ประสาท – ประมาท(ไม่)

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » เปลี่ยนทัศนคติ » ประสาท – ประมาท(ไม่) |


ความ “ประมาท” คือการไม่ระวังตัว แต่หากระวังไปเสียหมดทุกเรื่อง อาจเรียกว่าเป็น “ประสาท” ได้ แล้วแค่ไหนควรพอดี? ทัศนคติต่อเรื่องนี้มีผลกับชีวิตเราพอสมควร คนที่ไม่ประมาท ชีวิตย่อมอยู่บนพื้นฐานความสุข แต่คนที่กำลังประสาท ก็ยากจะมีความสุข

คำว่า “ระวังตัว” กับ “ประมาท” สองคำนี้ตรงข้ามกัน แยกแยะได้ไม่ยาก แต่ความ “ไม่ประมาท” กับ “ระวังตัวมากเกินไป” (จนประสาท) นี่มันฝั่งเดียวกัน แต่มันไม่เท่ากัน เพราะอันหนึ่งดูจะเกินเลยพอดีไป และเป็นไปได้ที่หลายคนไม่รู้ตัว

ช่วงโควิดแรก ๆ ทุกคนกังวลสงสัยตัวเองมากจนเริ่มเหมือนเป็นประสาท (อันหมายถึงวิตกกังวลเกินเหตุ) จนมีคำพูดเล่น ๆ แต่คิดจริงจังกันว่า “นี่ฉันติดหรือยัง?” ก้องอยู่ในหัวหลายคนไปพักหนึ่ง ซึ่งบางทีก็มองได้เช่นกันว่า นี่แหละไม่ประมาท เพราะเราพยายามระวังตัวไง…

โควิดอาจเป็นกรณีพิเศษจากสิ่งแวดล้อมสังคมโลกที่รุนแรง (ใคร ๆ ก็กดดัน) แต่ในชีวิตประจำวัน การดำเนินชีวิตที่ควร “ไม่ประมาท” นี้ อาจมีหลายเรื่องที่เราคิดมากเกินไปอยู่ก็ได้ เช่น กินอาหารจากไมโครเวฟจะเป็นมะเร็งไหม? คลื่นโทรศัพท์มือถือจะทำลายระบบสมองไหม? หรือเรื่องของบางคนอย่าง “เขาจะแอบนอกใจไหม?” ก็ได้…

คิด, ไม่คิด, คิดมาก

สิ่งแรกที่แยกความประมาท กับไม่ประมาทออกจากกันได้ง่ายคือ การ “คิด กับ ไม่คิด” ในเรื่องหนึ่ง เช่น หากระหว่างการเดินทาง ถึงเวลาหิวขึ้นมา แถวนั้นมีร้านอาหารให้เลือกไม่มากนัก แต่ก็ “คิด” ว่าร้านนี้สะอาดไหม ถ้า “ไม่คิด” เลย เราก็อาจท้องเสีย เช่นนี้เรียกประมาท แต่ถ้ามองแล้ว “คิด” ว่า เขาใช้อะไรปรุงบ้าง? ความร้อนองศาถึงไหม? ครัวมาตรฐานเป็นอย่างไร? วัตถุดิบจากที่ไหน? เก็บไว้กี่วัน? เก็บแยกหรือเก็บรวม? แบบนี้เข้าข่าย “คิดมาก”

ซึ่งคิดมากแบบนี้ก็ไม่ใช่ “คิดผิด” เพราะหลายเรื่องมีสิทธิ์จะคิด และมีความเป็นไปได้ โดยอย่างยิ่งการคิดในเชิง ตั้งคำถาม ที่เราอาจมีความแคลงใจ เพียงแต่เส้นแบ่งอยู่ที่ “ต้องไม่คิดแต่หาคำถามโดยไม่หาคำตอบ”

ดังเช่นกรณีเดิม ร้านอาหารที่แวะดูจากภายนอกแล้วอาจยังทำให้ “คิดมาก” อยู่ในเรื่องความสะอาด เช่นนี้ ก็เลือกอาหารที่ปรุงใหม่ เช่น ก๋วยเตี๋ยว เพราะทุกองค์ประกอบส่วนใหญ่ ผ่านการลวก ต้ม ผ่านความร้อน เช่นนี้คงพอเป็นคำตอบดีที่สุดให้ได้..

แต่ก็มีไม่น้อยที่แม้จะตอบไปคำถามหนึ่ง แต่อีกคำถามหนึ่งยังตามมา เช่น แม้ก๋วยเตี๋ยวจะปรุงสุก แต่ลูกชิ้นใส่สารไหม ผักล้างมาอย่างไร ตะเกียบ ช้อน สะอาดไหม อะไรเช่นนี้ การมีคำถามต่อ ๆ มา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราตั้งคำถามผิด หรือตั้งคำถามไม่ดีพอแต่แรก แต่หากตอบคำถามเหล่านั้นได้ก็ควรจะจบไป ทว่าหากคำถามไม่มีคำตอบและยังมีคำถามเพิ่มมากมายจนกลายเป็นเริ่มไม่มีความสุข หรือทำคนรอบข้างอึดอัดนั่นอาจเพราะเรากำลัง…

คิดมากแบบที่พยายามให้มันต้องเป็นไปตามที่ตัวเองคิด

ต้องเป็นไปตามที่ตัวเองคิด

สิ่งนี้คือการคิดมากโดยชัดเจน เพราะไม่มีคำตอบใดจะทำให้หายแคลงใจหรือหยุดคิดมากได้จนกว่า มันจะเป็นตามที่ตัวเองคิดในที่สุด ซึ่งหลายคนอาจจะแย้งว่า ก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่ที่คิดเพราะมันยังไม่สบายใจจริง ๆ เช่นนี้ก็ต้องชั่งใจกันดูว่า เหตุใดเราจึงไม่ยอมรับและผ่านเรื่องนี้ไปเสียที?

