กระโดดเมื่อพร้อม อีกบทเรียนธุรกิจจาก Apple

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » บทความการตลาด » กระโดดเมื่อพร้อม อีกบทเรียนธุรกิจจาก Apple |


เมื่อคุณสร้างแบรนด์หรือทำสินค้าขึ้นมาตัวหนึ่ง คุณย่อมอยากให้สินค้าคุณดีที่สุด แต่มันมักไม่มีวันดีที่สุด ต้องมีข้อติ ข้อเรียกร้องเพิ่มจากลูกค้าได้เสมอ

ปัญหาอาจเกิดจากข้อจำกัดของการผลิต, การออกแบบ, ต้นทุน แม้กระทั่งข้อจำกัดในการบริหารจัดการจากเราเอง และแน่นอนว่า หากเราไม่ฟัง feedback หรือเสียงสะท้อนจากลูกค้า อนาคตอาจไปต่อไม่ได้ อีกด้านหนึ่งถ้าฟังมากไป แล้วทำตามเสียหมดคิดว่าจะขายได้ขายดีหรือ? ซึ่งบางทีก็ไม่รู้ว่าต้องขายที่ราคาไหน? เพราะสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมมาย่อมมีต้นทุน

บทความเกี่ยวกับธุรกิจ ที่ไม่ได้พูดถึงหลักการวิชาการใด แต่เป็นเพียงข้อสังเกตที่นอกจากจะให้แง่คิดทางธุรกิจแล้วอาจมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในบางมุมด้วยก็ได้ และ Apple แบรนด์สินค้าที่อาจได้เห็นบทความการตลาด หรือด้านธุรกิจกันมาบ่อยครั้ง แต่เรื่องนี้เป็นอีกมุมเล็ก ๆ ที่ไม่น่าจะผ่านตา เพราะปกติส่วนตัวก็ไม่ค่อยเขียนอะไรถึงแบรนด์นี้เท่าไหร่ ทั้งไม่ได้เป็นสาวก และแง่อื่น ๆ คนก็เขียนกันไปมากมายแล้วด้วย…

ผลิตภัณฑ์อันยอดเยี่ยม?

แม้หลายคนจะชื่นชมผลิตภัณฑ์จาก Apple ว่ายอดเยี่ยมเพียงใด แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นพ้อง หรือว่าชอบ/ใช้ไปเสียหมด ตำหนิหรือข้อบกพร่องในสินค้าบางรุ่นย่อมมีทั้งสิ้น ตรงนี้เราไม่ต้องพูดถึง แต่ในแง่แบรนด์และการนำเสนอผลิตภัณฑ์โดยอย่างยิ่งในหมวดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคคือ “การเปรียบเทียบ” ระหว่างผลิตภัณฑ์

บริษัท Apple นั้นก่อตั้งมานาน มีผลิตภัณฑ์มามากมาย ซึ่งคงไม่ย้อนไปกล่าวรวมถึงทั้งหมดนั่น สิ่งที่จะนำมาเป็นข้อสังเกตคือเริ่มจากยุคหลังกำเนิดโทรศัพท์มือถือ เห็นได้ชัดว่า Apple เข้ามาในวงการนี้ในเวลาที่เหมาะสม ถึง Apple จะเป็นรายแรก ๆ ที่เริ่มทำมือถือแบบสมาร์ทโฟน คือมีความเป็นคอมพิวเตอร์เล็ก ๆ มีหน้าจอสัมผัสก็ตาม แต่คู่แข่งรายอื่นก็มีมากมาย ซึ่งแน่นอนการเปรียบเทียบสเปค หรือคุณสมบัติต่าง ๆ ก็มีมาตลอด และหลายด้านที่ด้อยกว่าก็ดูจะเป็นเช่นนั้น โดยสาวกเองก็ต้องแอบยอมรับ ที่เราจะค่อย ๆ พูดถึงกันไปและไม่จำเพาะในโทรศัพท์มือถือเท่านั้นด้วย

อดทนข้อด้อย หรือค่อย ๆ พัฒนา?

