ลองเปลี่ยนความฝันเป็นเป้าหมาย

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » การเปลี่ยนแปลงตัวเอง » ลองเปลี่ยนความฝันเป็นเป้าหมาย |


สิ่งหนึ่งที่คนสำเร็จ หรือนักสร้างแรงบันดาลใจก็ตาม จะต้องกล่าวถึงเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะเป็นจาก บทความ หนังสือ งานสัมมนา และอื่น ๆ ในหลากหลายสื่อของทุกวันนี้ ก็คือเรื่อง “การมีเป้าหมาย” ที่ล้วนกล่าวว่าเป็นสิ่งจำเป็น และมักให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ผมก็เห็นด้วย เพราะมันเป็นสิ่งพิสูจน์ได้เบื้องต้นในการ “แยกคนลงมือทำ กับไม่ทำ” ออกจากกันชัดเจน และคนที่คิดจะทำย่อมมีโอกาสสำเร็จกว่าคนไม่คิดจะทำแน่นอน

แต่การสร้างเป้าหมาย เป็นเรื่องที่ยากของหลายคน ผมก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น ไม่ควรต้องแปลกใจ อะไรที่ไม่เคยทำ ไม่ค่อยมีประสบการณ์ หรือไม่คุ้น มักจะยากก่อนเสมอ มันเรื่องปกติ แต่อย่าปล่อยให้ความรู้สึกมาบดบังว่ามันยากจนไม่กล้าที่จะลอง

ส่วนหนึ่งที่การตั้งเป้าหมายยากเพราะปัจจัยแต่ละคนต่างกัน และมีความต้องการลึก ๆ ต่างกัน บ้างก็ยังไม่เข้าใจ หรือแน่ใจตัวเอง จึงไม่รู้จะตั้งเป้าหมายอะไร บ้างก็พอรู้แค่ว่า “อยากอะไร” แต่จะแปลงให้มันเป็นเป้าหมายได้ยังไง ถ้าจะมีวิธีการ How to แบบ 1-2-3 แล้วทุกคนนำไปใช้ได้เหมือนกันก็คงดี แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ สำหรับคนที่พบเจอวิธีการจากที่ใดก็ตามแล้วเห็นว่าเหมาะสมกับตน ก็ถือว่าโชคดี

โดยชี้แจงเลยว่า เรื่องนี้สำหรับคนที่ยังไม่มีเป้าหมายให้ตัวเองเลย..

ถ้ามีเป้าหมายชีวิต หรือมีวิธีการแล้ว ก็ข้ามเรื่องนี้ไปได้เลยอาจไม่เป็นประโยชน์สำหรับคุณ แต่สำหรับคนที่ยัง ผมก็ขอนำเสนอเป็นวิธีกึ่ง “แนวคิด” ที่ผมมองว่าไม่น่าจะยาก และสนุกดีที่จะมาใช้เริ่มต้นในการคิด สร้าง หรือหาเป้าหมาย

แนวคิดในการเปลี่ยนความฝันเป็นเป้าหมาย

คุณมีความฝันไหม ที่ไม่ใช่นอนหลับฝัน ฝันในที่นี้คือภาพที่ไกลออกไปจากปัจจุบัน อาจตั้งแต่วัยเด็ก หรือไม่นานที่มันยังไม่เป็นจริง แต่เราอยากให้มันเป็นจริง หรือเป็นจริงได้ก็คงดี ลอง ๆ คิดกันดูว่าเราฝันว่าอะไร ตีกรอบมันออกมา ลองเขียนมันออกมา แล้วเรามาทำตามกระบวนกันเป็นข้อ ๆ ไป

  1. ต้องเริ่มคิดอยากทำเพื่อตัวเองอย่างจริงจัง
    หรืออย่างน้อย ก็ต้องเห็นความสำคัญของคำว่า “เป้าหมาย” มากพอ ไม่มีสิ่งใดได้มาฟรีแท้จริง และไม่มีใครได้ทุกอย่าง เมื่อต้องการจะทำตามฝันให้มันเป็นจริง (หรือเป้าหมาย) ก็ต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่าง เริ่มจากยอมทิ้งความสุขเล็กน้อย หรือที่เป็นการใช้เวลาที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ ติดเกมส์ ติดซีรีย์ หรืออื่น ๆ

