เคยได้ยินเรื่องสั้น ขำขัน เรื่องหนึ่งไหม ที่เพื่อนคนหนึ่งถามเพื่อนอีกคนว่า “นายสูบบุหรี่มากี่ปีแล้ว?” เพื่อนตอบว่า “20 ปี” อีกคนจึงบอกว่า “โฮ่ ถ้านายไม่สูบแล้วเอาเงินค่าบุหรี่ไปซื้อรถได้เลยนะเนี่ย” แล้วเพื่อนก็ย้อนว่า “แล้ว นายไม่สูบบุหรี่ ไหนล่ะรถของนาย..”
ตลกร้ายที่ดูย้อนแย้ง แต่บนความจริงอาจเป็นเรื่องที่ “รู้อยู่แก่ใจ” คนที่คิดได้ก็คิดได้ คนที่ไม่คิดก็ไม่คิด การสูบบุหรี่อาจไม่ผิดในแง่นี้ เพราะถึงไม่สูบแต่ไม่เคย “คิดเรื่องการเงิน” วางแผนการเงิน มันก็ลำบากเช่นกัน
“คิด” เสียแบบนี้ไง
เราอาจมองอย่างผิวเผินว่า ทำไมบางคนดูฟุ่มเฟือย ก็ไม่เห็นจะลำบากเลย หรือทำไมบางคนดูประหยั๊ด ประหยัด ไม่เห็นรวยเลย..
ข้อแรก เรานั้นไม่รู้ทั้งที่มาของรายได้ และภาระของรายจ่ายของแต่ละคน ในคนที่มีรายจ่ายเกินตัวบนความจำเป็น ต่อให้ประหยัดอย่างไรมันก็ไม่พอ ส่วนคนที่มีรายรับหลายทาง ฟุ่มเฟือยอย่างไรก็อาจไม่เดือดร้อน รวมถึง บางทรัพย์สินที่เราตีค่าว่าเขาฟุ่มเฟือยนั้น มันอาจไม่ได้สิ้นเปลืองอย่างที่คิดก็ได้ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังต่อไป
ข้อสอง มีหลายเรื่องไม่อาจตัดสินด้วยเวลาในระยะสั้น คนมีวันนี้อาจไม่มีในวันหน้า คนที่ยังไม่มีอาจกำลังสร้างตัว ดังนั้นสิ่งที่เห็นอาจเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวและ…
ข้อสาม คิดทำไมคนอื่นเขาจะยังไง ทำไมไม่คิดวางแผนเรื่องของตัวเอง? ไม่ได้กำลังตำหนิ แต่ลองทบทวนสิ หากเราสงสัยมุมแบบนี้ เราก็จะท้อทำนองว่า ไม่รวยอย่างเขา อยากมีเหมือนเขา หรือ ทำไปก็ไม่รวย ประหยัดก็ไม่เห็นรวย ไร้แรงจูงใจเพราะมัวแต่ไปเปรียบเทียบกับคนอื่น โดยที่เราไม่มีวันรู้ปัจจัยแท้จริงของเขาเลย หากสนใจแต่เรื่องตัวเอง อาจมีไอเดียความคิดดี ๆ มากกว่านี้ก็ได้
คนมีเงิน ในเวลาปกติก็คิดถึงเรื่องเงินด้วย คนไม่มีเงิน มักคิดเรื่องเงินเฉพาะตอนมีปัญหา
ข้อสำคัญ มันเป็นเรื่องของกรอบคิด (Mindset) จริง ๆ คนที่มี จะคิดเรื่องเงินในเวลาปกติบ่อยกว่า คนไม่มี เพราะคนไม่มีจะคิดเรื่องเงินเฉพาะเวลามีปัญหา ทบทวนหรือมองรอบ ๆ ดูสิ จะพบว่าเรื่องนี้จริง ถ้าเห็นด้วยก็พยายาม “คิดสิ จะได้รวย”
รายได้เสริม กับรายได้แฝง
ยุคนี้หลายคนอยากมีรายได้แบบที่เรียกว่า Passive income แปลไทยอย่างเป็นทางการน่าจะยังไม่มี แต่ความหมายประมาณว่าเป็นรายได้ที่อยู่เฉย ๆ ก็เข้ามา ซึ่งก็ใช่ว่าอยู่เฉย ๆ เสียทีเดียว เรียกว่าทำน้อยแต่ได้เรื่อย ๆ มากกว่า เช่น แต่งเพลงหนึ่งครั้ง คนเอาลิขสิทธิ์ไปใช้ เขาก็ต้องจ่ายเราไปตลอด หรือลงทุนหนึ่งครั้ง เก็บเงินปันผลกินไปเรื่อย ๆ และโดยส่วนใหญ่เป็นรายได้เสริมประเภทที่มัก ไม่ต้องลงแรง แต่ต้องมี “ความคิด” เสมอ
