ในเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวกับความหวังดี ถ้าแจกแจงกันโดยง่ายก็คือจะมี “ผู้ให้” ความหวังดี และ “ผู้รับ” ความหวังดี แต่สิ่งที่แตกต่างจากการให้และรับโดยทั่วไป คือ ผู้ให้มักเต็มใจให้ แต่ผู้รับอยากรับหรือเปล่า อีกเรื่องหนึ่ง…
จึงเป็นที่มาของประโยคหลาย ๆ ประโยคเช่น “อย่ามาทำเป็นหวังดี” , “ไม่น่าไปหวังดี” , “อุตส่าหวังดี” , “คิดว่านี่หวังดีแล้วเหรอ” รวมถึง “แค่หวังดีไม่พอหรอก…” และอีกหลายประโยคในทำนองนี้ สำหรับคุณเจอบ่อยประโยคไหนกันครับ?
ถ้าเราหยุดวิเคราะห์ประโยคเหล่านี้สักนิดจะพบว่า “แค่หวังดีไม่พอหรอก..” ก็มีความเป็นจริงอยู่มาก เพราะไม่ว่าจะอุตสาหวังดี หรืออย่ามาหวังดี, ไม่น่าหวังดี ก็ตาม ที่มาที่ไป คือ มันไม่เพียงพอ ต่อผู้รับ
และความหวังดียังเกิดขึ้นได้ทั้งเป็นนามธรรมกับรูปธรรม กล่าวคือ อาจมอบให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น เงิน, สิ่งของ, การหยิบยืม, หรือโอกาสการทำงาน และ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความห่วงใย, คำแนะนำ, กำลังใจ ซึ่งจะหวังดีรูปแบบไหน ก็อาจทำให้ผู้รับรู้สึก ไม่เพียงพอ ได้ทั้งสิ้น
เชื่อว่า เราอาจเคยอยู่ทั้งในสถานการณ์ที่เป็นทั้ง ผู้ให้และผู้รับความหวังดี และอาจเคยมีความรู้สึกไม่ดีต่อ “ความหวังดี” ในมุมต่าง ๆ กันไป ทั้งเสียใจที่ให้ หรือ ไม่พอใจในสิ่งที่ได้รับ แต่ ณ เวลานั้น ๆ ถ้าเราไม่พอใจในสิ่งที่ได้รับ เราก็จะลืมนึกถึงอีกด้าน เช่น เราจะไม่คิดว่า ผู้ให้ความหวังดี เขารู้สึกอย่างไร เขาไม่ควรได้รับผลตอบแทนจากเราเช่นนั้น ซึ่งที่ยากกว่าคือ การทำความเข้าใจในฝั่งผู้รับว่า..
“ทำไมเขากลับไม่พอใจในความหวังดีที่เรามอบให้ ?
บทความนี้ก็เจาะจงไปแล้วว่า เพราะมันไม่พอ แล้วทำไมแค่ความหวังดีมันจึงไม่พอ เบื้องต้นหากพอนึกถึงตอนที่ “เราเองเป็นฝ่ายรับ” แล้วไม่พอใจในความหวังดีนั้น เราก็ลองถามตัวเองดูว่าทำไมตอนนั้นจึงไม่พอใจ..
หากคิดวิเคราะห์ดูเราจะพบว่า “ความหวังดี เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ” หากอีกฝ่ายมีสัญญาณใด ๆ ที่เรา “รู้สึก” ว่า น่าให้ความช่วยเหลือเราจึงมอบ “ความหวังดี” ออกไป ซึ่งความรู้สึกว่าน่าช่วยเหลือนี้ ไม่ใช่จำเพาะว่าต้องเกิดเมื่ออีกฝ่าย ย่ำแย่ หรือมีปัญหาเท่านั้น อาจเป็นตอนที่เขาดีอยู่ แล้วเราอยากให้เขาดีขึ้นไปอีก ใกล้สำเร็จ จึงอยากช่วยให้สำเร็จยิ่งขึ้น หรือสำเร็จเร็วขึ้นก็เป็นได้…
เขาอาจไม่อยากให้เราต้องลำบากเดือดร้อนไปด้วย…
ทีนี้เมื่อใดก็ตามที่ “การช่วย” นั้น หากมัน “ไม่ช่วย” อะไร ย่อมไม่แปลกที่ผู้รับไม่ต้องการ ซึ่งที่เขาไม่ต้องการไม่ใช่เพราะไม่อยากได้สิ่งนั้นเสมอไป แต่มันอาจเป็นความรู้สีกดี ๆ ในแบบที่ ไม่อยากให้ เรา หรือ ผู้ให้ ต้องมาลำบาก เดือดร้อนไปกับเขาด้วย หากเป็นเช่นนี้ผู้รับแทนที่จะสบายใจ ก็กลายเป็นอึดอัดเพิ่ม กระทั่งต้องมารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณโดยไม่จำเป็นในตอนนั้น