    ที่สำคัญกว่านั้นคือบางอย่างที่มันไม่เคยเกี่ยวกับคุณเองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการต้องรับผิดชอบคนอื่น ทำบางอย่างเพื่อพิสูจน์คนอื่น การต้องการการยอมรับ แม้กระทั่งการตามใจตัวเองในหลายๆ เรื่อง ที่มันไม่ใช่การทำเพื่อตัวเองแท้จริง มันแค่การระบายออกทางจิตใจตัวเองในทางลบหรือชั่วคราว

    ยกตัวอย่างง่าย ๆ คนที่ออกไปทานเหล้าทุกเย็นกับเพื่อน ๆ มันคือการสร้างภาวะหลีกหนีบางสิ่ง และการอยากได้การยอมรับจากคนเพียงบางกลุ่ม โดยหลงคิดว่าเป็นการสร้างเพื่อนแท้ และมีข้ออ้างให้ตัวเองว่ามันคือการพักผ่อน ผ่อนคลาย มีความสุข ซึ่งมันก็อาจใช่ในมุมหนึ่ง แต่ถ้าคิดดี ๆ นี่เป็นการทำเพื่อตัวเองจริงหรือเปล่า? ถ้าไม่กินเหล้าเพื่อนจะไม่ยกย่อง? หรือสุดท้ายแล้วเพื่อนวงเหล้าก็ยอมรับและเคารพคนนอกวงเหล้ามากกว่าเราอยู่ดี?‘ และมันคือการสร้างสุขชั่วคราวใช่หรือไม่? แล้วตามมาด้วยสิ่งใด? นี่คือตัวอย่างการตามใจตัวเอง ที่ไม่ใช่การทำเพื่อตัวเองอย่างจริงจัง

    มีอีกหลายเรื่องที่ละเอียดกว่านี้ในการดิ้นรนทำสิ่งหนึ่งของเราที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เพียงแต่ตัวอย่างนี้ ง่ายและชัดเท่านั้นเอง ดังนี้แล้ว การอยากทำเพื่อตัวเองอย่างจริงจัง มันจะคิดได้ว่าควรทิ้งสิ่งที่ทำไร้สาระในปัจจุบันออกไปให้ได้มาก ๆ เพื่อให้มี “เวลา มีสมอง มีจิตใจ ร่างกาย” ที่จะทำฝันนั้นให้สำเร็จได้ยังไงล่ะ หรือใครว่าไม่จำเป็น?

  2. นึกถึงความฝันเขียนมันลงไป
    สารพัดตำราหรือจิตวิทยาพัฒนาตนเองมักจะให้คุณค่าในการ “เขียน” มาก ผมเองเมื่อก่อนรู้สึกว่าเขียนมันเสียเวลาและจำเอาดีกว่า จนวันหนึ่งพบว่า “การเขียนมันลงไป” มีพลังที่อธิบายไม่ได้จนกว่าจะได้ทำเอง (ในทางจิตวิทยามันเกิดแรงกระตุ้นต่อสมองได้จริง) ทีนี้ในการเอาฝันมาเป็นเป้าหมาย เราก็ต้องนึกออกมาว่า เรามีหรือเคยมีฝันอะไร ตอนเด็ก ๆ หรือโตมาสักหน่อยแล้ว อยากเป็นอะไร ชอบเล่นอะไร หรือทุกวันนี้ถ้าเลือกได้เราฝัน จะเป็น จะทำอะไร

    หากคิดออกมาแล้วพบว่า มันเป็นไปไม่ได้หรอก เช่น เคยฝันว่าอยากเป็น แอร์โฮสเตส แต่ตอนนี้อายุ 35 ปีแล้ว แม้อาจเป็นไปได้ยาก แต่อยากให้เขียนไว้ก่อน และอย่าเขียนแค่เรื่องเดียว ควรหาฝันลำดับ 2-3-4-5 ที่เคยอยากเป็น อยากทำ ชอบทำไล่เรียงออกมาดู

    แต่… ฝันว่าอยากรวย เชื่อเถอะนั่นไม่ใช่ความฝัน “คุณแค่อยากรวยเพื่อให้มันได้อะไรสักอย่างจากการรวยนั้นอีกที” เช่น อยากมีรถสปอร์ต การจะมีรถสปอร์ตย่อมต้องใช้เงิน แต่อาจไม่ใช่ต้องรวยในแบบที่เรากำลังคิดไว้กว้าง ๆ ง่าย มันก็เป็นไปได้นะ เอาเป็นว่า ฝันที่อยากรวยให้คิดไกลไปอีกหน่อยว่า รวยแล้วไง? แล้วอยากทำอะไรต่อ นั่นอาจจะใช่กว่า..

