Know How ไม่เท่า Khow Who นะ You จ๋า

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » เปลี่ยนทัศนคติ » Know How ไม่เท่า Khow Who นะ You จ๋า |


“นี่เธอ น้อง ช. นางได้สามีฐานะดี ดูสบายไปเลยเนอะ” หญิงคนหนึ่งกล่าวขึ้น
“เอ… นางก็เก่งนะ เห็นเปิดร้าน มีทำมีขายอะไรตั้งหลายอย่าง” เพื่อนอีกคนพูดขึ้นมา
“แหม โนว์ ฮาว ไม่เท่า โนว์ ฮู นะ ยู จ๋า..” หญิงคนเดิมตอบกลับ..

ผมได้ยินบทสนทนาระหว่างรอพี่สาวเข้าพบหมอที่โรงพยาบาล อย่างมิได้ตั้งใจสาระแน (จริง ๆ นะ 😛) แต่ก็ทำให้นึกถึงประโยคนี้จริงจังขึ้นมาและเป็นเรื่องราวเล่าสู่ ประสาความคิดเห็นอีกหนึ่งตอน

Know How ไม่เท่า Know Who

คำนี้ทั่วไปจะหมายถึง “รู้อะไร ไม่สู้ รู้จักใคร” ส่วนหนึ่งเป็นคำกล่าวเชิงสะท้อนสังคมไทยคล้ายกับว่า แม้จะเก่ง จะมีความรู้มาก แต่ไม่มีพรรคพวก ไม่มีเส้นสาย ไม่รู้จักใคร ก็ทำอะไรได้ลำบาก

หรือจะเป็นในมุมที่ว่า การได้คบหา หรือได้อยู่กับคนที่มีอำนาจ ร่ำรวย ก็อาจได้ผลประโยชน์จากคนเหล่านั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อมเหมือน น้อง ช. ในบทสนทนา แม้มองได้ว่าไม่ได้พึ่งพาแค่เงินสามี พยายามทำมาหากิน แต่วงสังคม หรือคอนเนคชั่น (Connection) จากสามี ก็มีผลให้ทำอะไรได้สะดวกกว่าคนอื่น ซึ่งเรื่องน้อง ช. จะจริงหรือไม่อันนี้ผมไม่ทราบนะครับ 😅

จะว่าไปก็คล้ายเป็นเรื่องเก่า เพราะคำว่า เด็กเส้น, เด็กฝาก, คนของนาย เราได้ยินกันมานาน จนกลายเป็นธรรมดาและยอมรับกันในหลายส่วนของสังคม..

ยุติธรรมไหม? ข้อดีที่มีอยู่?

การมีความรู้ Know How คงไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะมันก็ต้องเริ่มจากการพยายามศึกษาหาความรู้ แต่ Know Who จะไปรู้จักใคร หลายคนมองว่ามันคือความได้เปรียบ เช่น เกิดมานามสกุลอะไร อยู่ในสังคมไหนที่บางทีมันเลือกไม่ได้ มันจึงไม่เท่าเทียม กระทั่งทัศนคติที่ว่าไม่มีเงินเขาไม่คบ ก็ว่ากันไปตามแต่ละบริบท เพราะคงทั้งจริงและไม่จริง

มันคงไม่ยุติธรรมหากมองเชิงแข่งขัน หรือเปรียบเทียบในครั้งคราวเดียว เช่นว่า การสอบเข้าบางแห่ง มุมผู้ผิดหวังคงต้องรู้สึกไม่ดีต่อเรื่องนี้ แต่หากพิจารณาดี ๆ ถ้าเป็นสถานศึกษา ก็มีเป็นส่วนน้อยที่ได้เข้าไปด้วยเส้นสายไม่งั้นคงไร้คุณภาพ หากเป็นเรื่องการงาน องค์กรนี้ก็อาจไม่ใช่ที่ที่น่าอยู่ น่าเสียดายแต่อย่างไร ถ้าที่ไหนมีแต่คนที่ Know Who แค่รู้จัก ที่นั่นคงยากจะเติบโต ก้าวหน้า ยังไงก็ต้องมีคนเก่ง คนมีความรู้อยู่ด้วย (บางคนบอกว่า ใช่! หน่วยงานราชการจึงไม่ค่อยก้าวหน้าไงล่ะ อันนี้แล้วแต่พิจารณา แค่อย่าเพิ่งเหมารวมแล้วกัน)

ประเด็นที่จะกล่าวถึงคือแง่การแข่งขันเข้าที่ใดที่เขามีระบบ “รู้จัก” ถ้าเราไม่ชอบมันก็ไม่เหมาะกับเรา แต่บางทีปัญหาแรกมันอาจไม่ใช่เราไม่ Know Who แต่ความรู้ Know How เรามีไม่พอต่างหาก…

Know How กับ Know Who มันอาจจะคู่กัน..

