พัฒนาตนเอง สร้างโอกาส ด้วย สสซ!?

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » การเปลี่ยนแปลงตัวเอง » พัฒนาตนเอง สร้างโอกาส ด้วย สสซ!? |


เป็นบทความพัฒนาการพัฒนาตนเองที่เขียนช่วง ภาวะวิกฤติไวรัส น่าจะเป็นโอกาสดีที่คนมีเวลาได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการทบทวนมุมคิดต่าง ๆ ของตนเอง นี่ก็เป็นอีกมุมหนึ่งที่อาจเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามหากใครมาอ่านในช่วงนี้ ก็อยากให้พยายามอดทน ณ วันนี้ จีน ที่เป็นประเทศใหญ่ ประชากรมากมาย ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เชื่อว่า เดี๋ยวประเทศเราก็ผ่านไปได้ครับ

มาว่ากันตามหัวข้อ คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนเก่ง ๆ หลายคน เป็นผู้บริหาร เป็น CEO ที่สำเร็จ ทำไมไม่ไปเป็นเจ้าของกิจการเอง หรือ เจ้าของกิจการที่เก่ง เจ้าของไอเดีย ผู้คิดค้นริเริ่ม กลับไม่รวย ไม่สำเร็จ หรือแม้แต่ CEO หลายบริษัทใหญ่หลายคน นำพาบริษัทรุ่งเรือง พอมาทำของตัวเองจริงจัง เจ๊งไม่เป็นท่า ขอยกตัวอย่างกว้าง ๆ แบบนี้ครับ ถ้าพูดถึงโทรศัพท์มือถือ กับบุคคลสักคน ทั่วไปอาจนึกถึง สตีฟ จ๊อบส์ (Steve Jobs) มากกว่า มาร์ติน คูปเปอร์ (Martin Cooper) หรือ ถ้าเป็นแบรนด์ก็จะนึกถึง ไอโฟน (iPhone) ซัมซุง (Samsung) มากกว่าโมโตโรล่า (Motorola) ทั้งที่ ชื่อหลัง คือผู้ริเริ่มทำโทรศัพท์ มือถือ

อาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนักหากจะพูดเรื่องความสำเร็จ เพราะในแง่แบรนด์ มีปัจจัยหลากหลาย เพียงแต่อยากให้เห็นภาพที่เห็นชัดเจน และน่าจะทำให้นึกออกถึงบุคคลที่คุณรู้จัก หรือเรื่องราวที่คุณอาจเคยได้ยิน ได้อ่าน ในลักษณะที่ คนเก่งพอเปลี่ยนสถานะบางอย่าง กลับไม่ประสบความสำเร็จ หรือบางคนน่าจะสำเร็จ แต่กลับไม่ หรือสำเร็จไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น

คนเรามีคุณลักษณะความสามารถบางประการไม่เท่ากัน

ถ้าชอบหรือเคย ดู อ่าน ฟัง ประวัติ คนที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายระดับไม่จำเพาะว่าต้องระดับโลก หรือเพียงเรื่องความร่ำรวย แต่สำเร็จในวงการของเขา ผมสังเกตเรื่องหนึ่งของคนเราที่มีคุณลักษณะความสามารถบางประการไม่เท่ากัน และมันเป็นปัจจัยของผลลัพธ์ความสำเร็จได้ หากเรารู้ตัวและนำมาปรับใช้กับการพัฒนาตนเอง ก่อนอื่นคุณต้องลองคิดตามจากผู้คนที่คุณพอรู้เรื่องราวเขา จะเป็นคนดังหรือไม่ก็ตาม ถ้าคิดออกหรือลองไปดูหลังจากนี้ก็ได้ น่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

การพัฒนาตนเองด้วย ส.ส.ซ.?

คุณลักษณะที่ผมบอกว่าเป็นข้อสังเกตประการหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จ คือ ส. ส. ซ. หรือ สร้าง – เสริม – ซ่อม โดยในที่นี้เราว่ากันโดยรวมทั้งในความคิด และการลงมือทำอะไรบางอย่าง ที่สำคัญน่าจะมีความ “ชอบ” ตรงนั้น ที่ในคนหนึ่งคน ควรจะมี 1 อย่าง ถ้าไม่มีเลย ก็ยากจะประสบความสำเร็จ

