ภาระ – ภาร(ะ)กิจ

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » ภาระ – ภาร(ะ)กิจ |


ช่วงที่เขียนบทความนี้ผมกำลังศึกษาเรื่องหนึ่งค่อนข้างเข้มข้น นั่นคือ OKR’s ที่ย่อมาจาก Objective and Key Results ในความหมายคร่าว ๆ ของผมมันคือกรอบการทำงานที่มีเป้าหมาย วัดผลได้ตรงประเด็น.. สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็ตรงที่ “วัดผลได้ตรงประเด็น” ซึ่งเครื่องมือที่วัดผลได้ มีมากมาย และก็วัดตรงประเด็นเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นจะวัดทำไม? แต่คำว่าตรงประเด็นนี้ บางทีมันขึ้นอยู่กับว่า ตรงประเด็นใคร? และตรงประเด็นแล้วจริงหรือ ซึ่งถ้ามันไม่จริง มันก็ก้าวหน้า พัฒนาได้ยาก

อันที่จริงเครื่องมือหรือ framework นี้มีอะไรดี ๆ มากกว่าแค่ที่ผมเกริ่นไว้มาก ในแง่การบริหารองค์กร ไม่เช่นนั้นแล้ว องค์กรอย่าง Google และองค์กรอื่นระดับโลกอีกมาก คงไม่นำไปใช้ ในไทยเองก็เป็นที่นิยมแล้วพอสมควรโดยอย่างยิ่งองค์กรขนาดใหญ่ และทันสมัย อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่การมาเขียนถึง OKR’s ตรง ๆ ทว่า มีกูรูเรื่องนี้ท่านหนึ่ง ที่จะไม่ยกเครดิตให้ไม่ได้ นั่นคือท่าน อ.นพดล ท่านได้ทำ OKR’s ส่วนบุคคลของตัวเอง โดยเคยพูดและเขียนไว้ในหนังสือทำนองว่า ในเมื่อองค์กรยังใช้ได้ดี มันก็ต้องใช้พัฒนาตัวเราได้เช่นกัน ผมเห็นด้วยดังว่าทันทีและจึงเริ่มตั้ง OKR’s ของตัวเองดูบ้าง

ถ้าถามว่า “ทำไปทำไม?” ก็ตอบว่าเพราะอยากพัฒนาตัวเองและชีวิตให้ดีขึ้น อาจสงสัยต่อว่ามันทำให้ดีขึ้นได้จริงหรือ? ขอถามกลับแบบไม่ได้จะกวนว่า “แล้วคุณอยากดีขึ้นหรือเปล่า? ถ้าไม่ก็อย่าสนใจเลย” ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรตอบอนาคตได้จริงว่าผลจะเป็นอย่างไร จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง

ไม่ทดลอง คิดว่าเสียเวลา จึงเสียเวลาจริง ๆ

ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งเคยไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงเพราะใช้ความคิด หมายความว่า ผมแค่คิดเอาว่าไม่น่าเป็นไปได้ ผมก็จะจบมันตรงนั้นเลย โดยไม่เคยทดลอง เนื่องจากบอกตัวเองว่า คิดหลาย ๆ มุมแล้ว มันก็ยังไม่ใช่ จึงสรุปเอาว่ากลัวเสียเวลา ชีวิตผมจึงเสียเวลาไปมากมายจริง ๆ กับการแค่คิดเอาเองแบบนั้น

มันคงคล้ายกับการพยายามคิดเลขยาก ๆ ในหัว เพราะคิดว่าเสียเวลาจดลงกระดาษ แต่หากจดลงกระดาษไปเลย จะทำให้ง่ายกว่า ชัดเจนกว่า “พยายามคิดในหัว” ที่สำคัญแม้บางครั้งมันจะดูช้ากว่า แต่ผลลัพธ์มันถูกต้องกว่าแน่นอน ดังนั้น การลองทำ ย่อมได้รู้ผลจริงกว่าแค่คิด

อีกอย่างผมเขียนอะไรคล้ายนี้บ่อยคือต้องแยกให้ออกระหว่างความฝัน กับความเพ้อฝัน การคิดไปเองกับผลลัพธ์จากการลองจริง มันเทียบกันไม่ได้เลย ซึ่งหลายคนที่ไม่รู้เพราะไม่เคยทำ ไปจนถึงเรื่องที่ว่า “สอนเขาแต่ตัวเองไม่เคยทำ อย่าสอน” เหล่านี้คือที่มาว่า ผมทำไปทำไม…

เป้าหมายที่ชัดเจน?

เรื่อง OKR’s นี้หากผมเพียงแต่ศึกษา แล้วไม่มีประสบการณ์เลยก็คงถือว่ายากจะรู้จริง ที่นี้ผมเองก็ไม่ได้ทำงานและมีองค์กรเป็นรูปร่างพอจะนำเรื่องนี้ไปใช้ จึงเริ่มจากการทดลองใช้จริงกับตัวเองเอาก่อนในเบื้องต้น.. อย่างไร?

