1.2 เครื่องมือในการทำการตลาดออนไลน์ (2/3)

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » บทความการตลาด » สอนการตลาดออนไลน์ » 1.2 เครื่องมือในการทำการตลาดออนไลน์ (2/3) |


มาเรียนการตลาดออนไลน์กันต่อจากคราวก่อนที่ยังค้างไว้ด้วยเรื่องเครื่องมือต่างๆ ที่เขียนไป 2 หัวข้อที่อาจถือได้ว่าเป็นสื่อออนไลน์ยุคเก่า ในบทนี้ก็น่าจะเป็นสื่อยุคใหม่ โดยเครื่องมือนี้ถือว่าเขียนยากพอสมควรเพราะไม่รู้จะแบ่งอย่างไรดี และแต่ละอันก็มีรายละเอียดเทคนิคมากมาย ซึ่งในที่นี้คงต้องให้ทำความรู้จักไปตามหมวดพื้นฐานก่อน ส่วนเชิงใช้งานเทคนิค รวมถึงการโฆษณาผ่าน Social Media ต่างๆ จะแทรกแนะนำในบทต่อๆ ไป

ย้อนกลับดูสารบัญบทความชุดนี้ที่นี่

เครื่องมือในการทำการตลาดออนไลน์

ในบทนี้จะกล่าวถึงหัวข้อที่ 3 ซึ่งหัวข้อทั้งหมดเดิมมีดังนี้

  1. Website (เว็บไซต์)
  2. E-mail (อีเมล์ – จดหมายอิเล็กทรอนิกส์)
  3. Social Networking (โซเชียลเน็ตเวิร์ก – เครือข่ายสังคมออนไลน์)
  4. Application (แอพพลิเคชั่น)
  5. ผู้รับบริการอื่นๆ (Sub Contractor – Third Party)
  6. เครื่องมือสนับสนุน (Support)

3.  Social Networking (โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก)

เครือข่ายสังคมออนไลน์ โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ที่จริงการใช้ภาษาไทยกับคำเหล่านี้บางทีทำผมปวดหัวไม่น้อย หลายคนก็อาจจะขัดตาบ้างที่ผมเขียนหลายรูปแบบ รวมถึงการเขียนทับศัพท์ที่ผิดบ้างถูกบ้าง ก็พยายามตามแก้ไข แต่มันก็จำเป็นไม่น้อยสำหรับคนที่ยังไม่รู้จริงๆ ซึ่งก็ขอแนะนำว่า พยายามอย่าวิ่งหนีภาษาอังกฤษเหล่านี้ ผมไม่ได้บอกว่าจะต้องเพิ่มความรู้ด้านภาษาอังกฤษนะครับ(แปลจริงๆ ก็ไม่มีตรงตัวอีก) เพียงแต่ควรจำมันไปเลย จำให้ได้ อนาคตจะมากขึ้นแล้วจำเป็นขึ้นกับสิ่งที่เป็นเทคโนโลยี

สำหรับ Social Network มีมาได้สักพักใหญ่ๆ แต่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือเรื่องของอุปกรณ์อย่าง Smartphone โทรศัพท์มือถือในทุกวันนี้ด้วยที่ทำให้การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตง่าย สะดวกขึ้น เมื่อมีสิ่งหนึ่งเติบโตเร็วก็ย่อมมีสิ่งที่เกี่ยวข้องเติบโตหรือมากขึ้นตามไปด้วย หากพอย้อนจำกันได้บ้าง(10ปี) เราเคยมี Social Network อย่าง msn ที่เชื่อมมาถึง windows live space (เกือบจะนิยม) Myspace และฮิตกันมากๆ อย่าง Hi5 ก่อนจะถูกเบอร์ 1 ในปัจจุบันอย่าง Facebook เบียดบังหายไป ตามมาด้วยรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย มากจริงๆ และมีเกิดขึ้นมาหายไปหลายอย่าง การที่จะเอามาแนะนำทั้งหมดคงไม่จำเป็น ในที่นี้เราจึงรู้จักตัวที่จำเป็นๆ กันในทุกวันนี้ก่อน

สอนการตลาดออนไลน์ การใช้ Facebook ทำการตลาด

Facebook

คงไม่ต้องแนะนำกันมาก เพราะในทุกวันนี้ถือว่าเพียงเครื่องมือนี้ตัวนี้ ก็สามารถทำค้าขายกันได้ดีแล้วในหลายๆ สินค้า อย่างไรก็ตามจะใช้เครื่องมือใด สิ่งสำคัญกว่าคือกระบวนการวิธีการด้วย ดูได้จากทุกวันนี้ใครๆ ก็ใช้ Facebook ก็ไม่เห็นสำเร็จกันได้ง่ายๆมิใช่หรือ?