“เพราะมันคือจุดที่ทำให้แต่ละคนเริ่มต้นได้” แต่ก็ใช่ว่าคนเราจะมีแต่ลักษณะนั้นอย่างเดียว เพียงแต่ว่าอาจมีระดับที่ไม่เท่ากัน แต่ก่อนจะไปลงรายละเอียดตรงนั้น เรามาดูกันว่า ส. ส. ซ. หรือ สร้าง เสริม ซ่อม นี้ มันคืออะไร และชี้แจงไว้ตรงนี้ว่า นี่ไม่ใช่หลักการ แต่เป็นข้อสังเกตที่นำมาพิจารณาตัวเอง นำไปพัฒนาตัวเองได้อย่างดี

ส. สร้าง – หลายคน เป็นคนที่มีความคิดริเริ่ม ชอบอะไรใหม่ ๆ เป็นผู้สร้าง ผมคงไม่ระบุว่าต้องมีทักษะอะไรบ้าง แต่จากที่ผมพยายามยกตัวอย่างก็คือ หากคุณ หรือใครมีคุณลักษณะนี้โดดเด่นมาก ๆ ก็จะสร้างบางสิ่งขึ้นมาได้ดี ริเริ่ม โครงการ ไอเดียต่าง ๆ ได้ดี กล้าจะเริ่มต้น เช่น ถ้าไม่มีใครทำเรื่องนี้เขากล้าจะทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ถ้าให้เลือกเริ่มต้นทำไร่ เราคงเลือกที่โล่ง แต่คนประเภทนี้กล้าจะถางป่า บุกลุย และดูเหมือนจะชอบด้วยที่ได้เป็นคนเริ่ม หรือได้เริ่มทำอะไรใหม่ ๆ

ส. เสริม – ประเภทหนึ่งที่ ถ้าให้คิด ริเริ่ม ลงมือ ดูเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าใครเสนออะไรมาได้แล้ว คนนี้จะต่อยอดได้เป็นฉาก ๆ ประหนึ่งคิดมาเอง ประเภทนี้เรียกว่า เสริม กล่าวคือ เสริมจากสิ่งที่มีอยู่ เสริมจากที่คนอื่นเริ่มมา ครูพักลักจำ แต่อาจแยกแยะกันเข้าใจยากนิดหนึ่งว่า การคิดไอเดียจากสิ่งที่คนอื่นทำมาก่อนคือ “เสริม” หรือ “สร้าง” เรื่องนี้ไม่ใช่แยกกันแค่แนวความคิดไอเดียสร้างสรรค์ แต่ยังแยกกันตอนลงมือทำด้วย ประเภทเสริม จะไม่ชอบนับหนึ่ง ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเปรียบเป็นสร้างบ้านก็ไม่มีวันลงเสาเข็ม มองเป็นเรื่องยาก เรื่องลำบาก แต่ถ้าบ้างมีโครงมาแล้ว อันนี้จะง่ายเลย แม้สิ่งที่ทำจะเคยมีมาแล้ว แต่ถ้าเริ่มเอง ก็เรียกว่าเป็นพวกสร้างเอง

ซ. ซ่อม – แบบสุดท้าย ประเภทซ่อม หรือเรียกว่าแก้ไขเก่งก็ได้ ประเภทนี้ เห็นปัญหาเป็นความท้าทาย มองเป็นเรื่องสนุก หรือออกแนวเป็นที่ปรึกษา ในยามมีอุปสรรคมักจะมีไอเดีย กระทั่งว่า ชอบนำสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นประโยชน์ มาทำประโยชน์ จึงมีหลายร้าน หลายบริษัท ที่พอถูกซื้อไปในเวลาที่ย่ำแย่ กลับเติบโตได้ดีกว่าเดิม นี่อาจเพราะได้ CEO ประเภทนี้เข้าไปแก้ไขปัญหา ยิ่งถ้าเดิมที สร้างมาดี มีโครงสร้างดี นี่แหละครับ พวกซ่อม เอาไปทำต่อรุ่งแน่นอน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด..

อีกรูปแบบของ ซ. ซ่อม ก็คือ อาจเป็นกลุ่มคนที่ทำอะไรที่เขาไม่ทำ บางทีก็นับว่าเป็นพวกเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นศิลปิน ซึ่งอาจมองว่า ศิลปินก็ต้องเป็นพวก “สร้าง” สร้างสรรค์ ไหม? ส่วนหนึ่งก็ถูก แต่อีกส่วนก็อาจเป็นประเภท ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำกัน ไม่สร้างให้ใคร ไม่เสริมกับใคร เป็นอะไรที่ไม่มีใครเขามอง ก็เหมือนซ่อมแซมบางส่วนที่ขาดหาย ไม่มีใครทำ สร้างสิ่งให้มีประโยชน์ มีค่าขึ้นมา ทำนองนี้

