ความภาคภูมิใจ หรือ หลอกตัวเองไปวันๆ

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » ความภาคภูมิใจ หรือ หลอกตัวเองไปวันๆ |


บทความดี ๆ วันนี้เกี่ยวกับประโยคที่ว่า “ทำดีไม่ได้ดี” เป็นประโยคที่เราคงเคยได้ยิน และส่วนใหญ่จะเป็นในเชิงคำถามว่า “ทำไม ทำดีแล้วไม่ได้ดี?” ซึ่งมักเกิดในภาวะ ท้อใจ เจออุปสรรค ผิดหวังบางอย่าง และเป็นคำถามที่ผู้ถามอาจไม่เคยหาคำตอบ..

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

ฟังบน Youtube

ถ้าจะลองหาคำตอบว่า ทำไมทำดีไม่ได้ดี ในเบื้องต้นก็ควรตอบให้ได้ก่อนว่าแล้วอะไรคือ “ได้ดี” หรือแบบไหนที่เรียกว่า “ได้ดี” หลังจากที่คิดว่าทำดีไปแล้วควรได้อะไร?

ได้ดีต้องได้คำชมเชย ยกย่อง?
ได้ดีต้องได้การสนับสนุน?
ได้ดีชีวิตตัวเองต้องดีขึ้น?
ได้ดีต้องได้เงิน?
ได้ดีที่.. เปล่า..ไม่ต้องการอะไร?

จากตัวอย่างคำถามด้านบน ถ้ามีคำตอบในส่วนนี้แบบซื่อสัตย์กับตัวเองว่า “ได้ดี” ของเรามันคืออะไร มันก็พอที่จะให้คำตอบขอคำถามได้ว่าทำไมจึงไม่ได้ดี… เช่น

  • ที่ไม่ได้การชมเชย ยกย่องเพราะทำ ดีที่ว่านั้นอาจไม่เกิดประโยชน์จริงต่อสิ่งนั้น คนนั้น เราคิดเอาว่ามันจะมีประโยชน์มากมายไปคนเดียว…
  • ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนนั้น เพราะว่าทำดีที่ว่านั้นคุณอาจคิดว่าดีอยู่คนเดียว คนอื่นไม่เห็นดีด้วย บางทีคุณแค่ดันทุรัง..
  • เพราะเราลืมไปว่า ชีวิตเราจะดีขึ้นย่อมเกิดจากการทำดีเพื่อตัวเอง มิใช่การทำดีเพื่อคนอื่นแล้วไปคาดหวังเอาจากเขา เช่นนั้นไปขอสิ่งที่ต้องการจากเขา หรือแลกเปลี่ยนกับเขาตรง ๆ ง่ายกว่า
  • ที่ไม่ได้เงินนั้น เพราะมันคือการรับจ้าง มันคือต่างตอบแทน มิใช่การให้ แม้มันจะคือการทำงานให้ดี ทำผลงานดี มันก็เป็นเรื่องที่ดี โดยอ้อม เราอาจได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าแก่นของการกระทำนั้นคือการรับจ้าง มิใช่การทำดี

ขยายความด้วยว่า มีหรือ ที่คนเราจะคิดว่าทำดีต้องได้ดีคือได้เงิน? คำตอบคือ “มี” และบ่อยครั้งด้วยบนความคาดหวังที่ไม่ถูกต้อง เช่น ตอนจ้างงานกันแบบไม่เป็นทางการ (คนกันเอง) ถามว่าคิดค่าแรง/ค่าจ้าง เท่าใด แล้วตอบว่า “ไม่เป็นไร” แล้วแต่จะให้ (เหมือนไม่คิดมาก) ท่าทีที่เหมือนช่วยเหลือ เหมือนเป็นคนดีเช่นนี้ เมื่อจบงานกลับแอบคิด แอบรู้สึกแย่ เมื่อไม่ได้เงินแต่ได้เป็นอย่างอื่น หรือได้เงินน้อย มีต่อว่าลับหลังอีกด้วย เช่นนี้ มีมาก หากไม่ยอมรับความเป็นจริง

ฉะนั้นมันจึงอาจเป็นคำถามที่สะท้อนให้ยอมรับตัวเอง ว่าถ้าต้องการเงินก็คือต้องการเงิน อย่าหลอกตัวเองว่าอยากได้ดี

ในหลายเรื่องก็คล้ายกับการทำงานผิดวัตถุประสงค์ เช่น เราจ้างคนมาทาสี “กำแพง” แต่เขาทาสี “หลังคา” เราจะอยากจ่ายเงิน จ่ายค่าจ้างไหม? โดยเขาก็อ้างแค่ว่า “ทาสี” แล้ว หรือทำดีแล้ว

ที่ ทำดี ไม่ได้ดี
เพราะสร้างความภาคภูมิใจ
ที่หลอกตัวเองไปวันๆ

ในส่วนคำถามท้ายที่คนดี หลายคนชอบพูดว่าไม่ต้องการอะไร.. ย่อมมีคำถามย้อนว่า ถ้าไม่ต้องการจะรู้สึกอะไรไปทำไม แม้แต่คำว่า “ดี” ก็ต้องไม่อยากได้ หรืออยากได้? แล้วอยากได้ดีข้อไหน? ตรงนี้วนไปเวียนมา ก็คือว่าหลอกตัวเองหนึ่งประการ..

