ไปญี่ปุ่น 1 – ตอน 2 แค่โรงเรียนประถม..

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » A Life In A Day » ไปญี่ปุ่น 1 – ตอน 2 แค่โรงเรียนประถม.. |


จากความเดิมตอนที่แล้ว (ตอน 1 โดยทั่วไปแล้ว ย้อนอ่านคลิ๊ก) อย่างที่ได้บอกว่าจุดประสงค์หนึ่งคือการไปเยี่ยมพี่สาว ดังนั้นจึงได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวญี่ปุ่น และเรียนรู้สิ่งต่างๆ มาบ้าง อาจไม่ใช่บรรทัดฐานทั้งหมดแต่ก็เป็นมุม หรือสภาพสังคมของญี่ปุ่นบางส่วนที่หลายๆ คนอาจเคยรู้มาบ้างในวัฒนธรรม ธรรมเนียมต่างๆ (ขออภัยตอนนี้อาจไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว)

ภาษาญี่ปุ่นก็จะคล้ายภาษาอังกฤษ คือมีคำสวัสดีตามเวลา เช้า กลางวัน ค่ำ ทำนองนี้ นี่คือพื้นฐานทั่วๆ ไป ต่างกันตรงที่เขาทำกันเป็นปกติจริงๆ

ทุกๆ เช้าตื่นมาเราต้องมีการทักทายกัน แปลเป็นไทยก็คือ อรุณสวัสดิ์ เป็นต้น หรือในเช้าที่ไปพักแรมบ้านใครเขาก็อาจจะถามต่อว่า หลับสบายไหม นอกจากนี้การพบกันครั้งแรกของช่วงเวลาอื่น ภาษาญี่ปุ่นก็จะคล้ายภาษาอังกฤษ คือมีคำสวัสดีตามเวลา เช้า กลางวัน ค่ำ ทำนองนี้ นี่คือพื้นฐานทั่วๆ ไป ต่างกันตรงที่เขาทำกันเป็นปกติจริงๆ นอกจากนี้ภาษาญี่ปุ่นยังมีประโยคจำเพาะ ที่น่าจะเรียกว่าเป็นมารยาทที่ดีในการพูดตามโอกาสต่างๆ (ถ้าให้คำอ่านผิดเพี้ยนไปบ้างขออภัย) เช่น

いってきます。(อิเตะคิมัส) ไปแล้วนะ (ใช้เมื่อออกจากบ้าน)
ただいま。(ทะไดมะ) กลับมาแล้ว (เมื่อเข้าบ้านจากข้างนอก)
いただきます。(อิตะดะคิมัส) ทานแล้วนะค๊าบบ (ก่อนกินคำแรก คงเคยได้ยินเวลาการ์ตูนญี่ปุ่นพากษ์ไทย)
ごちそうさまでした。(โกจิโซชามาเดชิตะ) ขอบคุณสำหรับอาหาร (ใช้พูดเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว)

นอกนั้นแล้ว การขอบคุณ, ขอโทษ ไม่ว่ามากน้อย จะพูดและใช้บ่อยรวมถึงท่าทีนอบน้อมกันจนเป็นนิสัย โค้งแล้วโค้งอีก จนกระอั่กกระอ่วนในความที่แสนจะเกรงอกเกรงใจกันของชาวญี่ปุ่น จนมีเรื่องขันๆ บ้างว่า เวลาไปซื้อของที่นอกเมืองหรือย่านชานเมือง คนขายจะพูดภาษาญี่ปุ่นใส่อย่างไม่เกรงใจ (หน้าตาผมก็กลมกลืนเสียด้วย) ในใจผมก็คิดแค่ว่า “มาจ่ายตังเฮ้ย ตรูทำไรผิดป่าวฟะ” ต้องเรียกพี่สาวที่อาศัยอยู่ที่นั่นมาช่วยฟัง สักพักเริ่มชิน เพราะว่าเขาไม่ได้จะอะไรหรอก สิ่งที่พูดส่วนใหญ่ก็คือชวนซื้อเพิ่ม ทวนรายการ ขอบคุณเป็นการใหญ่บ้าง ตามมารยาท ให้นึกถึงบทพูดตามเซเว่นประเทศไทย ทำนองว่า รับนี่นั่นโน่นเพิ่มไหมคะ, ถ้าซื้ออันนี้ตอนนี้มีโปรโมชั่น, รับเงินมาเท่านี้.. ค่าของเท่านี้.. ทอนเท่านี้.., ขอบคุณนะคะ โอกาสหน้าเชิญใหม่.. โอ้โห! เป็นภาษาไทยเราก็อาจเฉยๆ แต่เป็นภาษาญี่ปุ่นรัวๆ ใครล่ะจะไม่ตกใจ

