ทำงานเงินเดือนขั้นต่ำ – กราฟิกดีไซน์เงินเดือนขั้นต้น

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » A Life In A Day » ทำงานเงินเดือนขั้นต่ำ – กราฟิกดีไซน์เงินเดือนขั้นต้น |


มีประเด็น (ดราม่า) กันเรื่อยมาเกี่ยวกับเงินเดือนแค่ไหนจึงจะเหมาะสม เป็นกันหลายวงการหลายอาชีพ บ้างก็ว่าผู้จ้างไม่เห็นคุณค่า บ้างก็ว่าคนในวงการนี่แหละลดค่าตัวเอง ในกลุ่มกราฟิกดีไซน์ เป็นอีกกลุ่มที่มีประเด็นค่อนข้างเด่นชัด  ที่สุดท้ายมันยากที่จะเหมารวมแล้วตัดสิน จึงอยากแชร์ในฐานะคนที่เคยยืนอยู่มาหลายมุม

คุณยืนมุมไหน?

ค่าจ้างที่จริงเป็นปัญหาพื้นฐานในวงการอาชีพอิสระ (freelance) ทุกสาขา ทั้งที่ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ “คุ้มค่าที่สุด” เพียงแต่คำว่าคุ้มค่าล้วนตีความต่างกัน คุ้มฝั่งผู้ซื้อย่อมเป็น “ถูกและดี” ส่วนคุ้มฝั่งผู้ขายคือ “ดีต้องแพง” ซึ่งต่างก็มีเหตุผล ขึ้นอยู่กับว่าจะหากันเจอตรงไหม บทสรุปมุมอาชีพอิสระจึงมักจะลงเอยกันตรงที่ว่า ไม่พอใจก็ไม่ต้องจ้างกันให้คนเห็นค่ามาจ้างแทน

ในส่วนการ “จ้างประจำ” ผู้ถูกจ้างย่อมมอง ตำแหน่ง/หน้าที่ ว่าเหมาะสมกับ เงินเดือนหรือไม่ ก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่ในมุมผู้จ้างอาจมองที่ “ผลลัพธ์” ที่ได้ต่อค่าจ้าง หรือคิดเชิง ROI (Return On Investment) กล่าวคือ จ้างมาแล้วมีผลต่อกิจการ/ผลกำไรมากน้อยแค่ไหน เบื้องต้นมักขึ้นอยู่กับ “ประเภทและขนาด” ของกิจการเกี่ยวข้องด้วย แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ทัศนคติของผู้จ้างด้วยอยู่ดี

ซึ่งถ้าเราไม่เคย ก็ต้องลองคิดในมุมผู้จ้างดูก่อน เช่นว่า เงินเดือนขั้นต้นปัจจุบัน 15,000 บาท (ปี 2565) ที่หลายคนในวงการกราฟฟิกมองว่าได้เท่านี้จะเรียนกราฟิกมาทำไม เรียนสายอื่นก็ได้ ก็ไม่ผิด แต่ในมุมผู้ว่าจ้างก็มองได้เหมือนกันว่าแค่ “ตำแหน่งหนึ่ง” ที่ไม่สร้างผลลัพธ์เหนือกว่าตำแหน่งอื่น เขาไม่ได้ต้องการภาพที่สวยระดับประกวด หรือภาพที่สร้างมาแล้วพลิกกิจการ (ซึ่งถ้าทำได้เชื่อว่าเท่าไรเขาก็ยินดีจ่าย) อาจต้องการแค่มีผลงานเพื่อประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ไม่ต่างจากตำแหน่งอื่นที่ต้องการผลลัพธ์ของงานเรื่อย ๆ แล้วบางทีการจ้างฟรีแลนซ์อาจถูกกว่า เช่น ชิ้นงานละ 500-1,000 สัปดาห์ละไม่กี่พัน แต่เขาไม่อยากเสียเวลาประสานงานบ่อย ๆ และคิดว่าจ้างมาอาจให้ทำอะไรได้มากขึ้น (คุ้มค่าลงทุน) จึงเลือกจ้างประจำ สิ่งหนึ่งที่พึงสังเกตคือ “เขามองผลลัพธ์เป็นหลัก มิได้มองผลงาน” ซึ่งเป็นไปได้ที่เขาไม่ให้ความสำคัญมากพอ หรืออาจมองการตลาดอีกแบบ ความเข้าใจที่แตกต่างกันใด ๆ ก็ตาม เป็นเพียงสิ่งสะท้อนว่า “ถ้ามองในมุมนั้น” มันก็ไม่คุ้มจริง ๆ ที่ต้องจ่ายแพง

