“หึงหวง” เป็นเรื่องงี่เง่า?

by

| Home » บทความความรัก » “หึงหวง” เป็นเรื่องงี่เง่า? |


คุณเป็นคน “ขี้หึง” ไหม? แล้วคุณชอบ “คนขี้หึงไหม?” ความหึงหวงเกิดจากเจตนาใด ดี หรือ ร้าย? หรือว่า ความหึงหวงมีแต่ทำให้ รำคาญ ดูน่างี่เง่า? ถ้าเราไม่ใช่คนที่อยู่ในสถานการณ์บางทีเรื่องพวกนี้ก็นึกไม่ออก.. บทความความรักวันนี้จะมาชวนคิดเรื่อง ความหึงหวง ที่มันเป็นเรื่องที่มักแยกกันกับรักไม่ออก

หากถามว่า เราขี้หึงไหม? แล้วชอบคนขี้หึงไหม? ถ้าถามหลาย ๆ คน คำตอบจะมีทุกแบบ เบื้องต้นเราอาจคิดว่าคนที่ขี้หึง ก็อาจชอบคนขี้หึง หรือคนไม่ขี้หึง ย่อมไม่ชอบคนที่ขี้หึงเป็นแน่… ก็มีอยู่แต่ไม่เสมอไป เพราะคนขี้หึง หลายคนกลับไม่ชอบคนขี้หึง หรือคนที่ไม่ขี้หึงกลับชอบที่เป็นฝ่ายถูกหึงหวงก็มี และดังที่บอกเป็นไปได้ทุกรูปแบบ

ในเมื่อเรา พูดกันเรื่องความหึงหวง เราจึงจะ “ไม่พูดถึงว่าทำไมคุณจึงไม่ขี้หึง” เพราะส่วนหนึ่งเหตุผลของอีกด้านก็คือเหตุผลของด้านตรงข้ามเช่นกัน กล่าวคือพูดไปมันก็เหมือนกันแค่ตรงกันข้ามแค่นั้นเอง (ไม่เข้าใจไม่เป็นไรครับ ไม่สำคัญ)

ทำไมต้องหึงหวง?

เราอาจบอกเหตุผลมากมายว่าทำไมเราต้องหึงหวง และจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม บางทีก็ไม่รู้ตัวว่าทำไมเราต้องขี้หึงด้วย ผมจะพยายามแจกแจงเหตุผลดูตามมุมมองต่าง ๆ ในแบบผมเอง

  • รักมากก็หวงมาก – น่าจะเป็นเหตุผลยอดนิยมที่สุดอันหนึ่งของเรื่องนี้ คงต้องยอมรับกันว่าความรักเป็นเรื่องของ “ภาวะอารมณ์” เกี่ยวข้อง การหึงหวง ห่วงใย ก็เช่นกันแม้จะพูดได้ว่าเพราะอะไร แต่ส่วนหนึ่งก็ภาวะอารมณ์เกี่ยวข้องอยู่ดี โดยคนที่อยู่ใน “ห้วงรัก” ย่อมมีภาวะหึงหวงได้ง่ายกว่า ยกตัวอย่างจากเรื่องล้อเล่นที่บอกว่า “รักกันใหม่ ๆ เดินไปกับแฟน หมาเห่าแฟน เลยเตะหมาที่บังอาจเห่า นานไป หมาเห่าเตะเมีย เพราะเดินยังไงให้หมาเห่า!”

    “ที่จริงมันก็ดูสมเหตุผลกันอยู่ รัก แล้ว หวง เพราะคงไม่มีใครปรารถนาที่จะ เสียของรักไป แต่คำถามอยู่ที่ว่า.. ถ้าไม่หวงแสดงว่าไม่ได้รักด้วยหรือเปล่า? แล้วอะไรคือตัวแบ่งแยกว่า ตอนไหนควรหึงหวง ตอนไหนไม่จำเป็น..

    เราอาจตอบในเบื้องต้นว่า ก็ตอนไม่อยู่ด้วยกันมันก็ไม่เห็นกันเลย หวงห่วง กระนั้นก็ยังเชื่อว่ามันเป็นเพียงภาวะอยู่ดี เพราะคงไม่มีใครที่จะหึงหวงตลอดเวลา ไม่กิน ไม่นอน ไม่ทำงานทำการห่างกัน ก็หวงกันตลอดเวลา.. แต่ก็มีบ้างนะ แม้จะส่วนน้อยที่ประสบกัน ประเภทห่วงหวงตลอดเวลา แบบที่เรียกว่าเกินไป ซึ่งคุณคิดว่าไปกันรอดไหม ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง…

    ทีนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น มันจึงมีช่วงเวลา “ลืมหวง” เพราะถ้ายุ่งกับงาน มีภารกิจต้องทำ หรือสนุกอยู่กับสิ่งอื่นภาวะนี้จะถูกลืมไปได้ เพราะไม่อยู่ในภาวะอารมณ์นั้นนั่นเอง จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่า การหวงห่วงนี้เป็นแค่ภาวะหนึ่ง.. ซึ่งตอนลืมหวงนี้ คือไม่ได้รักแล้วหรือเปล่า?