  3. ชอบกับรัก อยากกับหลงใหล
    ข้อนี้สำคัญ เมื่อคิดออก หรือยังคิดไม่ค่อยออกก็ตาม ควรทบทวนดูด้วยว่า อะไรคือความฝันในเชิงรูปธรรม (เป็นจริงได้ มีอยู่จริง) มันมักมีพื้นฐานในความรักความชอบหรือความพอใจในจุดนั้น ไม่เช่นนั้นมันคงไม่เป็นความฝันของเรา โดยทั้งนี้ก็ต้องพอแยกแยะให้ออกด้วยว่า บางเรื่อง รักหรือแค่ชอบ หลงใหล (passion,ปรารถนา) หรือแค่อยาก (interest,สนใจ)

    อาจสงสัยว่าเราจะแยกได้อย่างไร? เบื้องต้นคือ ประการแรก สิ่งที่เรารัก เราหลงใหล เราจะต้องเคยทำอะไรกับมันมาบ้าง เช่นเคยศึกษา ติดตามคนที่เขาทำเรื่องนี้ ยิ่งถ้าเคย ทำมาโดยไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ ยิ่งเป็นไปได้ว่านี่คือสิ่งที่รักจริง ๆ แต่ถ้าเราแค่สนใจหรืออยากทำ เราอาจไม่เคยทำมาก่อน เพราะถ้าได้ลองทำเราอาจไม่ชอบก็ได้ เช่นพอมีรถสปอร์ตแล้ว อาจจะเฉย ๆ กับมันไปในที่สุด หรือ ในบางสิ่งเราชอบที่จะได้ในสิ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะรักที่จะทำในสิ่งนั้น เช่น ชอบกินเค้กมาก จนอยากเปิดร้านเค้ก แต่ไม่ได้รักที่จะทำเค้ก ทำขนม เช่นนี้เปิดร้านอาจจะเจ๊ง แต่ก็ไม่ได้ความว่าคนเปิดร้านเค้กสำเร็จต้องชอบทำเค้กเอง เพียงแต่ฝันอยากมีร้านเบเกอรี่กับชอบกินเค้ก ก็คนละเรื่องกันอยู่ดี

    อีกตัวอย่าง ตอนวัยรุ่นผม “ชอบ” เล่นกีต้าร์ แต่ที่จริงเพราะผมชอบร้องเพลง การเล่นกีต้าร์ไปด้วยทำให้ร้องเพลงมีความสุขขึ้น และผมก็ไม่เคยพัฒนาทักษะกีต้าร์เลย แต่ถามว่าชอบเล่นไหม? ชอบครับ มันมีความสุขที่เล่นและร้องเพลง จะเห็นว่ามีเงื่อนไขแอบแฝงอยู่ ที่ตอนนั้นไม่รู้ตัว แต่ถ้าผม “รัก” ในการเล่นกีต้าร์ ผมคงพัฒนาขึ้นไปอีก โดยไม่รู้ว่าจะเก่งไปไหนเหมือนกันก็ได้ ซึ่งคนที่เล่นกีต้าร์เก่ง ๆ อาจอยากเก่ง แต่ก็พยายามเล่นทั้งที่ยังไม่เก่ง ความรักทำให้เก่งในภายหลัง แต่ความชอบทำให้ล้มเลิกได้ในเวลาไม่นาน (น่าจะเริ่มเห็นภาพ) ส่วน ความอยาก มันสามารถถูกแทนที่ได้ด้วยความ “อยากกว่า” ของสิ่งอื่นง่ายเสมอ