การนำ OKRs มาใช้กับบุคคลย่อมไม่เหมือนในองค์กรนัก เพราะปัจจัยต่างกันมากมาย แต่ก็ไม่เลวที่จะทดลอง ผมยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งง่าย ๆ ว่า ถ้าเป้าหมายของผม (Objective) คือ “เก่งขึ้น” คำว่าเก่งขึ้นเป็นนามธรรมมาก และเก่งในที่นี้ผมหมายถึงเก่งในหน้าที่การทำงานของผมกล่าวคือ เป็นวิทยากรที่เก่งขึ้น แล้วจะเก่งได้อย่างไร?

อาจมี ปัจจัยหลัก, ผลลัพธ์หลัก (Key Result) หลายอย่าง แต่ขอยกตัวอย่างสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ง่าย ๆ คือ “การอ่านหนังสือ” แน่นอนในที่นี้ผมเชื่อว่าหลายคนคงไม่นับรวมหนังสือการ์ตูน หรือแฟชั่น ควรเป็นหนังสือที่ให้ความรู้พอที่จะนำไปใช้ได้ ที่เมื่ออ่านมากขึ้นก็รู้มากขึ้น ย่อมมีส่วนช่วยให้เก่งขึ้น.. แต่จะว่าไปแค่นี้ก็ยังวัดผลไม่ได้อยู่ดี..

เพราะหากผมหลอกตัวเองง่าย ๆ เช่น ผมอ่านหนังสือ 10 หน้าก็บอกว่าทำแล้ว หรือ 100 หน้าภายใน 3 เดือน คิดเอาว่าเก่งขึ้นนิดหนึ่งแล้ว รู้มามากนิดหนึ่งแล้ว เช่นนี้ไร้ประโยชน์แน่นอน แต่จะตั้งเป้าว่า ปีละ 30 เล่ม เดือนละ 10 เล่มอะไรแนวนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดีถ้าทำได้หรือท้าทายตัวเอง แต่ส่วนใหญ่เวลาปฎิบัติจริงจะลำบาก เพราะผ่านไปครึ่งเดือนได้เล่มเดียว อาจท้อ เลิก เพราะไม่มีใครควบคุมเรา..

สร้างภาระให้ตัวเองทำไม?

จุดนี้อาจแตกต่างกับการตั้ง OKR’s จริง ๆ ไปสักหน่อย เพราะถ้าเป็นขององค์กร หลักการเขาให้ตั้งเป้าหมายที่ดูยากนิด ๆ (over) จึงท้าทาย แต่สำหรับเราเอง เราล้วนรู้ศักยภาพเราพอประมาณ ผมจึงตั้งเป้าพอที่จะท้าทาย แต่ได้คุณภาพว่า วันละอย่างน้อย 30 หน้า (นี่เป็น Key Result หนึ่ง)

หลายคนอาจบอกว่า ไม่ยากอะไรนี่แค่ 30 หน้า ถ้าเราคิดเร็ว ๆ อาจจะใช่ แต่คิดยาว ๆ ดูตรงคำว่า “ทุกวัน” มันจะยากตรงนี้ ท้าทายตรงนี้ เพราะเมื่อปฏิบัติจริง มีไหมที่หลุดในบางวัน ยอมรับว่ามี แต่ก็ชดเชยอีกวันไปเป็น 60 หน้าเลย (ตรงนี้เริ่มลำบากแล้ว) หลายครั้งอ่านเกิน 30 ไปบ้างผมก็ไม่เอาไปลบ วันใหม่ ก็เริ่มนับ 30 ใหม่ ถ้าสรุปการวัดผล เดือนละ 30 วันนั้น ผมก็อ่านได้ประมาณ 900-1000 หน้า เฉลี่ยเป็นเล่มตกเดือนละ 3-5 เล่ม ขึ้นอยู่กับหนังสืออีกทีด้วยว่าหน้าจะสั้น ยาว เล่มหนา บางอย่างไร ปีนี้ทำได้ดี ปีหน้าก็อาจจะตั้งเป็น 50-60 หน้าต่อวันต่อไป ณ จุดนี้ ผมทำไปได้ประมาณ 1 ไตรมาส อ่านไปได้ 10 เล่ม ถ้าย้อนเทียบกับที่ผ่านมา เรียกได้ว่า ปีละเล่ม 2 เล่มเองด้วยซ้ำ ถือว่าก้าวหน้าแบบ 10x ในเรื่องอ่านหนังสือเลยทีเดียว (หลังยุคอินเตอร์เน็ต ขยันอ่านแต่บทความบนเว็บไซต์)

คนที่เข้าใจอาจจะพบว่า นี่ก็เหมือนตั้ง KPI ให้ตัวเอง อันที่จริงก็อาจไม่ต่างกันมากนักในเบื้องต้น แต่มันจะต่างกันก็เพราะ O – Objective นี่เองรวมถึงการประยุกต์ใช้จริง ๆ ถ้าทำของตัวเอง ก็ไม่ต่างมาก แต่ถ้าเป็นองค์กร แตกต่างกันหลายอย่างพอสมควรเลย

