ไลฟ์โค้ช (Life Coach) จำเป็นไหม?

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » ไลฟ์โค้ช (Life Coach) จำเป็นไหม? |


ในหลายปีที่ผ่านมา มีวงการหนึ่ง หรือจะเรียกว่า อาชีพหนึ่ง เกิดขึ้นในบ้านเราคือ ไลฟ์โค้ช (Life Coach) ซึ่ง อาชีพนี้คืออะไร แปลคำนี้อย่างไร หรือมีนิยามจริง ๆ ว่าอะไรในบ้านเรา อาจยังไม่ชัดเจนนัก แต่ผมไม่ใช่เพิ่งรู้จักเรื่องนี้ เคยสนใจ เรียนรู้ มาพอสมควร ดังนี้ ผมจะมาเล่าสู่ในมุมมอง และประสบการณ์ของผม ซึ่งเรื่องนี้ปัจจุบันค่อนข้างละเอียดอ่อน จึงชี้แจงก่อนว่า ผมจะไม่พาดพิง หรือถกเถียงถึงนิยามใด ๆ รวมถึงในความเห็นต่าง (ก็ไม่ใช่ไม่ฟังความเห็นต่างนะครับ) แต่เพราะเรื่องนี้มันมีข้อเสียประการหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวถึงในเนื้อหา โดยรวมผมจะเขียนในมุมที่คิดว่าท่านเอาไปพิจารณาเพื่อประโยชน์หากไม่มีประโยชน์ก็ควรข้ามไป อ่านผ่าน ๆ ไปครับ

(Life Coach) ไลฟ์โค้ช คืออะไร?

คำอธิบายสั้น ๆ ควรจะเป็น “ผู้แนะนำการดำเนินชีวิตให้กับบุคคลหนึ่ง” เพราะมันคือคำที่รวมกันของคำว่า โค้ช (ผู้ฝึกสอน) กับ ชีวิต ตรง ๆ ก็คือคนที่ “โค้ชชีวิต” ให้คนอื่น ทีนี้หากเราสรุปเพียงเท่านี้ ไลฟ์โค้ชจึงมีความเป็นไปได้เต็มไปหมด หมอดูก็แนะนำแนวทางชีวิตคนอื่น นักสอนศาสนาก็เช่นกัน ใครก็ได้ที่พูดเก่ง ๆ น่าเชื่อถือก็ทำได้เช่นกัน เพื่อนเราบางคนก็ด้วย เพราะแนะนำชีวิตคนอื่นได้ มันควรจะเป็นเช่นนี้ไหม?

ลองทบทวนดูคนที่จะโค้ชชีวิตให้เรา หรือคนที่เราควรจะเชื่อนั้น ไม่ควรเป็นใครก็ได้ มันอาจหมายถึงคุณเอาชีวิตคุณเป็นเดิมพัน ดังนี้ไลฟ์โค้ช จึงไม่ควรแค่รู้สึกว่า “พูดดี พูดถูกใจ” มันจะกลายเป็นผิดอย่างแรง และ ณ จุดหนึ่งคุณจะพบว่า การ “แค่พูดถูกใจ” ในหลายเรื่องนั้น มันเป็นเพียงกลไกที่เราหลอกตัวเอง เป็นเรื่องเดียวกับที่คุณควรถูกโค้ช ถ้าจะเปลี่ยนชีวิต หากยังเอาแต่ถูกใจ ชีวิตคุณเปลี่ยนยากแน่นอน..

ที่มาของ ไลฟ์โค้ช หรือต้นกำเนิดในประเทศเรา จากประสบการณ์เท่าที่ผมเห็นมา เริ่มเกิดขึ้นพร้อมกับคำว่า NLP (Neuro-Linguistic Programming) เป็นศาสตร์วิชาสาขาหนึ่งศึกษาเรื่องการเข้าไปโปรแกรมสมองของเราใหม่ แก้ไขส่วนปิดกั้น ให้มีมุมมอง พฤติกรรมใหม่ ๆ ไปในทางที่ดี คิดค้นโดย Richard Bandler, John Thomas Grinder ราวปี 1970 หรือ พ.ศ. 2513 โน่น ทั้งคู่จบจิตวิทยา ทว่า คนที่นำเรื่องนี้ให้เป็นที่รู้จัก โด่งดังและยอมรับไปทั่ว คือ Anthony หรือ Tony Robbins เพราะเขาได้โค้ชคนดัง ๆ ระดับโลกมากมายในหลายวงการจริง ๆ (ตั้งแต่นักกีฬา ดารา ยันประธานาธิบดี)

