Need or Want , ต้องมี หรือ ต้องการ? ต้องคิดดีๆ

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » Need or Want , ต้องมี หรือ ต้องการ? ต้องคิดดีๆ |


จุดเริ่มต้นของความยุ่งยากในชีวิต บางทีเกิดจากการขาดความฉุกคิดในคำถามถามนี้..  “เราต้องมี หรือแค่ต้องการ” ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น เราต้องกิน? หรืออยากกิน?

ขี้เกียจอ่าน กดฟังแทนก็ได้นะ [Podcast]

ฟังบน Youtube

โดยผลลัพธ์ที่ได้จากสองคำถามนั้น ย่อมแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแคลอรี่ หรือปัญหาสุขภาพก็ตาม จากการกินแค่สิ่งที่อยาก.. กับสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย..

ปัญหาอีกด้าน หากไม่เคยระลึกถึงคำถามนี้ ที่ว่าด้วยเรื่องการเงิน ปัจจัยอันสำคัญ หลายคนสนใจสิ่งนั้น อยากได้สิ่งนี้ อันเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ปัจจุบันด้วย “สิ่งเร้าที่มากเกินไป” ในชีวิตประจำวัน ประกอบกับทุกวันนี้ โลก Social Network ทำให้เราอยากมีตัวตนกันมากขึ้น จนผลักดันให้จำต้องสร้างอัตลักษณ์ไปต่าง ๆ นา ๆ แม้ไม่ต้องเด่น แต่ก็ห้ามด้อยกว่า คล้ายช่วงหนึ่งที่เคยเป็นกระแสคือโรค FOMO ที่ไม่ใช่โรคทางกาย แต่อาจเป็นทางความคิดจิตใจ อันมาจากคำว่า “Fear of missing out” ที่มีคนแปลเป็นไทยเก๋ ๆ ว่า โรค “กลัวคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง” กลัวตกยุค ไม่ทันเหตุการณ์ ไม่ทันแฟชั่นนั่นเอง จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญให้ปัจจุบันหลายคนมีความคิด อยากมี กับสิ่งที่แท้แล้วไม่จำเป็นต้องมี..

ที่กล่าวไปแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานของความอยาก.. ที่เข้าใจไม่ยาก แต่ผมอยากให้ลองมองอีกมุม บางครั้งเรานั้นอาจ “ต้องมี” ในสิ่งที่คนอื่น ๆ แค่ “อยากมี”

กล่าวคือใช่ว่าคนเราจะ “อยากมี” หรือ “ต้องมี” อะไรที่เหมือน ๆ กัน มองลงไปในความเป็นจริงแล้ว การสร้างบางสิ่งที่สามารถส่งเสริมบุคคลในหลาย ๆ ด้าน ก็มีความจำเป็น ดังเช่น ในฐานะวิทยากร หากผมไปบรรยายแล้วใส่เสื้อยืดธรรมดา แทนเสื้อสูท ก็ยากที่จะทำให้คนเปิดใจรับฟัง (จริงหรือ?)

ของอย่างเดียวกัน อาจจำเป็นสำหรับบางคน แต่ไม่จำเป็นสำหรับอีกคน

บางคนอาจคิดว่าต้องมองให้ทะลุแค่เปลือก นั่นแท้จริงอยู่ แต่เชื่อหรือไม่ว่าผมก็เคยผ่านการวางตัวที่ว่ามาแล้ว คือเสื้อยืด เสื้อโปโล สบาย ๆ ยืนบรรยาย..

แน่นอนว่าสุดท้ายสาระย่อมสำคัญกว่าเปลือกนอก ทว่า หากเข้าใจธรรมชาติ และจิตวิทยาพื้นฐานบ้าง การที่เราพยายามสวนกระแส บางทีเราต้องการเอาชนะอะไรที่ไร้ประโยชน์อยู่หรือเปล่า ภาพสะท้อนแห่งการต่อต้าน ขบถ นั้นมันเพราะปมในใจบางอย่างตนเองเท่านั้นหรือไม่ นี่เป็นเพียงส่วนขยายความ

เสื้อยืด อัตตา มากกว่าใส่สูท!