    และถ้าเป็นความหลงใหล อะไรก็ไม่มาแทนที่  คุณจะหาทางไปเฉียดใกล้และให้ได้มีส่วนร่วมในสิ่งนั้นเสมอ ๆ คนที่หลงใหลทีมกีฬา ทีมใดทีมหนึ่งเป็นแฟนตัวจริง การได้อ่านข่าวของทีมนั้นทุกวันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเขา ยิ่งรู้ข้อมูลเยอะ ยิ่งมีความสุข แต่คนที่แค่อยากมีส่วนร่วม แค่ชอบหรือสนใจ บางทีแค่ตามรู้ผลสกอร์ ก็เพียงพอแล้ว…

    ถ้าอะไรจะชี้ชัดที่สุดว่าเรารักจริง หลงใหลในเรื่องใดจริงคงเป็นเรื่องของ “เวลา” ไม่ว่าผ่านไปนานเท่าใด เรายังคงสนใจ ชอบ เรื่องนั้นอยู่ จะมากหรือน้อยก็ตาม (ที่ไม่ใช่แบบเชียร์ทีมกีฬา) เช่นว่า คุณเคยชอบร้องเพลงมากตั้งแต่วัยรุ่น ผ่านไป 10 กว่าปีทุกวันนี้แม้ไม่ได้เป็นนักร้อง แต่ยังหาโอกาสให้ตัวเองได้ร้องเพลงอยู่เรื่อยมาแบบนี้ก็ถือว่าคุณรักในการร้องเพลง

  4. เปลี่ยนความฝันเป็นความจริง
    เมื่อเขียนออกมาแล้วจากข้อ 2 คัดกรองได้แล้วจากข้อ 3 ทีนี้ก็ควรดูว่า อะไรที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด นี่คือจุดหนึ่งที่ยากสำหรับคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีทางมีเป้าหมาย เพราะพอคิดเอาคร่าว ๆ แบบ “ไม่เคยจริงจังสักที” (ถึงตรงนี้บางคนก็แค่อ่านแต่ก็ยังไม่ทำจริงจังก็มี) มันก็รู้สึกว่า โอ้ย! ยาก ไกล เป็นไปไม่ได้ แต่มองในมุมหนึ่งเหมือนที่ผมเพิ่งยกตัวอย่าง อยากเป็นแอร์โฮสเตสเมื่ออายุมากแล้ว

    เช่นนี้ต้องลองวิเคราะห์ไปอีกว่า ทำไมเราอยากเป็น? ชอบนั่งเครื่องบิน ชอบที่ดูดีสวย หรือชอบท่องเที่ยว หรือชอบให้บริการ พอคิดออกมาได้เราจะพบคุณสมบัติบางอย่าง สมมติเพราะเรามองว่า แอร์โฮสเตสดูสวยสง่า นั่นก็หมายความว่า จริง ๆ คุณแค่อยาก “ดูสวยสง่า” ณ วันนี้คุณมีเป้าหมายเพื่อสิ่งนี้ได้ จะด้วยวิธีใดก็ตามเพื่อความสวยสง่าของคุณ ไม่จำเป็นต้องเป็นแอร์โฮสเตสก็ได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างของเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งมันคงจะทำให้คุณมีความสุข..

    และมันคือการพบความจริงทางความคิดเรา และความจริงอีกอย่างคือ เป้าหมายไม่ใด้เป็นเส้นตรงเสมอไป จากตัวอย่างเดิมคุณอาจบอกว่า นอกจากสวยสง่าแล้ว ยังได้ท่องเที่ยวด้วย คุณก็ทำสิ่งนั้น พยายามที่จะมีโอกาสแต่งตัวสวย ๆ เพื่อบินไปเที่ยวบ่อย ๆ ทีนี้อาจย้อนถามขึ้นมาได้ว่า มันก็ต้องใช้เงิน นี่แหละที่เหมือนจะทำให้ทุกคนวกกลับมาที่เดิม.. เพราะคุณอาจเคยเจอว่ามีเป้าหมายแล้วให้ลาออก!

