เมื่อผมเปลี่ยนจากเจ้านายที่ชื่อ “เหตุผล”

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » เมื่อผมเปลี่ยนจากเจ้านายที่ชื่อ “เหตุผล” |


ช่วงชีวิตของการทำงานประจำ ผมเปลี่ยนงานบ่อยพอสมควร ปัญหาหลักที่เจอไม่ได้อยู่ที่งาน หรือผู้ร่วมงาน แต่มักเป็นหัวหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่หัวหน้าโดยตรง แต่เป็นผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการเลยก็มี (ในบริษัทเล็ก ๆ)

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

ฟังบน Youtube

ในช่วงหลัง ผมจึง “เลือกงาน” โดยดูที่บุคลิก วิสัยทัศน์ นิสัยการทำงาน ผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการด้วยเป็นสำคัญ (วิธีการถ้าได้คุยเองก็แอบสัมภาษณ์เขา ไม่งั้นก็ถามคนที่อยู่มาก่อนเอา)

มีครั้งหนึ่งเจ้าของกิจการเป็นผู้สัมภาษณ์งานผมโดยตรง เขาถามผมถึงสิ่งที่ไม่ชอบ หรือมองว่าเป็นปัญหาในการทำงาน จึงตอบจากประสบการณ์ (ในตอนนั้น) ไปทำนองว่า ผมไม่ชอบ ที่ที่มีหลายเจ้านาย ไม่มีระบบหรือสายการทำงานชัดเจน เพราะต่อให้ผมทำงานดีแค่ไหน ก็อาจจะซวยได้ ด้วยเพราะการที่ผมทำงานดีให้กับ “หัวหน้าคนหนึ่ง” แต่อาจไปขัดขากับหัวหน้า “อีกคนหนึ่ง” ได้ โดยเฉพาะถ้าเขาไม่ถูกกัน หรือ ผู้บริหารคนนี้อยากได้แบบนี้ แต่อีกคนอยากได้อีกแบบ คงนึกออกว่าคนทำงานจะเป็นอย่างไร

เจ้าของกิจการตอบกลับผมว่า ที่นี่มีเจ้านายคนเดียวชื่อว่า “เหตุผล” ผมประทับใจในคำตอบนั้น เป็นอันว่าเราจึงร่วมงานกัน…

นั่นคือที่มาที่ทำให้ผมชอบเจ้านายที่ชื่อว่าเหตุผล ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว “เหตุผล” อาจใช้ได้ในสภาวะที่มีแนวทางชัดเจน มีธรรมนูญ หรือกฎเกณฑ์ที่แน่ชัด จึงยกมาเป็น “เหตุผลร่วมกัน” ได้ แต่มันยากที่จะกำหนดแนวทางไว้ได้ทุกเรื่อง

หลายครั้ง “เหตุผล” มาจากเพียงความคิด แรงจูงใจ หรือปัจจัยของแต่ละฝ่ายได้ ซึ่งบางทีคนเราก็ “สร้างเหตุผล” หลอกตัวเองจนกลายเป็น “ความเชื่อ” แล้วความเชื่อบางอย่างก็สามารถทำร้ายคนอื่นได้ เพราะคิดว่ามันคือ “เหตุผล” ที่ถูกต้อง

ยกตัวอย่างแบบสุดโต่งก็ เช่น เชื่อว่าตำแหน่งนี้ผู้ชายทำงานดีกว่าผู้หญิง เพราะที่ผ่านมาเห็นแบบนั้นมาตลอด ถ้าวิเคราะห์จริง ๆ ก็เพราะเชื่อเช่นนี้ จะมีโอกาสเห็นผู้หญิงทำงานดีกว่าได้อย่างไร ย่อมมีอคติจับผิดการทำงานของผู้หญิงเป็นทุน แถมยากที่จะรับมาเข้าทำงาน หรือให้โอกาสแบบเท่าเทียมกัน…

วันหนึ่งผมก็ได้เห็นว่า สุดท้าย “ผลลัพธ์” คือสิ่งที่มาเป็นเจ้านายผมแทนที่ “เจ้านายที่ชื่อว่าเหตุผล”

ผลลัพธ์ ออกมาดี ผมก็ทำต่อไป
ผลลัพธ์ ออกมาไม่ดี ผมก็เปลี่ยนแปลง

อาจเปลี่ยนตัวเองก่อน ไม่ดีขึ้นก็เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพราะเราปฏิเสธผลลัพธ์ไปไม่ได้

ดังนั้น “ผลลัพธ์” คือสิ่งที่สั่งให้ผมทำอะไรในวันนี้ เสมือนเป็นเจ้านายคนเดียว เพราะถ้าผมยังมีเจ้านายคนเดิมชื่อว่าเหตุผลอยู่ บางทีผมก็ไม่รู้ว่าเหตุผลนั้นเป็นเจ้านายผม หรือผมเอา “เหตุผล” คนอื่น (เจ้านายคนอื่น) มาสั่งให้ทำอะไร ๆ ที่ไม่เคยได้ “ผลลัพธ์” ที่ดีให้ตัวเองเลย…

และ แม้แต่ “เหตุผล” แท้ๆ ของตัวเราเอง สั่งให้ทำอะไรแล้วคิดว่าดี ทั้งที่ “ผลลัพธ์” มันไม่ใช่ นี่ก็ทำให้ต้องทบทวนว่าเรามีเจ้านายที่ดีอยู่หรือเปล่า..

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์นี้และ Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 23/05/2016

บทความดีๆ เรื่องเมื่อผมเปลี่ยนเจ้านาย

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น