โดยรวมแล้วผลประโยชน์ในหลายด้านเราอาจกล่าวได้ว่ามันคือ “สิทธิ์” หนึ่งที่พึงได้มาของแต่ละคน เหมือนที่กล่าวไปว่าการประเมินสอบแข่งขันไม่มีวันที่คนที่สอบได้คะแนนที่ 1 หรืออันดับต้น ๆ จะถูกคัดออกเป็นแน่ ก็ถ้าไม่เอาที่ 1 หรืออันดับดี ๆ เข้าไป ก็แสดงว่า สิทธิ์ อันนั้นไม่ได้สำคัญอันใดเลย (ไม่น่าเสียดาย) หลายคนอ่านแล้วอาจยังสงสัย สรุปอีกทีก็คือ ถ้าสอบแล้วไม่เอาคะแนน ก็แสดงว่าสอบไปงั้น ๆ ที่จริงเอาใครไปก็ได้ เลยเลือกเอาคนรู้จักไปแทน และมันสะท้อนว่าตำแหน่ง หรือสิทธิ์ตรงนั้นคงไม่สำคัญอะไร ถ้าสำคัญก็คงอยากได้คนดี ๆ คนเก่ง ๆ ไปอยู่ตรงนั้น

แต่ปัญหาอีกแบบของการ “ได้สิทธิ์” ก็เช่น มีโค้วต้า 10 คน แต่กลายเป็นว่าได้เพราะสอบ 7 และอีก 3 มาจาก “คนอื่น” แบบนี้คนที่ 8-9-10 ตัวจริงย่อมรู้สึกไม่ยุติธรรม

แต่เชื่อไหมว่า 3 คนนั้นมีแนวโน้มจะอยู่ไม่นาน เพราะไม่ถนัด, ไม่ได้ต้องการจริง, บ้างก็ไม่ได้เห็นคุณค่าตรงนั้น หรือ อยู่ไม่มีความสุข ไม่ใช่เพราะคนรังเกียจแต่ไม่เก่งย่อมไม่ก้าวหน้า และก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไร นอกจาก.. เขาจะมี Know How ที่ดีขึ้นมา ณ ตรงนั้น

จะ Know How หรือ Know Who ดูเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

ในขณะที่คนเก่งแบบอันดับ 1-2 หากไปอยู่ ณ จุดใด แต่ถ้าไม่เอาใครเลย ไม่รู้จักใครเขาเลยแบบนี้ก็ลำบาก เพราะส่วนใหญ่การร่วมงานมันก็สำคัญ เข้ามาเป็นที่หนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่หนึ่งเดียว มันต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น ส่วนอื่นอยู่ดี ทั้งสองมุมที่กล่าวมานี้บางที จะ Know How หรือ Know Who ดูเป็นเพียงจุดเริ่มต้น จะอยู่ดี อยู่ได้ ก้าวหน้าหรือไม่มันก็ต้องไปได้ดีด้วยกันทั้งคู่ ทั้งรู้คนและรู้ความ (ความรู้)

มองลึกไปอีก Know How อาจสำคัญกว่า เพราะเส้นสายก็ใช้ได้แค่ระดับหนึ่งถ้าไม่มีความสามารถเลยมันไปไม่ได้ ลองคิดดูว่า เจ้าของบริษัทใหญ่หลายแห่งที่มีอำนาจเต็มจะเอาใครมาทำงานก็ได้ ทำไมไม่เลือกแค่ทายาท ลูกหลานมาบริหาร จ้างคนอื่นมาทำไม? เพราะแค่สายสัมพันธ์มันไม่พอไงล่ะ
(แต่ก็มีนะที่พยายามเอาลูกหลานเข้ามา “ลอง” จนมากไป ดูแล้วอาจกลายเป็นพังคามือ ถ้าเราอยู่ร่วมตรงนี้ดูแลแค่ตัวเองแล้วกัน อย่าลืมว่านี่มันไม่ใช่กิจการคุณ…)