ร้าน Uniqlo ในญี่ปุ่น
ร้าน Uniqlo มีอยู่ทั่วไป ที่แรกที่ไปซื้อของแล้วเอ๋อไปเลยเชียว

การอาศัยอยู่ในบ้านญี่ปุ่นนั้น มีความเป็นเอกลักษณ์หลายประการ ประการแรกสำหรับบางคนอาจรู้สึกว่าบ้านญี่ปุ่นหลังเล็ก พื้นที่ดูอึดอัด สาเหตุเท่าที่เห็นน่าจะมาจากหลักใหญ่ 2 ประการคือ พื้นที่จำกัดของประเทศ ที่ดินราคาแพง แต่อีกส่วนหนึ่งนั้น การที่บ้านเล็กและถูกสร้างให้เพดานต่ำเสียส่วนใหญ่ ห้องก็มักจะต้องปิดทึบ เหตุเพราะญี่ปุ่นเป็นเมืองหนาว ทำให้สัมผัสได้ล่ะครับว่า เวลาเข้าในรถ ในร้าน หรือกลับเข้าบ้าน เราจะอุ่นสบาย ลองคิดว่าถ้าปล่อยลมหรือโล่งๆ แบบไทยคงหนาวแย่ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นประเทศไทยคงร้อนตายเช่นกัน

ด้วยเหตุความจำกัดนี้ทำให้ผมชอบการจัดระเบียบห้องหรือการใช้สอยพื้นที่ที่ค่อนข้างคุ้มค่า ถ้าเราเคยดูหรือเสิร์ชตามอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับการจัดห้องหรือคอนโดมิเนียม ไอเดียจากญี่ปุ่นจะค่อนข้างดี เพราะเขาจำเป็นต้องเรียนรู้วิถีนี้กันมานานก่อนแล้วนั่นเอง

ภายในห้องพักรีสอร์ท ออนเซน ญี่ปุ่น
ภายในห้องพักรีสอร์ท ออนเซน แต่บรรยากาศไม่ต่างจากบ้านในญี่ปุ่นเท่าไหร่

นอกจากนี้การใส่รองเท้าแตะ อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้ ถ้าเห็นใครใส่รองเท้าแตะ หรือมีนิ้วเท้าโผล่มาให้เห็นนอกบ้านสันนิษฐานได้ว่า นั่นคนไทย! โดยหลักแล้วรองเท้าแตะของที่นั่นมีแบบไว้ใส่ในบ้านเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยเขาก็จะใส่ถุงเท้ากัน ไม่ปล่อยนิ้วเท้าออกมาโชว์ อาจด้วยเพราะเป็นเมืองหนาวนั่นเอง จริงๆ แล้วเรื่องเล่าเหล่านี้ยังมีอีกมาก (เล่าได้ไม่หมด)

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมบางประการ หลายคนคงได้รู้ หรือได้ยินว่า ชาวญี่ปุ่นมีมารยาท ระเบียบ ที่ดี พื้นฐานการศึกษาก็เช่นกัน ผมคิดว่าตัวเองโชคดี เพราะมีหลานชายที่นั่นอยู่ 3 คนและวันที่ไป เป็นวันแข่งกีฬาสีของหลาน 2 คนที่ยังเรียนอยู่ประถม (คนโตสุดเพิ่งเข้า ม.1) จึงได้มีโอกาสไปเชียร์ และชม กีฬาสีของโรงเรียนประถม Shimizu (เวลาเที่ยวเหลือเฟือ) ทำให้ได้เห็นวิถีแนวทางบางอย่างเพิ่มเติม

การแข่งวิ่งในกีฬาสีโรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น
การแข่งวิ่งในกีฬาสีโรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น