หากความหวังดี เปลี่ยนเป็นปริมาณ ที่ตีความวัดได้ คล้ายกับว่า ญาติเราเดือดร้อนต้องการเงิน 1 หมื่นบาท เราทราบเรื่อง “ด้วยความหวังดี” เราจึงบอกว่าช่วย 200 นะ แม้เขาจะเห็นในความหวังดี แต่ลองคิดในอีกมุมดูซิ ถ้าเราเป็นฝ่ายรับก็อาจจะอยู่ในอารมณ์ที่ “โถ ยังอุตส่าช่วย” เพราะไม่ใช่แค่ มันน้อยเกินไป มันอาจสะท้อนได้ด้วยว่า ตัวผู้ให้เองก็อาจยังลำบากอยู่ ผู้รับย่อมรู้สึกอึดอัดที่จะรับ ไม่ได้คิดดูถูกน้ำใจในความหวังดี นี่ก็เป็นอีกด้าน
แม้ในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความหวังดีด้วยการแสดงความรู้สึกต่าง ๆ แม้จะนับไม่ได้ แต่มันอาจรับรู้ได้ในมุมต่างกัน คนที่ไม่ชอบขี้หน้ากัน หากอีกฝ่ายย่ำแย่ คำพูดว่า “น่าสงสาร” มันอาจเป็นคำดูถูก หรือเชื่อถือได้ไม่มากพอ เปรียบเปรยให้เห็นภาพง่าย ๆ อีกก็เช่นว่า ศัตรูกันมาตลอดกาลแล้วไปแสดงความเสียใจในงานศพ ก็มองได้ทั้ง ไปดูว่าตายจริงไหม, ไปเพื่อสะใจ, ไปแค่อโหสิกรรม ส่วนใหญ่คิดว่าคงไม่ได้เสียใจด้วยแน่นอน เช่นนี้ ไม่น่าจะหวังดี.. บนความเป็นจริง อาจไม่ชัดเจนเท่าที่ยกตัวอย่าง แต่ก็มีโอกาสมากมายที่ผู้รับจะไม่เชื่อใจในความหวังดี เพราะความรู้สึกมันมองไม่เห็น…
นอกจากนี้ยังมีความหวังดีที่ผิดรูปแบบ เช่น สมมติว่าเรามีแฟน และเขากำลังควบคุมน้ำหนัก วันหนึ่งขณะที่เราเลิกงานกลับบ้าน ผ่านร้านเบเกอรี่ชื่อดัง เห็นเค้กชิ้นหนึ่งน่าทานมาก “ด้วยความหวังดี” จึงซื้อกลับไปฝากเขา.. คำถามคือ เขาต้องรับความหวังดีนี้จากเราแต่โดยดีหรือไม่?
มองในมุมเรา เราอุตส่านึกถึงเขา ซื้อมาฝากเขา หอบหิ้วมาให้เขา แล้วได้พบว่า นอกจากเขาไม่ตื่นเต้นดีใจ ผ่านไปหลายวัน มันกลับถูกวางทิ้งในตู้เย็น เราจะเสียใจในความหวังดีนี้ไหม? ในกรณีที่เราลืมหรือไม่รู้ว่าเขาควบคุมน้ำหนักอยู่
บางทีมันอาจเป็นความหวังดีของเด็กน้อย…
ถ้าเรามีลูก หลาน หรือเด็กเล็ก ๆ ที่อยู่ในวัยเรียนรู้ แล้วสนิทสนมกับเขา อาจเคยพบว่า เมื่อเราทำอะไร เขาอยากจะ “ช่วย” เราไปเสียหมด แต่ส่วนใหญ่ ในการช่วยของเด็กนั้น มันมักกลายเป็น “ช่วยสร้างภาระ” ไหนจะทำงานเราเสียหาย ทำให้ช้าลง ต้องคอยมาบอกมาสอน ไหนเราจะต้องมาดูแลเขาเพิ่ม เช่นนี้แหละเรียกว่า “ความหวังดีของเด็กน้อย…” และเราเองก็อาจไปหวังดีต่อใครแบบ “ความหวังดีของเด็กน้อย” นี้อยู่ก็ได้
สรุปท้ายนี้ว่า ทำไมแค่หวังดีไม่พอหรอก..
- เพราะว่ามันไม่พอจริง ๆ ด้วยปริมาณและคุณภาพที่อีกฝ่ายรู้สึก หรือได้รับ
- เพราะมันไม่ตรงจุดประสงค์ ที่เขาต้องการ
- เพราะมันรู้สึกเป็นภาระ มากกว่าได้ช่วย (ความหวังดีของเด็กน้อย)
- เพราะเราไม่ใช่ คนที่ควรไปหวังดี (เขาไม่เชื่อ)
ความหวังดีไม่เหมือนความดีทั่วไป ที่จะคิดแบบ ทำไปให้ไป ไม่หวังตอบแทนแล้วจะไม่เป็นไร เพราะมันกลายเป็นผลร้ายต่ออีกฝ่ายได้ด้วย เหมือนหลาย ๆ ตัวอย่างอย่างที่ยกไป
แต่แน่นอนว่าความหวังดีเป็นเรื่องที่ดี ทำได้หลายรูปแบบ เราควรหวังดีกับทุก ๆ คน เพียงแต่ว่าผลลัพธ์ย่อมไม่ควรทำร้ายผู้ที่ให้ความหวังดี และจะหวังดีกับใครอาจต้องมองให้รอบคอบ เชื่อว่าเราเป็นทั้ง ผู้ให้ และ ผู้รับความหวังดีกันมาเสมอ บทความนี้อาจเขียนตัวอย่างไปในทางผู้ให้ แต่เมื่อใดที่เป็นผู้รับ ก็ควรคิดในมุมกลับด้วยว่า ผู้ให้อาจไม่ได้ตั้งใจให้ในแบบผิด ๆ เขาทำไปก็เพราะแค่หวังดี เราจะได้ไม่ต้องมีใครรู้สึกกับใครว่า “แค่หวังดีไม่พอหรอก..”
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 06/07/2020