ผมกล้าพูดได้ว่าใช้ Facebook มานานมาก ตั้งแต่ก่อนที่จะนิยมกันในบ้านเรา แรกๆ นั้นมีเพียงเพื่อนๆ พี่ๆ ที่รู้จักที่อาศัยอยู่อเมริกาเท่านั้นที่เป็นเพื่อนในนั้น ทว่ากระแสก็มาแรงเพราะเกมส์ใน Facebook แต่จากนั้น Facebook ก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนในที่สุดผมก็ได้ใช้มันทำการตลาด ซึ่งในตอนนั้นมันฟรี ทุกวันนี้ก็ฟรีกรณีใช้เฉยๆ แต่ถ้าให้ส่งผลทางการตลาดนั้นคำว่าฟรี คงดูริบหรี่ที่จะสำเร็จ เรียกว่าขนาดยังไม่ลงทุนทำอะไร แค่ไปเรียนวิชาเกี่ยวกับ Facebook ก็เสียเงินกันแล้ว เอาเป็นว่ามารู้จักแนวทางกับ Social Network ตัวนี้กันก่อน

โพสท์เยอะใช่ว่าจะมีประโยชน์ …ขยันโพสท์ผิดที่ กี่ปีก็ไม่ปัง!

การใช้ Facebook ทำการตลาดออนไลน์

  • ประชาสัมพันธ์ : เป็นสิ่งแรกๆ ที่อาจคล้ายกับประโยชน์ของการมีเว็บไซต์ โดยถือว่าจำเป็นในทุกวันนี้ (พูดง่ายๆ คือควรมีไว้ก่อน) โดยคุณสมบัติอาจเป็นการให้ข้อมูลแบบฉาบฉวยและไม่สมบูรณ์เท่าเว็บไซต์ ถ้ากรณีที่เป็นสินค้าบริการที่ลูกค้าไม่ได้ต้องการข้อมูลอะไรมากนัก ก็เหมาะสม แต่โดยรวมแล้วเป็นการมีเพื่อเน้นในลักษณะ บอกกล่าว ทวนซ้ำ แนะนำ ประกาศ สิ่งที่มีอยู่ หรือ สิ่งใหม่ๆ สินค้าใหม่ โปรโมชั่น เพราะรูปแบบเป็นลักษณะ Feed คือลำดับข้อมูลใหม่ไปเรื่อยๆ นั่นคือการบ่งชี้ว่าเป็นสิ่งที่ลูกค้า “ต้องติดตาม” ดังนั้นคำหนึ่งที่ควรระลึกเสมอก่อนคือ การมีส่วนร่วม (Engagement) ที่อาจเป็นศัพท์ใหม่สำหรับหลายคน แต่อธิบายโดยสรุปคือ เมื่อโพสท์ ประชาสัมพันธ์สิ่งใดๆ ลงไปแล้วก็ตาม ผู้พบเห็นต้องมีการทำอะไรบางอย่าง like, comment, share คงเข้าใจได้ไม่ยากว่า หากไม่มีส่วนร่วมก็หมายถึงว่า โพสท์นั้นไม่มีประโยชน์ต่อผู้พบเห็น ก็ไม่ติดตาม ไม่สนใจ ยิ่งในปัจจุบันการโพสท์ถูกปิดการเห็น (reach) อยู่แล้วกล่าวคือ ไม่ใช่ทุกคนที่ติดตามจะเห็นโพสท์ที่เราโพสท์ลงไปเสมอไป (หลายคนอาจทราบดีแล้ว) แต่หากเกิด Engagement ก็จะทำให้มีคนเห็นมากขึ้นได้อัตโนมัติ

    Tips : เราอาจไม่จำเป็นต้องสร้างเป็น Fanpage (เพจแบบธุรกิจ) เสมอไปเพราะการขายสินค้าธรรมดาแบบที่ไม่ต้องการซื้อโฆษณาหรือแค่สร้างแบรนด์ท้องถิ่นที่อย่างไรลูกค้าก็ไม่น่าจะเกิน 5,000 รายนั้น บางทีการใช้ Profile แบบบุคคลทำได้ดีกว่าแง่การมีส่วนร่วมและการมองเห็นโพสท์

  • สร้างฐานลูกค้า(หาลูกค้า) : นี่คือสิ่งสำคัญหนึ่งที่เครื่องมือนี้ทำได้ดีและทุกคนอยากให้ได้ผล และมันต้องถูกวิธีด้วย โดยเริ่มแรกสมัยที่ผมใช้ทำการตลาด คำว่าฟรี จึงใช้วิธีที่เรียกว่า หว่านยังไงก็ได้ เน้นให้คนเพียงกด like และ share เรียกว่าสร้าง Reach (การมองเห็น) เป็นพอ เพราะ Facbook ยังใหม่ทำอะไรคนก็สนใจกลายมาเป็นลูกค้าไม่ยาก แต่ทุกวันนี้และในอนาคต Facebook มีการปรับการมองเห็นอยู่เสมอ การหว่านจึงอาจกลายเป็นผลลบทั้งเงินทุน และความน่าสนใจ และใช่ว่าจะกลายเป็นลูกค้า ดังนี้ like, share จึงไม่ใช่แค่เป้าหมายนี้อีกต่อไป การหาลูกค้าจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็น “หาเป้าหมาย” ให้เจอเสียมากกว่า ส่วนทำอย่างไรอาจไม่เพียงพอในส่วนนี้ คงต้องไว้อธิบายกันในบทต่อๆ ไป