..เรื่องพวกนี้ ในมุมหนึ่งเหมือนเป็นการสร้าง “ภาระ” ให้ตัวเองเปล่า ๆ ยิ่งคนรู้จัก KPI ที่หลายองค์กรใช้ผิด ๆ เห็นชื่อนี้ก็ขยาดแล้ว ถ้าเป็นของผม ก็คงเห็นเป็นภาระไม่ต่างกัน เช่น ทำงานกลับมาดึก แทนที่จะได้นอน ก็ต้องมาอ่านหนังสือก่อน 30 หน้า คนเหนื่อย ง่วงมา การต้องทนอ่านหนังสือนี่ทรมานแน่นอน หรืออย่างเรื่องอื่น ๆ เช่น ออกกำลัง 30 นาที ก็ต้องมาเหนื่อยต่อ เพื่ออะไร? สร้างภาระให้ตัวเองทำไม?

คล้ายที่บอกไปในตอนแรก เรื่องนี้หากมองว่าตัวเราก็เหมือนธุรกิจหนึ่ง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ควรจะลองคิดคือ เราไม่สามารถทำแต่สิ่งที่ตัวเองชอบแล้วจะดี จะพัฒนา หรือสำเร็จได้หรอก ลองสมมติว่า เป็นร้านเบเกอรี่ คุณชอบทำขนมมาก อยู่หน้าเตา อยู่ในครัว แต่งเค้กได้เป็นวัน ๆ แต่ไม่คิด ไม่ชอบทำการตลาด ไม่ใส่ใจการบริการ ถามว่าร้านจะสำเร็จไหม.. คงยากมาก

ภาระ – ภาร(ะ)กิจ

ผมว่านี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ทางสายกลางที่ทางพุทธว่าไว้ ก็คงเป็นอะไรที่คล้ายกัน ในความสุขสมบูรณ์นั้น ก็แล้วแต่เราจะมองว่าอะไรสำคัญ แต่เชื่อว่า เอาเพียงที่ตัวเองคิดว่าสำคัญ หรือแค่ชอบนั้น คงไม่กลาง ไม่พอดี เหมือนหลายคนวันนี้ใช้ชีวิตอยู่ ก็ไม่ได้ชอบงานที่ตัวเองทำ ไม่ได้ชอบคนรอบข้าง แต่ก็แบกไว้เป็นภาระอยู่ดี และเป็นภาระที่ไม่ส่งเสริมชีวิตด้วยซ้ำ นี่กระมังที่แยกคำว่า “ภาระ” และ “ภารกิจ” ออกจากกัน

การกำหนดบังคับให้ตัวเองทำอะไร อาจดูเป็นภาระ แต่สำหรับผมและอีกหลายคนน่าจะเป็น ภารกิจ เพื่อพิชิตบางอย่าง เพื่อนำไปสู่บางอย่าง และบางอย่างที่เป็น Objective หรือเป้าหมายของใครก็ต้องของมัน แล้วแต่ใครจะอยากไปอยู่จุดไหน ซึ่งล้วนก็รู้อยู่แก่ใจว่า แค่อยาก ไม่พอ ต้องลงมือทำให้เป็นรูปธรรม

ก็มัน..“ยาก” หลายคนคิด มันจึงเป็นภาระ ซึ่งส่วนใหญ่หากเหลียวมองเราก็ล้วนแบกภาระที่ยากลำบากกันอยู่แล้วในแบบที่เลือกไม่ได้ และไม่ได้เลือกด้วยซ้ำ หากเปลี่ยนภาระต่าง ๆ เป็นภาระ..กิจ ได้ มันคงดีกว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่สุดแล้ว ก็ต้องทบทวนกันดูเองในแนวทางชีวิตใคร ชีวิตมัน สำหรับผมแล้วการได้ตั้ง Objective หลายอย่าง มันเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าจะไปได้แค่ไหน แต่อย่างน้อยมันไม่เลือนลาง เพราะเราได้เห็นเส้นทางว่าเดินหน้าไปได้แค่ไหน แต่ละไตรมาส หรือแต่ละปี ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องทำแบบนี้ วิธีนี้ แค่ลองดูดี ๆ ณ วันนี้มีแต่ภาระ หรือภารกิจกันแน่ ซึ่งก็แล้วแต่คุณละว่า จะลงมือ “แค่เขียน แค่เรียนรู้ แค่ลอง.. ทำ” อะไรดู ให้ดีขึ้นหรือเปล่า เท่านั้นเอง..

ปล.อยากรู้จัก OKR’s จริงจังแนะนำหนังสือ Measure What Matters โดย John Doerr แปลไทยชื่อ ตั้งเป้าชัด วัดผลได้ด้วย OKRs หรือ ถ้าคล้ายบทความนี้เลยก็ พัฒนาองค์กรและชีวิต ด้วยแนวคิด OKR’s ของ ศ.ดร.นพดล ร่มโพธิ์

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 14/7/2019

ภาระ ภารกิจ พัฒนาตนเอง kpi okr's
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น