คอลัมน์ MarkeThinks 09 : การวางแผนการตลาด (2)

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » บทความการตลาด » คอลัมน์ MarkeThinks » คอลัมน์ MarkeThinks 09 : การวางแผนการตลาด (2) |


พิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร Foodbook ปีที่ 1 ฉบับที่ 10

คอลัมน์การตลาด MarkeThinks เล่มนี้ จากฉบับก่อนที่ค้างกันไว้ ในตอนต่อของ Happy New Year Plan ที่นำเสนอแนวทาง การวางแผนการตลาด ได้กล่าวถึงไว้ที่ การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก (External Factors) ไปแล้ว ครั้งนี้ก็มาต่อกันด้วย.. ย้อนอ่าน ตอนที่ 1

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

ฟังบน Youtube

การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน (Internal Factors)

ที่มีนิยามปัจจัยภายในให้เข้าใจง่ายๆ ว่าคือ ปัจจัยที่เราควบคุมได้ จัดการได้ ตรงข้ามกับปัจจัยภายนอกนั่นเอง ที่กิจการเล็กๆ หรือเริ่มต้นใหม่ ควรให้ความสำคัญมากเพราะจะนำพาไปสู่การ “หาตัวเองเจอ” ผมย้ำเสมอ หลายๆ ธุรกิจอยากขายหลายอย่าง อยากทำได้หลายอย่าง แต่ไม่เคยวิเคราะห์ตัวเองเลยว่า มีความสามารถทำอย่างนั้นได้ไหม? ถ้าคิดว่าทำได้ แล้วมันดีพอจะแข่งกับคนอื่นไหม? ต้องคิดมาถึงจุดนี้ด้วย แค่ทำได้ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าจะเลือกซื้อของเรา เขาย่อมเลือกสิ่งที่ดีกว่า นี่จึงจำเป็นต้องหาตัวเองให้เจอ เปรียบสมมติเป็นนักกีฬาฟุตบอล ต่อให้เราบอกว่าเล่นฟุตบอลเก่ง บางทีไม่มีประโยชน์เลย เพราะพอลงตำแหน่งๆ จริงๆ อาจไม่เด่นสักตำแหน่งเลยก็ได้ สุดท้ายคุณก็จะเป็นได้แค่ ตัวสำรอง ร้านสำรอง กิจการสำรอง ที่ลูกค้ามองแค่นั้น..

กระบวนการวิเคราะห์ปัจจัยภายในนั้น โดยหลักการอาจใช้ได้หลายวิธี และเครื่องมือที่นิยมมาก เช่น McKinney 7-S Framework*,
Value chain Analysis* ในทีนี้แนะนำให้มองเบื้องต้น แบบหยิบจับนำไปใช้ วิเคราะห์กันง่ายๆ แล้วให้มองจากสิ่งเหล่านี้ว่าสิ่งใดเป็นจุดแข็ง หรือจุดอ่อนของเรา ดังนี้

  1. การเงิน : จุดนี้มีส่วนสำคัญในการแข่งขัน หรืออยู่รอด ต้องวิเคราะห์ให้ครบว่ากิจการของเรา มีจุดคุ้มทุนสูงหรือต่ำอย่างไร สายป่านมากน้อยแค่ไหน มีเงินสำรอง หรืองบการตลาดที่จะสู้กับคู่แข่งระดับไหน ถือว่าค่อนข้างละเอียดอ่อน
  2. ทักษะ และ บุคลากร : ด้านนี้มีส่วนสำคัญมาก ถ้าองค์กรใหญ่ อาจมองสองส่วนนี้แยกกัน แต่ในกิจการหลายประเภทก็อาจจะมองเป็นภาพที่ควบคู่กันไปเพื่อง่ายต่อการวิเคราะห์ได้ เช่น ร้านอาหาร การมีพ่อครัวเก่ง หรือการมีเจ้าของร้านเป็นคนมีชื่อเสียง ก็ถือว่าเป็นบุคลากรคนหนึ่งที่มีความได้เปรียบ รวมถึง หากเป็นทีมงานที่มีความน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็เป็นจุดแข็งแบบหนึ่งทีเดียว
  3. ระบบและเทคโนโลยี : เป็นสองด้านที่อาจจะแยกกันหรือรวมกันก็ได้เช่นกัน ในส่วนนี้จะเกี่ยวโยงกับการบริหารจัดการ เช่น การต้อนรับลูกค้า การผลิต จนถึงการคิดเงิน ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างและรักษาคุณภาพพื้นฐาน และที่มากกว่านั้นอาจมีระบบ หรือเทคโนโลยีที่โดดเด่น แปลกใหม่ ไปจนถึงเครื่องจักรทันสมัย สร้างจุดขายที่แตกต่างได้ในหลากหลายสินค้า บริการ เช่น เร็วกว่า, เล็กกว่า, บางกว่า, มาตรฐานกว่า เหล่านี้เป็นต้น ทั้งยังส่งผลด้านต้นทุนได้อีกด้วย
  4. พันธมิตร : ข้อนี้เป็นส่วนเติมเต็มในหลายๆ ส่วนให้เกิดประโยชน์ ในหลายกระบวนการของธุรกิจหรือองค์กร โดยอาจเป็นสิ่งที่ชดเชย หรือต่อยอดจากระบบต่างๆ หรือมองรวมกับเรื่องระบบในข้อ 3 ก็ได้อย่างเช่น การมีคู่ค้าขายส่งทรัพยากรที่ดี การมีคู่ค้าที่เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทหรือสินค้าของบริการ ไม่เว้นแม้กระทั่งการที่ เจ้าของกิจการมีความสัมพันธ์ต่อสังคม หรือมีที่ปรึกษาที่ดี เหล่านี้ก็ถือเป็นพันธมิตรต่อธุรกิจ เป็นทั้งโอกาสและจุดเด่นที่ดี และเตือนก่อนว่า พันธมิตรธุรกิจไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นเพื่อน หรือชอบพอกับเรา แต่หมายถึงคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันส่งเสริมกัน

ที่กล่าวมาเป็นหัวข้อให้นำมาวิเคราะห์ปัจจัยภายในอย่างกว้างๆ แต่ถ้าคิดให้ละเอียด ก็น่าจะครบถ้วน และนำไปใช้เป็นข้อมูลต่อการวางแผนในฉบับต่อไป (อ่านต่อ ตอนที่ 3)

คอลัมน์การตลาด กลยุทธ์การตลาด การวางแผนการตลาด 2
นิตยสาร Foodbooks (หัวหิน) คอลัมน์ Markethinks 09
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น