    Tips : การลงโฆษณาเป็นส่วนสำคัญในทุกวันนี้การสร้างฐานลูกค้า ที่มากกว่านั้นอาจต้องเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ และสร้างสิ่งที่เก็บข้อมูลได้เรียกว่า Pixel ซึ่งอาจเป็นเรื่องของเทคนิคพอสมควร แต่ค่อนข้างจะตรงเป้าหมาย ซึ่งควรศึกษาเรื่องการลงโฆษณากับ Facebook ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายด้วย 

  •  เชื่อมโยงลูกค้า : นี่คือข้อดีที่สุดหนึ่งของ Social Network เพราะลูกค้าที่ยอมรับเราแล้ว(กด Like) ก็หมายความว่าย่อมต้องการเชื่อมโยงกับเราจริงๆ การใช้สำหรับสื่อสาร Comment (ตอบ) Messenger (สนทนา) ก็เป็นพื้นฐานที่ต้องใส่ใจและไม่ควรทิ้งไว้เนิ่นนาน แต่สิ่งที่มากกว่านี้คือเรื่องเกี่ยวกับการโพสท์ หรือสร้างเนื้อหา (Content) ส่วนเสริมต่างๆ ที่ Facebook พัฒนาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนกิจกรรม Event ส่วนการสร้างหน้าสินค้าบริการ ที่ Facebook มีมาภายหลังไม่นานนี้ และการประกาศ แบ่งปัน สิ่งที่เกี่ยวข้องกันระหว่างสินค้าบริการคุณ กับลูกค้า ที่ต้องเน้นย้ำตรงนี้เพราะการโพสท์เรื่อยเปื่อยนั้นไม่ได้ผลไม่เป็นไร อาจกลายเป็นลบได้อีกต่างหาก ดังนี้ ขยันโพสท์ผิดที่ กี่ปีก็ไม่ปัง (ขอยืมคำเขามาดัดแปลงหน่อย) ดังนั้นอย่าลืมคำว่า “เชื่อมโยง”

    Tips : เนื้อหา ความถี่ และแนวทาง การโพสท์ขึ้นอยู่กับสินค้าและบริการด้วย บางประเภทโพสท์ถี่ บ่อยได้เช่นตัวแทนขายบางสินค้า บางประเภทควรให้ความสำคัญกับ Event บางประเภทควรให้ความสำคัญกับ ข้อมูลสินค้า ทยอยสร้างความเข้าใจ บางประเภทควรเน้นเฉพาะรูปภาพ ผลงาน เหล่านี้เป็นต้น

  •  Live (ถ่ายทอดสด) : ถือว่าเป็นเครื่องมือของ Facebook อีกที ที่สามารถให้ประโยชน์ได้กับทุกข้อที่กล่าวมา ไม่ว่าจะประชาสัมพันธ์ เชื่อมโยง สนับสนุน รวมถึงขายกันตรงๆ เช่น เปิดประมูล ทั้งนี้จำเป็นต้องแยกอีกมาเป็นหัวข้อ เพราะไม่สามารถจะสรุปรวมความสามารถของสิ่งนี้ ด้วยความไม่ต่างกับการถ่ายทอดโทรทัศน์ในแบบหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์เนื้อหา และใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ของ Facebook อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ถือว่าจำเป็นในหลายๆ สินค้าและบริการเพราะหาก Production หรือภาพที่ออกมาไม่สวยงาม บางทีภาพพจน์ดีๆ ของแบรนด์อาจเสียหายได้เช่นกัน

สรุป : เรื่องของ Facebook ถือว่าเป็นอันดับ 1 ใน Social Network ของไทยและของโลก จึงค่อนข้างเป็นที่นิยมใช้ในการตลาดปัจจุบัน ทั้งยังมีรายละเอียดอีกมากมาย ในแง่กระบวนการ วิธีการ เทคนิค ซึ่งควรศึกษาเพิ่มเติม และอัพเดตสม่ำเสมอ เพราะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนา แต่หากว่าศึกษาแล้ว ไม่ได้ทำ ไม่ได้ใช้ อ่านที่ไหน เรียนที่ไหน ผมกล้าพูดเลยว่า “ไร้ประโยชน์!” ในส่วนบทความนี้ ให้เป็นแนวคิดเพื่อบทต่อๆ ไปและในอีกทาง หากเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือกิจการที่ไม่มีเวลา หรือไม่ต้องการทำเอง การจ้าง การสั่งงาน ก็จะได้แนวทางทางการตลาดที่ถูกต้องไปใช้ดูแลควบคุมได้อย่างดี รวมถึงในบทต่อๆ ไปด้วย อนึ่งสามารถอ่านกลยุทธ์เกี่ยวกับ Facebook บางส่วนได้จาก กลุ่มบทความนี้

สอนการตลาดออนไลน์ การใช้ Instagram ทำการตลาด

Instagram (IG)