ในประเทศไทยก็มีหลายคน “ลงทุน” ไปเรียนกับทั้ง Richard – John หรือเรียนกับ Tony แล้วกลับมาเป็นโค้ชด้านนี้ รวมถึงเอามาสอนให้คนเป็นโค้ชต่ออีกที ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยไปเข้าคอร์สเรียนด้านนี้มา (ราว 7-8 ปีก่อน) เป็นวิชาที่ดีวิชาหนึ่ง มีข้อดีมากมาย แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งในโลกไม่มีอะไรดีพอสำหรับทุกคน มันขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจจริงแค่ไหน และจะนำมาเป็นประโยชน์ให้ตนเองอย่างไร

อย่างไรก็ดีผมยังไม่ได้สรุปว่า ไลฟ์โค้ช จะต้องมาในทาง NLP อย่างเดียวและอาจไม่ใช่ก็ได้ในบางนิยามของบางคน เพราะหากไปค้นประวัติทั้ง Richard-John และ Tony ก็มักจะไม่ได้บอกว่าเขาเหล่านี้เป็น Life Coach แต่เป็นผู้เชียวชาญด้านพัฒนาตนเอง (Self-Help) หรือ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ (Motivational speaker) แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้น่าเชื่อถือ คือ พวกเขาใช้หลัก จิตวิทยา และวิทยาศาสตร์ ทำการทดลอง มีสถาบันเพื่อทำการด้านนี้จริงจัง และศึกษาศาสตร์แขนงต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและมีอ้างอิง

ในความเป็นไลฟ์โค้ชบ้านเรานั้นมีทั้งศึกษาจริงจัง, ศึกษาเพื่อสร้างโปรไฟล์, แค่เคยผ่านคอร์สมาก็ตั้งตนเป็นเลย ยังไม่มีประสบการณ์นำไปใช้ หรือบางคนยังไม่ได้ศึกษาจริงจังอะไรเลย จับผลัดจับผลู มีคนชอบคำพูดก็เลย สอนไปด้วยเรียนรู้ด้วยก็มี (แต่คนเป็นศิษย์ เป็นสาวก ไม่ได้มอง เพราะเพียงถูกใจ) แบบนี้ถือว่าน่ากลัวมาก..

อนึ่งก็มีคำนิยามบางประการว่า ไลฟ์โค้ช คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อน ให้เจ้าตัวได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ดูรวม ๆ แล้วที่จริงมันคล้ายกันหมดเช่นกัน

ไลฟ์โค้ช กับนักสร้างแรงบันดาลใจ

ผมได้บอกไปแล้วว่า ถ้าเราตีความจริง ๆ คนที่โค้ชชีวิตเราได้ก็เหมือนคุณฝากชีวิตไว้กับเขา แต่ถ้าคุณบอกว่าไม่ถึงขนาดนั้น แค่อยากมีแรงบันดาลใจ ก็ต้องระวังว่าเป็นแรงบันดาลใจ หรือแรงบันเทิงใจ ที่ร้ายกว่าคือ สุดท้ายกลายเป็นหลง งมงาย นั่นเท่ากับว่าเขาโค้ชชีวิตคุณแบบที่คุณไม่รู้ตัว หรือไม่ยอมรับตัวเองเข้าไปแล้ว ยกตัวอย่างง่าย ๆ “ถ้าผมพูดบางสิ่งไปแตะโค้ชคนที่คุณเชื่อ คุณอาจเกลียดผมทันที” เพราะมองว่าผมไม่ใช่ “พวกเดียวกัน” กับคุณ นี่คือเหตุผลในวรรคแรกที่ผมบอกว่ามันมีข้อเสียการถกเถียงความต่างเรื่องนี้กับใคร เพราะในความเป็นจริงเราต่างมีปัจจัยชีวิตต่างกัน คุณไม่ผิดที่เชื่อโค้ชคนหนึ่ง คนที่เขาไม่เชื่อเหมือนคุณ ย่อมไม่ผิดเหมือนกัน และสำหรับผมแล้วความเชื่อทำนองนี้ ถ้าผิดหรือเข้าใจผิดไป มันก็ทำร้ายผู้เชื่อเองในภายหลัง ไม่มาก ก็น้อย