ผลิตภัณฑ์แรกที่ต้องพูดถึงคือ iPhone แม้จะมีหลายอย่างที่เป็นผู้นำทำก่อนเขา แต่ก็หลายครั้งที่ผลิตภัณฑ์นี้ถูกเปรียบเทียบและตำหนิในข้อด้อย หลายเรื่องในหลายปีที่ผ่านมา ตัวอย่างดังนี้

  • จอเล็ก : เป็นสิ่งแรกที่ iPhone โดนโจมตี ในช่วงยุค iPhone 4 ถึง 5s ที่มีหน้าจอเพียง 4 นิ้ว ขณะแบรนด์อื่นหน้าจอไปที่ 5-6 นิ้วกันแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่า การทำจอใหญ่สำหรับ iPhone ช่วงแรกไม่ง่าย เพราะถ้าทำทันทีปัญหาที่มาแทนที่คือ แบตเตอรี่ก็ต้องหมดเร็ว รวมถึงความละเอียดของหน้าจออาจต้องสูญเสีย ไหนจะด้าน software ที่ต้องปรับตาม ซึ่งทั้ง 2 อย่างหลังเรื่องจอสวยงามและความเสถียรนั้นเป็นจุดแข็งของ iPhone ตอนนั้นทั้งคู่ ขืนรีบตามกระแสไป จอใหญ่อาจทำลายจุดแข็งเดิม แบบไม่น่าจะคุ้มค่านัก (ตอน iPhone 6 ออกมาแรก ๆ ก็มีปัญหาบางแอพกับขนาดจอจริง ๆ แต่ส่วนน้อย ซึ่งก็ไม่ใช่จาก Apple เอง)
  • กล้องคู่ : นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่มาทีหลังเขา จะว่าไปไม่ใช่แค่การมีกล้องคู่แต่คุณภาพกล้องแรก ๆ ก็ถูกโจมตีไม่น้อยถึงจะไม่ได้แย่ แต่ความเป็นมือถือราคาแพงย่อมถูกคาดหวัง แม้กล้องคู่จะถูกใส่มาในยุค iPhone 7 แต่อาจยังไม่ดูเด่นอะไรนักด้วยเพราะใคร ๆ ก็มีแล้ว แต่พอเข้า iPhone 8 ในรุ่น plus กล้องถูกพัฒนาความสามารถจนถือว่าเป็นโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ดีมาก ๆ ในยุคนั้น แบบที่แฟน และไม่ใช่แฟน ต้องเริ่มยอมรับและก็ไม่มีใครมองว่ากล้อง iPhone เสียเปรียบแบรนด์อื่นได้อีกเลย
  • ปากกาไม่มี : มันไม่จำเป็น อาจเป็นสิ่งที่ผู้ใช้หลายคนเห็นด้วยกับ Steve Jobs เมื่อในอดีต แต่ก็มีไม่น้อยที่อยากได้มันเหมือนที่ samsung ทำ ถ้ามองกลาง ๆ คนใช้ปากกาจริงจังบนโทรศัพท์ก็มีแค่เฉพาะกลุ่ม แต่ภายหลัง Apple ก็มีปากกา แต่ใช้บน iPad ซึ่งดูแล้วเหมาะสม และเป็นอะไรที่ขาดแทบไม่ได้ในยุคปัจจุบัน เพราะนักเรียนนักศีกษาต่างใช้กันมากมาย นี่ก็คืออีกหนึ่งที่เห็นชัดว่ามาเมื่อพร้อมจริง ๆ …
  • จอพับยังไม่มา : ณ ปัจจุบันเลยปี ค.ศ. 2021 มือถือเริ่มมีจอพับออกมาจำหน่าย แม้ใครจะมองว่าไม่จำเป็น แต่ข้อดีมันก็มีอยู่คือทำให้อุปกรณ์พกพาเล็กลงได้ในตอนเก็บ แล้วเวลาใช้ก็ได้จอใหญ่สบายตา ซึ่งหากมองอดีตที่ผ่านมาก็คงไม่ต่างกันที่ วันนี้ยังไม่มา วันหน้าก็ไม่แน่…

