ถ้าท่านเป็นแฟนเพจผมบน Facebook อาจเคยเห็นข้อความเหล่านี้
” เริ่มต้นวันของเราอย่างไร..
สิ้นสุดวันของเราที่ตรงไหน..
แต่ละวันผ่านไปรวดเร็ว..
ใครกำหนดเส้นทางให้เรา..
แท้จริงแล้ว อะไรคือสิ่งกีดขวาง..
เป้าหมายอยู่ไกลแค่ไหน..
จงก้าวหน้าไม่ว่ามันจะผ่านอะไรไป..
เพื่อให้แต่ละวัน นั้น ไม่สูญเปล่า”
ถ้าไม่เคย มันคือ คลิปวีดีโอที่เป็น ปก (cover) ด้านบนของเพจ sirichaiwatt นี้ แม้จะเป็นเพจของผมเอง แต่ผมดูมันบ่อยครั้ง วีดีโอนี้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตผมมาก อย่างไร เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง.. ถ้าท่านอยากดูอยู่ด้านล่างนี้ครับ
ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้
ผมใช้เวลาพอควร และมีความยากลำบากในการเรียบเรียง ตัดต่อ ให้เหมาะสม เสียดายผมไม่ได้เก็บร่างแผนของการทำเอาไว้ จึงจำไม่ได้ว่า ปรับเปลี่ยนข้อความไปกี่ครั้ง หา footage (ส่วนวีดีโอที่จะนำมาเรียบเรียง) ไว้มากเท่าไหร่ เพราะคงเป็นการลำบากที่จะไปถ่ายทำทั้งหมดนี่ด้วยตัวเอง อีกทั้งฝีมืออาจจะไม่ถึง
การจะไปเอาของใครมาส่งเดชก็ไม่ดี เพราะย่อมมีเรื่องลิขสิทธิ์ ก็ได้แต่หาที่เป็นแบบฟรีไลเซนส์ หรือไม่มีลิขสิทธิ์การค้าเกี่ยวข้องมาใช้ และภาพมันต้องสอดคล้องกับสิ่งที่จะสื่อ ตรงนี้บางทีจึงต้องปรับบางประโยค หรือเขียน เรียบเรียงใหม่ให้มาเข้ากัน ไม่มีอะไรเป็นหลักได้ ทำได้คือประสานทั้งหมด ทั้งภาพและข้อความไปให้ลงตัว แม้ข้อความไม่มาก แต่ผมก็อยากให้แต่ละส่วนนั้นสื่อความหมายเหมือนที่ใจคิด ซึ่งใช่ว่าจะลึกซึ้ง ซับซ้อนอะไร ปัจจัยคือ ข้อจำกัดวีดีโอนั่นเอง ที่สุดแล้วผมได้ผลลัพธ์พอใจมาก จากข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มี
อะไรก็ตาม ที่เหลือมากกว่าครึ่ง เราย่อมรู้สึกว่ายังมากอยู่
ขอตัดสลับไปยังที่มาของเรื่องที่เขียนวันนี้ ในวันหนึ่งผมได้คุยกับแฟนเรื่องหนึ่งว่า เมื่ออายุเราเลยพ้นครึ่งชีวิต เช่น เฉลี่ยว่ามีอายุ 80 ครึ่งก็คือ 40 หากมีอายุเกิน 40 ไป ที่เหลือมันคือช่วงเวลานับถอยหลังของเรา หลายคนจะเริ่มค้นพบได้ว่า “เวลา” สำคัญขึ้นมากกว่าก่อน เพราะในตอนที่อายุไม่ถึงครึ่ง ความรู้สึกคนเราต่ออะไรก็ตามที่มีเหลือเกินครึ่งนั้น มันย่อมรู้สึกว่าเหลือมากอยู่ ไม่สน ไม่แคร์ ไม่ใส่ใจ ไม่กังวล รวมถึงไม่เห็นคุณค่าได้ง่ายกว่านัก
การเป็นคนมีความพยายามขึ้น, ขยันขึ้น, ใส่ใจเพียงสิ่งรอบตัวมากขึ้น, มี Productivity หรือมีสาระ มากขึ้นนั้น บางทีก็ไม่ใช่เป็นการดิ้นรนไขว่คว้าหาความสำเร็จ เพราะหลายคนก็เที่ยวมากขึ้น ไร้สาระมากขึ้นในแง่ หัวเราะมากขึ้น, “ช่างมัน” ได้ดีขึ้น, อับอายกับสิ่งต่าง ๆ น้อยลง..
นั่นเพราะความหมายใน “เวลา” ที่รู้สึกว่ายังเหลืออยู่ของแต่ละคนนั้น มันไม่เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่คนอายุเกินครึ่งทุกคนคิดได้ ในทางกลับกันคนอายุน้อยก็อาจคิดได้ก็มี
ผมจำไม่ได้ว่าอ่านจากไหน แต่เขาเคยมีการไปสัมภาษณ์คนที่กำลังจะต้องตายหลายคน บทสรุปแล้วส่วนใหญ่ ก็อยากให้เวลากับสิ่งเล็ก ๆ กับเรื่องบางเรื่อง ที่ไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ แต่มีความหมาย มีเป้าหมาย และส่งผลได้ในวันที่เขาจะสิ้นใจ ที่สำคัญกว่า คือไม่ได้เสียดายที่ไม่ได้ทำอะไรหลายอย่าง เพราะรู้ว่าทำทุกอย่างไม่ได้ แต่เสียใจที่ใช้เวลาไปกับเรื่องโง่ ๆ เรื่องที่ไม่มีผลอะไรเลยต่อชีวิต หรือช่วงสุดท้ายของชีวิตเขา ถ้าผมยกตัวอย่างก็คงเช่น การใส่ใจเรื่องของคนที่ไม่รู้จัก..
เวลา มี ความหมาย อะไร กับ คุณ..
ที่บอกว่าวีดีโอนี้มีประโยชน์ต่อผม เพราะทุกครั้งที่ผมได้ดูวีดีโอนี้ของตัวเอง มันก็ระลึกทุกทีว่า ผมกำลังใช้เวลา.. ผมกำลังดำเนินชีวิตวันนี้.. อย่างไร มันช่วยเตือนผมได้บ่อยครั้ง..
สำหรับคุณแล้ว ผมคงไม่มีหน้าที่ หรือบังอาจตัดสินว่าเวลาของคุณ มีค่า มีความหมายแค่ไหน ที่จริงผมเชื่อว่า เวลาของทุกคนมีความหมาย แต่ความหมายนั้น เป็นความหมายแท้จริงหรือไม่ ใช่สำหรับในวันนี้ และวันต่อ ๆ ไปหรือไม่ ผมไม่รู้อยู่ที่แต่ละคนคงต้องตีความให้ตัวเอง
ผมเขียนเรื่องนี้ในวันนี้วันอาทิตย์ สำหรับผมแล้ว เป็นวันสำหรับครอบครัวที่ตอนนี้เขายังไม่ตื่นกัน และถ้าพวกเขาตื่นผมก็ต้องให้เวลาพวกเขา
สำหรับคุณผู้อ่าน ผมก็ขอให้วันนี้ ไม่ว่าจะวันอะไรก็ขอให้เป็นอีกวันดี ๆ ที่มีค่า มีความหมายในชีวิตคุณ ๆ กันนะครับ
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 16/6/2019