    และเพราะหึงหวงเชื่อมโยงกับภาวะอารมณ์ที่เชื่อว่าคือ “รัก” คนที่หึงโหด มักจะบอกว่า รักมาก.. จึงทำลงไป..

  • ไม่ได้หึงหวง แค่ห่วงใย – ตรงนี้จะเป็นสิ่งดี ๆ ถ้ามันแค่นั้นจริง ๆ การมีคนห่วงใย ย่อมเป็นความรู้สึกดีที่ใครมักต้องการ แต่มันไม่ควรมาในรูปแบบ “คำอธิบายหรือกล่าวอ้าง” ซึ่งหมายถึง หากห่วงใยคงไม่ทำให้ใครรำคาญ คงไม่ทำให้ใครรู้สึกอึดอัด แล้วบอกว่า “เป็นห่วง” และไม่ควรนำมาเป็นอารมณ์ในทางลบต่อกัน

    ยกตัวอย่างที่นึกออกกันได้ง่ายที่สุดจากประโยคสนทนาคำถามระหว่าง “ทำไมยังไม่ถึงบ้าน? / เมื่อไหร่จะถึงบ้านสักที?” กับประโยคทำนองว่า “ถึงไหนแล้ว?” คำถามในแบบแรกเราอาจบอกได้ว่าก็เป็นห่วง ทำไมยังไม่ถึงอีก แต่มองดี ๆ ทางภาษามันคือการตัดสินไปแล้วว่าอีกฝ่ายทำบางสิ่งไม่ปกติ ส่วนอีกคำถามนั้นยังไม่ได้มีการตัดสิน เป็นแค่คำถาม ซึ่งทั้งสองคำถามหากถามกลับว่า ถามทำไม? คำตอบก็มักเป็น ถามเพราะห่วง.. หรือบานปลายไปว่า ถามไม่ได้หรือไง?!

    ไม่ได้หึงหวง แต่ห่วงใย อาจเป็นความหมายดี ๆ แต่ต้องมีนิยามเดียวกันทั้งสองฝ่าย ในสองคำนี้ “หวง” หรือ “ห่วง” ถ้าห่วงของเรา มันคือหวงของเขา ก็ยากจะเดาว่าจะลงเอยกันอย่างไร

  • ทำตัวน่าไว้ใจ ก็จะไม่หึง – นี่ก็อีกเหตุผลที่เป็นเรื่องจริง หลายคนได้แฟนที่มีประวัติไม่ค่อยจะดีนัก ทำตัวไม่ค่อยดีนัก รวมถึงแบบที่เพิ่งผ่านสถานะคลุมเครือมา พอคบกันมันก็ยากจะไว้ใจ เพราะมันทำให้คิดไปได้ว่า จะเป็นเหมือนเดิมไหม จะเจ้าชู้อยู่ไหม วางตัว ทำตัวมีพิรุธไหม พูดกันอย่างเป็นกลาง ตรงนี้ก็โทษคนที่เป็นฝ่ายหึงหวงลำบาก ด้วยเพราะมันมีเหตุให้คิดระแวง ระวัง

    และถึงไม่มีประวัติ แต่มันก็อาจมีจังหวะที่หลายคนเจอพิรุธ พบบางสิ่งผิดปกติ มันก็ทำให้คิดได้ แต่ส่วนใหญ่จะยังแค่ระวัง ถ้าไม่เจอจัง ๆ ก็ยังไม่เข้าขั้นระแวง ซึ่งเมื่อเจอบางอย่างแล้วนี่แหละที่มันแค่น่าสงสัยจะกลายเป็นไม่น่าไว้ใจ และมันก็คล้ายกับว่าเริ่มมีประวัติติดตัว..