อินสตาแกรม Instagram หรือหลายคนเรียกย่อๆ ว่า ไอจี IG อันเป็นสื่อประเภทเน้นโชว์รูป ซึ่งหากมองแง่การตลาด IG (ขอเรียกย่อๆ) เหมือนวางตัวเองไว้ตลาดบน กล่าวคือ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าตัวเองมีระดับ ซึ่งโดยคุณสมบัติการใช้งานแล้ว ในเชิงการตลาดอาจมีข้อจำกัดสูงเมื่อเทียบกับอื่นๆ แต่สรุปประเด็นหนึ่งให้ก่อนเลยว่า Instagram เหมาะกับบางธุรกิจ หรือบริการเท่านั้น! ดังนั้นถ้าคิดว่าไม่เหมาะอย่าเสียเวลากับสิ่งนี้ (ในตอนนี้)

การใช้ Instagram ทำการตลาด

  • อวดสินค้า : ผมจะไม่ใช้คำเป็นทางการ แต่คำที่ตรงประเด็นไปเลย เพราะประโยชน์ของ IG หากจะใช้คำว่า แสดงสินค้า อย่าหวังจะขาย แต่หากโพสท์ไปแล้วเป็นการ อวดสินค้า นั่นล่ะคุณมีสิทธิขายออก.. อย่างไร? ก็เพราะการอวดนั่นหมายความว่า ภาพสินค้าที่แสดงคุณต้องดูดี และน่าสนใจพอสมควร พอที่จะทำให้เขาสนใจได้ ด้วยเพราะ IG ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเห็นรูปก่อนสิ่งอื่นใด

    Tips : คงเข้าใจกันดีว่ารูปต้องสวย ถ่ายออกมาดี แต่ถ้าไม่มีฝีมือ ไม่มีงบไปจ้างคนถ่ายรูปล่ะ แนะนำว่า ก็อย่าถ่ายให้รก(องค์ประกอบลงตัว) ใช้ Filter หรือโปรแกรมตกแต่งสำเร็จรูปต่างๆ ให้เป็น มันช่วยคุณได้มากมาย และได้ภาพดีๆ ได้ไม่ยาก

  • เจาะกลุ่มลูกค้า : ข้อดีประการหนึ่งคล้ายที่บอกไปข้างต้นว่า กลุ่มผู้ใช้ IG มักจะมีลักษณะชัดเจน แม้ไม่ใช่ทั้งหมดแต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่ม ผู้หญิง(วาง)ฐานะตัวเองอยู่ในระดับดี หรือดูดี ดังนี้หากสินค้าและบริการเข้าข่ายลูกค้ากลุ่มนี้ก็นับว่าจะมีประโยชน์สูง การลงทุนโฆษณาก็จะทำได้ดีกว่าประเภทอื่นๆ เพราะเข้าเป้าได้ง่ายกว่านั่นเอง

สรุป แม้ว่า IG จะเป็นที่รู้จัก แต่ก็มีผู้ใช้งานบางกลุ่ม อีกทั้งแง่ของความถี่ หรือพูดกันง่ายๆ ว่าดูบ่อยน้อยกว่า Facebook บ้างก็มีบัญชี สมัครไว้ แต่บางทีก็ไม่ค่อยได้เข้ามาดู จึงค่อนข้างจะได้กลุ่มลูกค้าที่แคบ โอกาสเข้าตาน้อย แต่ดังที่บอกไป หากสินค้าและบริการเจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิง กับผู้ใช้บางกลุ่มได้ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจกว่า Facebook ได้เลยทีเดียว ด้วยเพราะคู่แข่งน้อยกว่า(บางธุรกิจ) เจาะกลุ่มได้ตรงกว่านั่นเอง อนึ่งในช่วงหลัง IG พัฒนาสิ่งต่างๆ มากขึ้น (ตั้งแต่ Facebook ซื้อไป) ในอนาคตอาจมีสิ่งน่าสนใจมากขึ้นก็เป็นได้

สอนการตลาดออนไลน์ การใช้ Twitter ทำการตลาด

Twitter

ก็เป็นอีกตัวที่ถือว่าเป็นที่รู้จักน้อยกว่า IG ในประเทศไทย และในระดับโลกจำนวนผู้ใช้ ก็ถือว่าเป็นรอง Facebook กับ IG ซึ่ง Facebook ทิ้งคู่แข่งไกลมาก (ข้อมูลจาก www.statista.com) อย่างไรก็ตาม twitter ยังคงอยู่ในสถานะเติบโต ผู้ใช้ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ และโดยส่วนตัวมองว่า User ของ Twitter นั้นค่อนข้างมีคุณภาพกว่า กล่าวคือ จำนวนบัญชีผู้ใช้ Facebook ที่มีมากๆ นั้นเป็นบัญชีที่อาจไม่ใช่บุคคลจริงๆ สูง เช่นบัญชีสำรอง หรือเป็นบัญชีที่ 2-3 บ้าง แม้แต่ผมเองด้วยเหตุผลในงาน ยังมีถึง 4 บัญชี (User) ไม่ได้หมายความว่า Twitter หรือ Social Network อื่นๆ ไม่มีกรณีแบบนี้ แต่เทียบสัดส่วนเชื่อว่ามากกว่าแน่นอน ถึงกระนั้น โดยขนาดจริงๆ แล้วก็ยังห่างไกล Facebook และมีข้อจำกัดในรูป ทำให้คงยากที่จะมีความนิยมเทียบเท่าหรือแซงหน้า Facebook

