ผมเขียนเรื่องนี้ ในวันที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการลงทุนหน้าหนึ่งของไทย นั่นคือการเกิด Circuit Breaker เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งใจจริงอยากจะเขียนถึงตั้งแต่วันแรกที่เกิด แต่หลังจาก Circuit breaker ครั้งแรกผ่านไป ตลาดยังไม่สู้ดีทั้งในและต่างประเทศ ในเชิงเทคนิคแล้ว อาจยังไม่สุด ก็เลยเลือกว่าจะมาเขียนอีกวัน โดยไม่คาดเดาหรอกว่าจะมา เกิดอีกครั้ง ในวันนี้ (วันที่เขียน)
ตอนที่เห็นสภาพตลาดต่างประเทศเมื่อคืนที่เกิดวันแรก (12/03/2563) แล้ว ก็แอบลุ้นแต่ว่า จะมี circuit breaker อีกรอบไหม.. (ที่ลุ้นได้ เพราะไม่มีหุ้นในมือเลย)
Circuit breaker เป็นมาตรการหนึ่งของตลาดหุ้น คือการหยุดทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ชั่วคราว แบ่งเป็น 2 รอบ ดังนี้ รอบแรกกรณีที่ดัชนีตลาดตกลง หรือลบ ถึง 10% โดยจะหยุดทำการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที และรอบสอง หากเปิดตลาดแล้ว ดัชนีตลาด ตก หรือลบไปอีกถึง 20% ก็จะเข้าสู่ Circuit breaker ได้อีกครั้ง จะหยุดทำการซื้อขายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เป็นมาตรการป้องกันความผิดพลาดและทางเทคนิคหลาย ๆ ด้าน แต่ถ้ารอบแรก หยุดไปแล้ว แล้วหุ้นยังตกลงไป เป็น 11-19% ก็จะไม่มีการหยุดซื้อขายแต่อย่างใด
ตามประวัติศาสตร์ไทย ยังไม่เคยเกิดถึงรอบ 2 แต่สำหรับ รอบแรก ที่ผ่านมาเคยใช้มาตรการนี้ไปแล้ว 3 ครั้ง ก่อนจะมีอีกในปีนี้ 2 ครั้ง รวมเป็น 5 ครั้ง (ณ วันที่เขียนก็ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นอีกไหม แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ผ่านจุดแย่ที่สุดไปแล้ว)
การเกิดครั้งแรก คือเมื่อปี 2549 สาเหตุ นโยบายกันเงินสำรองจากต่างชาติ 30% สรุปง่าย ๆ คือมาตรการทางการเงินผิดพลาด, ครั้งที่สอง คือวิกฤติการเงินโลก ซับไพรม์ (subprime) หรือ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และครั้งที่ 3 ก็วิกฤติเดียวกัน ปีเดียวกัน แต่ห่างกัน 17 วัน คือ วันที่ 10 ต.ค. กับ 27 ต.ค. ปี 2551
สำหรับสิ่งที่เพิ่งผ่านไป คือ 12 มี.ค. และ 13 มี.ค. 2563 เป็นครั้งที่ 4-5 แน่นอนถือว่าเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นติดกัน 2 วัน พอทราบได้ว่าสาเหตุหลักคือการระบาดของไวรัส Covid-19 หรือ โคโรน่าไวรัส ทำให้ทั่วโลกปั่นป่วน และนับว่าเป็นปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ ปัจจัยทางการเงิน ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าภาวะวิกฤติการลงทุนได้ขนาดนี้ (กรณีอื่น ๆ ที่ทำให้ตลาดหุ้นแย่ คือความกังวลสงครามระหว่างประเทศ)
ดังที่เขียนไปในบทความก่อนแล้วว่า “ตลาดหุ้นไทย ไม่กี่วันที่ผ่านมา บอกอะไรเรา” เมื่อความจริงยิ่งชัดเจนขึ้น และส่งผลรุนแรงขึ้น มันก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่.. สิ่งที่น่าสังเกตุคือ “ความรวดเร็ว” การเกิด circuit breaker ถึง 2 รอบใกล้ ๆ กันนั้นไม่ธรรมดา แม้ว่าสาเหตุจะชัดเจน แต่ก็ดูเกินเหตุไปสักนิด จิตวิทยานักลงทุน ไม่เหมือนเดิม อาจด้วยข้อมูลข่าวสารโลก ระบบการซื้อขายที่มีคอมพิวเตอร์เกี่ยวข้อง ทำให้ อะไร เหมือนว่าเกิดขึ้นรวดเร็วเป็นเรื่องง่าย (ทั้งที่น่าตกใจ และหลายคนเตรียมใจไม่ทัน)
จะว่าไปแล้วหากพอสังเกตภาพรวมตลาดการลงทุนในช่วงปีหลัง ตลาดผันผวนได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก การขึ้นลงระดับ 40-50 จุด มีบ่อย ๆ ทั้งที่ไม่มีเหตุการใหญ่อะไร ผมจึงไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดในวันนี้นัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พอใจหรือยินดี เพราะนี่ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า นักลงทุนรายย่อยทั่วไป อาจยากลำบากขึ้น อาชีพ “นักลงทุน” ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย หากไม่มี หรือไม่ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ดีพอ
ผมไม่ใช่นักลงทุนอาชีพ แต่ก็ลงทุนอยู่เสมอในส่วนหนึ่ง และเป็นนักลงทุนแบบเก่า ที่จะว่าไปโชคดีปรับมาจนมีแนวทางดังที่เขียนในหนังสือ Reverse Hybrid (กลับหัวคิด พิชิตตลาดหุ้น) เอาไว้ เพราะทุกวันนี้เทคนิคอย่างเดียวคงสู้คอมพิวเตอร์ไม่ได้ VI ก็คงไม่ทันการ อย่างไร ก็ต้องปรับตัวครับ ในทุกอาชีพ ทุกวงการ กันต่อไป ในวันที่โลก อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นใหม่ ได้เสมอ
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 13/03/2020