    แต่คำถามคือ มันต้องเป็นแบบนี้ตลอดไปไหม? ถ้าเราคบใครที่ไว้ใจไม่ได้ไปตลอดชีวิต จะต้องหึงหวงไปทั้งชีวิตเช่นนี้จะมีความสุขกันได้ไหม รวมถึงถ้าเลือกใครมาแล้วไม่ไว้ใจ ไม่ให้โอกาสกัน มันต้องอยู่กันแบบไหน? ผมก็ไม่แน่ใจ

  • ไม่หึงได้ไง เขาไม่ลืมอดีต – มุมนี้คือคบกับใครบางคนแล้ว ได้เห็นภาพอดีตของเขามันชัดจนอดคิดไม่ได้ว่า เขามาทั้งใจหรือยัง ยิ่งเคยรู้ว่าอดีตเขารักกันมากเท่าไหร่ เราเป็นคนใหม่ยังไงก็ต้องรู้สึก…

    แต่คำถามคือ ตกลงเราไม่รู้สถานะเราจริง ๆ หรือเปล่า ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะไปหึงหวงกัน เรามั่นใจในสถานภาพแค่ไหน ว่าไม่ได้ “คิดไปเอง” เรากับเขาเดินไปด้วยกันแล้วหรือยัง? ตรงนี้ต้องเคลียก่อนไม่งั้นการหึงหวง ออกตัวในเวลานี้ยังไงก็ งี่เง่า เพราะเขายังไม่ได้เออ ออ อะไร ด้วย แต่ก็มีนะที่เขาไม่รู้ตัวเองว่ายังไงดี แบบนี้หึงไปเราก็มีแต่ผิดอยู่ดี กลายเป็นคนที่ไม่ดีแน่ ๆ ควรถอยก่อนดีกว่า

    แต่ถ้าเคลียแล้วก็ควรมองกันนิดหนึ่งว่า ความรัก เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าความ “ผูกพัน” เพราะรักอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ อารมณ์ของเราตอนนี้ด้วยรัก ของเขาคือเคยผูกพัน ซึ่งก่อนจะไปตรงนั้นกันได้ เรากับเขาก็ต้องเดินไปด้วยกันสักพักก่อน ทว่า ยังไม่ทันไร ไม่ได้สร้างความผูกพัน เพราะหึงหวง กันหนักเสียก่อน หรือไม่ อันนี้ก็ควรคิดระวังไว้ให้ดี

  • อดีตฝังใจทำให้ต้องหึง – คล้าย ๆ กันกับข้อก่อน แต่กรณีนี้ไม่ได้เกิดที่ตัวอีกฝ่ายในตอนเริ่มต้น เกิดจากตัวเราเองนี่แหละ ที่อาจเคยเป็นคนไม่ขี้หึง ไม่หวง ไม่ระแวง แต่แล้วก็โดนหักหลัง มันย่อมจำฝังใจ ไม่อาจหรือไม่อยากไว้ใจใครได้ง่ายเหมือนเคย

    แต่คำถามคือ ต้องเป็นเช่นนี้อีกนานแค่ไหน ไม่ต่างจากข้อก่อน รักใหม่ ย่อม ไม่ใช่รักเก่า คนใหม่ ก็ใช่ว่าจะเหมือนคนเก่า อาจเลวร้ายกว่าเดิมได้อีกด้วย แต่ก็ต้องคิดด้วยว่า ตอนเลือกเขามาเราคิดอะไร ยังไงดูดีแล้วใช่ไหม ถ้าไม่โทษใครดี? และเช่นกัน แม้อดีตจะเจ็บแค่ไหน แต่ไม่กล้าเริ่มใหม่ อะไร ๆ ก็คงเหมือนเดิม หรือไปอย่างยากจะเข้าใจกันได้ง่าย ในเมื่ออคติมีก่อนแล้ว..

อีกด้านของการหึงหวง

ข้างต้นเป็นเพียงมุมเหตุผลปนความรู้สึก ทั่ว ๆ ไป แต่มันมีหลายกรณีที่เราไม่รู้ตัวว่า เหตุที่เราขี้หึง เราขี้หวง หรือห่วงมากเกินไปนั้น มันมาจากบางสิ่งที่อยู่ลึกภายในใจ ไม่เข้าใจตัวเองอย่างแท้จริงและยากที่จะแสดงออกบางอย่างไปโดยรู้ตัวได้ ดังเช่น

  • กลัวการถูกทิ้ง/สูญเสีย – หลายคนชีวิตอาจเคยสูญเสียคนรักไป แบบไม่ตั้งตัว หรือแบบกระทบกระเทือนจิตใจรุนแรง จนไม่อยากยอมรับการสูญเสียใครอีก ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของคนรัก หรือพ่อแม่ทิ้งเขาไปในวัยเด็ก เช่นนี้ เมื่อมีคนรักก็มักมีโอกาสที่จะหึงหวง แม้อีกฝ่ายจะมีหรือไม่มีท่าทีใด แต่เมื่อความรู้สึกในอดีตมันสะกดจิตใจ มันย่อมทำให้กลัวความเจ็บปวดนั้นขึ้นมาเอง จนระแวงอยู่ได้เรื่อย ๆ