สำหรับคนที่อาจยังไม่รู้จัก Twitter เป็นเพียงประเภทโพสท์ข้อความได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษรแต่เดิม ด้วยหลักการที่เชื่อกันว่า หากยาวกว่านี้จะดูน่าเบื่อและไม่อยากอ่าน ปัจจุบันสามารถแสดงรูปภาพ แนบลิ้งค์เว็บไซต์ (url) ได้ และมีคุณสมบัติเพิ่มเติมขึ้นบ้างบางประการ

การใช้ Twitter ทำการตลาด

  • แนะนำสิ่งน่าสนใจ : เหมือนทุกๆ Social Network การสร้างความเคลื่อนไหว หรือการโพสท์เฉยๆ นั้นคงไม่เรียกว่าใช้ทำการตลาดเสียทีเดียว ดังนั้นสำหรับ twitter ซึ่งโดยหลักมีสำหรับ “ประกาศ” บางสิ่งอยู่แล้ว การสร้างความเคลื่อนไหว และแนะนำสิ่งน่าสนใจ(สำหรับธุรกิจ) ก็พอที่จะเครื่องมือให้สำหรับลูกค้าที่ตาม Follow ได้

    Tips : ไม่ใช่ทุกสินค้าหรือบริการเหมาะต่อรูปแบบของ Twitter แต่การสร้างและมีไว้ เป็นส่วนเสริมอย่างดีทั้งทางตรงและทางเทคนิค โดยการใช้เครื่องมือเสริมแบบที่โพสท์จากที่อื่นแต่เชื่อมมาที่ Twitter ก็ได้ เพื่อเพิ่มช่องทางการติดตามแต่ไม่ต้องเสียเวลามาโพสท์หรือดูแลมากนัก (อ่านเครื่องมือเหล่านี้ได้ตอนที่ 3 หมวด เครื่องมือสนับสนุน (Support)

  • เจาะกลุ่มลูกค้า : คล้ายกันกับ IG คือ Twitter เองมีกลุ่มผู้ใช้ที่ยังจำเพาะกลุ่มอยู่บ้าง (กล่าวเฉพาะไทย) โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนหัวสมัยใหม่ ทันสมัย, คนทำงานสื่อ หรือสนใจสื่อ(ข่าว) และ กลุ่มผู้ชื่นชอบศิลปินเกาหลี 3 กลุ่มนี้คือส่วนใหญ่ของผู้ใช้ Twitter ในไทย (ปัจจุบัน) ซึ่งอีกส่วนก็ดูว่าจะเป็นกลุ่ม Gen Z (เกิดราวหลังปี ค.ศ.1995) ค่อนข้างชัดเจน ด้วยข้อมูลที่ได้บอกไป หากเข้าใจการตลาดก็พอจะจับทางได้อยู่บ้างว่า สินค้าบริการ เราเหมาะหรือไม่กับกลุ่มผู้ใช้กลุ่มนี้
  • ใช้กระแส : สิ่งสำคัญหนึ่งของ Twitter คือเรื่อง hashtag (ข้อความที่เขียนกับสัญลักษณ์ #) ซึ่งสามารถลิ้งค์ไปหาข้อความทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ hashtag นั้นๆ อธิบายเพิ่มเติมก็คือส่วนเชื่อมให้พบได้ว่า ในเรื่องที่ติด hashtag มีใครโพสท์หรือทวีตอะไรไว้บ้าง สมมติว่าเลือกดู “#การตลาดออนไลน์” เราก็จะพบข้อความบน Twitter ที่คนติด hashtag นี้ทั้งหมด ซึ่งแต่ละช่วง แต่ละวัน บน Twitter ก็จะมีบอกไว้ว่าตอนนี้คำไหนที่กำลังนิยม ส่วนนี้เองทำให้เราสามารถจับกระแสสังคมออนไลน์ได้ทันที โดยจะเชื่อมโยงโพสท์เราแล้วติด hashtag หรือแค่เป็นข้อมูลทางการตลาดของเราก็ได้

สรุป ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยกลุ่มผู้ใช้ Twitter ยังมีกรอบแคบเมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างอเมริกา ทว่ามีกลุ่มผู้ใช้ที่จงรักภักดีและรัก ชอบ Twitter มากกว่า Social อื่นๆ อยู่เหมือนกัน ดังที่ยกตัวอย่างกลุ่มผู้ติดตามสื่อ และ Gen Z หรือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ติ่งเกาหลี หากมีสินค้าหรือบริการ ที่อยู่ในข่ายเป้าหมายลูกค้ากลุ่มนี้ ก็คงต้องบอกว่าพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงในการมี หรือสร้างเนื้อหาให้กับ Twitter สม่ำเสมอ รวมถึงโฆษณา และประโยชน์ทางอ้อมอีกประการคือเรื่องของ เทรน (Trend) ที่พอจะใช้เป็นข้อมูลโลกออนไลน์ได้ดีพอสมควรทีเดียว

