“เอ้า ชนแก้วววว” เสียงชายสองคนพูดพร้อมกัน ผมจึงต้องยกแก้วทำตาม เหมือนนั่นเป็นคำสั่ง
เคร้ง! เสียงแก้วกระทบกัน
“นี่นะ ถ้าโลกนี้ไม่มีแก้วแดกเหล้าไม่สนุกหรอก..” ไอ้แฉะพูดขึ้นให้ผมกับไอ้ทิดฟัง
“ทำไมวะ” ไอ้ทิดถามกลับ
“ก็มึงลองใช้ แก้วพลาสติกชนกันสิ เสียงมันจะเป็นยังไง” มันตอบย้อนให้คิดตาม
“เออ จริงของมึงว่ะ” ทิดยอมแต่โดยดี แฉะหัวเราะน้อย ๆ แล้วกระดกหมดแก้ว
“ถั่วหมดแล้ว ไม่มีอะไรแกล้มมั่งเหรอ” แฉะมองจานว่างเปล่าที่เคยใส่ถั่ว พร้อมกับมือล้วงหยิบน้ำแข็งในกระติกเพื่อใส่ลงแก้วตัวเอง
“มีแต่มาม่าต้มยำ เอามั้ยล่ะ” ผมนั่งนึกอยู่ครู่ก่อนเสนอ
“เออ ๆ ได้ ดีเลยซดร้อน ๆ ” แฉะตอบผม ผมจึงเดินไปหยิบชามพลาสติกแกะมาม่าต้มยำใส่ลงไป และทันทีที่แฉะมันเห็น
“เห้ย! มึงจะเอาชามพลาสติกนั่นเข้าเวฟฯ เหรอ” แฉะทัก ผมหันมาพยักหน้าแบบงง ๆ
“มันไม่ปลอดภัยนะเว้ย!” มันท้วงอีก ผมกับไอทิดมองหน้ากัน
“ชามนี่เข้าเวฟฯ ได้น่า” ผมยื่นให้มันดู
“กูรู้ ว่ามึงซื้อแบบใส่เวฟได้มา แต่ยังไงมันก็เป็นพลาสติก มันก็ไม่น่าไว้ใจ พลาสติกกับโฟมเนี่ย มันมีสารปนเปื้อนประเภท สารไวนิลคลอไรด์มอนอเมอร์ ( Vinyl Chloride Monomer ) สารสไตรีนมอนอเมอร์ ( Styrene Monomer ) ไดออกซิน ( Dioxin ) สารเหล่านี้เป็นสารก่อมะเร็ง และก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท การทำงานของตับ ซ้ำสารแฝงที่เป็นส่วนประกอบจะคืนตัวเมื่อพลาสติกได้รับความร้อนสูง” แฉะบอก
“แล้ว.. มึงจะให้กูทำไง” ผมถามมันอย่างรำคาญ
“แก้วไง มึงมีชามแก้วมั้ยล่ะ” มันตอบท่าทางจริงจัง
ผมหยุดคิด “เออ พอมี แต่กูไม่เคยใช้ มันจะแตกมั้ยล่ะ มันร้อนมาก ๆ”
“แก้วน่ะ ถ้าไม่ถูกกระทบกระแทก ก็จะแตกเพราะความแตกต่างอุณภูมิกระทันหัน มึงก็อุ่นชามก่อนแป๊บนึงสิก่อนใส่” มันสอนผม
“มึงยังไม่เมานี่หว่า” ไอ้ทิดทักไอแฉะแบบหยอก
“ฮ่า ๆ แน่นอน” แล้วมันก็เติมเหล้าลงแก้วของมันอีก “เอ้าชนหน่อยไอ้ทิด” เคร้ง!..