“นักขายฝัน มากกว่าสร้างแรงบันดาลใจ นักขายอากาศ มากกว่าโอกาส”

ในขณะเดียวกันเราก็ต้องแยกให้ชัดว่า โค้ช (Coach) ไม่ใช่ ไลฟ์โค้ช เสียหมด บางคนเป็นโค้ชบางด้าน หรือสอน How to บางด้าน อันนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะคุณได้วิชาเรียนรู้ในสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สอนทำอาหาร สอนทำธุรกิจ สอนทำการตลาด สอนการขาย สอนวาดภาพ สอนเล่นหุ้น ที่เรียกตัวเองว่า โค้ชเหมือนกัน แต่มันก็มีบางส่วนที่หมิ่นเหม่คล้าย ไลฟ์โค้ช คือ ทำไมไม่เอาวิชาไปทำตัวเองให้ดีก่อน หรือเก่งจริงไม่ไปร่ำรวยด้านนั้นเสียเลยมาสอนเก็บเงินทำไม กระทั่งเป็นโค้ชด้านหนึ่งอยู่ ผันตัวมาเป็นไลฟ์โค้ชกลาย ๆ ด้วยซะงั้น กล่าวคือ สอนคนอื่นไปซะทุกเรื่อง… ก็พิจารณากันดูครับ

อีกส่วนก็คือนักสร้างแรงบันดาลใจ ถ้าเป็นผู้ที่วางตัวเองตำแหน่งนี้ (จริง ๆ) ผมมองว่าเจตนาเป็นสิ่งสำคัญ มีหลายคนต้องการแบ่งปัน แนะนำผู้คน ช่วยเหลือคนอื่นจาก ประสบการณ์ ความรู้ที่ตัวเองมี แล้วแตกต่างอย่างไร? ก็ตราบใดที่ไม่ เก็บเงิน หรือหากิน เอาเงินคนที่เขาช่วยเหลือ ก็ยากจะมีความผิดชัดเจนอะไรกับเขา มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็น “นักขายฝัน มากกว่าสร้างแรงบันดาลใจ นักขายอากาศ มากกว่าโอกาส” เพราะคนที่รวยที่สุดคือเขาเอง..

ถ้าพิจารณาดี ๆ การโค้ชชีวิตใครต้องทำแบบ หนึ่งต่อหนึ่ง เท่านั้น!!

ไลฟ์โค้ชที่ดี หรือคนไหนดี?

ผมยังไม่สรุปว่าเราควรมีโค้ชไหม ซึ่งถ้าเรามองในมุมที่ไลฟ์โค้ชสำคัญ อย่างน้อยผู้ที่เราจะติดตาม ยอมรับ หรือควรเป็นไลฟ์โค้ชได้ ก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างรับรองมากพอไม่ต่างจากอาชีพสอน/ ที่ปรึกษาอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปได้ใน 3 ทาง