ซึ่ง ทั้ง 3 แบบ ไม่เกี่ยวว่าแต่ละแบบต้องทำอาชีพอะไรอาจจะทำได้ทุกอาชีพ เพียงแต่ ที่มาที่ไปความสำเร็จอาจต่างกัน เช่น ค้าขาย กลุ่ม ส.สร้าง อาจหาทำเล หาสินค้าเก่ง กลุ่ม ส.เสริม อาจถนัดขายเหมือนคนอื่น ทำเลเดียวกับคนอื่น แต่เสริมด้วยทำการตลาดเก่ง กลุ่ม ซ.ซ่อม อาจรับซ่อมสินค้า หรือขายสินค้าแบบ niche เฉพาะอย่างที่คนอื่นเขาไม่ขายกัน ทำนองนี้

ไม่มีใครเป็นแบบ สร้าง เสริม ซ่อม ร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่ควรเป็น

ทุกคนย่อมเคย สร้าง เสริม หรือ ซ่อม สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งของ แต่หมายถึงการเลือกทำบางสิ่งใน และเชื่อว่า เรามีความชอบ หรือความเชี่ยวชาญไม่เท่ากัน ซึ่งในที่นี้ บางทีถ้าวัดเป็นคะแนน ส.ส.ซ. เต็ม 10-10-10 อาจจะมี 5-10-3 หรือ 9-2-4 อะไรทำนองนี้ ก็แล้วแต่ละคนไป ไม่มีอะไรมาเป็นตัวชี้วัดให้ได้ชัดเจนในที่นี้หรอกครับ แต่มันน่าจะมาจากทักษะ ประสบการณ์ชีวิต หลาย ๆ อย่าง ที่โดยรวมถ้าพอเข้าใจเราน่าจะพอสังเกตตัวเองกันได้

ทีนี้พอมาแยกเป็นรูปแบบว่า สร้าง เสริม หรือ ซ่อม เด่น เราก็จะเห็นปัญหา อุปสรรคในความสำเร็จของเรา เพราะหากเราเป็น “สร้าง” เราอาจจะคิดออกว่า ทำไม เราไม่มั่นคง อยากทำนั่น ทำนี่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราเอาแต่สร้าง คงเป็นไปไม่ได้ และเรามาทำงานให้คนอื่นอยู่ในรูปแบบ “เสริม” ให้เขาก็ยากจะได้ดี เพราะมันไม่ใช่ทาง เช่นเดียวกัน คนที่มีความถนัด “เสริม” หรือ “ซ่อม” มาก จะท้อแท้ ไร้แรงจูงใจ หรือ ไม่อยากจะเริ่มอะไรใหม่ ๆ บางทีก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มไงดี แบบนี้ง่ายที่สุดก็คือให้คนอื่นเริ่มให้ ไปต่อยอดเขา ทำนองนี้

สรุปข้อดี ข้อเสีย

หากพอสังเกตได้ว่าเรามีลักษณะเด่นไปทางไหน ก็อาจนำไปพัฒนา หรือมองหาโอกาสที่เหมาะให้ตัวเองได้ ซึ่งถ้าจะแยกข้อดี ข้อเสียให้ชัดเจน ก็จะได้ประมาณนี้

  • ส.สร้าง = ชอบริเริ่ม ทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่าง ข้อเสีย เหมือนขี้เบื่อ ไม่รักษาของเดิม สนใจของใหม่ หนีปัญหาไปสร้างใหม่ดีกว่า
  • ส.เสริม = ชอบต่อยอด พลิกแพลงประยุกต์เก่ง ข้อเสีย สร้างเองไม่ค่อยได้ รอคอยโอกาสมากเกินไป มีความกังวลมากเกินไป บางทีก็มั่นในบางอย่างมากไป (ego)
  • ซ.ซ่อม = แก้ปัญหาได้ รับสถานการณ์เก่ง มีความคิดแหวกแนว มองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น เป็นคนเบื้องหลัง ข้อเสีย ทำงานส่วนรวมยากชอบทำงานคนเดียว มีแนวคิดที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ

แง่อุปสรรค และ โอกาส

จากข้อดี ข้อเสียจะเห็นได้ว่า ถ้าใครเป็นแบบไหนสุดโต่ง เช่นคะแนนเต็ม 10 แล้ว 10-0-0 แบบนี้ มีปัญหาแน่ ๆ (จริง ๆ ก็มีคล้าย) และย่อมมองว่าถ้า 10-10-10 ทำอะไรก็คงรุ่ง นี่จึงเป็นสาเหตุที่บริษัท หรือ องค์กรใหญ่ที่สำเร็จ ต่างมีทีมบริหารแต่ละด้านมีความสามารถต่างกัน เหมาะกับแต่ละสถานการณ์ แต่ละประเภทงาน เพียงแต่ว่า ในแง่การเป็น โอกาส และอุปสรรค ในที่นี้ มันคือการมองตัวเราเอง ก็จะว่ากันไปที่ละเรื่องดังนี้