ผมไม่ได้มีข้อมูลระบบการศึกษาของที่นี่ละเอียดนัก แต่ต้องการจะเล่าเพียงสิ่งที่พบ สิ่งที่เห็นเท่านั้น อย่างแรกคือระบบของโรงเรียนประถมจะเหมือนกันหมด สิ่งแรกคือหมวกพละ.. จะมีสีแดง และสามารถสลับขาวได้ (หรือจะบอกว่าขาวกลับด้านเป็นแดงดี) เวลาแข่งขันก็จะแบ่งแค่สองฝ่าย โดยให้กลับหมวกเปลี่ยนสีเอาเป็นคนละทีม ผมมองว่าการที่แบ่งแค่ 2 คือการสะท้อนยามแข่งขันในเชิง ไม่แพ้ ก็ชนะ สิ่งนี้สามารถสร้างความชัดเจน แบบไม่ต้องอ้างหรือแก้ตัวว่า ที่ 2 ก็ยังดี ที่ 3 ก็ยังดี (จริงๆ นะ) แพ้ก็คือแพ้ ชนะก็ชนะ คราวหน้าก็ต้องเริ่มใหม่ บางทีเป็นการเรียนรู้ที่จะแพ้เสียบ้าง

 

การแข่งขันชักเย่อ ในกีฬาสี โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น
การแข่งขันชักเย่อ ในกีฬาสี โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น

การแข่งขันกีฬาสี ไม่มีระบบโชว์เดี่ยว! วิ่งแข่งก็เป็นทีม (แล้วรวมคะแนน) กิจกรรมเป็นส่วนรวมเสียส่วนใหญ่ ทุกคนต้องมีหน้าที่ การแข่งขันเน้นเกมส์ที่เป็นทีม

การสร้างสรรค์ในเชิงว่าทุกคนต้องมีหน้าที่ บางส่วนอาจต้องมาช่วยเป็นกรรมการ

กีฬาสี โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น
นักเรียนบางคนต้องมาช่วยเป็นทีมงาน หรือกรรมการในการแข่งขัน

การเชียร์ ก็จะมีการนำเชียร์เป็นช่วง (ไม่ได้ให้ผู้ปกครองต้องเสียเงิน สร้างเด็กเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร เรื่องนี้จะมองว่าเป็นแค่ความเดียงสา ความสดใสของเด็กในรูปแบบหนึ่งก็ไม่ผิด แต่จะมองว่าเป็นการฝังความแก่แดดค่านิยมผิดๆ ให้แก่เด็กก็มี ที่สุดแล้วไม่สามารถตัดสินได้หมด) การเชียร์แบบมีวัฒนธรรม.. เอ่อ ผมหมายถึงใช้วัฒธรรมดั้งเดิม มาเป็นฐานหลักรักษาคงไว้ จึงสืบทอดสิ่งต่างๆ มาได้นั่นเอง (แต่ในระดับมัธยมจะมีสีสันขึ้นมาได้)

การแสดงการเชียร์ ในกีฬาสี โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น
การแสดงการเชียร์ปลุกใจ ในกีฬาสี โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น

การแข่งขันบางช่วงก็จะมีทีม ชาย และ หญิง ในเกมส์ที่ต่างกัน เช่นของผู้หญิง ขี่ม้าชิงเมือง (Kibasen, 騎馬戦) ส่วนของผู้ชายคือ แข่งล้มเสา,ชิงเสา (Botaoshi, 棒倒し) โหดทีเดียวเกมส์นี้ นอกจากนั้นก็จะมีโยนบอล, ชักเย่อ ซึ่งอาจไม่เหมือนกันทุกโรงเรียน แต่จะคล้ายๆ กันเสียส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งที่ทำให้สนุกสนานในการชม คือ ดนตรีประกอบ ในทุกๆ การแข่งขัน เสียงดนตรีที่เปิดประกอบจะเข้ากับกีฬา และเน้นความเร้าใจ เหมือนการ์ตูนเลย ตอนวิ่งแข่งก็มีใช้เพลงดราก้อนบอลมาด้วย ตื่นเต้นระทึก ผมชอบนะ สนุกดี

เด็กผู้หญิงกำลงแข่งเกมส์ ขี่ม้าชิงเมือง (Kibasen, 騎馬戦) ในกีฬาสี โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น
เด็กผู้หญิงกำลงแข่งเกมส์ ขี่ม้าชิงเมือง (Kibasen, 騎馬戦)
เด็กผู้ชายแข่งเกมส์ ล้มเสา,ชิงเสา (Botaoshi, 棒倒し) ในกีฬาสี โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น
เด็กผู้ชายแข่งเกมส์ ล้มเสา,ชิงเสา (Botaoshi, 棒倒し)