  1. วิชาการ – สิ่งที่จะการันตีและเกี่ยวข้องด้านนี้ อย่างน้อยก็เช่น จบจิตวิทยาสาขาเกี่ยวข้องโดยตรง หรือผ่านการอบรมหลักสูตรมาตรฐานที่ดีพอชัดเจน ซึ่งก็ต้องพิจารณาอยู่ดีนะครับว่า จบระดับไหน ที่ไหน มีประสบการณ์ใด ซึ่งประสบการณ์ในในสายวิชาการนี้ อาจไม่เชิงต้องมีผลงานเชิงธุรกิจ แต่เป็นในทางงานวิจัย การทดลอง ที่ทำให้ได้ประสบการณ์จากประสบการณ์อื่น อีกขั้นด้วยซ้ำไป
  2. ประสบการณ์ – ประสบการณ์ต้องมากพอ หรือมีผลงานชัดพอ ข้อนี้ ผมขอยกตัวอย่างโค้ชกีฬา ย่อมต้องเป็นนักกีฬามาก่อน ไม่เก่งแต่อย่างน้อยก็มากพอให้เป็นที่ยอมรับ หรือถ้าไม่ใช่ประสบการณ์โดยตรงก็โดยอ้อมคือ เป็นผู้ช่วยโค้ชมานาน สำหรับไลฟ์โค้ช ก็ต้องมีผลงานชัดว่าประสบการณ์ชีวิตสำเร็จด้านใดมามากน้อยแค่ไหน ทว่าในท้ายที่สุดแล้ว คนที่มีประสบการณ์เหล่านี้ เมื่อจะมาสอน มาโค้ชก็ต้องผ่านวิชาการ มาระดับหนึ่งจึงมาเป็นโค้ชได้ มิเช่นนั้นจะมีความลำเอียงหลอกตัวเอง แล้วมาหลอกคนอื่นแบบไม่รู้ตัวว่ามันถูกได้เช่นกัน เพราะเอาแต่ประสบการณ์ตัวเองเป็นศูนย์กลางล้วน ๆ มันก็ผิดแล้ว..
  3. องค์ประกอบร่วมกัน – ถ้าให้มั่นใจ ทั้งข้อ 1 และ 2 ก็ต้องร่วมกันนี่แหละดังที่เขียนไป แต่ก็มีอีกประเภทคือ มีทั้งวิชาการ และประสบการณ์มา ไม่มาก ไม่ชัดเจนทั้ง 2 ด้าน ประเภทนี้ยากคาดเดาว่าดีจริง ว่าเก่งจริงไหม ผลงานอาจไม่ชัด กล่าวคือประสบการณ์ความรู้ก็ดูแค่พอมี กลุ่มนี้อาจต้องดูสิ่งที่เขาทำเป็นหลัก ถ้าเป็นเพียงแรงบันดาลใจ แน่นอนว่าไม่ผิดอะไรและอาจดีอีกด้วย แต่ถ้ามาเป็นโค้ช(เก็บเงิน เปิดคอร์ส) อันนี้ก็ต้องมองให้ดี เลือกได้ไปที่มี ข้อ 1-2 ชัดเจนย่อมดีกว่า
  4. วิธีการ (สำคัญที่สุด) – ไม่มีชีวิตใครง่าย หรือปัจจัยน้อย แม้ที่สุดเราอาจมีปมชีวิตไม่ต่างกันมากนัก แต่รายละเอียดก็ย่อมต่างกัน วิธีการจัดการต่างกัน เส้นทางที่ควรไปต่อก็ต่างกัน ฉะนั้นการที่ไลฟ์โค้ช ใช้วิธี พูดรวม ๆ ไปแล้วจะทำให้ชีวิตใครดีขึ้นมันเป็นไปได้เหมือนหลักการใบ้หวย ให้เลขหว่าน ๆ คนเป็นพัน เป็นหมื่น ย่อมมีสักคนที่ “บังเอิญถูกหวย” แล้วเขาก็เอามาอวย มาขยาย ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าการแสดงออกในวงกว้าง เช่นจัดเป็นงานสัมมนาทำไม่ได้ แต่ถ้าจะได้ผลต่อชีวิตใครจริง ควรเปิดให้ปรึกษาเป็นรายส่วนตัวด้วย และเราอาจพบได้เองว่า เขาอยากช่วยเฉพาะคนรวยหรือเปล่า หรือเป้าหมายชีวิตของโค้ชก็คือเงินเท่านั้น (อนึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ลำบากใจ เพราะโค้ชที่ภาพพจน์ไม่ดี คนทั่วไปก็ไม่มองซะอีก ไม่มีคนเชื่อ โค้ชก็ต้องดิ้นรนทำตัวรวยสร้างภาพ เหมือนวัฎสงสาร ระหว่างโค้ชกับคนมีปัญหายังไงไม่รู้เหมือนกัน)