อีกด้านของการรู้จัก (Khow Who)

ผมไม่ได้กำลังเขียนให้ยอมรับระบบอะไร แต่ให้ทำความเข้าใจในบางมุม การได้ประโยชน์จากการรู้จัก (Khow Who) ก็ไม่ง่าย เพราะเขาที่เรารู้จักนั้น ย่อมต้องรู้จักคนอื่นอีกหลายคน เช่น การจะเป็นเด็กฝาก ก็ใช่ว่าจะไม่มีการแข่งขัน เด็กฝากย่อมมีมากกว่า 1 คน ทีนี้ก็ขึ้นกับว่าฝากใครอีก ฝากหัวหน้ามา 5 คน ฝากรองมา 8 คน ฝากเลขามา 10 คน แล้วสุดท้ายฝากได้คนเดียว (เอาคนเดียว) มันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน…

อีกด้านหนึ่งถ้าเราไม่มองคำว่า “รู้จักใคร” แค่ในแง่แค่คนมีเงิน มีอำนาจ จะเห็นว่าที่จริงมันสำคัญ เพราะมันคือการสร้างสิ่งแวดล้อม คล้ายประโยคที่ว่า “เราจะเป็นคนเหมือนคนที่เราสนิทสนมด้วย 5 คนรวมกัน”* ลองคิดตามดูก็คงจริงไม่น้อย ถ้าเราสนิทกับนักแข่งรถตั้ง 5 คน เราก็คงพอมีความรู้พอเป็นนักแข่งได้บ้างแหละ…
(*“You’re The Average Of The Five People You Spend The Most Time With” : Jim Rohn แปลตรงตัวกว่าก็คือ เราจะเป็นค่าเฉลี่ยของคน 5 คนที่เราใช้เวลาด้วยมากที่สุด)

แต่ก็ใช่แง่ว่าเราต้องเป็นแบบเขาเท่านั้นนะ เช่น ถ้าคุณเป็นนักวาดภาพ ที่สนิทกับนักขาย 5 คน ย่อมมีใครสักคนเอาภาพคุณไปขายให้ได้ราคาแน่นอน ในอีกด้าน คุณเป็นนักวาดภาพไส้แห้ง(ขายไม่ออก) ที่สนิทกับนักวาดภาพไส้แห้งเช่นกันอีก 5 คน คุณอาจพูดคุยกันถูกคอเรื่องรสนิยม วิจารณ์งานศิลป์ แต่มันจะยากที่ใครสักคนจะแนะนำใครให้รุ่งเรืองได้ด้วยการวาดภาพ เพราะไม่เช่นนั้นคนนั้นคงไม่ไส้แห้งเหมือนกันกับเรา..

อีกด้านหนึ่ง ถ้าเราใช้เวลาไปกับคนที่ชอบทำเรื่องใดในทางที่ไม่ค่อยดี มันก็เป็นไปได้ 2 ทางคือ เราเลิกสนิทห่างจากคนนั้น กับลองตามเขาไป เช่น คลุกคลีกับคนเล่นพนันออนไลน์ เราอาจเล่นด้วย หรือไม่ก็รู้สึกว่าห่างเขาไปดีกว่าสุดท้ายก็ไม่นับว่า “เราสนิทด้วยแล้ว” เขาก็ไม่กลายเป็น 1 ใน 5

นี่คืออีกด้านของ Know Who การรู้จักใครมันก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน ใช่เพียงแง่ความเหลื่อมล้ำ หากไม่มองแค่แง่ อคติ ความไม่ยุติธรรม มันก็ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดทุกอย่าง เพราะที่สุดแล้ว “เราเลือกได้” ว่าจะเรียนรู้ หรืออยู่อย่างไร…

เพราะส่วนตัวแล้วนิสัยผมก็สอนใจแต่ความรู้ (Know How) ไม่ค่อยชอบไปรู้จักใครเขา (Know Who) เลยอยู่แบบคนธรรมด๊า ธรรมดาเช่นนี้เรื่อยมาเหมือนกัน 😛

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 23/02/2021

บทความ Know How ไม่เท่า Khow Who นะ You จ๋า

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น