เมื่อหมดการแข่งขันจะมีการแสดง และร่วมกิจกรรมของเด็ก ที่ยังไม่ได้มาเข้าเรียน เรียกว่าเป็นการกระตุ้นเด็กอนุบาลในท้องถิ่นให้มีส่วนร่วม คุ้นเคยก่อนจะมาเรียน เพราะระบบของเด็กประถมคือต้องเรียนในพื้นที่เขตอาศัย

เด็กอนุบาลที่มาร่วมงาน และกิจกรรมในกีฬาสี โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น กับรุ่นพี่
เด็กอนุบาลที่มาร่วมงาน และกิจกรรมกับรุ่นพี่

การแสดงก็จะเน้นวัฒนธรรมญี่ปุ่น รำพัด เต้นนินจา และปิดท้ายด้วยการแสดงแนวต่อตัว จัดระเบียบแถว(เหมือนแปรอักษร) สวยงามประหนึ่งพิธีปิดโอลิมปิก เพียงแต่ไม่ต้องมี สี แสงมาช่วย เน้น ความพร้อมเพรียง และการทำงานเป็นทีม (อีกแล้ว) และเมื่อจบการแข่งขันจะมีการมอบถ้วยรางวัล สีที่ชนะปีนี้คือแดง ได้ถ้วยใหญ่ รองคือสีขาว ได้ถ้วยเล็ก เป็นอันจบพิธี.. ส่วนหนึ่งผู้ปกครองจะเข้าไปเกะกะในพื้นที่ไม่ได้ และเขาไม่เข้ากันไป ใครจะเข้าไปถ่ายรูปต้องมีปลอกแขน สวม เอาไว้

การแสดงปิดในกีฬาสี โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น เป็นการต่อตัว แปลรูปขบวนพร้อมเพรียง สวยงาม
การแสดงปิดงานกีฬาสี เป็นการต่อตัว แปลรูปขบวนพร้อมเพรียง สวยงาม

มีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความรู้ใหม่แถมท้ายผมรู้แล้วตกใจ เลยมาแบ่งปัน คือกระเป๋านักเรียนญี่ปุ่น จะแพงมาก ราคาเริ่มต้นที่ราว 20,000 เยน (ราว 6-8 พันบาท คือแบบราคาถูกๆ) จนถึง หลัก หลายแสนเยน (เป็นแสนบาทก็มี) หากว่ากันเป็นเงินไทย มาตรฐานกระเป๋าจะอยู่ที่ราวใบละ 2-3 หมื่นบาทไทย.. โอ้โห ผมก็ทักว่ามันแพง แต่เขาบอกว่า ต้องใช้ ป.1-6 โดยไม่เปลี่ยนเลยทีเดียว จึงถือว่าไม่แพง.. แต่ในไทยตามเว็บมีขายนะ ใบละ 2-3 พันบาท.. คุณภาพไม่รู้ครับ แหะๆ

*รันโดะเซะรุ (Randoseru, ランドセル) ก็คือกระเป๋านักเรียน หรือเป้สะพายหลัง ที่เอาไว้ใส่พวกอุปกรณ์การเรียนสำหรับนักเรียนประถม คำว่า รันโดะเซะรุ มาจากภาษาดัชท์* Ransel ตัวกระเป๋าสูงประมาณ 30 ซ.ม. กว้างประมาณ 18 ซ.ม. ทำจากหนังเทียม (บางยี่ห้อก็ทำจากหนังแท้) ที่ค่อนข้างมีความแข็งพอสมควร แต่ก็บุด้วยหนังนุ่มๆ ในส่วนที่ต้องสัมผัสโดนตัว สำหรับกระเป๋าเปล่าๆ นั้น หนักประมาณ 1.2 กิโลกรัม *ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจาก www.marumura.com

ไม่อยากสรุปอะไรสำหรับตอนนี้ แต่เชื่อว่าหากอ่านมาจนถึงตอนนี้ หลายท่านคงได้เห็นและได้คิดสะท้อนไปว่า นี่เป็นแค่เพียงส่วนเดียวของการปูพื้นฐานที่สำคัญของสังคมญี่ปุ่น ตอนต่อไป จะพาไปเที่ยวโตเกียว พบกันใหม่ ไปญี่ปุ่น 1 ตอน 3 โตเกียวในความรู้สึก.. ขอบคุณครับ

โรงเรียนประถม ประเทศญี่ปุ่น

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น