และที่สำคัญไม่ว่าคำตอบด้านบนจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าการทำดีไม่ได้ดีนี้ มันค้างคาใจ เพราะไม่ยอมรับผลลัพธ์เองหรือไม่? ก็ในเมื่อสิ่งที่ทำมัน “ไม่ได้ดีจริง” อย่างที่เราคิดไปเอง? คนดีจริง ต้องควรมีความพยายามทำดีใหม่ ให้ดีกว่าเดิม ไม่ใช่ทำลาย หรือเอามาเป็นข้ออ้างเลิกทำดีอย่างที่ว่า จริงไหม?

หรือ ถ้ามีคำตอบว่าดีที่อยากได้คืออะไร ลองเปลี่ยนคนทำด้วยดู คือทำดีกับคนอื่นอย่าไปทำกับคนเดิมที่ไม่ได้ดี ก็อาจจะได้ดีเช่นว่านั้นทันที.. เช่น อยากได้คำชม ก็ไปทำดีกับอีกคนแทน ก็อาจได้คำชมกลับมาสมใจ

แต่ถ้า ไม่ได้หรอก! ต้องอยากได้ดีจากคนนี้ สิ่งนี้เท่านั้น! มันยังเรียกว่าทำดีอยู่ไหม? ดูจะเป็นบังคับ เอาแต่ใจ ยัดเยียดไปทุกที..

ยังมีส่วนหนึ่งที่คนดี (ดีจริงๆ ไม่ได้ประชด เพราะจิตใจดี) อาจมีคำตอบว่า อยากได้ความภาคภูมิใจ ลึก ๆ ในใจมันบอกเช่นนั้น ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ อยู่นั้น มันคือ ความภูมิใจที่ได้ทำดี.. หากเป็นความภาคภูมิใจที่ไม่ต้องมีใครให้ ก็คงจะเป็นมุมที่ไม่เสียหาย

การทำดีในรูปแบบการ “ให้” ไม่ว่าจะทำให้หรือมอบให้ เป็นเพียงแค่องค์ประกอบเดียวของความดี เพราะหากดูในทางธรรมะ เหตุใดพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ในชาติพระเวสสันดร? ทั้งที่เป็นผู้มีแต่ให้? แถมมิเคยหวังสิ่งใดตอบแทน หรือเพราะ ให้ผิด? ให้แล้วเดือดร้อน ให้แล้วสูญเสีย?

ทางโลก หากเป็นความภาคภูมิใจก็ต้องระวังความเดือดร้อนที่อยู่ภายใต้ความภูมิใจตรงนั้น เราคงเคยเห็นคล้ายกันว่า เหล่าคนชอบเป็นที่ปรึกษา มักจะมีปัญหาส่วนลึกแก้ไม่ตก ในทางคล้ายกันก็คือ ผู้ที่อยากให้(อยากเป็นคนดี) แต่ที่จริงตัวเองยังนำพาตัวเองให้ดีไม่ได้มากพอ ก็แค่เพียงคนที่หาความภาคภูมิใจ เยียวยาใต้จิตสำนึก ว่าที่แท้แล้วตัวเองคือคนที่ยังขาดอยู่มาก เช่นว่า “เพราะทำไม่เป็นจึงช่วยพูด.. ช่วยบอก” เหมือนเตือนเขา บ้างก็ดูมีประโยชน์ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเป็นคนเคยทำได้ เคยมีประสบการณ์.. เป็นผู้พูด เช่นนี้คือ ผู้ที่มีแล้วจึงให้..

เพราะหากการให้บนความที่ผู้ให้มีพอแล้วนั้น เราจะไม่เสียดาย ไม่ต้องการอะไรได้อย่างแท้จริง เพราะมันล้น มันเหลือ มันเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ที่กล่าวนี้มิใช่เพียงเรื่อง การเงิน ใช่ว่าหมายถึงต้องมีเงินถึงให้ เราอาจมีเวลามากจึงให้ มีความรู้มากจึงแบ่งปัน มีผลไม้มาก มีข้าวมาก มีเสื้อผ้ามากจึงแบ่งปัน ลองคิดดูว่า นี่มันจะไม่เดือดร้อนเลย ไม่ต้องการสิ่งใดกลับเลย

แต่หลายคน ลงทุน ลงแรง แลกกับคำว่า ภาคภูมิใจ ทั้งที่ควรเอาเวลาดูแลครอบครัวก่อน ทำมาหากินก่อน ลงแรงใส่ปุ๋ย รดน้ำก่อน ให้มีผลเยอะ ผลดกก่อนจึงแจกจ่ายแบ่งปัน..