ผมใช้ผ้ารองก่อนยกถ้วยแก้วที่ใส่มาม่าต้มยำมาวางกลางวง จากนั้นก็หาที่ทางลงนั่งกินกับเพื่อน แต่ขณะที่ลงนั่งนั่นเองขาก็พลั้งไปเตะแก้วเหล้าของผมเองเข้า เพล้ง! นั่นคือเสียงที่ตามมา
“ทำมาม่าก็เมาเหรอวะ” ไอ้ทิดแซวผม ผมไม่ตอบอะไรยิ้มแห้ง ๆ แล้วไปเอาถังขยะมาเก็บเศษแก้วที่แตก
“แยกขยะสิเว้ย” เสียงไอ้แฉะอีกแล้ว “มึงรู้มั้ย แก้วเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ไม่รู้จบเลยนะมึง พลังงานที่ใช้ผลิตแก้วใหม่ สามารถประหยัดได้จากแก้วรีไซเคิล 1 ใบจะเท่ากับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้กับหลอดไฟขนาด 400 วัตต์ นานถึง 4 ชั่วโมง”
ผมกับไอ้ทิดมองหน้ากันอีกรอบ ผมได้แต่ก้มหน้าก้มตาเก็บเศษแก้วต่อไป แล้วไปหยิบแก้วใหม่มาชงเหล้าลงไป ทันทีที่ไอ้แฉะเห็นผมชงเหล้าเสร็จมันก็ตะเบ็งขึ้นมา
“อ้าว! ชนแก้ววว” เคร้ง! แล้วไอ้แฉะก็กระดกหมดแก้ว
“แก้วรั่ว แล้วแก้วนั้น” ไอ้ทิดแซวไอ้แฉะ
“ไม่รั่วหร๊อก เพราะว่าแก้วเป็นสารอนินทรีย์ที่มีองค์ประกอบหลักคือ ทราย ซึ่งเป็นสารประกอบพวกซิลิเกต (silicate) แล้วผ่านขบวนการหลอมที่อุณหภูมิสูง ทำให้แก้วเป็นภาชนะที่ไม่มีรูพรุน โปร่งใสจึงไม่ดูดซึมน้ำสารอาหารรวมถึงคลื่นไมโครเวฟเมื่อกี้” ไอ้แฉะวิชาการกลับมา
“อืม…” ผมพูดได้เท่านั้นจริง ๆ เพราะไม่มีข้อมูลอะไรกับมัน แถมยังต้องหลบตามันแสร้งทำเป็นมองแก้วบนมือ หันไปอีกทีมันก็เติมเหล้าแล้วกำลังอ้าปากพูดต่อ
“พวกมึงรู้ป่าว..เอ่อ(มันเรอ) แก้วเนี่ย ถ้าผลิตจาก ซิลิกาบริสุทธิ์ มีจุดหลอมเหลวที่ 2000 °C (3632 °F)” พูดจบมันเงียบเพื่อให้พวกผมตะลึงหรือตอบคำถามมันก็ไม่แน่ใจ แต่ผมส่ายหัวช้า ๆ ให้มัน และมันกำลังมองหน้าผมด้วยตาเริ่มเยิ้ม
“แต่การผลิตจริงในกระบวนการผลิต จะมีการผสมสาร 2 ชนิดลงไปด้วย ชนิดแรกคือ โซดาแอช (Soda Ash)…” มันหยุดกระดกเหล้า “ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ โซเดียมคาร์บอเนต (sodium carbonate-Na2CO3) หรือสารประกอบโปตัสเซียม เช่น โปตัสเซียมคาร์บอเนต เพื่อช่วยให้อุณหภูมิในการหลอมเหลวนั้นต่ำลงอยู่ที่ประมาณ 1000~1500 °C แต่อย่างไรก็ตามสารนี้จะส่งผลข้างเคียงทำให้แก้วนั้นละลายน้ำได้ จึงต้องมีการเติมสารอีกชนิด คือ หินปูน ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ แคลเซียมคาร์บอเนต(calcium carbonate-CaCO3) (เมื่ออยู่ในเนื้อแก้ว จะกลายเป็นแคลเซียมออกไซด์ ;calcium oxide-CaO) เพื่อทำให้แก้วนั้นไม่ละลายน้ำ ” พูดจบมันกระดกเหล้าที่เหลือ พลันโทรศัพท์ของมันก็ดังขึ้น มันควานล้วงกระเป๋าหน้ากระเป๋าหลังหาโทรศัพท์ของมัน
“โหล… เอ่อ… เอ่อ…. … … .. ลืม.. จ่ะ ๆ” มันเก็บโทรศัพท์ มือไปล้วงน้ำแข็ง เทเหล้า ชงใส่แก้ว พลางหันมาบอกพวกผม “ลืมว่ะ เมียให้พาไปเอาของบ้านแม่ยาย” มันเทโซดาลงแก้ว เป็นอันเสร็จพิธีชงเหล้าของมัน
“แล้วมึงไม่ไปเหรอ” ผมถามกลับ
“ก็นี่ไง กูจะไปแล้ว เอ้า ๆ ไอ้ทิดนั่งหลับแล้วมึง ชน ๆ หมดแก้ว ๆ กูจะกลับล่ะ” เคร้ง!…
หลังจากมันเดินลับหลังไปไอ้ทิดหันมาถามผมว่า “กินอะไรก็ตาม แต่ถ้าเป็นเหล้า แก้วก็ไม่ช่วยให้ปลอดภัยได้ มึงว่า มันจะกลับถึงบ้านมั้ยนั่นน่ะ!?”
เมาไม่ขับนะครับ ตัวอย่างที่ไม่ดี
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
http://www.mcot.net/lady/
วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ปีที่ 53 ฉบับที่ 168 พฤษภาคม 2548
Create Date : 11 กรกฎาคม 2550 : ย้ายจากบล๊อกเดิม bloggang