    ยังมีที่คล้ายกัน คือ “ความตั้งใจ” ที่มากเกินไปในรักนี้ แน่นอนเมื่อตั้งใจมากจึงไม่อยากสูญเสีย ผิดหวัง การตั้งใจเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทุกการกระทำ แม้ตั้งใจเพียงใด มันไม่เคยการันตีผล เราต้องพร้อมรับผลที่มันไม่ใช่ เพราะเมื่อไม่ยอมรับ คนที่เสียใจคือเราไม่ใช่ใคร โดยรวมเหตุต่าง ๆ เรานี้เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้มันรู้สึกสูญเสียไม่ได้นั่นเอง

  • เรื่องของศักดิ์ศรี – ความรักก็เป็นเรื่องของการลงทุนหนึ่ง และความรักก็ยังเป็นเรื่องของสังคม หลายคนอาจต้องพยายามมากมายที่ให้ได้รักกับใครคนหนึ่ง หลายคนก็มีความภาคภูมิใจในแฟนของตนสูง อาจจะดูดีจริง หรือคิดไปเองก็ตามนั้น จนมันอาจกลายเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ที่เกิดขึ้นได้ทั้งแง่ ลงทุนไปมาก หรือเสียหน้าไม่ได้ ในมุมเช่นนี้ ถ้าทบทวนมองมองลึกไปในจิตใจตัวเองได้ เราอาจพบว่า ในวันที่เขาเปลี่ยนไปเราก็ไม่ได้รักเขาแล้ว เราแค่ต้องการ เอาชนะ ไม่ให้เขาจากไป และสุดท้ายคนที่แพ้คือเรา ไม่ว่าจะเป็นแง่ เขาไม่รัก หรือจริง ๆ เราไม่รักเขาแล้วก็ตาม เพราะมันไม่ใช่รักอีกต่อไป..
  • ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง – ความมั่นใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเรื่องที่เกินจะบอกให้ใครทำได้ในทันที แง่การมีรัก การมีแฟนก็เช่นกัน หลายคนมองตนเองดีเกินไ หลายคนก็มองตนเองด้อยเกินไป โดยหลายคน ลึก ๆ ก็รู้อยู่ในใจ การปรับตัวเข้าหากันมันจำเป็น แต่บางทีการปรับตัวไม่เกิดขึ้น เพราะยิ่งมีคำตำหนิ คนที่ไม่มั่นใจจะยิ่งคล้ายโดยตะปูตอกให้ลึกไปว่า “นี่ไง ฉันไม่ดีพอ” อาจทะเลาะกัน มันก็ยิ่งเป็นรอยแยกของความมั่นใจ แทนที่มันจะถูกแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นทั้งความคิดตัวเอง หรือกระทำตัวเองให้ดีขึ้น มันจึงเลือกเปลี่ยนไปเป็นระแวงในอีกฝ่ายแทนว่า เขาคงทิ้งเราไปหาคนใหม่ที่ดีกว่าในวันหนึ่ง.. ซึ่งบางทีอีกฝ่ายไม่ได้คิดอะไรเลย แต่แรก
  • ปมลึกในใจ – บางส่วนที่คล้ายกันกับความมั่นใจและทั้งหมด อาจเป็นบางสิ่งในส่วนลึกของใจ หรืออีกหลายปัจจัยที่ไม่ได้เขียนถึง เช่น รูปกายภายนอก ความสูง ต่ำ สีผิวที่อาจไม่ใช่ในแบบที่เขาชอบ บางส่วนของร่างกายที่(คิด)ว่าไม่ดี โดยที่อีกฝ่ายจะเคยสะท้อนหรือไม่ก็ตาม เช่น ถูกตำหนิว่า “อ้วน” แต่เราสร้างปมภายในใจไว้กับสิ่งนั้น และไม่ใช่แค่เรื่องรูปกายภายนอก บุคลิก ลักษณะนิสัย ฐานะ สถานะ อดีต ปัจจุบัน หรืออะไรก็ตามที่หลายคนนำมาเป็นปมด้อยในใจ เหล่านี้ ทำให้ตัวเองคิดว่า เราอาจไม่คู่ควรกับใคร..