อาจเป็นคำกล่าวที่ดูไม่ดีแต่บางทีมันก็มีความจริงอยู่ในนั้นกับคำพูดประเภทที่ว่า “ไม่เคยเจ้าของกิจการ อาจไม่เข้าใจหรอก” ด้วยเพราะต้นทุนผูกพันเดือนละ 15,000 มันก็ไม่น้อยเลย สำหรับหลายกิจการที่กำลังพยายามเติบโต

กรณี หลายหน้าที่ในตำแหน่งเดียว ก็ไม่ต่างกัน หากหน้าที่กราฟิกมีเพียงทำแบนเนอร์สัปดาห์ละ 1 ชิ้น แล้วปล่อยให้ว่าง ก็ทำให้รู้สึกว่าจ้างมาทำไมไม่คุ้มเลย (ไม่ได้กำลังบอกว่าถูกหรือผิด แค่ชี้ให้มองในมุมหนึ่ง) แล้วก็ไม่รู้จะให้ไปทำภาพอะไรอีก เลยให้ถ่ายรูป ทำวีดีโอ ทำคอนเทนต์ไปด้วยเลย เพราะทั้งหมดนี่ รูปเดือนนึงถ่ายวันเดียว, วีดีโอนาน ๆ ที, คอนเทนต์ก็แค่เขียน ๆ เพื่อให้มีความเคลื่อนไหว ซึ่งเช่นเคย เขาไม่ได้เข้าใจหรือลึกซึ้งคำว่าผลงาน แค่อยากได้ผลลัพธ์ และเชื่อว่าเขาก็เพียงหวังว่าจะมีคนทำได้ให้เขา จะใช้ Canva ทำภาพ ใช้ Viva ตัดวีดีโอมาก็อาจไม่ใส่ใจ แค่ให้มีผลงาน…

ส่วนการประกาศจ้างแบบ “ทำ 3D, ตัดต่อ, ทำการตลาด, ถ่ายวีดีโอ” อะไรที่หลาย ๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เข้าใจไว้เลย 2 ประการ ประการแรก ผู้ประกาศจ้าง “ไม่รู้อะไรจริง ๆ” เขาอาจไม่ได้มีเจตนาดูถูก เราเองก็ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง หรือเข้าใจไปเสียทุกวงการ เขาก็เช่นกัน หลายแห่ง copy คำประกาศจากที่อื่นมาโดยไม่ได้มองว่าที่อื่นให้เงินเท่าไร หรือเขาต้องการภาพ จะทำจาก Photoshop, Affinity, Canva ใช่ว่าจะรู้และดูออกเพราะไม่รู้จักโปรแกรมพวกนี้ และส่วนหนึ่งการที่เขาประกาศออกมาเช่นนั้นก็เพียงเข้าใจว่า “น่าจะทำได้” ก็มี ซึ่งก็ภาวนาให้เขาหาให้เจอ (แต่บางทีมันก็ดันมีคนสมัครอีกจริงไหม?).

อีกประการคือ กิจการที่เจ้าของ “งกจริง” แต่เชื่อเถอะว่ามีน้อยมากและน้อยกว่าแบบแรก ประเภทนี้ก็จะงกอยู่ได้ไม่นาน เพราะคนทำงานก็อยู่ด้วยได้ไม่ทน (งานย่อมหนักหรือยากไป) ผลลัพธ์ไม่เป็นไปดังหวัง หรือถ้าทำไหวเขาย่อมสามารถไปที่อื่นได้สบาย ทุกอย่างจะเป็นไปตามกฎธรรมชาติเอง ซึ่งเหล่านี้ผมก็มีประสบการณ์จริงทั้งผ่านและเห็นมา เพียงแต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะกล่าวอ้าง และที่สุดแล้ว เจ้าของกิจการแบบนี้ที่มักจะเป็นกิจการเริ่มต้น หรือไม่เพิ่งขยับขยาย ก็จะได้เรียนรู้ไปเองในที่สุด ซึ่งมองดี ๆ แล้วเขาก็แค่ไม่รู้จริง ๆ เหมือนกัน อาจจะโลกแคบไปหน่อย คิดง่ายไปหน่อยอะไรก็ตาม .