สอนการตลาดออนไลน์ การใช้ Line ทำการตลาด

Line

แอพสำหรับสนทนา (Chat) อย่าง Line (ไลน์) ที่เดิมทียุคแรกก็ไม่แน่ใจว่าจะนำมาเรียกว่า Social Network ดีหรือไม่ หรือควรอยู่ในแค่กลุ่มแอพ (Application) ทั่วไป จนต่อมามีส่วนขยายมากมายเรียกได้เต็มปากว่าเป็น Social แล้วจริงๆ ซึ่งก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่คนไทยใช้กันมาก มันจึงเป็นเหตุผลที่ไม่ควรพลาดในการมีไว้

ปัจจุบัน Line มีทั้งแบบใช้ปกติทั่วไป และ Line@ ที่เป็นลักษณะของธุรกิจ องค์กร หรือเชิง Official (ทางการ) ซึ่งมีรายละเอียดต่างกันอยู่บ้าง สำหรับในที่นี้้จะกล่าวรวมๆ ไป

การใช้ Line ทำการตลาด

  • สนับสนุนการขายและบริการ : ว่ากันด้วยคุณสมบัติแรกของ Line คือสนทนา ทั้งข้อความ ส่งรูปภาพ ไฟล์บางประเภท ประกอบกับการที่คนส่วนใหญ่ทั่วไปใช้เป็นช่องทางการสื่อสารในปัจจุบัน ดังนี้แล้ว หากธุรกิจใดไม่มีส่วนนี้ไว้รองรับ ก็ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่สะดวกไปโดยปริยาย ซึ่งการอำนวยความสะดวกสบายในการสื่อสารนี้ ถือว่าขาดไม่ได้ในแง่การขายและบริการอย่างไม่ต้องสงสัย

    Tips : ในส่วนนี้ทุกวันนี้ Line@ ค่อนข้างจำกัดการใช้งาน แม้จะมีประโยชน์หลายทาง โดยเฉพาะสามารถมีผู้ดูแลได้หลายคน แต่หากไม่จำเป็นจริงๆ มองว่าการใช้ Line ปกติธรรมดาอาจสะดวกกว่าแง่ข้อความไม่ถูกจำกัด(ประหยัดงบประมาณ) และลูกค้าในรายชื่อต้องไม่เกิน 5,000 คน

  • ประชาสัมพันธ์ : การมาของ Timeline และ Line@ คือการช่วยแง่ส่งเสริมการขายให้กับธุรกิจบริการได้ทันที โดยเริ่มจาก Timeline ที่ไม่แน่ใจว่าภาษาไทยจะเรียกอะไรแต่เป็นการโพสท์เรื่องราว รูปภาพหรืออื่นๆ ในหน้าหลัก (Home) ของเราโดยให้คนมาแสดงความคิดเห็นกดแสดงอารมณ์ได้เหมือนกด like ซึ่งหมายความว่าก็ไม่ต่างอะไรกับ Social Network อื่นๆ ที่สามารถโพสท์ให้คนเข้ามาเห็นมาชม เป็นการประชาสัมพันธ์ได้ไม่ยาก บนเงื่อนไขไม่ต่างกันคือ ควรสร้างคุณค่าบนความน่าสนใจนั้น
    ส่วน Line@ นั้นแง่หนึ่งมีข้อจำกัด และค่าบริการ (ดูอัตราค่าบริการที่นี่)  แต่ก็มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมให้ ซึ่งพอดูได้จากลิ้งค์ดังกล่าว โดยคุณสมบัติหนึ่งคือ Boardcast (บรอดแคสต์) การประกาศประชาสัมพันธ์ไปยังรายชื่อที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ที่คุ้มค่ามากทีเดียวเมื่อเทียบกับ Social อื่นๆ เพราะว่าเข้าถึงได้อย่างไม่มีบิดพลิ้วต่างกับ Facebook ที่โพสท์ไปก็ไม่เห็นหรือเห็นน้อยนิด เพียงแต่สิ่งที่ยากหน่อยก็คือการหา และสะสมมาซึ่งลูกค้าให้มาอยู่ในรายชื่อ ที่ลำพัง Line ไม่อาจทำได้ด้วยตัวเอง

    Tips : ทดลองใช้ฟรีแบบไม่ต้องคิดมากได้เลยสำหรับ Line@ แล้วค่อยดูอีกทีว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายรายเดือนไหม

  • สติกเกอร์? : เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในยุคแรกๆ นั้น ผมเคยติดต่อสอบถามไปเหมือนกัน ราคาอยู่ที่หลักแสนต่อ 3 เดือน ซึ่งในตอนนั้นก็ถือว่าหนักเกินไปสำหรับองค์กรที่ทำงานอยู่ แต่ในปัจจุบัน (2016) ราคาเกิน 2 ล้านบาทเข้าไปแล้ว คงพอเห็นได้ง่ายว่า ถ้าแบรนด์ไม่ใหญ่จริงทำไปก็ไม่คุ้ม แม้จะแบรนด์ใหญ่หากทำแบบไม่มีแคมเปญดีๆ แผนดีๆ ก็คงไม่เข้าทีด้วยซ้ำไป และที่สำคัญทุกวันนี้สติ๊กเกอร์ฮิตพออยู่หรือ? ข้อนี้ก็แล้วแต่พิจารณา ทว่าเทคนิคหนึ่งที่น่าสนใจคือการ ทำขาย! แม้อาจจะไม่มีใครซื้อ หรือสนใจแต่หากมีการประชาสัมพันธ์ออกไปบ้างบางทีสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งน่าสนใจ ที่สำคัญบางทีทำขายแต่ยอมจ่ายให้ลูกค้าเองก็เป็นทางออกที่ดีไม่น้อยทีเดียว..

