เขียนเรื่องนี้ครั้งแรกบน facebook page sirichaiwatt เมื่อวันครู 16 ม.ค. ซึ่งตัวผมเองนั้นในการทำงานจะถูกเรียกว่า อาจารย์ แต่ผมเป็นวิทยากร ไม่ได้เป็นอาจารย์ตามสถานศึกษา สำหรับท่านที่ไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม คำว่าครู กับ อาจารย์ สำหรับผมนั้น มีความแตกต่าง ก็เลยเขียนเป็น บทความ ในมุมมองนี้เป็นเรื่องราวหนึ่ง
ก่อนอื่นบางส่วนของเรื่องนี้ ชี้แจงไว้เลยว่า เป็นมุมคิดและความรู้สึกส่วนตัว อันควรเข้าใจตรงกันว่าไม่มีผิด ถูก หรือชี้นำว่าใครจะต้องคิดเช่นผม เพราะเป็นเพียงความรู้สึกล้วน ๆ กับคำว่าครู และ อาจารย์
วิทยากร ที่หลาย ๆ คนรู้จักในนาม อาจารย์ดา ย้อนไปในการเป็นวิทยากรจริงจังนั้น ผมเป็นวิทยากรการตลาด และการจัดการให้กับสถาบันเอกชน ที่ฝึกสอนด้านอาชีพ ไม่ใช่ วิทยาลัย มหาลัย ซึ่งที่นั้นก็มี การฝึกสอนหลาย ๆ ด้าน และมี “ครู” ในด้านต่าง ๆ หลายคน
ครั้นเมื่อผมต้องสอนให้ที่นั่น ผมก็ต้องมีคำนำหน้าว่า ครู เหมือนหลายคนตามตำแหน่งหน้าที่ ทว่าผมคัดค้านขอไม่ใช้คำนี้ ในหัวข้อที่ผมสอนคือ การตลาด, การตลาดออนไลน์ รวมไปถึงการบริหารจัดการในภายหลัง มันค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น เช่น ครูสอนนวดไทย ครูสอนแต่งหน้า ครูสอนทำเล็บ ที่เหมาะสมอยู่กับคำว่า “ครู”
ความคิดผมตอนนั้นไม่เพียงจากหัวข้อที่สอน ความรู้สึกต่อคำว่าครูโดยส่วนตัวดูสูงกว่าคำว่า อาจารย์ ด้วยตรรกะเอาเองว่า อาจารย์มีหลากหลายแขนงที่เรียกตัวเองขึ้นมา เช่น อาจารย์ดูดวง อาจารย์ปราบผี! อีกหลายวงการก็จะเรียกกันว่า อาจารย์ ก็เลยรู้สึกว่า เราเป็น อาจารย์แขนงหนึ่งโดยไม่ขัดเขิน (ฮ่า) ต่างจากคำว่า ครู ที่ส่วนใหญ่ ก็จะมีความหมายตรง ๆ ว่าครูผู้สอน และให้ความรู้สึกลึกซึ้งกว่า
ที่แปลกมีอยู่ประการหนึ่ง ก็ไม่แน่ใจว่าท่านอื่นเป็นเหมือนกันหรือไม่ คือ สมัยเรียนประถม จะเรียกครู แต่พอ มัธยม หรือ มหาลัย กลับเรียก อาจารย์ สาเหตุอาจเพราะเรียกตาม ๆ กัน แต่ทำไมถึงเปลี่ยนจากครู เป็นอาจารย์ไปได้ อันนี้ไม่แน่ใจ แต่ส่วนหนึ่ง พ.ร.บ.ระเบียบราชการครูฯ ระบุไว้อยู่เหมือนกันว่า ประถมถึง ม.6 ใช้ครู มหาลัย ใช้ อาจารย์ แต่ตอนมัธยมผมก็เรียก อาจารย์ กันอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม เราล้วน มีครู มีอาจารย์ กันหลายคน นอกจากในการศึกษา ชีวิตเราก็ต่างมี “ครู” มากมาย ที่สอนประสบการณ์ให้เราในหลายด้าน และมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ เราเรียนรู้ เติบโต ก้าวหน้า ได้แตกต่างกัน ไม่แพ้แง่การศึกษา ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเรียนรู้มันแค่ไหน
ผมเองก็เช่นกัน ผ่านการเรียนรู้จากคนมากมายทั้งจากประสบการณ์ตรง และการเฝ้ามองความเป็นไป กล่าวได้ว่ามีคนที่ ทั้งรู้ตัว และไม่รู้ตัว ซึ่งอย่างไร ก็ต้องขอบคุณคนเหล่านั้น ที่เป็นครู ให้กับชีวิต
ครูคนสำคัญที่สุดคือตัวเอง
ถ้าผมเรียกตัวเองว่า อาจารย์ดา ผมก็คงมีครูอีกคนที่สำคัญมากคนหนึ่ง คือ ครูดา ที่สอนตัวเองให้ยอมรับ สอนตัวเองให้เปิดใจ และที่สำคัญ สอนตัวเองให้เปลี่ยนแปลง หากขาดสิ่งเหล่านี้ อาจารย์ดาก็คงเติบโตก้าวหน้าไม่ได้ เพราะอาจยึดติดความเป็นตัวตน ไม่เปิดรับสิ่งอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา
แน่นอนว่าในที่นี้ ครูดา ที่ไม่ได้เป็นครูดา ของใคร เป็นครูดาที่คอยสอน อาจารย์ดาอีกที ทุกคนควรมีครูคนแรก หรือจะว่า ครูคนสำคัญที่สุดคือตัวเอง..
ถ้าเราไม่เลือกที่จะสนใจ เราคงไม่รู้ในสิ่งต่าง ๆ ถ้าเราไม่นำพาตัวเองไป เราก็คงไม่ได้พบเห็นหลายอย่าง ถ้าเราไม่ยอมเสี่ยง ถ้าเราไม่ยอมเจ็บ เราอาจจะไม่จดจำ ย้ำให้คิด ถ้าตัวเราคนนี้ ไม่บอกตัวเองให้เรียนรู้สักที ครูดีที่ไหนบนโลก ก็สอนเราไม่ได้ คล้ายกัน ครูคนเดียวกันสอนนักเรียนห้องเดียวกัน ผลสอบไม่เคยเท่ากัน นี่เพราะมันอยู่ที่ครูคนแรก คือตัวเรานั้น นั่นเอง..
สวัสดีวันครู
ปล.รูปตอนสอนการตลาดออนไลน์แก่คนทั่วไปครั้งแรก ราว 8 ปีก่อน (ประมาณปี 55) ที่ไม่ใช่แค่สอนทีมงาน และประสบการณ์ครูครั้งแรก คือครูพิเศษ สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ออกแบบเว็บไซต์ ช่วงสั้น ๆ ให้พาณิชย์แห่งหนึ่งที่ภาคใต้ ราว 13 ปีที่แล้ว (ประมาณปี 49)
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 13/01/2020