ตระหนักตั้งแต่ต้นทางต่างหาก ควรรณรงค์ไปด้วยเลยว่า “อย่าเป็นหนี้ในระบบ” เพราะไม่ว่าหนี้ไหนก็ไม่ใช่สิ่งดี ถ้าขาดการได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากหนี้เหล่านั้น หนี้ลงทุน หนี้สินทรัพย์ แม้จะดีหรือจำเป็น แต่ก็ยังต้องตรองให้ดีเหมือนกัน ซึ่งหนี้ประเภทเหล่านั้นก็มักผ่านการประเมิน แต่ส่วนใหญ่ปัญหามันมักมาจากหนี้ประเภทอื่น… ที่อยู่ในระบบเหมือนกันนี่แหละ..

ปล.นึกไปนึกมาหนี้ในระบบก็ควรห้ามโฆษณาไม่ต่างจากเหล้า บุหรี่นะ เพราะมอมเมาคนเราให้พังได้มากกว่าเหล้าบุรหี่เสียอีก

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 28/11/2022

เงินกู้นอกระบบที่ว่าร้าย เงินกู้ในระบบก็ตัวดี
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น