    เมื่อเกิดความย้อนแย้งในตัวตน สั่งสมอยู่ในใจ แต่วันหนึ่งก็มีใครเข้ามาในชีวิต เราก็แอบมีความหวาดระแวงในใจ เมื่อความคิดลบก่อขึ้นแต่ต้น ไม่นานมันก็แปรผันไปในทางลบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นไปตามเหตุผลข้ออ้าง 4-5 ข้อในส่วนแรก ที่ทำให้เราบอกว่ามีสิทธิ์หึงหวง…

ประโยชน์ของ ความหึงหวง

จากเหตุที่กล่าวมาคุณว่า ความหึงหวงมีประโยชน์ใด? ถ้ารักแล้วมันทำร้ายด้วยการหึงหวงให้รำคาญ ถ้าเขาจะเคยเป็นอย่างไร จะมีอดีตหรือไม่ การหึงหวงไม่สามารถเปลี่ยนอะไรไปในเชิงบวกได้เลย อาจจะคิดเอาว่า ก็ไม่ได้หึงมากอะไร หึงหวงจะมากหรือไม่หากอีกฝ่ายไม่เข้าใจ มันก็กลายเป็นรำคาญไม่ยอมรับ และ “งี่เง่า” ได้ทั้งนั้น เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นเชิงบวกต่อชีวิตคู่ (ผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าเคย และที่สุดมันก็ไร้ประโยชน์)

ยิ่งถ้าพบว่าความหึงหวงนั้น เกิดจากความรู้สึกภายในเพียงบางอย่างจากใจเรา เช่นปมด้อย ความไม่มั่นใจ หรือในศักดิ์ศรี การยึดติดใดก็ตาม เรายิ่งพบว่ามันไร้ค่าและล้วนบ่อนทำลาย ไม่มีอะไรสร้างสรรค์

“จะให้ปล่อยทุกอย่างเลยหรือ?” อาจจะมีคำถามเช่นนี้ขึ้นมาเมื่ออ่านถึงตรงนี้ ก็ขอตอบว่าไม่ใช่ คบใครก็ไม่จำเป็นต้องหูตามืดบอด เพียงแต่ว่า “การระวัง อย่างไรก็ต่างจากความระแวง” ระวังไว้บ้างก็ดีเหมือนที่อธิบายในอีกด้านของการหึงหวง แต่สิ่งที่ควรระวังที่สุดคือ..

ระวังตัวเองว่า ทำหน้าที่บกพร่องหรือไม่? ระวังตัวเองว่าทำตัวดีพอหรือไม่? ระวังตัวเองว่าปล่อยตัวหรือไม่? ทำให้ตัวเองหมดความมั่นใจหรือไม่? หลายคนก็คงถามอีกแหละว่าต้องทำเพื่อเขาแค่ไหนกัน มันก็ตอบไม่ได้จริง ๆ นั่นแหละ แต่ถ้าสิ่งดีไม่ทำ ซ้ำยังหึงหวง ไม่ต้องห่วงหรอกครับ พัง… ก็ดังที่เขียนไป มันไม่มีอะไรในเชิงบวก หึงหวงไม่มีวันเป็นบ่วงผูกคอใครให้รักได้ อาจมีผลเพียงพักหนึ่งแต่ตลอดไปไม่มีทาง และเพราะคนอารมณ์ร้ายหลายรู้ว่าไม่มีทาง จึงมักใช้วิธีรุนแรงขึ้น ไม่ว่าต่อตนเองหรืออีกฝ่ายก็ตาม..

ความห่วงใยก็เช่นกัน มันคือสิ่งดี แต่ย่อมมีขอบเขต เราอาจรวมไปด้วยว่า ห่วงเขาจะออกนอกลู่นอกทาง จะระวังไว้บ้างย่อมไม่ผิด (และมีประโยชน์เหมือนกัน) ต้องมันก็ต้องระวังสักนิดว่ามันจะเกินคำว่าห่วงไป เพราะหากเขาคิดจะไป ไม่ต้องรีบแต่อย่างใด เดี๋ยวเขาก็ต้องดิ้นรนออกไปให้เห็นเอง พยายามใส่ใจในสิ่งดี ๆ ทำตัวเองให้ดีไว้ย่อมดีกว่า..

บทความนี้อาจเป็นเพียงมุมหนึ่ง เรื่องความรักความสัมพันธ์ซึ่งละเอียดอ่อนย่อมมีอะไรมากมาย อยากให้เพียงพิจารณาดี ๆ ว่า ความหึงหวงนั้นมีประโยชน์ใด จะถูกต้องหรือไม่สุดท้าย ทุกข์สุขย่อมเกิดกับใจผู้นั้นเอง..

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 29/6/2020

บทความความรัก หึงหวงเป็นเรื่องงี่เง่า

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น