ดูถูกอาชีพ!!

 มีมุมหนึ่งซึ่งเป็นธรรมดาจนอาจกลายเป็นว่า “ถ้าเรามืออาชีพจริง” เราจะไม่ยี่หระกับเรื่องเหล่านี้ และเป็นสิ่งที่เราเจอคนในวงการทำตัวเองบ่อย ๆ รับเขียนบทความ 60-80 บาท, ทำอาร์ตชิ้นละ 150 บาท, ถ่ายภาพวันละ 1,000 บาท ทุกวันนี้ผมอยู่ในอาชีพวิทยากรใครค่าตัวต่ำกว่าวันละ 10,000 ก็ดราม่ากันได้เหมือนกัน ซึ่งในมุมผู้จ้างเขาคุ้มของเขา ถ้าเราอยู่ในมุมนั้นเราก็คงฉลาดเลือกเช่นกัน

ต้องยอมรับว่าในวงการอาชีพหนึ่ง ๆ นั้น ใช่ว่าทุกคนควรราคาดีเสมอไป ที่กล้าบอกเล่าเพราะเคยผ่านงานกราฟิกดีไซน์ทั้งแบบประจำ และฟรีแลนซ์ อีกยังเคยเป็นผู้บริหารทีมสื่อ รวมถึงอยู่ในฐานะผู้จ้างทั้งฟรีแลนซ์และประจำ จึงพอเข้าใจในแต่ละมุมที่ควรเปิดใจด้วยว่า กราฟิกหลายคนก็ไม่ใช่ดีไซน์เนอร์ วงการนี้มีหลายคนเป็นแค่ผู้ใช้โปรแกรมเป็นแต่ไม่มีไอเดีย หรือดูมีไอเดีย แต่ใช้โปรแกรมไม่เก่งพอ ก็เลยต้องบิดไอเดียตามฝีมือที่มือ, ส่วนคนที่มีทั้งฝีมือและไอเดียยอดเยี่ยมก็สมควรที่จะแพงซึ่งก็ไม่ต่างจากทุกวงการคนเก่งจริงย่อมมีน้อย แล้วจะมั่นใจแทนผู้จ้างได้อย่างไรว่าจ่ายแพงแล้วจะได้คนนั้น? แถมคนที่เก่งเขาคงไม่สนใจอะไรกับเงินเดือน 15,000 อยู่แล้ว….

และในด้านหนึ่ง การที่หลายคนมีฝีมือ หรือรับงานต่างประเทศได้ ต่อต้านแนวคิดขั้นต่ำด้วยการพูดเหยียดว่า “ทำงานชิ้นเดียวก็ได้แล้ว 15,000” มองอีกมุม ไม่สงสารเด็กรุ่นใหม่ คนที่หาประสบการณ์ คนที่ไม่มีโอกาสบ้างหรือ แสดงว่า คนที่เงินเดือน 30,000 หรือ 45,000 ก็ไม่ได้ดีนัก เพราะหมายความว่าถ้าเทียบกับเขา ทำ 2-3 ชิ้นก็ได้แล้วเหมือนกันรับจ้างทำไมทั้งเดือน ! บางทีอะไรแบบนี้ก็ดูถูกคนในอาชีพเดียวกันอยู่เหมือนกัน (ทั้งที่จริงเขาเองก็ต้องผ่านจุดนี้มา น่าจะเข้าใจว่าเป็นไปตามธรรมชาติ)

โลกที่เปลี่ยนไป .