ในอีกด้านมุมเดียวกับเรื่องขำขัน หรือเรื่องสั้นด้านบน การไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกรายจ่ายประจำในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น ติดน้ำอัดลม อะไรทำนองนี้ เพราะเรา “คิดว่า” เลิกไปก็ไม่ได้ทำให้มีเงินมากขึ้น มันแค่ “ลดรายจ่าย” ลึก ๆ ในใจที่ไม่อยากอ้างจิตวิทยา มันจึงเหมือนว่า เราไม่เสียเงินแต่ไม่ได้อะไรกลับมา จึงไม่มีแรงจูงใจอะไรในการประหยัดแบบนี้ แม้ที่จริงมันจะได้ประโยชน์ แต่มันต้องสะสมใช้เวลา จึงไม่เห็นข้อดี ณ ตรงหน้า ก็ไร้แรงจูงใจเช่นกัน
แต่ในคนที่เขาประหยัดได้ คิดมุมนี้ได้ ในเชิงความคิดเขามันคือ “รายได้แฝง” ที่ทำให้เขามีเงินเพิ่มไปจับจ่ายอย่างอื่น…
มีรายได้เพิ่ม = ซื้อของเพิ่มได้ แล้ว มีเงินเหลือ = ซื้อของเพิ่มได้ เช่นกันจริงไหมล่ะ?
เมื่อใดก็ตามที่เขา มีเงินเพื่อไปทำอย่างอื่นเพิ่ม คิดดี ๆ มันก็เหมือนมีรายได้เพิ่มนั่นแหละ แต่มัน “แฝง” อยู่ในสิ่งที่ “ไม่จำเป็น” เพียงแต่มันเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำให้เราคิดไปได้ในมุมนั้น เพราะส่วนหนึ่งมันก็คล้ายกับหลอกตัวเอง แต่บางทีการที่เราใช้เงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นทุกวันนั้น เราก็เพียงหลอกตัวเองด้วยบางอย่างอยู่ดี เช่น ทำให้เราดูดีขึ้น ทำให้เรามีความสุขขึ้น ซึ่งผลมันเห็นอยู่กับที่ผ่านมาและอนาคตต่อ ๆ ไป เราก็จะหลอกตัวเองแค่ว่า “ช่างมันเถอะ”
ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนหากเคยมีประสบการณ์ คือหลังจากเราผ่อนอะไรไว้นาน ๆ และหมดงวด ไม่ต้องผ่อนแล้ว ทำไมเราดีใจ และรู้สึกเหมือนมีรายได้มากขึ้นละ ทำไม? (แต่บางคนก็ไม่คิดสะสมรีบหาอย่างอื่นผ่อนต่อทันที…)
หากทบทวนเสียหน่อย ในเมื่อยังหารายได้เสริมไม่ได้ ทำไมไม่เก็บ “รายได้แฝง” เหล่านี้มาใช้เอาเสียหน่อยละที่ยังมีอีกนะ…
ของนี้ถูกหรือแพง คิดดี ๆ
นอกจากนี้ในอีกมุมที่เราเคย “ได้คิด” กันบ้างไหม แม้เป็นของที่ต้องใช้ เช่น บางคนซื้อรองเท้าที่ต้องใส่ทำงานทุกวัน.. เห็นว่าเป็นรองเท้าทำงาน (ไม่ได้ใส่อวดใคร) จึงซื้อมา 399 ครั้นใช้ไป 2 เดือนพังก็ไม่คิดอะไร เพราะเห็นว่าใส่เกือบทุกวัน เออ ก็คุ้มนะ ในขณะที่หากซื้อ คู่ล่ะ 1500 ใส่ได้ปีกว่า อาจรู้สึกว่าแพงเพราะเราจะเทียบ 1500 กับ 399 แน่นอนแพงกว่าเห็น ๆ “เพราะเราไม่คิดไง” ไม่อธิบายต่อนะ ลองคิดดู 🙂