    ไม่น่าจะมีใครบอกว่าเมื่อมีเป้าหมายแล้วมันต้องง่าย แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนของชีวิต ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรคุณก็อาจมีแรงจูงใจที่จะขยัน อยากก้าวหน้า อยากเก็บเงิน เพื่อให้ได้แต่งตัวสวย เพื่อให้ได้เที่ยวบ่อย ๆ เลิกใช้ชีวิตไร้สาระไปวัน ๆ เลิกใช้เงินไปวัน ๆ เอา “เวลา” ไปหาวิธีทำสวยแต่ราคาไม่แพงก็ได้ เที่ยวแต่ไม่เสียเงินเยอะ ก็ได้อีก เพราะชีวิตมีเป้าหมายเพื่อสิ่งนี้แล้ว และปลายทางไม่ใช่แค่ที่ที่มีความสุขของคนมีเป้าหมาย ระหว่างทางก็ทำให้คุณมีความสุขได้เช่นกัน แต่เราอาจจะเข้าใจมันก็ต่อเมื่ออยู่บนเส้นทางของเป้าหมายแล้ว ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นทางตรง ๆ เสมอไปเท่านั้นเอง

  5. จีบฝันแล้วรักกันให้มีความสุข
    อาจฟังดูงง ๆ อะไรคือจีบฝัน? ข้อนี้ผมเพียงอยากเปรียบเปรยในมุมหนึ่ง ซึ่งหากได้พบสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบชัดเจนจากข้อที่แล้วมา ให้ลองคิดดูนะครับว่า การมีชีวิตที่เหลือกับสิ่งรักนั้น ย่อมน่าอิจฉาอย่างหาที่ใดเปรียบ ก็หากเปรียบความฝันเป็นสิ่งที่รักที่ปรารถนาและใยเราไม่จีบเขามาเป็นคนรักของเราอยู่กันไปตลอดกาลโดยเป็นการเปรียบเปรยให้เห็นแนวคิดที่ว่า

    1. จีบใครเรามักสนใจเขาตลอดเวลา
      เราสนใจความฝันของเราแค่ไหน แม้จะเขียนไปว่าหากรักหรือหลงไหลแล้วเราจะสนใจมากเอง แต่บางทีในชีวิตจริงเราหลงลืม เราละทิ้งกันไปมันจึงต้องมีบทความพัฒนาตนเองแนวนี้ขึ้นมา ดังนี้แล้วเราสนใจฝันเราแค่ไหน แต่ละวันเราเฉียดใกล้ฝันเราหรือเปล่า และแท้จริงแล้วเราสุขหรือเปล่าที่ได้สนใจสิ่งนี้..
    2. จีบใครต้องพยายามเข้าใกล้เขา
      เด็กที่รักในฟุตบอลและนักฟุตบอลหลาย ๆ คน ไม่ใช่จะมีโอกาสเล่นบอลสมใจ ไม่ต่างกับเราที่มีฝันแต่ไม่ได้เฉียดใกล้ เขาไม่มีลูกบอล ไม่มีสนามบอล แต่เขาก็หาทางเล่นบอลจนได้ อาทิตย์ละครั้งชั่วโมงพละคงไม่ใช่ อาจไปขอเขาเล่นที่ต่าง ๆ ไม่มีสนามก็ข้างถนน ไม่มีลูกบอลหนังก็บอลพลาสติก หรือกระป๋องนมก็เตะ.. สิ่งของไม่ใช่ปัจจัย และก็ใช่ว่ามีเวลาเตะบอลตลอดเวลา แต่เขาอาจอ่านหนังสือฟุตบอล ดูคนอื่น แม้แต่ดูโปสเตอร์ ก็มีความสุข และผลักดันตัวเองไปใกล้ตลอดเวลา นั่นล่ะเขากำลังจีบฝันเขาอยู่..
    3. จีบเขาก็ต้องรู้เขาชอบอะไร
      ฝันที่มันจะเป็นเป้าหมาย มันย่อมต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เป็นปัจจัยโดยตรงให้เราได้เข้าใกล้สิ่งนั้น อาจจำต้องมีเงิน มีเวลา แล้วทุกวันนี้ใช้เงินไปกับอะไรบ้าง เก็บเงินเพื่อต่อฝันตัวเองบ้างหรือเปล่า สละเวลาเพื่อต่อฝันตัวเองบ้างหรือเปล่า หรือว่าจีบเขาแบบเราไม่ลงทุนอะไร? หน้าตาดีใช้ไม่ได้เสมอไปในยุคนี้นะเออ (ฮ่า)