หลายครั้งเราอ้างว่าคิดมาก เพราะมันยังไม่ชัดเจน หรือแค่อยากรู้ความจริง ที่จริงหลายเรื่องมันก็มีเพียงผลลัพธ์ 2 ทาง เช่น ซ้ายหรือขวา หัวหรือก้อย ถ้าเราคิดมากแต่คิดจบ เราก็จะรู้ว่าถ้าซ้ายเราจะทำอย่างไร ถ้าขวาเราจะทำอย่างไร เท่านี้เราก็จบปัญหา (ไม่ประมาท) หรือที่ไม่จบเพราะเราอยากจะให้มันออกซ้ายเท่านั้น ขวาเท่านั้นหรือเปล่า? เราจึงไม่หยุดคิด และปัญหาไม่ใช่ว่ามันจะออกทางใด แต่จะทำอย่างไรให้มันออกตามที่ใจต้องการ แม้มันเป็นไปไม่ได้ก็ตาม… อะไรเช่นนี้ สุดท้ายเราอาจรู้สึกประสาทไปเอง หรือไม่คนอื่นก็มองว่าเรา ประสาท…

คิดก่อนไม่ประมาท คิดที่หลังคงประสาท

นอกจากที่เขียนไว้ตอนต้นว่า การคิด กับไม่คิดเลยในเรื่องหนึ่งแยกแยะได้ว่าประมาทหรือไม่ แต่การคิดก่อน และคิดหลังก็มีผลได้เช่นกัน เช่นตัวอย่างเรื่องเดิม หากเลือกไปทานอาหารร้านหนึ่งโดยยังไม่ได้คิด พอเดินออกจากร้านมาเพิ่งมาคิดหรือรู้สึกได้ว่า อาหารจะสะอาดไหม? หรือไม่สะอาดเลย แต่กินเข้าไปแล้ว ทีนี้ก็นั่งคิด(ประสาท) ไปตลอดทาง ระแวงไปว่าจะท้องเสียไหม เช่นนี้ คงทุกข์ใจ ไม่มีประโยชน์อะไร นี่คือผลของการมาคิดเอาภายหลัง

เรื่องดี ๆ เราคิดมากไม่ได้หรอก

ไม่มีเรื่องอื่นให้คิด

อีกรูปแบบ บางคนเหมือนชีวิตมีอยู่เรื่องเดียว เช่น คิดถึงแต่เรื่องภรรยา, สามี หรือ ความรัก การคิดเรื่องเดียว วน ๆ เวียน ๆ มันก็มักจะเป็นในรูปแบบที่เราจะคิดจากเรื่องใหญ่ ๆ พอคิดไปหมดแล้ว ก็คิดเรื่องเล็กเรื่องน้อยไปเรื่อย ดังที่เขาว่า คิดเล็กคิดน้อย และ พอคิดเรื่องดี ๆ ไปหมดแล้วก็คิดเรื่องร้าย ๆ บ้าง ทีนี้ เรื่องดี ๆ คิดมาก มันคิดได้ไม่ไปไหนหรอก แม้แต่เรื่องการงานก็ตาม…

แต่เมื่อคิดลบ คิดแง่ร้ายขึ้นมาเมื่อใด มันมีจินตนาการเป็นไปได้หลากหลาย ปัจจัยใหม่ ๆ มีมาได้ทุกวัน แบบนี้ความสุขก็ยากจะมี ความดีก็จะเริ่มมองไม่เห็น (ก็เรื่องแง่ร้ายมันคิดได้เยอะกว่า) ผลลัพธ์มันก็มีแนวโน้มเป็นไปในทางลบสูงกว่า มันจะดีได้อย่างไร เพราะเรื่องดี ๆ เราจะไม่เห็นมันมากขึ้นทุกวัน สุดท้ายก็ทึกทักว่า ” เห็นไหม มันร้ายจริง ๆ”

หากเรามองเรื่องอื่นบ้าง ไม่มองแต่เรื่องเดียว เราก็จะมองบางเรื่องแต่พอดี คิดแต่พอดีได้ไม่ยาก..

ส่งท้ายกับปัจจุบันนี้ ความไม่ประมาท ชีวิตจะมีสุขกว่าคิดมาก (ประสาท) หากเรื่องใด คิดแล้วดีต่อชีวิต เป็นไปในทางที่ชีวิตมีความสุขมันไม่เกี่ยวว่าเราคิดมาก คิดน้อย กับเรื่องนั้นแค่ไหน เราอาจต้องมีเครียด มีทุกข์ใจในความคิดบ้าง เช่น โควิดระบาดรอบสองมาทำอย่างไร แต่ที่สุด คิดให้หาทางออก คิดให้ใจเป็นสุข หรือคิดไว้ล่วงหน้า ที่ไม่ได้บอกว่าจะรับมือได้ แต่เข้าใจมันให้ได้และปรับตัวหาหนทางที่ดีที่สุดต่อไป อย่าปล่อยให้ใจหมองเศร้า และเราเป็นประสาท นั่นจะยิ่งทำให้เราไม่มีใจคิดถึงวันพรุ่งนี้ ที่พอไม่คิดไปข้างหน้าเมื่อใด เราก็ประมาทต่อไปอยู่ดี…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 11/1/2021

บทความ ประสาท ประมาท

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น