หรือเรื่องที่มองข้ามง่าย ๆ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงละ 10 บาท กับถุงละ 25 บาท อาจคิดว่า “เห้ยอะไรนักหนาใช้ได้เหมือนกัน” แต่ปรากฏว่า ถุง 10 บาทซักครั้งแรก ใส่ 2 ฝาไม่หอม (เชื่อไหมคนใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มเพื่อเน้นหอมไม่ใช่เน้นนุ่ม) สุดท้ายใส่เกือบครึ่งถุงต่อผ้าหนึ่งกอง จึงจะหอม ในขณะที่ ถุงละ 25 บาท เออ 2 ฝาหอมจริง แล้วถุงหนึ่งใช้ได้ประมาณ 10 ครั้งแบบนี้ แต่เวลาไปซื้อก็คว้าถุง 10 บาทอยู่ดี กลัวว่ายิ่งคว้า 25 บาทมาจะยิ่งเปลือง เป็นไปได้ว่าไม่เคยรู้จริง ๆ อาจคิดว่า 25 ก็น่าจะต้องใช้เกือบครึ่งถุงเหมือนกัน… “เพราะเราไม่ได้คิดไง”
ในอีกด้านก็มีเช่นกันยุคที่ของใช้หลายอย่าง ใส่ชาเขียวแล้วบวกราคาเรากลับคิดว่าจ่ายแพงจะดี ใส่ถ่าน, ชาโคล คาร์บอน, ก็คิดว่าจะดี ทั้งทีเป็นสินค้าแค่ตามกระแส คุณสมบัติแท้จริงไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงอะไรเลย เราก็จ่ายไปเพื่อสิ่งนั้น… “เพราะเราไม่ได้คิดไง”
ซึ่งมีอีกหลายเรื่องที่เรา “จ่ายแพง” โดยไม่ได้อะไรเพิ่ม ที่เคยเขียนไว้ในบทความเก่า ๆ (ไว้เขียนรวบรวมสักตอนน่าจะดี)
การซื้อของจำนวนมากก็เช่นกัน ส่วนหนึ่งก็พอเข้าใจที่หลายคนอาจแย้งได้ว่า รู้ว่าซื้อเยอะประหยัดกว่า แต่งบประมาณมันมีจำกัด หรือเหมือนตัวอย่างเดิม ลงทุนซื้อรองเท้า 1,500 มันก็เบียดเบียนสิ่งอื่น ก็เพราะเป็นเช่นนั้นไง จึงยิ่งต้องใช้การ “คิด” วางแผนว่าแบบไหนคุ้มที่สุด แต่ส่วนใหญ่คือไม่คิดอะไรเลย เอาแค่สะดวก… และ ยังมีประเภทที่ซื้อรองเท้าทำงาน 399 เพื่อประหยัดไว้ ซื้อรองเท้า 1,500 เพื่อใส่อวดไม่กี่ครั้งได้… คิดสิจะได้รวย
คิดไม่เสียอะไร
เรามีสิทธิ์อ้างในตอนที่คิดหารายได้เพิ่มว่า “ไม่มีต้นทุน” แต่การใช้ความคิดไม่เสียอะไร คิดได้ครั้งเดียวนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต มีแต่ได้กับได้ เพราะสำหรับคนไม่คิด ไม่ใช่เพียงเรื่องข้าวของจุกจิก บางคนซื้อรถยนต์ซึ่งใช่วาใครจะซื้อได้บ่อย ก็ยังเลือกยี่ห้อ/รุ่น ที่สุ่มเสี่ยง คิดว่าแค่ถูก แค่สวย หรือแพงแต่ถูกใจ ทั้งที่นี่คือสินทรัพย์เสื่อมค่าและเป็นของใช้ที่ดึงเงินจากกระเป๋าเราได้มากสุดอย่างหนึ่ง โชคดีก็ดีไป เจอป้ายแดงต้องจอดอู่ 3-4 เดือนเมื่อไหร่จะเข้าใจเอง
ก็เพราะไม่ชอบคิด ไม่ชอบศึกษา ไม่ดูข้อมูลให้แน่ใจ และ มันสะท้อนถึงการคิดต้นทุน การบริหารจัดการ หากวันหนึ่งมีทุนให้ลงมือทำอะไรขึ้นมา ระวังว่าจะไปไม่รอด เพราะมันก็คือหนึ่งในเรื่องสำคัญ นี่แหละถึงได้บอกว่า “คิดสิ จะได้รวย”
ถึงตรงนี้ถ้าใครถามผมกลับว่า แล้วผมคิดเยอะเนี่ย รวยหรือยัง ตอบเลยว่ายังไม่รวยหรอก… ถ้า “เทียบกับใครเขา” แต่ถ้าย้อนมองไปเฉพาะตัวเรา รวยกว่าสมัยยังคิดอะไรไม่ได้หลายเท่าจริง ๆ
เหมือนคนเลิกบุหรี่ที่อาจซื้อรถไม่ได้ แต่ชีวิตคงมีอะไร ๆ ดีขึ้นมากมายหลายด้านเช่นกัน… ที่เขียนมาก็ใช่อะไรแค่อยากช่วยให้เริ่มคิด…
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 27/04/2021