แม้เรานั้นมีสติ ในทุกการกระทำ ดังเช่น ผมก็รู้ตัวดีว่า การใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ แล้วยืนพูดในฐานะอาจารย์นั้น มันไม่ได้ผิด แต่จริง ๆ ในใจก็รู้ด้วยว่าไม่ใช่ปกติธรรมดาที่ในอาชีพเขาทำกัน เช่นนี้ คุณว่าใช่สติ จริง ๆ ไหม หลายคนย้อนแย้งตนเองเช่นนี้แบบไม่รู้ตัว

ผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น ก็คิดดีแล้วนะว่าไม่เห็นจะต้องเป็นอะไรเลย วิทยากรทำไมต้องใส่สูทหรือแต่งตัวแบบธรรมดาไม่ได้ แต่เมื่อมีสติที่แท้จริงแล้ว ก็ระลึกได้ว่า แล้วทำไมผมต้องให้ผู้เรียน ผู้ฟังตั้งแง่ มองภาพพจน์ที่ไม่ดีก่อนด้วยเล่า ในเมื่อ “ผมทำให้มันง่าย” ได้ด้วยตัวผมเอง การที่ผมจะใส่สูท หรือเสื้อยืด แท้จริงแล้ว เสื้อยืดต่างหาก อัตตา ของผมในฐานะหน้าที่การเป็นวิทยากร

เพราะเนื้อหาคำว่า “ต้องมี หรือต้องการ” นั้นไม่ใช่การตัดสินในมุมว่าเปลือกคืออะไร ไม่เช่นนั้นอะไรๆ ก็เป็นเปลือกไปหมด และเราคงไม่ต้องใส่เสื้อผ้ากันเลย

หรือความอยากนั้นมันผิดไปหมด ความต้องการมันก็สร้างขึ้นลวงตนเองได้เช่นกัน และความ “ต้องการ” เช่นนี้ นี่ละน่ากลัวกว่าความอยากนักในบางที เช่น การต้องการใครสักคน (เพราะคิดว่าใครก็มีกัน) แล้วความต้องการนี้ก็ดิ้นรนหาสิ่งที่ไม่ใช่ เจอที่เหมาะที่ไม่ควร ก็ทุกข์วนไป..

หรือ การต้องการโอกาส ซึ่งใช่อยู่ว่ามันต้องมีโอกาสถึงจะไปสู่บางสิ่งได้ แต่สำหรับบางคนมันคือข้ออ้างอยู่ร่ำไปว่า “ไม่มีโอกาส” และ “ต้องการ” มันเสียก่อน ในแง่นี้บางที “ความอยาก” ต่างหากเป็นสิ่งช่วยกระตุ้นให้ไม่รอโอกาสด้วยซ้ำ

สิ่งหนึ่งของการพัฒนาตนเองนั้น คือการเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ให้ชัดที่สุด ไม่ต้องคิดว่าถูกที่สุด เพราะมันยากจะตัดสิน และเรายังไม่รู้จนกว่าจะก้าวหน้าไปจนจุดที่พอใจ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่อยากสะท้อนมุมมองอีกด้านออกมา

สรุปแล้ว โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่า สิ่งไหน จำเป็นหรือต้องมี สิ่งไหนเป็นเพียงความอยาก หรือต้องการ แต่บางทีเราก็ไม่รู้ตัวจริง ๆ มาก่อนเหมือนกันว่า ที่เคยคิดว่าแค่อยากมีอยากได้นั้น มันก็จำเป็นมากเช่นกัน เมื่อไม่รู้ ก็เลยไม่ได้มี สิ่งที่ “ต้องมี”

(บทความ re-write ปรับปรุงจากการเผยแพร่ครั้งแรก 04-06-2561 ที่ facebook sirichaiwatt )

การพัฒนาตนเอง need or want

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น