ไลฟ์โค้ช ไม่ควรเป็นใครก็ได้ เพราะตายก็มี

คนที่สอน หรือโค้ชเรื่องอื่น ๆ อาจไม่สร้างความเสียหายให้กับใครมาก เต็มที่ก็แค่เสียเวลา แต่ขึ้นชื่อว่าไลฟ์โค้ช มีเรื่องจริงที่ผมไม่ได้เขียนเอามันส์ คนที่เคยเรียนกับไลฟ์โค้ช หรือศึกษาจริงจังหลายคน อาจดูดีขึ้นพักหนึ่ง หรือไม่ดีขึ้นเลย แล้วนอกจากไม่สำเร็จ ชีวิตแย่กว่าเก่า หลงทางกว่าเดิม กระทั่งฆ่าตัวตายก็มี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดที่สุดกับคนที่ “เคยมีไลฟ์โค้ช” หรือเรียนมา แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าผิดที่โค้ชนะครับ ทุกคนทราบดีสุดท้ายมันก็ต้องที่ตัวเราเองด้วย แค่เปิดอีกด้านให้เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจริง ผมจึงมองว่าไลฟ์โค้ชที่ดีก็ควรรับผิดชอบลูกค้า ลูกศิษย์หรือสาวกของเขาให้ได้มากพอ.. มิเช่นนั้น อย่าเอาสิ่งนี้มาหาเงิน เอามาเป็นอาชีพเลย มันก็ไม่ต่างจากหมอยาผีบอก แม้จะมีประโยชน์กับบางคน แต่มันก็มีโทษในอีกด้านเช่นกัน

ไลฟ์โค้ชที่แย่

คนเราต่อให้เก่งแค่ไหน ก็ยังมีความเป็นคน มีความผิดพลาด มีรัก โลภ โกรธ หลง ไลฟ์โค้ชก็เช่นกันที่ใช่ว่าทำไม่ดีไม่ได้เลย แต่ขึ้นชื่อว่าไลฟ์โค้ช ย่อมแตกต่างกับอาชีพอื่น ดารา คนสาธารณะ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนสาธารณะด้วยซ้ำ แต่เพื่อทางการตลาด เขาต้องทำตัวเหมือนดารา คือสร้าง Personal Branding ทีนี้มันจึงมี คนจ้องจับผิด คนไม่พอใจ ผมว่าไลฟ์โค้ชที่ดี ควรเข้าใจเรื่องพวกนี้อย่างลึกซึ้ง และจัดการปัญหาได้ดี รวมถึงทำตัวดีในระดับที่มากกว่าดารา เพราะดารา มีหน้าที่แสดง ไม่ได้มีหน้าที่นำชีวิตใคร โค้ชที่หากินตลอดเวลา หาโอกาสให้ตัวเองแม้ในภาวะคนอื่นวิกฤติ บางทีก็แปลกอยู่ ไม่มีการช่วยเหลือสังคมก็ดูไม่น่าจะดี หรือโค้ชที่ทะเลาะกับคนอื่น แม้กระทั่งโค้ชทะเลาะกันเอง มีปัญหาครอบครัว มีปัญหาการเงิน ผมว่าเรื่องเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดกับคนที่เรียกตัวเองว่า “ไลฟ์โค้ช” คือจริง ๆ “แอบเกิด” ขึ้นได้ เพราะเขาเป็นคนต้องเกิดขึ้นบ้าง แต่เขาจัดการมันได้ทันท่วงที เป็นเรื่องเล็ก ๆ ไม่เป็นข่าว เขาจัดการเรื่องทุกอย่างในชีวิตได้ดี หรืออะไรทำนองนี้ก็ถือว่าย่อมเป็นธรรมดา เพราะถ้าให้สรุปกันจริง ๆ คุณก็น่าจะเห็นพ้องว่า คนที่โค้ชชีวิตคนอื่น แต่ “จัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ดี” แบบนี้จะเชื่อดีหรือไม่?