เหล่านี้เป็นเพียงข้อสังเกตต่าง ๆ ที่เปรียบเทียบเฉพาะ iPhone ด้าน Hardware จากอดีตจนถึงวันนี้ แต่ส่วนตัวแล้วยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกประการสำคัญ

เครื่องไม่แรง

ในสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันรวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต หน่วยประมวลผลหรือ CPU ที่เปรียบเสมือนว่าเป็น “มันสมอง” ของอุปกรณ์ มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพของอุปกรณ์เสมอมา

แม้หลายคนจะพอทราบดีว่าการทำงานของ Apple ส่วนใหญ่จะราบรื่นดีโดยไม่ต้องพึ่งพาสเปคสูง ๆ แต่มันก็มีเหตุผลไม่น้อยในแง่ความรู้สึก “คุ้มค่า” ของใครหลาย ๆ คน และเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ Apple ถูกเปรียบเทียบบ่อย ๆ (ทางตัวเลข) iPhone ก็เช่นกัน จนในยุคหลังราวปี 2017 ในชิพ A11 ของ Apple ก็ก้าวกระโดดมีผลการทดสอบสูง จนไม่ค่อยมีใครกล้าดูถูกเรื่องสเปคของมือถือ Apple อีกเลย..

แต่อย่างไรก็ตาม กว่าสเปค iPhone จะแรงกว่าชาวบ้าน มือถือทุกวันนี้ก็มีสเปคที่เกินพอความต้องการไปมากมาย ทว่า สิ่งที่อยากเขียนถึงมากกว่าในแง่สเปค หรือ ฮาร์ดแวร์ คือ ความสำเร็จของชิพ CPU “m1” บนคอมพิวเตอร์ Mac (และอยู่บน iPad ด้วยแล้วในปี 2021)

จากอดีตอาจมีผู้สร้าง CPU มาหลายราย แต่ ณ จุดหนึ่งก็เหลือเพียง 2 รายหลักที่เป็นผู้นำและพัฒนาวงการคือ intel กับ AMD มาหลายปี แน่นอนว่า ผลิตภัณฑ์ Mac หรือคอมพิวเตอร์ของ Apple เอง ก็ใช้ CPU ของ intel มาตั้งแต่ราวปี 2006 ดังนั้นเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ยี่ห้ออื่น ๆ ที่ใช้ CPU เดียวกัน ก็ทำให้เกิดความรู้สึกได้ว่า Apple สเปคต่ำกว่า ในราคาที่แพงกว่าอย่างเห็นได้ชัด หากไม่ดูด้านอื่นและเรื่องซอฟแวร์

จนปีที่ผ่านมา ค.ศ. 2020 Apple ก็เปิดตัวชิพ CPU คอมพิวเตอร์ของตัวเองในชื่อย่อ ๆ ว่า “m1” ที่อาจมีปัจจัยทางเทคนิคที่สำคัญหลายอย่าง (ใช้สถาปัตย์ ARM) แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือผลลัพธ์สุดท้ายแง่ “ประสิทธิ์ภาพ” ที่เหนือกว่า CPU ในท้องตลาดหลายตัว โดยที่ปกติแล้ว CPU อื่น ๆ อาจมีหลายรุ่นตามระดับต่ำ กลาง สูง แต่ของ m1 มีเพียงหนึ่งเดียวที่ให้ประสิทธิภาพระดับสูงไปเลย…

หากท่านพอรู้จักผลิตภัณฑ์ Apple มาบ้าง อาจคงพอคุ้นเคยว่า “แพง” คือเมื่อเทียบ สเปค เดียวกันกับยี่ห้ออื่น การมาของ m1 ทำให้รู้สึกได้ถึงความ “คุ้มค่า” หรือราคาไม่แพงขึ้นมาทันที อย่าง Mac book air ราคาเริ่มต้นที่ 32,900 บาทนั้น หากเทียบเฉพาะประสิทธิภาพกับยี่ห้ออื่นที่ราคาใกล้เคียงกัน กลายเป็นว่า Mac book air ชิพ m1 ดูเหนือกว่า ยิ่งคิดแง่วัสดุอื่น และหน้าจอด้วยแล้ว ถือว่าถูกกว่าไปเลยก็ได้…