อุปสรรค ของ ส.สร้าง คือ เราอาจไม่รู้ว่าชอบในสิ่งที่เริ่มจริง ๆ ไหม ถ้าทำแล้วดีก็ดีไป ทำแล้วเจ๊ง มันก็ไม่ดี ไม่ใช่ว่าแค่ธุรกิจ การเลือกทำอะไรหลาย ๆ อย่างมันก็ควรจะรู้ตัว และระลึกได้ว่า แม้จะขี้เบื่อ ชอบอะไรใหม่ ๆ ก็ควรมีกรอบไว้บ้าง ตัวอย่างที่เราอาจจะพอนึกออกเรียกว่าเป็น ข้อเสีย นั่นแหละ คือ บางคนจะชอบทำนั่น ทำนี่ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวทำธุรกิจนั้น เปิดร้านนี้ ไม่นานก็เจ๊ง แต่ก็เปิดอีก เราก็จะสงสัยว่า “ทำไมไม่เข็ด” มันเป็นเรื่องความชอบ เป็นสไตล์ของเขา แต่หลายครั้งมันคือข้อเสีย คือทำอะไรไม่จริงจัง

ซึ่งถ้ามีคุณลักษณะนี้มาก ๆ เราจะเห็นชัดว่า ตอนเริ่มทำอะไรตอนแรกดูดี ดูน่าไปรอด แต่เมื่อเป็นรูปเป็นร่าง ได้ “สร้าง” ตามใจคิดแล้ว กลับไปไม่รอด เพราะ ความใส่ใจ หรือความชอบลดลง ไม่ “เสริม” ต่อยอดมันต่อไป หรือเมื่อมีปัญหาแล้วไม่ชอบ “ซ่อม” ไม่ชอบแก้ไข ซึ่งไม่ว่าเป็นการทำอะไร มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เสริม ไม่ซ่อม เช่นนี้ ควรหากรอบให้ตัวเองเหมือนที่บอกไปแล้ว เช่น เปิดร้านอาหาร แทนที่จะขยันไปทำอย่างอื่น ทำเรื่องใหม่  ลองเลือกที่จะมา “สร้างใหม่ในจุดเดิม” เช่น ขยันสร้างเมนู ขยันสร้างมุมในร้าน ตกแต่งร้าน ถ้าแนวนี้ มันก็จะดี ที่สำคัญ เมื่อกิจการดี ก็ควรปรับตัวเป็นฝ่าย “เสริม” คือเรียนรู้ในการรักษา เสริมสิ่งที่สร้างขึ้นมาให้เติบโต ทำไม่ได้ ไม่ชอบ ก็แค่รู้ตัว หามืออาชีพมาทำให้ ถ้ามีปัญหา ไม่ชอบแก้ไข ก็หาที่ปรึกษา “ซ่อม” ให้เราไปแทน ที่สำคัญเลือกให้ดี และเชื่อเขาเพราะไม่ใช่ทางที่เราถนัด

อุปสรรค ของ ส.เสริม คือ ส่วนใหญ่เริ่มเองไม่ได้ อาจจะไม่กล้า หรือปัจจัยเยอะ ข้ออ้างเยอะก็ตาม ก็ควรยอมรับและเข้าใจตัวเอง แต่ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย จะดีมากถ้าเสริมความกล้าเป็นผู้ “สร้าง” ลองลงมือริเริ่มดู อาจไม่แย่อย่างที่คิด เพราะถ้าตั้งหลักได้แล้ว กลุ่มนี้ไปได้ไกล หรือเลือกไปต่อยอดคนอื่นเลย ซื้อกิจการชาวบ้าน (ถ้ามีเงิน) แต่ถ้าไม่มีทุน แล้วรู้ว่าอยากทำอะไร มองเห็นโอกาสการต่อยอดในสิ่งใดก็ตาม ทว่าลึก ๆ ไม่มั่นใจจะตั้งต้น ก็เข้าไปทำงานตรงนั้นก่อน อย่างเพิ่งเก่ง อย่าเพิ่งต่อยอด แล้วเก็บเกี่ยวในสิ่งที่ไม่มั่นใจ หาโอกาสที่จะตั้งต้น พูดง่าย ๆ คือ เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ “สร้าง” เพราะในส่วนต่อยอดนั้นมีความสามารถอยู่แล้ว ในอีกด้าน หากแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ไม่ว่าปัญหาของการเริ่มต้น หรือบางสิ่ง ต้องลดอีโก้ ฟัง หรือเรียนรู้จากคนอีก 2 แบบดู เพราะ ข้อเสีย คนที่เป็น ส. เสริม มักจะมีความเก่งในตัว จนอาจไม่เห็นตัวเองในบางมุม ดังนี้ต้องระวัง ฟังคนที่เขาสร้างมาได้ และคนทีเขาแก้ปัญหาเก่ง ก็จะลดอุปสรรค หรือปัญหาตัวเองไป

