สิ่งนั้นเป็น “ภาระ หรือ สัมภาระ?” คำถามต่อคำสองคำที่คล้ายกัน แต่ส่งผลกับชีวิตต่างกันโดยสิ้นเชิง ทุกวันนี้เราล้วนแบกทั้งสองสิ่ง ที่บางทีก็ไม่เคยแยกชัด หรือแยกมันผิดอย่างไม่เข้าใจ…
“ภาระ” มีความหมายเป็นทางการว่า “ของหนัก” หรือกล่าวถึงงานหนัก ซึ่งไม่ได้จำเพาะว่าต้องเป็นของไม่ดีเสมอไป แต่โดยทั่วไปเมื่อพูดถึง ภาระ เราก็มักหมายถึงสิ่งที่หนักในเชิงลบ ไม่เต็มใจที่จะแบกรับ แล้วก็ล้วน ไม่มีประโยชน์ ต่อผู้นั้นเลย
“สัมภาระ” มีความหมายว่า “สิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้และเสบียงซึ่งสะสมรวบรวมหรือจัดเตรียมไว้เพื่อภาระต่าง ๆ” โดยการเปรียบเทียบแล้ว นี่คือสิ่งที่ควรจะเตรียมหรือมีไว้และมักกล่าวถึงของที่ มีประโยชน์
เมื่อ “อยาก” จงถามขึ้นมา
เป็นประโยคหรือจะนับว่าเป็นคำคมก็ได้ที่ผมใช้ระลึกเตือนใจตัวเองเสมอไม่น้อยกว่า “ขึ้นอย่าหลง ลงอย่าท้อ” ที่เคยเขียนไปแล้ว เพียงแต่ประโยคนี้มักจะใช้เตือนในเวลาที่ อยากได้ อยากมี อยากทำ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา ใช้ในเชิง ตั้งคำถาม กับตัวเองว่า สิ่งนั้นมันเป็น “ภาระ หรือ สัมภาระ?”.
ยิ่งจินตนาการประกอบกับภาพที่เราต้อง “แบก” สิ่งนั้นไปบนเส้นทางชีวิตวันข้างหน้า คุณอยากแบกภาระ หรือแบกสัมภาระกันล่ะ กล่าวคือแบกในสิ่งที่มันไม่เป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า กับแบกสิ่งที่คุณได้ใช้หรืออาจจำเป็นต้องใช้มัน เพราะเราล้วน “แบกทุกอย่างเดินทางไปไม่ได้”
ภาระ หรือ สัมภาระ?
อะไรคือภาระ และอะไรคือสัมภาระ บางมุมมองของแต่ละคนมิอาจตัดสินแทนกันได้ เช่น วันหนึ่งหากมีคนเอาลูกแมวมายกให้ สำหรับคนที่ไม่ชอบแมว คงเป็นภาระที่หนักหนาและดูไม่จำเป็นเอาเสียเลย และเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า จะเอามาเป็นภาระทำไม? หรือเปรียบกับสิ่งอื่นโดยทั่วไป เช่น คนที่ไม่ชอบไปไหนแต่อยากได้รถยนต์… จะอยากได้ไปทำไม?
แต่หากเป็นคนชอบแมวความซับซ้อนจะเริ่มเกิดขึ้นมา เพราะหากแค่ปล่อยให้ความรู้สึกอยากนำพา ก็จะไม่ได้มองอนาคตว่า แมวที่รับมาเราจะมีเวลาดูแลไหม? ที่พักอาศัยเราเหมาะสมไหม? กิจวัตรเราเป็นอย่างไร? แล้วก็มีหลายคนที่รับมาไว้โดยไม่คิดมาก เพราะว่าภาระนั้นมันตกไปที่คนอื่นในบ้านแทน ไปจนถึงบางทีบ้านเราเองมีแมวหลายตัวแล้วก็เป็นอีกตัวอย่าง…
ลูกแมว เป็นตัวอย่างเบื้องต้นที่ดี เพราะหลายครั้งเราตัดสินใจตามอารมณ์ชั่ววูบ หรือเพียงเพราะมันสนอง “ทางใจ” ทางความรู้สึกบางอย่าง จึงทำให้เราคิดว่าสิ่งนี้ดี มีประโยชน์อย่างน้อยก็ต่อจิตใจต่อความรู้สึก ไม่ได้ตอบสนองต่อชีวิตโดยแท้จริงและเป็นภาระในอนาคตที่ไม่คุ้ม สิ่งของหลายอย่าง “สร้างภาระให้ชีวิต” มากกว่าที่คิด คล้ายไม่ค่อยได้ไปไหนแต่อยากได้รถยนต์ หรือ โทรศัพท์มือถือที่ยังใช้ได้ดีอยู่ แต่ดูข่าวดูโฆษณา ดูคนอื่นแล้ว ใจก็นึกอยากได้เครื่องใหม่ขึ้นมา อะไรทำนองนี้ กับฐานะทางการเงินหรือความพร้อมด้านอื่นที่ไม่สอดคล้องกันเลย
อีกตัวอย่างที่อยากให้ลองตระหนักกัน ในตอนนี้เรามาเริ่มต้นสำรวจในกระเป๋าสตางค์ หยิบขึ้นมาเปิดดู มีบัตรใบไหน หรือของอะไรที่ปีหนึ่งหยิบมาใช้ไม่เกิน 5 ครั้งไหม? แล้วส่วนใหญ่เราพกกระเป๋าสตางค์ทุกวัน 365 วัน เท่ากับเราพกบัตร หรือสิ่งของบางอย่างฟรี ๆ 360 วัน มันเป็นภาระ หรือสัมภาระ? อาจให้เหตุผลขึ้นมาว่า “ก็มันอาจต้องใช้” แต่คำถามต่อไปคือ แล้วถ้าวันนั้นที่ต้องใช้จริง ๆ ไม่ได้พกล่ะมีทางอื่นไหม? ซึ่งส่วนใหญ่มันก็ไม่แย่นัก