ไลฟ์โค้ช (Life Coach) จำเป็นไหม?

ผมคงต้องตอบว่า ทั้งจำเป็น และไม่จำเป็น หลายคนอาจบอกว่า นึกแล้วว่าต้องลงเอยแบบนี้ แต่ผมมีวิธีพิจารณาอยู่นะครับ ข้อแรกการโค้ชชีวิตจริง ๆ ควรจะเป็น ตัวต่อตัว  แต่ก่อนจะไปสรุปตรงนั้น ผมก็พอเข้าใจโค้ชเมื่อเลือกทำเป็นอาชีพก็อยากได้เงินเยอะ ๆ และหากินกับรายคนคงจนแน่นอนในบ้านเรา ประกอบกับปัจจุบันเหตุผลที่ โค้ชสร้างแรงบันดาลใจหรือไลฟ์โค้ชอะไรแนวนี้ มีตัวตนกันมากขึ้น เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในความเป็นคนรุ่นใหม่จะเป็นคนที่หันไปเรียน ไปสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้นเพียงเพราะต้องการ “ทางลัด” การ “ไม่เข้าใจตัวเอง หาตัวเองไม่เจอ” ซึ่งไม่ใช่ความผิด แต่เป็นพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดมา ด้วยโลกที่มีอะไรมากมายกว่ายุคก่อน ทั้งความรวดเร็ว และหลากหลาย ย่อมทำให้เขา “เลือก” อะไรให้ตัวเองไม่ได้ รวมถึง “รอ” ไม่ได้ เขาจึงเลือก “เชื่อ” ใครสักคนที่เขาเชื่อว่าจะนำทางเขาไปได้ ดีหรือไม่ ผมไม่ตัดสิน เพราะมันก็มีทั้งจำเป็น และไม่จำเป็น..

มีสิ่งหนึ่งที่โค้ชที่ไหนก็ต้องพูดคล้ายกัน

แต่สรุปให้อย่างหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริงว่า เมื่อคุณจะแค่เชื่อนักสร้างแรงบันดาลใจ หรือไปร่ำเรียนกับไลฟ์โค้ช มีไลฟ์โค้ชก็ตาม สุดท้ายก็ไม่ต่างจากการเรียนวิชาแขนงหนึ่งซึ่ง ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ไลฟ์โค้ชที่ไหนก็พูดคล้ายกันคือ “ต้องลงมือทำ” ถ้าไม่ลงมือทำ ต่อยอด ก็เปล่าประโยชน์ และในการร่ำเรียน ย่อมมีคนเข้าใจท่องแท้ หรือได้เกรด A เป็นส่วนน้อย!! แต่ดังที่เตือนไปแล้ว เมื่อมันอาจเกี่ยวกับชีวิตทั้งหมดคือ หากเชื่อผิด คิดผิด ชีวิตจากที่กำลังจะดี เป็นดับ.. มีก็ไม่น้อย นี่ผมก็พูดจากข้อเท็จจริงรอบตัวเช่นกัน เพราะบอกอีกทีว่า ด้วยความที่ผมผมเคยร่ำเรียน ศึกษาเรื่องพวกนี้มา จึงรู้จักหลายคนที่ได้ศึกษา ร่ำเรียนมาหลายคนเช่นกัน และผลลัพธ์แย่ ๆ ก็มี บ้างก็แค่เสมอตัว ชีวิตเหมือนเดิมมีมากมาย, ดีแค่ตอนใหม่ ๆ 90% วันเวลาผ่านไปจะดีขึ้นได้ก็แค่สัก 10% และแน่นอนโค้ชย่อมเอา 10% เหล่านี้มาต่อยอด มาเคลมเป็นผลงาน.. ขายของต่อไปได้..