สรุป Line เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อปัจจุบันและคงอีกสักระยะ การจะลงทุนใน Line@ หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางต้นทุนของธุรกิจ โดยรวมแล้ว จะ Line หรือ Line@ ก็จำเป็นแง่การบริการสนับสนุน ส่วนในแง่การตลาดคุ้มค่ายากในหลายธุรกิจ ดังนั้น หากมองแง่บริการและภาพพจน์เป็นสำคัญค่าบริการเดือนละหลักพันก็คงคุ้มกัน หรือไม่เช่นนั้น ลงทุนกับสิ่งอื่นไปก่อนและใช้ Line ในรูปแบบฟรีๆ ก็ดีพอเพียง

สอนการตลาดออนไลน์ การใช้ Youtube ทำการตลาด

Youtube

คงต้องมาอยู่ในส่วนหนึ่งของ Social Network อย่างขาดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม Youtube ผู้ให้บริการด้านวีดีโอนี้อาจมีสะเทือนไปบ้างกับ Facebook Live แต่ในหลายด้านก็ยังแทนกันไม่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นการใช้ Youtube กับการตลาดก็มีหลายระดับเช่นกัน

การใช้ Youtube ทำการตลาด

  • สร้างกระแส : ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนการออนแอร์ (On Air) กล่าวคือ แต่ก่อนหากทำโฆษณาโทรทัศน์ออกมาที่เรียกว่า TVC (television commercial) นอกจากจะต้องลงทุนสร้าง ถ่ายทำแล้ว ยังต้องเสียค่าซื้อเวลาจากช่องต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้หากยาวไปก็ต้องจ่ายแพงมาก แต่การก้าวหน้าของโลกอินเตอร์เน็ต และการมี Youtube ทำให้ใครก็สามารถสร้างเนื้อหาวีดีโอ แสดงได้ดังใจ ทว่าหากเป็นวีดีโอบอกกล่าว ประกาศสินค้า บริการเฉยๆ นั้นมันคงไม่ทำให้วีดีโอนั้นเกิดประโยชน์นัก ต้องสร้างจนเกิดกระแส ที่คงเห็นแบรนด์ใหญ่ๆ พยายามทำกันในปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่า แบรนด์เล็ก SME หรือรายย่อยทำไม่ได้ ตัวอย่างที่ดี ก็เช่น ของร้านติดเครื่องเสียง Powersound V9 (ดูวีดีโอ) ซึ่งผมชื่นชมมากทีเดียว
  • สนับสนุนการค้นหา : เป็นที่ทราบกันโดยส่วนใหญ่ว่า Google คือแหล่งที่คนค้นหาข้อมูลกันโดยทั่วไป แต่รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้สิ่งที่เป็นรองลงมาในการค้นหาเริ่มเป็น Youtube เพราะการได้ชมทั้งภาพและเสียง ดีกว่าภาพนิ่งและข้อความในหลายๆ ด้าน ซึ่งส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อหลายสินค้าและผลิตภัณฑ์ ไม่เว้นแต่ SEO นี่หมายถึง การทำวีดีโอบางอย่างอะไรก็ได้ให้เกี่ยวข้องโดยสมควร โอกาสที่คนทั่วไปจะหาสินค้าและบริการแล้วเจอเราบนอินเตอร์เน็ตมีมากขึ้นนั่นเอง

    Tips : การตั้งชื่อคลิป(Title) และเขียนคำอธิบายโดยย่อ (Descriptions) มีความสำคัญมาก ควรคำนึงถึงคำค้นหา (Keyword) ของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายให้ดี

  • ส่งเสริมการขายและขาย : ด้วยความเป็นวีดีโอออนไลน์ ประโยชน์ประการหนึ่งคือการแสดงการสาธิตสินค้า ประกอบ รีวิว หรืออื่นๆ เป็นการส่งเสริมการขายเป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องถ่ายทำให้ดีเลิศก็ได้ แต่รู้หรือไม่ว่า หากเป็นร้านค้าที่มีการบอกวิธีการ การประกอบ การใช้งานหรืออะไรก็ตาม มักจะมีคนสนใจซื้อกับร้านนั้นๆ แหล่งนั้นๆ ด้วยเหตุผลเพราะดูใส่ใจ น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการขายได้เลย

