คอลัมน์ MarkeThinks 08 : Happy New Year Plan (1)

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » บทความการตลาด » คอลัมน์ MarkeThinks » คอลัมน์ MarkeThinks 08 : Happy New Year Plan (1) |


คอลัมน์การตลาด MarkeThinks 08 : Happy New Year Plan (1)

พิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร Foodbook ปีที่ 1 ฉบับที่ 9

คอลัมน์การตลาด MarkeThinks เล่มนี้ พบกันฉบับส่งท้ายปี ก็ถือโอกาสเขียนเรื่องสำคัญประหนึ่งเป็นของขวัญส่งท้ายปี เช่นเคยบนเนื้อที่จำกัด ที่ผกผันกับเนื้อหาที่อยากจะสื่อสารให้ครบถ้วนจึงชวนกันเข้าสู่ประเด็นกันเลย

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

ฟังบน Youtube

สิ่งที่กล่าวมาไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ผมเคยให้ความสำคัญเสมอๆ คือ “การวางแผน” และในเมื่อพูดมาบ่อยๆ จนหลายคนสนใจ ทว่าไม่รู้ว่าจะต้องทำมันอย่างไร ดูมันเป็นเรื่องที่ทั้งยากและไกลตัว จึงเป็นที่มาในการเขียนเรื่องนี้ ในแบบให้ “แนวทาง” ที่คงไม่ทำยากเกินไป และไม่วิชาการจนไม่รู้เรื่อง

เริ่มจากการทำความเข้าใจกันก่อนว่า นี่คือรูปแบบหนึ่งเท่านั้นที่จะทำให้มองแผนการดำเนินธุรกิจหรือการตลาด อย่างมีทิศทาง ซึ่งประโยชน์ของการมีแผนนี้หลักๆ หรือหัวใจคือ ทุกคนเข้าใจร่วมกันได้ รู้ เห็นปัญหาได้ชัดเจน และต้องวัดผลได้ สั้นๆ เท่านี้แต่มีประโยชน์มากมาย เพราะการดำเนินการมักมีปัญหาจากความไม่เข้าใจ แก้ไม่ได้เพราะไม่รู้ต้นเหตุปัญหามาจากไหน และวัดผลไม่ได้จึงพัฒนาต่อไปไม่ถูก เหล่านี้คือความสำคัญที่เอามาย้ำกันแบบย่อๆ

ส่วนของการวางแผนไปจนถึงการทำงานนั้น คนที่มีความรู้อาจจะยึดโยงตามบางหลักการที่ชอบ เช่น POLC*, PDCA** อะไรก็ตาม แต่โดยเริ่มต้นและในที่นี้จะเน้นในส่วนวางแผนให้ชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอนในลักษณะกระบวนการคิด โดยเริ่มต้นจาก การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก-ใน (Ex-Internal Factors) โดยเขียนหรือแยกออกมาแบบง่ายๆ ว่าอะไร ดีต่อเรา และอะไรส่งผลเสียต่อเรา

การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก (External Factors)

ก็คือพวก สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งส่วนนี้จะรวมหรือแยกย่อยมาอีกทีก็ได้ โดย หลักการของคำว่า ปัจจัยภายนอกคือ “เราควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้” แต่ในเมื่อมันมีผล หัวใจของข้อมูลเหล่านี้ก็จะนำไปเพื่อการวางแผน โดยมากนั้นก็เพื่อ “รับมือ” อาจจะคล้ายในตอน Seasonal – สีสันนิ่ง ที่เขียนไว้ในเล่มก่อนๆ เช่น ฤดูกาลต่างๆ เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสียถ้านำมาคิดอยู่ในแผนไว้ล่วงหน้า เป็นต้น
ด้านเศรษฐกิจ การเมือง เหล่านี้มักไปในทำนองเดียวกัน แต่ในแง่ความสอดคล้อง อาจจะมองย่อยลงมาในเชิงพื้นที่ของธุรกิจ การลดราคาภาวะนักท่องเที่ยวน้อย ภาคส่วนราชการจัดงานอะไรไหม ไปจนถึงการจัดการบริหารคนงานแบบยืดหยุ่นได้ เหล่านี้เป็นต้น รวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้านสังคม หรือสิ่งต่างๆ ทั่วไป เช่นในหัวหินตอนนี้ มีแหล่งท่องเที่ยวใกล้ๆ แหล่งใหม่อย่างอุทยานราชภักดิ์ที่เราก็จะได้ข้อมูลง่ายๆ แล้วว่าคนจะมาเที่ยวชมมากขึ้น และเป็นกลุ่มคนไทย เหล่าได้ใช้ประโยชน์หรือต่อยอดอะไรได้บ้างหรือไม่กับธุรกิจเรา เป็นต้น นี่เป็นเพียงส่วนเดียว ซึ่งวิธีทำก็เขียนทำนายไปเลยว่า ปีที่จะถึงนี้ มีปัจจัยใดส่งผลดี-ร้าย ให้กับร้านหรือองค์กรเราบ้าง

การวิเคราะห์ปัจจัยภายในอุตสาหกรรม (Industry Factors)

ส่วนนี้ก็ต้องถือว่าเป็นปัจจัยภายนอกเช่นกัน เพราะเราไม่สามารถควบคุม คู่แข่ง หรือภาพรวมของอุตสาหกรรมได้ โดยเบื้องต้นต้องรู้จักตัวเองว่า ธุรกิจเราอยู่ในระดับใดของอุตสาหกรรมด้วย จากภาพใหญ่ลงมาภาพเล็ก เช่น แน่นอนว่าอยู่ในอุตสาหกรรมร้านอาหาร อาหารประเภทใด ลูกค้าคนไทยหรือต่างชาติ ทำเลเป็นอย่างไร ในระยะ 1-3 กิโลเมตรมีคู่แข่งแค่ไหน ก็แล้วแต่กิจการจะตีความตามแต่ปัจจัย ซึ่งในส่วนนี้เขียนออกมาในทำนองว่า เราได้เปรียบ หรือเสียเปรียบอย่างไร ในแต่ละส่วนย่อยๆ เมื่อเทียบกับร้านอื่นๆ หรือคู่แข่ง

เอาละครับ ติดไว้เท่านี้ จะมาแบ่งปันกันต่อเรื่องนี้เล่มหน้า ท้ายนี้ขอให้สุขประสบโชคดีในปีใหม่ และเดินทางปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องสัญจร ขอบคุณครับ

*POLC คือหลักการบริหารจัดการที่ ประกอบด้วย Planing, Organizing, Leading, และ Controling
**PDCA คือ วงจรการบริหารงานคุณภาพ ประกอบด้วย Plan, Do, Check และ Action

อ่านต่อ ตอนที่ 2

คอลัมน์การตลาด กลยุทธ์การตลาด การวางแผนการตลาด
นิตยสาร Foodbooks (หัวหิน) คอลัมน์ Markethinks 08
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น