      ดังที่บอกครับเราแค่กำลังเปรียบเปรยจีบฝันมันไม่เกี่ยวกับหน้าตาดี และไม่ใช่แค่เรื่องเงิน กับเวลา นั่นเป็นการยกตัวอย่างพื้นฐาน แต่ในความเป็นจริงถ้าคุณชอบร้องเพลง คุณต้องหาคนฟัง ไปจนถึงหาเวที ฝันคุณไม่ชอบให้คุณร้องอยู่แต่ในห้องน้ำ ฝันอยากเป็นนักเขียนฝันนี้ก็ต้องชอบคนเขียน ไม่ใช่คนแค่คิดจินตนาการ แต่ไม่เขียน หรือฝันเป็นเชฟ คงไม่ดีแน่ถ้าใช้ชีวิตกินแต่มาม่า และกระเพราไข่ดาว ผมกำลังหมายถึง จริง ๆ แล้วเราย่อมรู้ว่าองค์ประกอบในสิ่งที่เราฝันสำคัญ แล้วเราได้สนใจในส่วนประกอบนั้นบ้างไหม ไม่จำเป็นต้องสร้างเป้าหมายนั้นตรง ๆ ได้ทันที แต่ต้องรู้อะไรมันดีต่อสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต เหมือนจีบใครแต่ไม่เคยรู้เลยว่าเขาชอบอะไรหรือรู้แต่ไม่สนใจ มันก็คงไปด้วยกันยาก..

สรุปภาพรวม

สุดท้ายที่อยากสรุป แม้จริง ๆ เรื่องพวกนี้เขียนได้ยาว ละเอียด กว่านี้มาก แต่ด้วยเป็นเพียงหนึ่งไอเดีย สำหรับคนที่ อยากมีเป้าหมายชีวิตแต่คิดไม่ออก โดยเอาจากความฝันที่เคยมีมาเป็นตัวตั้ง ซึ่งวันหนึ่งลองดูแล้ว อาจได้ เป้าหมายที่ไม่ใช่สิ่งที่เคยฝันก็ได้ เพราะชีวิตนำพาเราไปพบความจริงใหม่ ๆ เสมอ

และควรเข้าใจหากไม่เริ่มเดินเข้าหาเป้าหมายใดเลยก็เลื่อนลอย ไร้ค่า ไร้สาระไปวัน ๆ หาความสุขแบบลม ๆ แล้ง ๆ ซึ่งหากให้สรุปกันมันก็คือ…

เมื่อไม่รู้ว่าอะไรควรจะเป็นเป้าหมาย แค่ให้เราเอาฝันเป็นที่ตั้ง แยกมันให้ออกว่า ฝันที่เคยฝันนั้น คือชอบ คือใช่ หรือยังอยากอยู่ไหม และเป็นจริงได้ไหม เมื่อพบเจอแล้ว ลองนำพาตัวเองเข้าไปใกล้ ที่ผมเปรียบเปรยไปเหมือนเข้าไปจีบ แต่จริง ๆ อาจคือการลองทำมันอย่างจริงจัง แบบพังก็ไม่เป็นไร เพราะเชื่อว่าคุณไม่เสียเวลากับสิ่งนี้แน่นอน ถ้ามันใช่ มันจะมีความหมายยิ่งใหญ่ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็เชื่ออีกว่าคุณได้ค้นพบอะไรบ้างอย่างที่ชัดเจนขึ้นต่อตัวเอง

“ความจริง” ย่อมควรเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าแค่ “ความเชื่อ” ดังนี้หากคุณอยากสัมผัสความจริง คุณต้องได้เริ่มลอง และเมื่อได้ลองจากความฝัน มันก็ง่ายที่จะหาเป้าหมายที่ใช่ต่อไป หากตรงนี้ยังไม่ใช่ เพราะอย่างน้อยก็ได้ลอง ได้เรียนรู้การตั้งเป้าหมาย การเดินเข้าหาเป้าหมายต่อไปก็คงง่ายขึ้น ฝากไว้ให้ลองดู อีกหนึ่งวิธีที่จะมีเป้าหมายใช้ชีวิต เพื่อการพัฒนาตนเองกันต่อ ๆ ไปครับ

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 23/07/2020

การพัฒนาตนเอง ลองเปลี่ยนฝันเป็นเป้าหมาย

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น