ทีนี้ถ้าให้แจกแจงก็คือ

ไลฟ์โค้ชจำเป็น : ก็ต่อเมื่อ คุณมีความตั้งใจจริงมากพอ พร้อมจะลงมือทำมากพอ และ “ไม่อยากเสียเวลา” ค้นหา หรือลองผิด ลองถูกบางอย่างด้วยตัวเอง คุณอาจเลือกฟัง เลือกไปเรียน เพื่อจะได้ค้นหา พัฒนา เปลี่ยนแปลงตัวคุณ แล้วอย่าลืมว่าสุดท้ายก็ต้องนำกลับมาใช้ กลับมาทำ อย่างมีสติ แบบแผน เพื่อชีวิตตัวเองที่ดีขึ้นต่อไป

ในอีกกรณีก็เมื่อ ในยามที่ชีวิตคุณติดขัด แก้ปัญหาบางอย่างไม่ได้ เล็งเห็นแล้วว่าเกินปัญญาที่เราจะหาหนทางแล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวว่าจะ รวยหรือจน มีหน้าที่การงานใด ๆ ด้วย ปัญหาเกิดได้กับคนทุกระดับ การมีที่ปรึกษาเป็นคนทั่วไป อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนักเท่าการได้ฟังไลฟ์โค้ช หรือนักสร้างแรงบันดาลใจต่าง ๆ เพราะอาจทำให้คุณเจอ พบ มุมมองในที่คุณไม่รู้ ไม่มีประสบการณ์มาก่อน..

ไลฟ์โค้ชไม่จำเป็น : ผมอยากจะบอกว่า คนที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีน้อยคนที่ไลฟ์โค้ชมีความจำเป็น อาจฟังดูตลกร้าย แต่คนที่เป็นเหยื่อโค้ชปลอม ก็มักมีคุณสมบัติชอบความง่าย หรือไม่ก็ยึดติดในความชอบที่เรียกว่าแค่ถูกจริต ย่อมไม่อดทนศึกษาอะไรด้วยตัวเองมากนัก หรืออาจเป็นคนศึกษาแต่ว่ามีความไม่เปิดใจมากพอ เช่นการเห็นบทความยาว ๆ แบบนี้ไม่มีทางอ่านจบได้ง่าย ๆ แน่นอน และผมก็ไม่ได้ล้อเล่น

เพราะแม้ว่าไลฟ์โค้ชเก่ง ๆ จะมีเทคนิค วิธีการ แนวคิดที่ดี ๆ เกินกว่าจะหาอ่านตามตำราได้ แต่แกนหลัก หรือหลักการหลาย ๆ เรื่องก็ไม่แตกต่าง ถ้าคุณได้ศึกษามา ประกอบกับได้เข้าอบรมพวกนี้มาบ้าง แล้วย้อนไปอ่านหนังสือของ เดล คาเนกี้ (Dale Carnegie) หรือคนอื่น ๆ ในยุคก่อน ก็จะพบว่า มันมีมานานแล้ว หรือถ้าจะลงรายละเอียดในเชิงจิตวิทยา ก็มีคนที่มีเรื่องราวชี้นำ ด้านการคิด แนวคิด ดี ๆ อยู่มากมาย อย่างคนที่เรียนจบ หรือเชี่ยวชาญในเรื่องจำพวก จิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) , เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavior economics), วิทยาศาสตร์ในการตัดสินใจ (Cognitive and Decision Sciences) หลายเรื่องอาจทำให้คุณจับต้องได้มากกว่า การนั่งดู youtube ดู live เอาเพลิน และไม่ต้องจ่ายแพง

แต่อย่างที่บอกไป สุดท้ายถ้าเราแค่อ่าน แค่เรียน แค่ฟัง ไม่ว่าจากไหน กับใคร แต่ไม่เคยนำไปใช้ นำไปทำจริง ปฏิบัติจริง ความสำคัญของไลฟ์โค้ช ก็มีค่าเท่ากัน ส่วนผมไม่ใช่ ไลฟ์โค้ช และมีอาชีพเป็นแค่วิทยากร ที่เชื่อ และชอบเรื่อง “การเปลี่ยนแปลง” เท่านั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดได้จากการลงมือทำ หรือไม่ทำก็ถูกกระทำ เท่านั้นแหละครับ..

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 16/04/2020

ไลฟ์โค้ช (Life Coach) จำเป็นไหม?

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น