กระเป๋าหลายคนยังคงเต็มไปด้วยบัตร ทั้งที่หลายอย่างทุกวันนี้เราใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือและบอกเบอร์โทร อันที่จริงมันไม่ใช่ภาระหนักหนา เพียงแต่ยกเป็นตัวอย่างง่าย ๆ ที่สะท้อนว่า บางครั้งเราก็ไม่ได้ทบทวน บางครั้งเราก็อาจยังอยากพกอยู่เพราะมันอวดได้เวลาเปิดกระเป๋าขึ้นมา หรือทำให้กระเป๋าดูหนาดูมีอะไร สุดท้ายมันก็แล้วแต่จะตอบตัวเองกันเอาว่ามันคือ ภาระ หรือสัมภาระ ของชีวิตกันแน่ คุ้มหรือไม่ ก็ว่ากันไปตามแต่ละคน
ภาระทางกาย ภาระทางใจ ภาระทางความคิด
จากตัวอย่างที่พยายามยกไป เป็นเพียงบางส่วนที่ต้องไปทบทวนดูกันต่อในแง่สิ่งของ การต้องเสียเงินไปในสิ่งไม่คุ้มค่า การที่ปล่อยให้ใจ, ให้ความอยากนำพา ยังมีอีกภาระที่หลายคนชอบแบกเอาไว้คือ “ภาระทางความคิด”
หลายคนชอบคิดเรื่องคนอื่น ชอบสนใจในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตในอนาคตของตัวเอง เหมือนบางครั้งที่เราเสพข่าวดารา, ข่าวสังคม, ข่าวอาชญากรรม ซึ่งแต่ละเรื่องอาจมี “แก่น” หรือใจความสำคัญที่นำมาเตือนสติ เตือนใจเป็นประโยชน์ได้ก็จริง แต่ส่วนใหญ่เราก็ไม่ได้เสพเพื่อให้ได้สาระตรงนั้น เราเสียเวลาไปกับสิ่งเหล่านี้มากเกินจำเป็น โดยไม่มีผลอะไรกับเราเลยแถมมันยังแอบสร้างอารมณ์ขุ่นมัวในใจโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย ต่อให้บางเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องแย่ ๆ ของคนใกล้ชิด คนใกล้ตัว แต่หากตรองดี ๆ เวลาที่เขาไปทำอะไร ทำสิ่งใด เขาไม่ได้มาคำนึงถึงเรา หรือนึกถึงเราหรอกว่าจะกระทบใด ๆ หรือไม่ อีกทั้งไม่ได้คิดอยากให้เราไปรู้สึกอะไรด้วย เราเอาใจไปผูกกับเรื่องราวเขาเอง เรียกว่าเป็นภาระทางใจได้อย่างชัดเจน
หลายคนก็ชอบบ่นว่า ทำไมภาระเยอะจัง
สมองและความคิดคนเราก็มีเหนื่อย มีขีดจำกัดการทำงาน ไม่ต่างจากร่างกาย การคิดเรื่องคนอื่นสนใจเรื่องคนอื่นมากเกินไป ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร มันก็ทำให้เป็นภาระทางความคิดได้ เพราะแทนที่จะเอามาคิดเรื่องตัวเอง พัฒนาตนเอง หรือควรคิดแก้ไขปัญหาของตัวเอง ซึ่งคงพอเข้าใจได้ไม่ยากว่า สัมภาระทางความคิด ก็คือ การใช้ความคิดวางแผนเพื่อพัฒนา เมื่อในความคิดมีแต่ภาระจากคนอื่น จึงไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนให้สมองสะสมสัมภาระให้ตนเองได้
และไม่ว่าจะภาระทางความคิด ภาระทางจิตใจ สุดท้ายก็ส่งผลไปยังการกระทำและร่างกาย ให้เหนื่อย ท้อ ขี้เกียจ และแสวงหาความสุขอันฉาบฉวย เหมือนขอให้ได้พักจากภาระที่ไม่ใช่สัมภาระเหล่านั้น แต่เมื่อหายเหนื่อยได้จากสุขชั่วคราว เราก็กลายเป็นคนที่แบกภาระเดินต่อไปเช่นเดิมอยู่ดี แล้วไปได้ไม่เท่าไรก็ย่อมวนมารู้สึกว่าเหนื่อยอีกครั้ง หาความสุขชั่วคราวเหมือนเดิม หลายคนจึงชอบบ่นว่า ทำไมภาระเยอะจัง นั่นสินะแล้วใครล่ะเอามาแบก?
เพราะคนเราต้องมีเหนื่อย ต้องทำ หรือชีวิตนี้จะไม่แบกรับอะไรเลยคงไม่ได้ ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของสองคำง่าย ๆ ที่เพียงแว่บคิดขึ้นมาให้บ่อยหน่อยว่า เราอยากแบกภาระ หรือ สัมภาระ เชื่อว่า สิ่งต่าง ๆ ของชีวิตคงค่อย ๆ เบาลง ซึ่งคงทำให้เราไปได้ไวขึ้น ไกลขึ้นกว่าวันนี้ที่เป็น อย่างน้อยก็หวังว่าบทความนี้จะพอเป็นสัมภาระหนึ่งได้มากกว่าภาระทางความคิดเรื่องอื่นที่เราต้องเสพกันบ่อย ๆ ประจำ…
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 21/11/2022