มันเป็นเรื่องที่เศร้าจริง ๆ ที่บอกว่า จ้าง “15,000 ยังแพงไปเลย” เพราะต่อให้กราฟิกมือใหม่ ยังไม่ค่อยมีฝีมือ มันก็ควรให้ค่าทักษะ วิชา ความรู้ไม่ได้น้อยกว่าอาชีพอื่น (ในฐานเงินเดือนขั้นต้น ป.ตรี ปัจจุบัน) แต่อีกด้านมันอาจเป็นสิ่งที่สะกิดว่า โลกมองอาชีพนี้เปลี่ยนไปแล้ว ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ณ วันนี้หากแจ้งว่าเงินเดือนกราฟิกเริ่มต้นที่ 18,000 จะไม่มีใครว่าอะไร ซึ่งคิดแล้วสูงกว่าเงินเดือนขั้นต้น 20% แต่ ณ วันที่ผมทำกราฟิกดีไซน์หรือก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่ จะสูงกว่าขั้นต่ำ 30-40% (แน่นอนจ้างเท่าเงินเดือนขั้นต้นก็มีนะ) ที่กำลังจะสื่อคือโดยตลาดในภาพรวมแล้วก็เหมือนจะให้คุณค่าน้อยลงจริง ๆ .

ปัจจัยทางเทคโนโลยีมีส่วนอย่างไม่ต้องสงสัย ยุคก่อนความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ล้วนหายาก ต้องไปซื้อหนังสือหรือค้นเอาตามเว็บไซต์ต่างประเทศ และได้แค่ “อ่าน” ทำความเข้าใจเอาเท่านั้นไม่มี Youtube สอนให้เห็นภาพ step by step แบบสมัยนี้ การเรียนในชั้นแบบภาคปกติก็แทบจะไม่มี รวมถึง ใครสักคนจะมีคอมพิวเตอร์เพื่อฝึกฝนก็ต้องมีต้นทุน แถมกว่าจะขยับชิ้นงานหลายชั้น (Layer) มันไม่สามารถทำได้เร็วขนาดนี้ เรียนยากกว่า ฝึกยากกว่า ทำอะไรได้ช้ากว่า เรียกว่าต้นทุนตอนนั้น ต่างจากยุคนี้มาก ที่ไม่ได้กำลังบอกว่าคนยุคก่อนเก่งกว่า คนยุคใหม่สิต้องเก่งกว่าเป็นปกติ เพราะมีจุดเริ่มต้นที่ดีกว่า ไปได้ไกลและเร็วกว่า บนต้นทุนที่ดีกว่า แต่ในมุมกลับมันก็หมายความว่า “คนเป็นได้ง่ายกว่า” ด้วยเช่นกัน (รวมถึงในอีกหลายอาชีพที่เรียนรู้เองได้) การแข่งขันย่อมสูงตาม และมันกำลังจะเป็นไปตาม Demand – Supply.

สื่อที่แตกต่าง ก็เช่นกัน กราฟิกที่ออกแบบเก่งสวยงามอาจไม่เข้าใจคำว่า “เผื่อตัดตก” ไม่ต้องสน Profile สี pantone หรือ dpi ที่ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์เฟื่องฟูจะปวดหัวมาก กราฟิกปัจจุบันเมื่อเข้าสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง รูปถ่ายไฟล์นำมาจากไหนก็จะเป็นปัญหาน้อย แถมมี stock photo ให้ใช้ ไฟล์โลโก้ต้นฉบับไม่มีก็อาจจะไม่เป็นไร ใช้ไฟล์ภาพ copy มาก็ได้ไม่แตกต่างนัก (jpg) แต่หากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์(คุณภาพ) รูปอาจต้องถ่ายรูปใหม่ หรือหากันเป็นวัน โลโก้นั้น Draft (ร่าง) ให้ใหม่เป็นเรื่องที่จบงานง่ายกว่า ส่วน Mockup (ต้นแบบ/แบบจำลอง) นั้น ในวันที่เครื่องไม้เครื่องมือบนคอมพิวเตอร์ยังไม่อำนวย Mockup ก็ต้องคือแบบจำลองจริง ๆ ปริ้นมาจริงประกอบมาจริงไปเลย

