คอลัมน์ MarkeThinks 22 : เหมือนเรา หรือดีกว่าเรา

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » บทความการตลาด » คอลัมน์ MarkeThinks » คอลัมน์ MarkeThinks 22 : เหมือนเรา หรือดีกว่าเรา |


พิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร Foodbook ฉบับที่ 23

ผมจะมีประโยคหนึ่งซึ่งได้เคยโพสท์ไว้บน Facebook Page Sirichaiwatt ว่า “การทำธุรกิจ แล้วมีคนทำเหมือนเรา ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ แต่มันจะน่ากลัวก็ตรงที่ว่า เขาแค่ทำเหมือนเรา หรือ ทำได้ดีกว่าเรา..”

ธุรกิจการตลาดนั้นอาจต้องเริ่มจากสองทางเลือกคือ Mass (ขายกลุ่มใหญ่) หรือ Niche (จำเพาะกลุ่ม) ซึ่งเชื่อว่าคนทำธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ในตลาดที่ขายคนกลุ่มใหญ่! เพราะนั่นหมายถึงการที่ร้านต้องมีเฟรนไชน์ หรือหลายสาขา และโดยส่วนใหญ่แล้วก็จำกัดอยู่บนประเภทอาหารหนึ่ง ก็ขายอยู่บนทำเลหนึ่งๆ เท่านั้น และมีร้านเพียงร้านเดียว

จุดนี้เป็นจุดที่คนเข้าใจการตลาดจะเข้าใจ ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ โดยที่เป็นไปในทาง ไม่ยอมเข้าใจมากกว่า ในฐานะเจ้าของธุรกิจก็คิดอยากจะขายกลุ่มใหญ่กันหมด ซึ่งบางทีคำว่ากลุ่มจำเพาะหรือกลุ่มใหญ่นี้ ไม่เกี่ยวกับจำนวนผู้ซื้อเสมอไป และต้องไม่ลืมว่า การแข่งขันมันมากับคำว่าธุรกิจเสมอ

ธุรกิจหลายประเภท ไม่เฉพาะร้านอาหาร เมื่อเริ่มดำเนินการก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป มีแผนบ้าง ลุยดิบๆ เหมือนวัดดวงกันไปบ้าง จะแบบไหน หากไม่สำเร็จ ก็จบกันไป แต่เมื่อสำเร็จขึ้น(ประมาณหนึ่ง) ในแบบตั้งต้นได้ คนทำธุรกิจก็จะคิดและรู้ได้บ้างว่า “เพราะอะไร” ตรงนี้เองมันแตกต่างกันระหว่างคนมีแผนกับคนไม่มีแผนการ เพราะคนไม่มีแผนการนั้นเมื่อมันสำเร็จขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ ในที่นี้คืออาจสำเร็จบนไอเดีย “เพียงบางอย่าง บางเรื่อง” แน่นอนว่ามันต้องเด่นมากพอให้รับรู้ว่านี่คือสิ่งที่ทำให้สำเร็จ เรารู้.. ลูกค้ารู้.. คู่แข่งรู้..

การทำตามจึงเกิดขึ้นมา เพราะ “แค่ไอเดีย” มันเป็นเรื่องที่เลียนแบบกันได้ไม่ยาก แต่ก็ใช่ว่าเขาจะสำเร็จ จุดสำคัญประการหนึ่งคือ ถ้าผลของความสำเร็จคุณเกิดจาก “แค่ไอเดีย” ไม่ได้มีความยากต่อการเลียนแบบ สิ่งที่คุณทำได้ก็เพียงแค่ “โมโห” ที่โดนเอาไอเดียไป

แต่ถ้าในไอเดียนั้น มันมีกระบวนการ ที่ต้องใช้ความพยายาม ความสามารถจำเพาะบางอย่าง หรือบางสิ่งที่พิเศษร่วมด้วย ย่อมทำให้คุณไม่เดือดร้อนต่อการเลียนแบบ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ามันยากจะทำได้ดีเท่า หรือหากคุณมีแผนการอยู่ คนที่กำลังเลียนแบบก็จะกลายเป็นผู้ตาม ซึ่งอาจจะตามไม่ทัน เพราะเขาไม่ได้รู้ถึงสิ่งที่คุณจะทำต่อไป เป็นไปได้ว่าเขาอาจหันไปสร้างแนวตัวเอง นั่นก็อยู่ที่ว่าใครทำได้ดีกว่าอีกเช่นกัน

แต่! ก็ใช่ว่าเพียงเท่านี้ การจัดการ การผลิตนั้น แม้อาจสร้างความจำเพาะ ความพิเศษได้ หากเป็นส่วนเดียว แล้วขาดการทำการตลาดที่ดี อาจกลายเป็นคู่แข่งที่สร้างความได้เปรียบ เช่น คู่แข่งสร้างกระแสได้ดีกว่า

สรุปรวมแล้วจะเห็นว่า ถ้าการทำธุรกิจแบบไร้ทิศทาง หรือวางแผน การมีคู่แข่งเข้ามาย่อมสร้างปัญหาให้คุณได้ แต่ถ้าคุณรู้ตัวว่ามีดีอะไรบางทีเราก็แค่สนใจแต่ผลลัพธ์ของตัวเองและพัฒนาตัวเองต่อไป ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล ประหนึ่งประโยคที่ผมเชื่อ “ทองแท้ ย่อมไม่กลัวไฟรน”

คอลัมน์ Markethinks 22 เหมือนเราหรือดีกว่าเรา บทความการตลาด
คอลัมน์ Markethinks 22 เหมือนเราหรือดีกว่าเรา บทความการตลาด
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น