กระโดดเมื่อพร้อม

จากหลายแง่มุมที่ผ่านมา ก็ใช่ว่า Apple จะดีไปเสียหมด หรือเรื่องที่ถูกเปรียบเทียบก็ไม่ได้แย่หรือดูเลวร้ายมากมาย เพราะผลิตภัณฑ์ยังมีอีกหลายปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งที่เราทราบดีคือ “ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดยอดเยี่ยมในทุกด้านได้ทันที” เหมือน จะทำให้ดีไปเสียทุกอย่างในทีเดียวคงไม่ได้

จะด้วยเรื่องวิสัยทัศน์ หรือนวัตกรรมก็ตาม แต่ภาพรวมที่เราได้เห็นจากเรื่องต่าง ๆ ที่ผมเล่าสู่คือ เรื่องที่เคยด้อย ถูกเปรียบเทียบ Apple มักทำตัวเหมือนไม่รู้ร้อน และมุ่งเน้นจุดเด่นของตัวเองแทนที่ไป และวันหนึ่งเมื่อเขาแก้ไขหรือพัฒนาในเรื่องนั้น ๆ มาได้ เสียงแง่ลบเหล่านั้นก็จะหายไปอย่างเงียบสนิท แถมหลายครั้งก็กลายเป็นว่า ไม่ใช่แค่มี มีแล้วดีกว่ามากไปเลยด้วย จึงเสมือนว่าไม่ใช่แค่ลุกขึ้นจากเรื่องที่เคยลบนั้นมาได้ แต่คล้ายกระโดดหนีไปเลย

ดังที่กล่าวไว้ หากเราทำแบรนด์หรือสินค้าเราย่อมอยากสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดออกขาย เพื่อให้เหนือกว่าคู่แข่งจนลูกค้าเลือกเรา แต่บางทีคำว่า “ดีที่สุด” อาจเป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้ แต่ทำให้ดีกว่าเดิม ดีกว่าเก่า เป็นเรื่องที่ทำได้แน่นอนขึ้นอยู่กับว่า เราจะแก้ตัว หรือแก้ไข เราจะใช้วิธีแค่ชวนเชื่อหรือพัฒนา เหมือนชีวิตที่เลือกทำให้เห็นดีกว่าแก้ตัว เพราะสุดท้ายการยอมรับมันย่อมกลับมาเอง…

ไม่พร้อมกระโดด

อีกแง่มุมที่เราควรเห็นให้ได้ หลาย ๆ ธุรกิจ หรือกิจการในบ้านเรา มุ่งเน้นเพียงขายสิ่งของ หรือสินค้าตามกระแส แค่เลือกที่จะ “ลุก” ตามเขาไป อย่าลืมว่าความเป็นแบรนด์ และความเชื่อมั่น มันยิ่งสวนทาง เพราะสุดท้ายเราก็แค่คล้ายหรือไม่ต่างจากคนอื่น รวมทั้งต้นทุนวิ่งไล่ตาม บางทีก็ได้คืนมา บางครั้งก็ “เหนื่อยฟรี” เช่นนี้จึงไม่มีแรง ไม่มีเงินไว้กระโดดหนีใคร จึงเป็นเหตุผลมากมายที่ไม่ใช่เรื่อง “ปรับตัวไม่ได้” แต่ไม่มีเส้นทางของตนเอง

รวมถึงแนวคิด แค่ขายได้ก็ขายไปไม่สนใจพัฒนาเพื่อวันข้างหน้า เมื่อไหร่ก็ไม่ไปไหนแน่นอน ซึ่งทั้งหมดนี้หากมองและประยุกต์ใช้กับกิจการได้วันหนึ่งคง “พร้อมกระโดด” ขึ้นไปติดอันดับในวงการกับเขาบ้าง…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 04/05/2021

กระโดดเมื่อพร้อมอีกบทเรียนธุรกิจจากApple

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น