ซึ่งเช่นเดิมมิได้บอกว่าในอดีตต้องเก่งกว่า เพราะปัจจุบันคนต้องทำงานสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ก็มีมากกมาย เพียงแต่ต้นทุนความเสียหายมันเกิดขึ้นได้มากกว่าในงานสิ่งพิมพ์ที่เป็นสื่อหลักของกราฟิกในยุคก่อน และที่ปฏิเสธไม่ได้ พอสื่อเน้นมาที่โลกออนไลน์ เทคโนโลยีที่พัฒนา โปรแกรมอย่าง Canva มันก็ตอบโจทย์ทั้งแง่ต้นทุนและเวลาของใครได้มากกว่าหลายคน ตลาดนี้จึงเริ่มแยกชั้นออกชัดเจน กล่าวคือ ไม่ถูก – ก็แพง ซึ่งถ้าเห็นในมุมนี้ก็ต้องยอมรับว่า การที่ใครจ้างถูกเพราะเขาย่อมมองว่ามีทางเลือกมีทางออก ในใครที่จ้างแพงนั่นเพราะมันคุ้มค่าและหาสิ่งทดแทนไม่ได้นั่นเอง.

ถึงตรงนี้ถ้าให้เปรียบเปรยก็อยากให้ลองนึกดูว่า จะมีใครซื้อเครื่องคิดเลขมาไว้ในสำนักงานในเมื่อบนมือถือหรือบนคอมพิวเตอร์ก็มีให้ใช้ เว้นเพียงแต่ว่า ต้องใช้มันบ่อยพอ คุ้มพอ ดีกว่ามานั่งกดบนมือถือ เช่นนี้ลงทุนซื้อมาก็ดีกว่าเป็นแน่ ถ้ามันถูกหน่อย แม้จะไม่จำเป็นนัก แต่ซื้อมาไว้ก็ไม่เสียหาย แต่ถ้ามันแพงไปก็ทนใช้บนมือถือบนคอมฯ เอาต่อแล้วกัน มันก็น่าจะประมาณนี้

เราอาจลืมไปว่า..

 อันที่จริงไม่เพียงกราฟิกดีไซน์ มันสะท้อนไปได้หลายอาชีพ ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่เราหลงลืมไปกับ “กำไร” บางอย่างที่ไม่ใช่เงิน หลายคน “เลือก” มาทำอาชีพนั้น ๆ เพราะมีความชอบ ความหลงใหลส่วนตัว แม้ผลงานเพื่องาน กับผลงานที่ตั้งใจอาจไปคนละแนวบ้าง แต่เราก็ได้ทำในอาชีพที่โดยส่วนใหญ่ “เรารัก เราชอบ” ซึ่งดีกว่าอาชีพอื่น นั่นคือกำไรส่วนแรก

การที่ได้รับงานเกินหน้าที่ หลายคนอาจมองเป็นภาระที่ไม่คุ้มค่า แต่วันหนึ่งเราอาจจะพบว่า โชคดีเหลือเกินที่ได้ลองทำ เคยทำ ตรงนั้นมา ถ้าเคยฟังสุนทรพจน์ของ Steve Jobs ที่กล่าวถึง Connecting the dots จะเข้าใจมากขึ้น และถ้าชีวิตคุณล่วงเลยมาจุดหนึ่งจะพบว่ามันจริงทีเดียว เพราะโอกาสเป็นของหายาก ใครละจะให้คุณลองตัดต่อวีดีโอ ลองทำ 3D เรียนรู้การตลาด สิ่งเหล่านี้มีแต่ต้องเสียเวลา เสียเงินไปเรียน ซึ่งบางทีก็ไม่เท่าได้ลอง นี่ได้ลองแถมได้เงินเดือนอีกด้วย

แน่นอน ผมในวันนี้ก็คงไม่ไปทำอะไรแบบนั้นเพื่อเงินเดือนเท่านั้นเหมือนกัน แต่ถ้าย้อนเวลาไปได้ สำหรับผมแล้วมันคือ บันไดก้าวแรกที่เจ๋งไม่น้อย ลองคิดดูสิใน Portfolio หรือ CV กราฟฟิกดีไซน์คนหนึ่งก็จะไม่ได้มีแค่ PS, AI อีกต่อไป และมันอาจเป็นก้าวแรกที่ให้ใครกลายเป็นนักตัดต่อ, ผู้กำกับ, นักโฆษณา, นักการตลาดก็เป็นได้ ที่ลองไปหาดูสิ มีนะครับ…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 14/11/2022

บทความ เรื่องราว ทำงานเงินเดือนขั้นต่ำ - กราฟิกดีไซน์เงินเดือนขั้นต้น
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น