สรุป Youtube มีความสำคัญ แต่ก็เฉพาะด้านอยู่บ้างด้วยความที่การสร้างเนื้อหา และวิธีการนำเสนอค่อนข้างจะยาก รวมถึงอาจยังไม่จำเป็นสำหรับหลายธุรกิจ แต่พอที่จะสร้างความได้เปรียบได้หากมีการสร้างสรรค์ใช้ช่องทางนี้ให้ดี ซึ่งแม้ว่าวันนี้อาจยังไม่ดูไม่เหมาะ ไม่มีความพร้อม แต่ก็ไม่ควรมองข้ามเพราะอย่างน้อยการค้นหา การโฆษณา ควรถูกพิจารณาในแผนการตลาดออนไลน์เอาไว้ด้วย

Social Network อื่นๆ

มีอีกหลาย Social Network ที่น่าสนใจได้แก่ Google+ (กูเกิ้ลพลัส) ที่มีรูปแบบคล้าย Facebook แต่ในไทยไม่นิยมเท่าใดนัก, Linkedin (ลิ้งค์อิน) เสมือนประวัติส่วนตัวออนไลน์ นิยมพอสมควรในต่างประเทศโดยอย่างยิ่งแง่สังคมทางการ การทำงาน และสมัครงาน, Pinterest (พินเทอเรส) มากจาก Pin + Interest ปักหมุดรูปภาพที่เราชื่นชอบเก็บไว้เป็นแคตาล๊อก หรือทำแคตาล๊อก หลายคนในไทยเล่นแล้วชอบ แต่ยังไม่ถึงกับทำการตลาดได้ในตอนนี้ ทว่าที่กล่าวมานี้อาจมีความจำเป็นเชิงเทคนิค Social link ของ SEO เสียมากกว่าสำหรับไทย นอกจากนี้ยังมีบางประเภทเช่น Tumblr, Snapchat, Weibo(เวยป๋อ-จีน) ที่นิยมเพียงบางกลุ่มประเทศ หากสนใจเรื่องพวกนี้จริงจังก็ลองเล่น ลองใช้ดูบ้างก็ไม่เสียหาย แต่บางส่วนหากธุรกิจเกี่ยวข้องกับบางประเทศก็ถึงขั้นจำเป็นก็มี เช่นจีนกับ Weibo, Wechat, QQ ที่บ้านเราอาจเคยเห็นได้ยินบ้าง แต่จีนแทบจะเป็นหนึ่งเดียวก็ว่าได้

..ที่จริงหากเป็นการค้าขายออนไลน์ธรรมดา ไม่มีอะไรดีไปกว่าลงมือทำแล้วเรียนรู้ เพราะคุณไม่ได้กำลังทำการตลาดออนไลน์ คุณแค่ใช้ช่องทางออนไลน์ขายของ..

สรุปภาพรวม

เครื่องมือหมวด Social Network นี้มี Facebook เป็นส่วนสำคัญ เพราะผู้ใช้และความนิยมทิ้งห่างตัวอื่นค่อนข้างไกล และยังอยู่ในอัตราก้าวหน้าทั้งการมาของ live และคุณสมบัติในอนาคต ในขณะที่การแข่งขันสูงต้นทุนก็สูงตามมา ทั้งนี้หากพิจารณาสินค้าและบริการแล้วรู้จักกลุ่มลูกค้าพอสมควร การเลือกใช้ Social Network ตัวอื่นเป็นตัวหลักในการทำการตลาดก็เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ดีได้ ทั้งนี้ การมี Social Network หลายๆ ตัวให้กับธุรกิจ ไม่มีเสียหาย เพียงแต่คงยุ่งยากเกินไปหากเน้นไปเสียหมด และอาจไม่เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นกัน หากไม่เน้นเลย(เอาหมด) การทดลอง การสร้างสรรค์เนื้อหา ที่สำคัญการวางแผน จึงจำเป็นมากกว่าการแค่คิดว่าอันนี้นิยม อันนั้นกระแส แล้วตามๆ กันไป อย่าลืมว่าคนที่คิดอะไรไม่ได้ ก็ทำเอาง่ายๆ แบบนี้เหมือนกัน มันก็เลยเต็มไปหมด แล้วใครจะมาดูของเรา?

อนึ่งเข้าใจว่าหลายคนสนใจเรื่อง Social Network เป็นพิเศษ และคิดว่าน่าจะได้อะไรมากกว่านี้ ที่จริงหากเป็นการค้าขายออนไลน์ธรรมดา ไม่มีอะไรดีไปกว่าลงมือทำแล้วเรียนรู้ เพราะคุณไม่ได้กำลังทำการตลาดออนไลน์ คุณแค่ใช้ช่องทางออนไลน์ขายของ เพราะการตลาดออนไลน์มีอะไรมากกว่าแค่ Social Network หรือ Facebook แล้วจบ..

ปล. ในตอนเขียนต้นฉบับครั้งแรก คาดว่าหัวข้อ 1.2 เครื่องมือการทำการตลาดออนไลน์นี้ จะมีแค่ 2 ตอน เขียนไป เขียนมาอีกที ยาวเกินไปจำเป็นต้องมีตอน 3 กันเลยทีเดียว
อ่าน เครื่องมือในการทำการตลาดออนไลน์ (3/3) ที่นี่

สารบัญบทความสอนการตลาดออนไลน์

เรียนการตลาดออนไลน์ สอนการตลาดออนไลน์ เครื่องมือทำการตลาดออนไลน์

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น