ส่วนหนึ่งการไปทำต่อสิ่งที่คนอื่นเริ่มแล้ว แล้วไปต่อยอด (ไม่ได้หมายความว่าเซ้งกิจการเสมอไป)

อุปสรรค ของ ซ. ซ่อม คือ กลุ่มนี้มองอะไรลึกซึ้ง จึงแก้ปัญหาเก่ง รวมถึงมีความคิดแหวกแนวได้ดี น่าจะเป็นประเภท โอกาสเยอะ แต่บางทีก็เหมือนคิดมากเกินไป แปลกแยกเกินไป จึงมีอุปสรรคที่ในภาวะปกติ ก็จะทำอะไรได้ไม่โดดเด่น กล่าวคืออาจไม่เหมาะทำงานหรือทำสิ่งต่าง ๆ เหมือนคนทั่วไป เพราะจะไร้แรงจูงใจ ง่ายสุดคือหางานแนว ครีเอทีฟ หรือที่ปรึกษา เพราะต้องคิด วิเคราะห์จากปัจจัยที่มีอยู่ แต่หากได้ลงทุนธุรกิจและหาเจอจนเริ่มต้นได้เอง “สร้าง” ได้เอง ก็ได้เปรียบมาก เพราะคงเป็นธุรกิจจำเพาะ คู่แข่งมาแข่งด้วยยาก แต่ก็ต้องระวังเรื่องบริหารจัดการ เพราะอุปสรรค ของ ซ.ซ่อม บางทีชอบความท้าทายเกินเหตุ อาจจะละเลยในส่วนทั่วไป คิดแนวว่ามีปัญหามาสิ ฉันชอบ ฉันแก้ได้ หรือเอาธุรกิจไปเสี่ยงได้โดยเชื่อว่า อะไรที่มันยาก แก้ได้ ทำได้ บางทีมันไม่ได้ขึ้นมา.. พัง นี่คือสิ่งที่ต้องระวัง

โดยรวมแล้ว ดังที่ได้กล่าวไปหลายครั้งว่า ไม่มีใครเป็นส่วนใด สุดโต่ง แต่เป็นเพียงแนวทางการมองตัวเอง และพัฒนาตัวเองในแง่ ข้อดี ข้อด้อยก็ว่าได้ หลายคนมีข้อดีในการริเริ่ม แต่ด้อยในการดำเนินไปให้คงทน ด้วยการต่อยอด หรือ ด้อยในการรับมือกับปัญหา และแน่นอน หลายคนไม่กล้าที่จะเริ่มต้น ลุยสร้าง ดีที่สุดควรมีทุกอย่างมากพอ ให้สามารถดำเนินไปในแนวทางที่ตัวเองอยากสำเร็จ และเมื่อมันก้าวหน้าไป ก็พยายามกลบข้อด้อยตัวเอง ไปให้ใกล้ 10-10-10 คือยอดเยี่ยม แต่ในความเป็นจริงไม่มีอะไรดีเลิศไปตลอดกาล

คล้ายกับที่บอกไปแล้วว่า ณ จุดหนึ่ง บริษัทที่ใหญ่มาก ๆ เขาก็ต้องหาคนอื่นช่วยในด้านต่าง ๆ แม้แต่มาเป็น MD, CEO แทนเจ้าของ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาขาดคุณสมบัติ คุณลักษณะ แต่มันคือการที่เขาไปทำในส่วนที่สำคัญกว่า ใหญ่กว่า ซึ่ง ณ เวลานั้น ส.ส.ซ. นี้คงไม่จำเป็นแล้ว แต่ส่วนใหญ่ เรายังไม่ไปถึงจุดนั้น.. ไม่แม้แต่รู้ตัวว่า ข้อดี ข้อด้อย เราคืออะไรจึงยังไม่ไปไหนซักที นี่เป็นเพียงแนวคิดหนึ่งที่ลองเอาไปสังเกต อาจ สร้าง เสริม ซ่อม อนาคตเราให้ดีขึ้นได้ ก็ไม่แน่

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 19/3/2020

การพัฒนาตนเอง สร้างโอกาส ด้วย สสซ!?
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น