อีกข้อสังเกตคือ มีหลายคนชอบทำดี กับคนที่มีมากกว่า แสดงตนว่าทำดีต่อเขา ก็ใช่ว่าทำไม่ได้แต่มั่นใจแค่ไหน มิได้หวังอะไรจากเขา?

ถ้าไม่.. ให้คนที่อิ่มแล้วทำไม? มีคนหิวโซอีกมากมาย มันภาคภูมิใจกว่าที่ได้ช่วยคนที่มีมากกว่าหรือ? ที่เขาสามารถจัดหาได้ จัดจ้างได้ หรือใช้ใครก็ได้ แน่หรือทำดีกับเขาเพื่อได้ดี.. ดีที่ว่าคืออะไร? ตกลงอยากทำดี หรืออยากเกาะส่วนหนึ่งของเขา ได้รับส่วนหนึ่งจากเขาคนนั้น หรือองค์กรนั้นๆ ไปด้วย?

สุดท้ายบางทีเราคอยทำดีกับคนที่มี เพื่อหวังว่าเขาจะดึงให้เราดีขึ้น มีขึ้น เช่นนี้อาจไม่รู้ตัวอยู่ก็ได้ว่ากำลังหลอกตัวเองไปวันๆ?

โดยสรุป แล้ว จากบทความดี ๆ ที่กำลังจะกลายเป็นบทความธรรมะแปลก ๆ นี้ คือ สิ่งใดที่ทำแล้ว “ไม่พอดี” ดีย่อมไม่เกิด หรือเกิดยาก สิ่งชี้วัดที่จะไม่เรียกว่าหลอกตัวเองนั้น อยู่ที่ ผลลัพธ์ ที่ต้องรับ แม้แต่ในพระเวสสันดรชาดกนั้น หากลองดูครบจบองค์รวม มิใช่ตีความแบบนิทานพื้นบ้านธรรมดา จะพบว่า การให้ที่ไม่พอดี ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย ประหนึ่งทิ้งทุกอย่าง สละได้สิ้น ทว่ามีแต่เรื่องร้ายลง อับจน (ดีที่ได้เทพ เทวดา มาช่วย..) และในสุดท้ายก็กลับมาครองราชย์ มีทรัพย์ มีสมบัติ ประชาชนจึงร่มเย็นเป็นสุขได้ สิ่งนี้เปรียบเปรยไปอีกทางว่า

มีน้อยต้องให้แบบไม่ลำบาก มีมากให้ไม่คิด ก็ผิดที่ผิดทาง มีแล้วให้ ไม่หวังได้ ได้แน่แท้

สุดท้ายต้องระวังทำดีให้ไม่อยากได้อะไร.. แค่อยากได้ความภาคภูมิใจ หรือหลอกตัวเองไปวัน ๆ

ตัวอย่างส่งท้าย : บทความ คำคม ที่ผมคิดเอาว่าดี พวกนี้ บางทีเกิดจากสิ่งรอบตัว คนรอบข้าง จึงนำมาเขียนเป็นแง่คิด แต่ไม่ได้คิดจะเขียน หรือบอกให้สิ่งนั้น คนนั้น ที่อาจสนิท หรือไม่สนิทว่าเขาต้องอ่าน เพราะอาจกลายเป็นไปคาดหวังอะไรจากเขา และมันอาจไร้ประโยชน์ ยิ่งหากดันทุรังบอกเขา เตือนเขา อาจกลายเป็นผมที่บ่นว่า ทำดีไม่ได้ดี ในสุดท้าย เพราะผมเองที่หวังดี ผิดที่ ผิดทาง ผิดเวลา

ส่วนหนึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากบทความดี ๆ เหล่านี้ มีอีกมากมาย นั่นคือผู้ต้องการพัฒนาตนเอง ผู้ที่ค้นหา ผู้ที่ผ่านมาอ่านแล้วเข้าใจ อาจได้ไป ไม่ได้เราต่างก็ไม่เสียอะไร ผมแค่ได้เขียนของผมไป ในมุมที่ย้ำเสมอว่า ไม่มีดีที่สุด ไม่ใช่ถูกที่สุด…

คำคม บทความดีๆ บทความน่าอ่าน ทำดีไม่ได้ดี หลอกตัวเองไปวันๆ

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น